บทความ

จังหวะกับสำนึกเชิงพื้นที่ในการเคลื่อนย้าย

โดยทั่วไป จังหวะ (rhythm) หมายถึงการเคลื่อนที่ (movement) ของสิ่งหนึ่ง ๆ ที่องค์ประกอบในการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้นปรากฏเป็นช่วงห่างในระดับต่าง ๆ ของการเคลื่อนที่ โดยที่ความห่างนั้นเองก็มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง (Murray 1971) จังหวะจึงเป็นการซ้ำกันของการเคลื่อนที่ที่เป็นระบบระเบียบ จากช่วงห่างเท่า ๆ กัน ไปจนถึงช่วงห่างที่สูงขึ้นและซับซ้อนขึ้น นิยามโดยทั่วไปของจังหวะดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ได้กับปรากฏการณ์ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ในทางดนตรี หรือศิลปะ แต่ยังรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายซึ่งจังหวะเผยให้เห็นขณะเวลาที่หลากหลายในสถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งถูกรับรู้โดยการเคลื่อนย้ายแบบต่าง ๆ ด้วย

โดยทั่วไป การรับรู้ถึงสถานที่หนึ่ง ๆ มักถูกอธิบายผ่านการอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ แบบติดที่เป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ในการเคลื่อนย้ายศึกษา การรับรู้ถึงสถานที่หนึ่งเกิดขึ้นโดยคำอธิบายแบบตรงกันข้าม ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) (2007) ชี้ว่าการเดินทางมาถึงอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ และเดินทางจากไป เป็นผลให้ผู้คนรับรู้ความแตกต่างระหว่างอาณาบริเวณที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับสถานที่จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการอยู่กับที่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนย้ายด้วย อองรี เลอแฟบวร์ (Henri Lefebvre) (2004) อธิบายว่าจังหวะในการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานที่หนึ่ง ๆ เวลาหนึ่ง ๆ และการออกแรงในลักษณะหนึ่ง ๆ การปฏิเสธวิธีคิดแบบติดที่ซึ่งมองว่าสถานที่เป็นอาณาบริเวณที่แน่นิ่งหรือถูกตีกรอบไว้ภายใต้ขอบเขตเชิงพื้นที่หนึ่ง ๆ เผยให้เห็นกระบวนการที่สถานที่ถูกรับรู้จากการประกอบสร้างที่การเคลื่อนย้ายไหลผ่านหรือตัดข้ามพื้นที่ผ่านจังหวะของการเคลื่อนที่

กล่าวอย่างง่ายได้ว่า การรับรู้สถานที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำโดยผู้คนและการเคลื่อนที่ในพื้นที่หนึ่ง ๆ จนเกิดความคุ้นเคยและจำแจกความแตกต่างระหว่างที่หนึ่งกับอีกที่หนึ่งได้ เดวิด ซีมอน (David Seamon) (1980) เรียกกระบวนการดังกล่าวนี้ว่าการเริงระบำของสถานที่ (place ballets) การเคลื่อนที่ไปมาจนเกิดความคุ้นเคยในระดับมวลชนในพื้นที่และรอบ ๆ พื้นที่ทำให้สถานที่เกิดขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน กิจวัตรที่ดำเนินซ้ำไปมาจนเกิดเป็นแบบแผนสอดประสานกันทั้งในเชิงพื้นที่และเวลาจนเกิดเป็นจังหวะที่ดำรงอยู่จำเพาะในสถานที่นั้น ๆ

ในระดับชีวิตประจำวันเอง จังหวะของการเคลื่อนย้ายนำมาซึ่งฉากทัศน์ของชีวิตประจำวันในฐานะที่เป็นปฏิบัติการสามัญที่ผลิตซ้ำชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่นการเดินเท้าในพื้นที่เมืองแบบที่เป็นกิจวัตรในชีวิตรประจำวัน การเดินทางแบบนี้มักมีตารางเวลาในระดับปฏิบัติการ เส้นทางเดิม ๆ อุปสรรคเดิม ๆ ตลอดจนปลายทางเดิม ๆ การเดินเท้าแบบนี้อาจมีรายละเอียดเล็กน้อยแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละวัน แต่แบบแผนใหญ่ของการเดินยังคงเป็นดังเช่นทุกวันตราบเท่าที่พื้นที่ เวลา และการออกแรงเดินจากจุดเริ่มต้นไปยังเป้าหมายยังเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จังหวะในการเคลื่อนที่เกิดขึ้นเป็นช่วงห่างของการก้าวเดิน การเข้าใกล้ทางแยก การก้าวข้ามอุปสรรค ตลอดจนการทำกิจกรรมแบบอื่น ๆ ในระหว่างทางก่อนที่จะถึงจุดหมาย

ตัวอย่างการเดินเท้าในข้างต้นเป็นจังหวะของการเคลื่อนที่ในการเคลื่อนย้ายของคนเพียงคนเดียว ทว่าในพื้นที่เมืองที่ผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างหลากหลาย จังหวะของการเดินเท้าเช่นนี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นจังหวะของคนที่หลากหลายซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันและคาบเกี่ยวกัน จังหวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกันและแยกจากกันได้ อาทิ การเดินเท้าจากจุดเริ่มต้นที่ต่างกันมายังป้ายรถเมล์เพื่อขึ้นรถพร้อมกัน การรับรู้ถึงสถานที่เช่นนี้จึงเกิดขึ้นผ่านการประสานกันของพื้นที่ ขณะเวลา ร่างกาย ในกระบวนการเคลื่อนย้ายที่คนจำนวนมากเข้ามารับรู้และผลิตซ้ำร่วมกัน

ในขณะที่ทิม เอเดนเซอร์ (Tim Edensor) (2011) อธิบายว่าการเดินทางในระดับชีวิตประจำวันอย่างการเดินทางไปทำงานช่วยขยับขยายการรับรู้สถานที่ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะแบบใดก็ตาม เจนนี มิดเดิลตัน (Jennie Middleton) (2009) อธิบายว่าความเร็ว ฝีเท้า และตารางเวลาในระดับปฏิบัติการช่วยสร้างความเข้าใจต่อสถานที่ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเดินทางอย่างถนน ทางเท้า และทางรถไฟ จังหวะที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนย้ายจึงเป็นจังหวะที่สร้างความรับรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่ง (sense of belonging) ซึ่งผู้คนรับรู้ถึงสถานที่ขึ้นมาร่วมกันผ่านการเคลื่อนย้ายที่ดำรงอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่พวกเขาคุ้นเคย

Edensor, T. 2011. The Rhythms of Commuting. In Mobilities: Practices, Spaces, and Subjects, Tim Cresswell and Peter Merriman (Eds). Aldershot: Ashgate.

Edensor, T. 2014. Rhythm and Arrhythmia. Routledge Handbook for Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.

Ingold, T. (2007). Lines: A Brief History. London: Routledge.

Lefervre, H. 2004. Rhythmanalysis: Space, Time, and Everyday Life. London: Continuum.

Middleton, J. 2009. Stepping in Time: Walking, Time, and Space in the City. Environment and Planning A. 41(1): 1943-1961.

Murray, J. A. H. 1971. The Compact Edition of the Oxford English Dictionary II. Oxford: Oxford University Press.

Seamon, D. 1980. Body-Subject, Time-Space Routines, and Place-Ballets. In The Human Experience of Space and Place, Anne Buttimer and David Seaman (Eds). London: Croom Helm.