มานุษยวิทยาออกแบบ ตอนที่ 2 ความสร้างสรรค์
เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าความสร้างสรรค์ (creativity) คืออะไร? และมันทำงานอย่างไรในสังคม? บ่อยครั้งที่ความสร้างสรรค์ได้กลายเป็นตัวกำหนดคุณค่าทางสังคมและเป็นเกณฑ์ในการจัดจำแนกกลุ่มคนออกจากกัน ศิลปิน นักออกแบบ หรือนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสร้างสรรค์ ประหนึ่งเป็นความสามารถพิเศษที่ติดตัวมาและก่อทำให้เกิดการทำงานอันสั่นสะเทือนความคิดและการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ขณะที่แรงงานในระบบอุตสาหกรรมกลับถูกตีตราด้วยลักษณะงานตามสายพานและมีความซ้ำซากจำเจ พนักงานหรือข้าราชการก็ถูกประเมินคุณค่าเพียงขอบเขตของการทำงานตามคำสั่ง กลายสภาพเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยม ไม่สามารถคิดนอกกรอบและยึดติดกับแบบแผน กฎระเบียบ จนไม่อาจเห็นขอบฟ้าอื่นของความเป็นไปได้ ความสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์หรือ (คุณ) สมบัติเฉพาะของคนบางกลุ่มจริงหรือไม่และเหตุใดกลุ่มคนอีกมากมายจึงไม่อาจนำมันมาสู่วิถีชีวิตและคุณค่าในการทำงานของตนได้ ?
ในเบื้องต้น ความสร้างสรรค์มีมิติทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คำว่า creare ในภาษาละตินหมายถึง การสร้าง (creation) ซึ่งเชื่อมโยงกับพระผู้สร้าง (divine creator) ในโลกของความเชื่อแบบเอกเทวนิยมในคริสต์ศาสนาและยูดาห์ หรือเทพผู้เป็นใหญ่ตามความเชื่อแบบ พหุเทวนิยมในศาสนาฮินดูซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับตำนานการสร้างโลก การสร้างจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่นอกเหนือขอบเขตและความเข้าใจของมนุษย์และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการถูกรังสรรค์ขึ้นมาให้มีชีวิตและดำรงอยู่ในโลก สอดคล้องกับวลีในภาษาละติน creatio ex nihilo ซึ่งหมายถึงสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความว่างเปล่า เพื่อใช้อธิบายการกำเนิดขึ้นของโลกและสิ่งมีชีวิตโดยการกระทำของพระผู้สร้าง ในด้านหนึ่ง งานสร้างสรรค์และผลงานศิลปะในพัฒนาการทางภูมิปัญญาของตะวันตกจึงวางอยู่บนฐานของการตามรอยพระผู้สร้าง และอยู่ในสถานะของการถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่เกิดจากการหยั่งถึงสถานะการดำรงอยู่อันสูงส่งของพระผู้สร้างเป็นสำคัญ ขณะที่อีกด้าน สถานะและบทบาทของศิลปิน นักประดิษฐ์ หรือบรรดาคนที่มีอัจฉริยะภาพจึงมีตำแหน่งแห่งที่ค่อนข้างพิเศษ เนื่องจากงานของพวกเขาคือการแปรเปลี่ยนให้มิติเชิงนามธรรมหรือสภาวะการดำรงอยู่อันไร้รูปของพระเจ้ากลายเป็นรูปแบบ (form) ที่สามารถจับต้องหรือมองเห็นได้ ความสร้างสรรค์ของคนกลุ่มนี้จึงวางอยู่บนการจำลองหรือลอกเลียนสถานะของ (พระ) ผู้สร้างเสียเอง ดังนั้น ปัญหาของการแยกความสร้างสรรค์ออกจากกลุ่มคนทั่วไปอาจจะพิจารณาได้จากเค้าโครงความคิดนี้
