บทความ

“การย้ายถิ่นศึกษา” กับมานุษยวิทยาในการย้ายถิ่น

หนึ่งในลักษณะสำคัญของโลกปัจจุบันคือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ (international migration) ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ถูกนิยามว่าเป็นยุคสมัยแห่งการย้ายถิ่น (the age of migration) (Castle & Miller 2009) ถึงแม้ว่าประเด็นการย้ายถิ่นระหว่างประเทศจะไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ระดับและรูปแบบที่หลากหลายขึ้นของการย้ายถิ่นได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สำนักงานประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ประเมินจำนวนผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1960 จนถึง 2010 ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า คือราว 76 ล้านคนในช่วงทศวรรษ 1960 เป็น 200 ล้านคนในช่วงทศวรรษ 20101 (Fortier 2014) ปรากฏการณ์ระดับโลกว่าด้วยการย้ายถิ่นเช่นนี้ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่กระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายศึกษา

การศึกษาการย้ายถิ่นสามารถแบ่งได้เป็นสามระดับ โดยระดับแรกคือการศึกษาการย้ายถิ่นในเชิงโครงสร้างมหภาคอย่างปฏิบัติการเชิงสถาบัน นโยบาย และกฎหมาย อันนำไปสู่การเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัย ระดับต่อมาคือระดับกลางซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการเดินทางและการสื่อสาร เงื่อนไขและยุทธศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนขบวนการรากหญ้าและเครือข่ายผู้พลัดถิ่น ขณะที่ในระดับที่สามคือระดับจุลภาคซึ่งสนใจประสบการณ์ ยุทธศาสตร์ แรงบันดาลใจ ตลอดจนการตัดสินใจย้ายถิ่น ขอบข่ายการศึกษาที่กว้างขวางเช่นนี้ส่งผลให้การศึกษาการย้ายถิ่นประกอบด้วยสาขาวิชาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นโยบายสาธารณะ รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ แม้การย้ายถิ่นศึกษา (migration studies) ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลในด้านมุมมองและแนวคิดจากการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies) แต่การศึกษาการย้ายถิ่นมีประวัติยาวนานกว่าการเกิดขึ้นของกระแสความสนใจการเคลื่อนย้ายในตัวเอง

มานุษยวิทยาเป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่ให้ความสนใจและขับเคลื่อนความคิดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บทบาทของมานุษยวิทยาต่อการศึกษาการย้ายถิ่นเริ่มขึ้นเมื่อนักมานุษยวิทยา ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) หนึ่งในผู้ย้ายถิ่นระลอกที่ 3 ในสหรัฐอเมริกา คือระหว่างปี 1883 – 1924 โจมตีความคิดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติบนหลักวิทยาศาสตร์ (scientific racism) ในแวดวงสังคมศาสตร์อเมริกา ซึ่งมองว่าผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกับเจ้าถิ่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม นอกจากความแตกต่างทางสังคมแล้ว ความแตกต่างทางชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นสรีระ รูปร่างของศีรษะ หรือแม้แต่ขนาดจมูก มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นอื่นให้กับผู้ย้ายถิ่น โดยเฉพาะผู้ย้ายถิ่นจากโลกตะวันออก ขบวนการสุพันธุศาสตร์ (eugenics movement) ในขณะนั้น ยังมีส่วนสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ย้ายถิ่นว่าจะเข้ามาทำให้เกิดการฆ่าตัวตายทางเชื้อชาติ (race suicide) หรือก็คือการทำให้ลักษณะพันธุกรรมโดยรวมของผู้คนในสหรัฐย่ำแย่ลง