ความสร้างสรรค์ในฐานะที่เป็นคุณสมบัติของงานศิลปะและเชื่อมโยงกับความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาและได้กลายเป็นความหมายที่เข้าใจทั่วไปในปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาพิจารณาความสร้างสรรค์ในยุคสมัยใหม่ในฐานะของศักยภาพในการดัดหรือปรับเปลี่ยนรูปทรงตามเจตจำนงค์ของมนุษย์ไม่ใช่การรังสรรค์ขึ้นจากความว่างเปล่า (Sapir, 1924: 418) ความสร้างสรรค์ในมิติเชิงสุนทรียศาสตร์ได้รับความสนใจพอ ๆ กับการพิจารณาความสร้างสรรค์ในฐานะการประยุกต์ใช้ วิพากษ์วิจารณ์ และปรับเปลี่ยนรูปแบบมรดกทางความคิดจารีตประเพณีที่คนรุ่นใหม่ได้รับจากคนรุ่นก่อน บ่อยครั้งทีเดียว ความสร้างสรรค์มักจะทำการละลายขอบเขตหรือกรงขังของสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมและทำการวาดพรมแดนมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและเจตจำนงค์ที่ก่อตัวขึ้น ภาวการณ์ของความสร้างสรรค์จึงมิใช่ดำรงอยู่แต่เพียงในความคิดแต่เชื่อมโยงกับการกระทำซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของการหยิบยืม การปรับใช้ และการเห็นต่างขัดแย้ง (Wagner, 1981; Lavie, Narayan, and Rosaldo 1993) ดังนั้น การแปล Creativity ในภาษาไทยว่าความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นการถ่ายทอดที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนสักเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ นักมานุษยวิทยายังสนใจที่จะวิพากษ์ความสร้างสรรค์ที่ถูกสร้างขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของพลังที่ช่วยเพิ่มคุณค่าและความชอบธรรมให้กับนวัตกรรม (innovation) ต่าง ๆ ในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งระบบเสรีนิยมใหม่ได้ใช้ความสร้างสรรค์เป็นวาระสำคัญในขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความก้าวหน้าและสร้างให้ตลาดขยายตัวออกไปสู่ทุกอณูของการใช้ชีวิต (Hallam and Ingold, 2007; Liep, 2011; Wilf, 2014) ภายใต้ระบบทุนนิยม ความสร้างสรรค์จึงเป็นเสมือนสิ่งกระตุ้นเร้าแรงปรารถนาในการครอบครองซึ่งเกินกว่าความต้องการด้านการบริโภค เป็นดั่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ไปพร้อมกับการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งความแตกต่างทางชนชั้น เนื่องจากคุณค่าที่สอดใส่เข้าไปในนวัตกรรมเป็นสิ่งที่สร้างการแปรผันตรงให้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จึงมีความหมายที่ลีบเรียวและยึดโยงกับงานประดิษฐ์และคุณลักษณะอันทรงคุณค่าของผลงาน หรือคนผู้มีชื่อเสียงซึ่งมีความคิดที่แปลกแหวกแนว มุมมองเช่นนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงสถานะของ Creativity ในความหมาย “Big – C” ในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพิเศษและมีเพียงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถครอบครองได้
นักมานุษยวิทยาเน้นย้ำว่าความสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ผนึกรวมและทำงานอยู่ในกระบวนการทางวัฒนธรรม แม้นวัตกรรมบางชิ้นจะพลิกโฉมประวัติศาสตร์โลกและเข้าไปจัดระเบียบใหม่ให้กับวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหมายเพียงด้านเดียวของความสร้างสรรค์ ขณะที่ความหมายอีกด้านที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจคือ การด้นสด (improvisation) ซึ่งหมายถึงการเล่นกับความเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้กฎระเบียบและการรับรู้ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการนำทางความสนใจของผู้คนไปสู่การเลาะขอบตะเข็บของระเบียบและผลักพรมแดนการรับรู้ให้ขยายออกไป (Hallam and Ingold, 2007) ความสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จึงเป็นดั่งจิตวิญญาณที่ช่วยให้เราหันกลับมาพิจารณา creativity ในความหมายของ “little – c” ซึ่งข้ามพ้นมิติการถือครองความสร้างสรรค์โดยคนบางกลุ่ม รวมไปถึงการนำไปสู่การพิจารณากิจกรรมในชีวิตประจำวันทางโลกที่ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของความสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ในฐานะที่เท่าเทียมกับการครุ่นคิดและการทำงานของศิลปินหรือนักประดิษฐ์
งานศึกษาเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ของคิริน นารายัน (Kirin Narayan) เรื่อง ความสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวัน: เทพธิดาขับร้องในเชิงเขาหิมาลัย (Everyday creativity: Singing Goddesses in the Himalayan foothills) เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในระดับชีวิตประจำวันผ่านการร้องเพลงของผู้หญิงในเขตกางครา (kangra) รัฐหิมาจัลประเทศ ของอินเดีย งานชิ้นนี้ไม่ได้มีสมมติฐานที่ว่าการฝึกฝนร้องเพลงจะเป็นสิ่งนำพาระบบคุณค่าผ่านสถาบันทางสังคม ไม่ได้พิจารณาการทำให้บทเพลงเป็นสินค้า หรือเป็นการกระทำจากพรสวรรค์เพื่อให้ได้รับการยกย่อง ทว่า กลับสนใจการร้องเพลงในฐานะรูปแบบหนึ่งของปฏิบัติการทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงออกถึงจินตนาการและความต้องการมีชีวิตที่ดี ความสุข สำหรับปัจเจกชนและบุคคลใกล้เคียง นารายันเป็นที่รู้จักในฐานะนักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาเอเชียใต้และสร้างบทสนทนาในฐานะนักสตรีนิยมเพื่อตอบโต้กับภาพเหมารวมที่ผู้หญิงชาวเอเชียใต้ถูกมองในฐานะเหยื่อและผู้ยอมรับระบอบปิตาธิปไตย งานเขียนของเธอเผยให้เห็นมุมมองของผู้หญิงและโครงสร้างความรู้สึกของพวกเธอที่มีต่อชีวิตและประสบการณ์ของตนเองในโลกทางสังคมและโลกทางศาสนาที่พวกเธอได้ขัดขืนและสร้างมันขึ้นมาใหม่ไปพร้อมกัน
นารายันขยายความเข้าใจของคนโดยทั่วไปที่มีต่อศาสนาฮินดู จากเดิมซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตทางศาสนา อัตลักษณ์ทางการเมือง เรื่องราวของเทพปกรณัม ระบบวรรณะ และภาพแทนความเป็นชาย ไปสู่การแสดงออกว่าด้วยความรัก ความศรัทธา ความทุกข์ และความรู้สึกอันละเมียดละไมซึ่งเกิดขึ้นในระดับครัวเรือน การพินิจเรื่องเล็กแต่สะท้อนในเรื่องใหญ่ (microscopic approach) ของเธอกลายเป็นสิ่งสำคัญซึ่งช่วยเติมเต็มความเข้าใจที่ขาดหายไปในการทำความเข้าใจสังคมฮินดูได้เป็นอย่างดี นารายันศึกษาการร้องเพลงในฐานะรูปแบบหนึ่งของงานพิธีกรรมซึ่งผู้หญิงใน กางคราใช้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันและระหว่างครอบครัว เรื่องราวที่พวกเธอขับขานอ้างอิงไปยังโลกแห่งปุราณา (puranas) หรือวรรณคดีอินเดียโบราณ (ในภาษาสันสฤต purana หมายถึง เก่าแก่และโบราณ) ซึ่งผู้หญิงชาวกางครามักใช้การขับร้องเพื่อเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลกของพวกเธอไปสู่มุมของเทพธิดาและหญิงผู้อุทิศตน (female