ที่มา: https://shorturl.ac/79qbh

แนวคิดเรื่องความสัมพัทธ์ทางวัฒนธรรม (cultural relativism)2 ของโบแอสเกิดขึ้นในบรรยากาศที่การย้ายถิ่นเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับอคติของเจ้าถิ่นในยุคสมัยที่ทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมยังทรงอิทธิพล เขาพยายามแยกประเด็นเรื่องเชื้อชาติออกจากวัฒนธรรม และตั้งคำถามว่าลักษณะทางกายภาพของผู้ย้ายถิ่นและวัฒนธรรมจากบ้านเกิด สามารถกลายเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกับชาวอเมริกันได้หรือไม่ในลูกหลานรุ่นถัด ๆ ไป (Boas 1912) การตั้งประเด็นเช่นนี้แสดงให้เห็นการตอบโต้กับขบวนการสุพันธุศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด การศึกษาลูกหลานของผู้ย้ายถิ่นในปี 1907 ของโบแอสสรุปว่าลูกหลานของผู้ย้ายถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับชาวอเมริกันหลายลักษณะอย่างมีนัยสำคัญภายในหนึ่งรุ่น แม้จะมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลการศึกษา แต่ประชากรผู้ย้ายถิ่นในแง่นี้ได้กลายเป็นส่วนถักทอ (fabric) เข้ากับสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่ในทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ยังรวมถึงทางกายภาพและชีววิทยาด้วย ลักษณะสำคัญที่โบแอสพยายามเน้นย้ำคือการหล่อหลอมได้ง่าย (plasticity)3 ของมนุษย์ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และนำไปสู่การตั้งประเด็นเรื่องการกลายเป็นอเมริกัน (Americanization) การกลืนกลาย (assimilation) และการผสมผสานทางวัฒนธรรม (acculturation) ในช่วงเวลาถัดมา

ในช่วงทศวรรษ 1920 ความคิดเรื่องการกลายเป็นอเมริกันถูกนำเสนอโดยอัลเบิร์ต เออร์เนสต์ เจงส์ (Albert Ernest Jenks) นักมานุษยวิทยา ซึ่งชี้ว่าการย้ายถิ่นในสหรัฐเป็นปัญหาระดับชาติ ในฐานะผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า เขาเสนอให้มานุษยวิทยาสมัยใหม่จัดการกับปัญหาของชาติผ่านการสร้างหลักสูตรอบรมเพื่อการกลายเป็นอเมริกัน (Jenks 1921) อย่างไรก็ดี ความคิดดังกล่าวจางหายไปภายในหนึ่งทศวรรษ ในขณะที่การกลืนกลายผู้ย้ายถิ่นโดยสังคมอเมริกันส่วนใหญ่เป็นที่พูดถึงกันเฉพาะในหมู่นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยามุ่งเน้นไปที่แนวคิดเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งนำไปปรับใช้ในการศึกษาได้หลากหลายกว่าตั้งแต่การศึกษาชาวอเมริกันพื้นเมืองตลอดจนผู้ย้ายถิ่น ลักษณะสำคัญของแนวคิดนี้คือการแสดงให้เห็นมิติเชิงโต้ตอบซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการติดต่อสัมพันธ์ การยอมรับ และการปรับเปลี่ยน อย่างเป็นปฏิกิริยา

ในปี 1923 สภาวิจัยสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) เป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลังการทำงานว่าด้วยการผสมผสานทางวัฒนธรรมของผู้ย้ายถิ่นในสหรัฐอเมริกา (Redfield et al. 1936) ขณะที่ในปี 1954 สภาวิจัยสังคมศาสตร์เองก็ได้มีการออกรายงานที่ชี้ว่าการผสมผสานทางวัฒนธรรมของผู้ย้ายถิ่นเป็นโอกาสอันดีในการทำความเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรม (Social Science Research Council 1954) ส่งผลให้เมลฟอร์ด สเปียโร่ (Melford Spiro) (1995) เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาที่ออกไปศึกษาผู้คนและสังคมโลกภายนอกสหรัฐอเมริกา หันกลับมาศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ย้ายถิ่น และลูกหลานของผู้ย้ายถิ่นในสหรัฐ

นับแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาที่ออกไปทำงานนอกสหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการย้ายถิ่นในหลายระดับ เพราะผู้คนที่พวกเขาเคยศึกษาในพื้นที่หมู่บ้าน ชนบท หรือป่าเขาเริ่มเคลื่อนตัวอย่างมีนัยสำคัญเข้าสู่พื้นที่แบบเมืองและประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อภิปรัชญาแบบติดที่และการมองสังคมเชิงระบบเป็นตัวการทำให้มองไม่เห็นการเคลื่อนตัวในระดับประชากร ความตระหนักนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการถือกำเนิดขึ้นของมานุษยวิทยาเมือง โรนัลด์ โคเฮน (Ronald Cohen) (1978) สังเกตว่าการศึกษาชนเผ่า (tribe) ในแบบที่ผ่านมาของมานุษยวิทยาเป็นการขับเน้นลักษณะโดดเดี่ยวเชิงพื้นที่และไม่เป็นตะวันตก ในขณะที่การกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group) มีลักษณะทั่วไปในเชิงพื้นที่และไม่จำกัดความเป็นตะวันออกหรือตะวันตก โดยนัยหนึ่ง การหันมานิยามกลุ่มเช่นนี้จัดเป็นการถอดรื้อความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ชุมชน และอัตลักษณ์ (Fortier 2014) เป็นผลให้ทัศนะต่อผู้คนไม่ได้ยึดโยงกับพื้นที่และหน่วยวัฒนธรรมที่ตายตัวเสมอไป ข้อสังเกตนี้ได้วางพื้นฐานให้กับมุมมองต่อการย้ายถิ่นในสภาวะข้ามชาติ (transnationalism) ในเวลาต่อมา