devotees) ในวรรณคดีเพื่อส่องสะท้อนและสำรวจความรู้สึกที่มีต่อร่างกายซึ่งถูกใช้เป็นแรงงานของตนเอง ตลอดจนภูมิทัศน์และโครงสร้างของความรู้สึกที่พวกเธอมีต่อชีวิตและโลกที่พวกเธอดำรงอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในสังคมที่เต็มไปด้วยระบบวรรณะ ผู้หญิงซึ่งมีภูมิหลังอันเจ็บปวดหรือเป็นหม้ายไร้ซึ่งพื้นที่ทางสังคมในการแสดงออก การร้องเพลงจึงเป็นดั่งการประมวลผลทางอารมณ์อันเกิดมาจากประสบการณ์ของผู้ร้องภายใต้ข้อจำกัดทางวัฒนธรรมที่ผู้คนไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้โดยตรง (direct voicing) การขับร้องยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการจดจำทางสังคม ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งบอกกับนารายันถึงความเปราะบางในชีวิตแต่ถูกจำกัดการแสดงออกว่า “เมื่อบางคนเริ่มร้องเพลง คุณจะหวนคิดถึงเรื่องราวของคุณเอง คุณไม่สามารถบอกคนอื่นถึงสิ่งที่อยู่ในใจคุณได้ แต่ถ้ามีความเจ็บปวด มันก็ออกมาจากปากของคุณในรูปแบบของบทเพลง” (Narayan, 2016: 180) จินตภาพต่อชีวิตของหญิงชาวกางคราจึงก่อรูปขึ้นผ่านเสียงเพลงและการขับร้อง พวกเธอมิใช่ปัจเจกชนที่เผชิญหน้ากับความทุกข์ การร้องเพลงได้ถักทอสายสัมพันธ์ให้พวกเธอระลึกถึงหญิง กางคราอื่น ๆ ที่เผชิญหน้าและดำรงอยู่ในภาวการณ์เดียวกับเธอและทำให้พวกเธอได้เห็นถึงตัวตนและเรื่องราวของตนเองจากการได้ยินบทเพลงที่ผู้อื่นขับร้อง นี่คือโลกของพวกเธอที่บางส่วนอยู่ภายใต้สังคมฮินดูเฉกเช่นคนอื่น แต่ก็เป็นดั่งโลกที่แยกตัวออกมาเป็นของพวกเธอเอง หญิงชาว กางคราจึงสามารถสร้างการวิพากษ์วิจารณ์และการจดจำเรื่องราวต่าง ๆ อย่างแตกต่างไปจากภาพเหมารวมว่าด้วยสังคมฮินดู พิจารณาในแง่นี้ การร้องเพลงคือรูปแบบหนึ่งของความสร้างสรรค์ที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ไร้เสียง ผู้ที่มิอาจควบคุมทิศทางของโครงสร้างสังคมแต่มีความปรารถนาที่จะรักษาเสรีภาพและจินตนาการถึงชีวิตและโลกของตน นารายันอธิบายเพิ่มอีกว่าความสร้างสรรค์ในระดับชีวิตประจำวันนี้มีความสอดคล้องกับมโนทัศน์ว่าด้วย shauk ของชาวกางครา ซึ่งหมายถึง ความกระตือรือร้นในการดึงดูดผู้คนให้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางวัฒนธรรมไม่ใช่เพราะผู้คนเหล่านั้นต้องทำ (ตามหน้าที่และบทบาทในสังคมที่เน้นลำดับชั้น) แต่เพราะพวกเขาต้องการ (Narayan, 2016: 224; Narayan and Kavesh, 2019) โดยเฉพาะความต้องการที่จะเห็นหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
งานศึกษาของนารายันเขียนขึ้นอย่างเรียบง่ายและน่าติดตาม เธอได้รักษาความลุ่มลึกของเนื้อหาภายใต้การทำงานทางชาติพันธุ์นิพนธ์ซึ่งเชื่อมโยงกับความสนใจด้านภาษา คติชนวิทยา และเพศสภาวะ ให้ดำเนินร่วมไปกับการเข้าใจโลกแห่งการขับร้องของหญิงชาวกางครา การทำความเข้าใจความสร้างสรรค์ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ข้ามพ้นประเด็นเรื่องสุนทรียศาสตร์ การคิดค้นท่วงทำนอง และการค้นหาช่องเสียงร้องอันไพเราะในขนบของความสร้างสรรค์ทางดนตรีวิทยาซึ่งผูกขาดให้คนทั่วไปเป็นเพียงผู้ฟังและผู้รอคอยบทเพลง ในทางตรงข้าม นารายันกลับทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของคนธรรมดาสามัญในการร่วมประพันธ์ ร่วมขับร้อง จดจำเรื่องราว