สตีเฟน เวอร์โทเวค (Steven Vertovec) (2010) ชี้ว่าสภาวะข้ามชาติเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญต่อการทำความเข้าใจปฏิบัติการของผู้ย้ายถิ่นในโลกร่วมสมัย โดยสัมพันธ์กับรูปแบบและกระบวนการโลกาภิวัตน์ สาระสำคัญของสภาวะข้ามชาติในมานุษยวิทยาคือการท้าทายตัวแบบเรื่องการกลืนกลายที่แพร่หลายในสังคมวิทยาและให้ที่ทางกับนักมานุษยวิทยาในการทำงานกับผู้คนที่เคลื่อนย้าย ภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์ (globalization) และโลกที่เชื่อมถึงกันเป็นวงกว้าง (interconnected world) การทำงานแบบชาติพันธุ์วรรณนาหลายสนามที่เสนอโดยจอร์จ มาร์คัส (George Marcus) (1995) และเจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford) (1997) ช่วยให้การทำงานในสภาวะข้ามชาติเป็นไปได้ผ่านการติดตามการย้ายถิ่นของผู้คนในสนามที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติ นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องสภาวะข้ามชาติยังสัมพันธ์กับทฤษฎีหลังสมัยใหม่ (postmodern theory) ว่าด้วยพื้นที่และสถานที่ การถอดรื้อพรมแดน (deteritorialization) และการสร้างพรมแดนขึ้นใหม่ (reteritorialization) ตลอดจนการนำเสนอภาพแทนและการหลอมรวมผู้ย้ายถิ่น สภาวะข้ามชาติ โลกาภิวัติน์ และโลกที่เชื่อมถึงกัน เผยให้เห็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชาติภายใต้การประกอบสร้างและการต่อสู้ต่อรองของทั้งเจ้าถิ่นและผู้ย้ายถิ่น

การเกิดขึ้นของการเคลื่อนย้ายศึกษาช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมานุษยวิทยาต่อการศึกษาการย้ายถิ่นด้วยหนทางที่หลากหลาย ซึ่งผู้คนและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอันซับซ้อนและเชื่อมถึงกันในขณะเวลา อย่างไรก็ดี นอกจากการติดตามผู้คนแล้ว นักมานุษยวิทยา อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai) (1988; 1996) ยังเสนอให้ติดตามการเคลื่อนตัวของสิ่งของ ทุน ความคิด ข้อมูลข่าวสาร และสื่อด้วย ตัวอย่างการศึกษาทางมานุษยวิทยาร่วมสมัยที่น่าสนใจ อาทิ งานชาติพันธุ์วรรณนาของแอนนา ซิง (Anna Tsing) (2015) ซึ่งฉายให้เห็นการเกิดขึ้นของสายพานการผลิตเห็ดมัตสึทาเกะข้ามชาติระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจากการหาเลี้ยงชีพของกลุ่มชาติพันธุ์ย้ายถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่คาเรน ฟ็อก โอลวิก (Karen Fog Olwig) (2007) ศึกษาเครือข่ายและประสบการณ์การย้ายถิ่นของผู้ย้ายถิ่นจากหมู่เกาะเวสต์อินดีสในทะเลแคริบเบียน ที่เชื่อมโยงกับเรื่องเล่าของครอบครัวอันนำไปสู่การธำรงความเป็นชาวแคริบเบียน แทนที่จะเป็นการกลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิดเสมอไป พัฒนาการของมานุษยวิทยาในการศึกษาการย้ายถิ่นจึงมีพัฒนาการและขยับขยายตัวของประเด็นและวิธีการศึกษาตามสถานการณ์และมุมมองทางความคิดทฤษฎีในโลกปัจจุบัน

ดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่านอกจากการย้ายถิ่นศึกษาจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของกระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายแล้ว การศึกษาการย้ายถิ่นเองยังสัมพันธ์กับพัฒนาการทางความคิดของมานุษยวิทยาด้วย บริบทของโลกาภิวัฒน์ที่แผ่กว้างเผยให้เห็นผู้ย้ายถิ่นในฐานะที่เป็นผู้เคลื่อนย้ายภายใต้บรรยากาศและความคิดทางสังคม ตลอดจนพลวัตทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง การสร้างตัวเองขึ้นมาของแนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาในแง่หนึ่ง จึงเกิดขึ้นผ่านการเคลื่อนย้ายของมนุษย์มาตั้งแต่แรกเริ่ม การบรรจบกันของการย้ายถิ่น มานุษยวิทยา และการเคลื่อนย้าย ช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ในการศึกษาและทำความเข้าใจยุคสมัยแห่งการย้ายถิ่นที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

Appadurai, A. 1988. The Social Life of Things. Cambridge: Cambridge University Press.

Appadurai, A. 1996. Modernity at Large: Cultural Dimensions of Globalization. Minnesota: University of Minnesota Press.

Boas, F. 1912. Changes in the Bodily Form of Descendants of Immigrants. American Anthropologist. 14(3): 530-562.

Castles, S. & Miller, M. 2009. The Age of Migration. Basingstoke: Palgrave.

Clifford, J. 1997. Route: Travel and Translation in the Late Twentieth Century. Massachusetts: Cambridge University Press.

Cohen, R. 1978. Ethnicity: Problem and Focus in Anthropology. Annual Review of Anthropology. 7(1): 379-403.

Fortier, A. 2014. Migration Studies. Routledge Handbook for Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.

Jenks, A. E. 1921. The Relation of Anthropology to Americanization. Scientific Monthly. 12(3): 240-145.

Marcus, G. 1995. Ethnography in/of the World System: The Emergence of Multi-sited Ethnography. Annual Review of Anthropology. 24(1): 95-117.

Olwig, K. F. 2007. Caribbean Journeys: An Ethnography of Migration and Home in Three Family Networks. North Carolina: Duke University Press.

Redfield, R. et al. 1936. Memorandum for the Study of Acculturation. American Anthropologist. 38(1): 149-152.

Social Science Research Council. 1954. Acculturation: An Explanatory Formulation. American Anthropologist. 56(1): 973-1000.

Spiro, M. 1955. The Acculturation of American Ethnic Groups. American Anthropologist. 57(6): 1240-1252.

Tsing, A. L. 2015. The Mushroom at the End of the World: On the Possibility of Life in Capitalist Ruins. New Jersey: Princeton University Press.

Vertovec, S. 2010. Introduction: New Directions in the Anthropology of Migration and Multiculturalism. In Anthropology of Migration and Multiculturalism: New Directions, Steven Vertovec (Eds). New York: Routledge.


1  สำนักงานประชากรแห่งสหประชาชาตินิยามผู้ย้ายถิ่นว่าเป็นบุคคลที่เปลี่ยนถิ่นอาศัยเดิมไปสู่ถิ่นอาศัยใหม่โดยใช้เวลามากกว่า 3 เดือน โดยผู้เปลี่ยนถิ่นอาศัยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ปี จะถูกจำแนกเป็นผู้ย้ายถิ่นระยะสั้น ในขณะที่หากเปลี่ยนถิ่นอาศัยมากกว่า 1 ปี ขึ้นไปจะถูกจำแนกว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นระยะยาว ภายใต้นิยามเหล่านี้ ผู้ย้ายถิ่นยังสามารถจำแนกได้หลายประเภท อาทิ ผู้ลี้ภัย (refugee) คนพลัดถิ่น (diaspora) แรงงานย้ายถิ่น (migrant worker) นักลงทุนย้ายถิ่น (migrant investor) ตลอดจนผู้ย้ายถิ่นหลังเกษียณ (retirement migrant)

2  แนวคิดที่มองว่าความเชื่อและการปฏิบัติของบุคคลควรทำความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรมของบุคคลนั้น ๆ

3  มากาเร็ต มี๊ด (Magaret Mead) ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้และชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูมีอิทธิพลมากกว่าธรรมชาติ