และเปล่งเสียงทางสังคมเพื่อโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ไร้เสียงด้วยกัน ความสร้างสรรค์ในระดับชีวิตประจำวันจึงเป็นดั่งการแสดงให้เห็นว่าความสร้างสรรค์เป็นของทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มคนซึ่งถูกบีบคั้นด้วยข้อจำกัดทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม เขาและเธอเหล่านั้นยิ่งฉายแววของความสร้างสรรค์ผ่านการเล่นกับความเป็นไปได้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ และปีนป่ายท้ายทายเส้นระเบียบของสังคมเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกับผู้อื่น
ข้อค้นพบทางมานุษยวิทยาในข้างต้นมีความสอดคล้องกับความคิดของ โยเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ศิลปินและนักกิจกรรมชาวเยอรมันคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 บอยส์มีคำกล่าวที่สาธารณะชนได้รู้จักและจดจำว่า “ทุกคนล้วนเป็นศิลปิน” (everyone is an artist) เขาไม่ได้หมายความว่าทุกคนในสังคมสามารถผลิตภาพวาดหรือสร้างงานประติมากรรมได้เสมอกัน ศิลปินสำหรับบอยส์คือการใช้คำเพื่ออ้างอิงไปสู่การค้นหาคุณสมบัติสากลในความเป็นมนุษย์ และนั่นคือความสร้างสรรค์ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความเปลี่ยนแปลง การผูกขาดความสร้างสรรค์ไว้กับคนบางกลุ่มและบางวิชาชีพจึงไม่ใช่แค่การมอบสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น หากยังเป็นการตีตรวนล่ามสังคมให้อยู่ในขอบเขตซึ่งจินตนาการถูกจำกัด กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน และแยกขาดจากชีวิตจริง ดังนั้น การเปลื้องพันธนาการแห่งชีวิตที่สำคัญประการหนึ่งคือการทำให้ความสร้างสรรค์มีสถานะเป็นมนุษย์สภาวะสำหรับคนทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้คนสลัดพ้นจากการถูกตีตราหรือถูกจำกัดศักยภาพด้วยกฎ ประเพณี และโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคม และเพื่อให้ทุกคนไม่ตกอยู่ในจินตนาการทางสังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ถูกออกแบบมาอย่างปราศจากการมีส่วนร่วม
Hallam, Elizabeth and Tim Ingold. (eds.). 2007. Creativity and Cultural Improvisation. ASA Monograph 44. Oxford. Berg.
Lavie, Smadar, Kirin Narayan and Renato Rosaldo. 1993. Creativity/Anthropology. Ithaca. NY. Cornell University Press.
Liep. John (ed.). 2011. “Introduction”. In Locating Cultural Creativity. Edited by J. Liep. London. Pluto Press. Pp. 1-13.
Narayan, Kirin. 2016. Everyday Creativity: Singing Goddesses in the Himalayan foothills. Chicago. University of Chicago Press.
Narayan, Kirin and Muhammad A. Kavesh. “Priceless Enthusiasm: The Pursuit of Shauq in South Asia”. South Asia: Journal of South Asia Studies 42 (4). Pp. 711-725.
Sapir, Edward. 1924. "Culture, Genuine and Spurious. " American Journal of Sociology 29. Pp. 401-29.
Wagner, Roy. 1981. The Invention of Culture. Chicago. University of Chicago Press.
Wilf, Eitan. 2014. “Semiotic Dimensions of Creativity” Annual Review of Anthropology 43. Pp. 397 – 412.