มานุษยวิทยากับสภาวะการเปลี่ยนสภาพ (Anthropology and Plasticity)
ฐานความคิดเรื่อง Plasticity
แนวคิด plasticity เกิดขึ้นจากนักปรัชญาฝรั่งเศสชื่อ Catherine Malabou (2007a, 207b, 2009, 2010, 2012; Malabou & During, 2000; Malabou & Ziarek, 2012) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะอธิบายในเชิงทฤษฎีและวิธีวิทยาในเวลาเดียวกัน ในทัศนะของ Malabou มองว่าการทำความเข้าใจวัตถุภาวะ (materiality) ต้องมีจินตนาการใหม่ หมายถึงการศึกษาวัตถุในฐานะเป็นความสามารถที่จะสร้าง ทำลาย เปลี่ยน และแก้ไขรูปทรงของตัวมันเองได้ ความสามารถดังกล่าวคือสภาวะของความไม่นิ่งและไม่ใช่สิ่งถาวร คล้ายกับคุณสมบัติของพลาสติกที่ยืดหยุ่นและแปรสภาพตัวเองได้ วัตถุต่าง ๆ จึงมิได้คงทนและมีรูปทรงที่ตายตัว ในทางตรงกันข้ามมันสามารถแตกตัวและเปลี่ยนตัวเองไปเป็นรูปทรงอื่น ๆ Malabou เสนอว่าสภาวะของการเปลี่ยนสภาพและการไม่มีรูปแบบที่ถาวรจะช่วยให้เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความผันแปร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปธรรมและนามธรรม สามารถนำแนวคิดนี้ไปวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคมของมนุษย์ได้
รากฐานความคิดของ plasticity ย้อนไปถึงคำอธิบายของนักปรัชญาหลายคน เช่น Georg Wilhelm Friedrich Hegel, Martin Heidegger และ Jacques Derrida สำหรับ Malabou (2005) พยายามทบทวนความคิดของ Hegel จากเรื่อง Phenomenology of Spirit (2018) ที่ระบุว่าตัวตนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนสภาพได้ (plastic individuals) หมายถึงมนุษย์ล้วนมีอิสระที่จะสร้างชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ ความอิสระนี้คืออำนาจในตัวเอง เช่นเดียวกับคำอธิบายของ Heidegger และ Derrida ที่มองว่ารูปทรงของวัตถุเป็นสิ่งที่ผันแปรตลอดเวลา สภาวะดังกล่าวทำให้เห็นว่าเวลาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ และมีผลต่อการศึกษาวัตถุภาวะในรูปแบบใหม่ที่สนใจพลัง ศักยภาพและความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสิ่งใหม่ตลอดเวลา วัตถุจะมิใช่สิ่งที่ตกผลึก แข็งตัว และติดแน่นในรูปทรงที่ตายตัว แต่มีพลังและศักยภาพที่จะแก้ไขและรื้อตัวเอง (Bennett, 2009) ในแง่นี้ จะพบว่าการดำรงอยู่ของวัตถุมิได้วางอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ถาวร แต่วางอยู่ในพรมแดนของความผันแปร ดังที่ James (2012) ชี้ให้เห็นภววิทยาของวัตถุที่แปรสภาพได้ (metamorphic materialist ontology) ฐานคิดนี้คือการมอง “การมีอยู่ของวัตถุ” ในลักษณะของสิ่งที่อ่อนตัว หมายถึง วัตถุคือผู้กระทำการ สามารถทำให้ตัวมันเองเปลี่ยนสภาพได้
นอกจากนั้น Malabou (2008) ยังอาศัยความรู้ของวิชาประสาทวิทยาเพื่อทำความเข้าใจสภาวะยืดหยุ่นของระบบประสาท ในวงการวิทยาศาสตร์มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสามารถของเซลล์สมองที่ปรับเปลี่ยนแก้ไขตัวเองได้ ความรู้ดังกล่าวนี้ทำให้ความคิดเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมองตัวตนในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่คงที่และมนุษย์มีศักยภาพที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล่าวคือ ถ้าระบบประสาทและเซลล์สมองสามารถแก้ไขสภาพตัวเองได้ตลอดเวลา วิธีคิดและการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในเซลล์สมองก็ย่อมจะเปลี่ยนได้ (Cicchetti & Curtis, 2006) นักประสาทวิทยามองว่าสมองเรียนรู้ที่จะตรวจจับรูปแบบเชิงสาเหตุ เมื่อลำดับของการกระทำหรือเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ ยิ่งการเชื่อมต่อสัญญาณของกระแสเคมีไฟฟ้าในเซลล์สมองแข็งแกร่งขึ้น เราก็ยิ่งเคยชินหรือมีประสบการณ์มากขึ้นในการทำงานเฉพาะอย่าง ตัวอย่างเช่น สมองของของนักดนตรีที่ช่ำชองจะมีการขยายตัวของระบบประสาทรับความรู้สึกทางร่างกายซึ่งปรากฎอยู่ที่นิ้วที่ใช้เล่นเครื่องดนตรีที่นักดนตรีผู้นั้นเล่นเป็นประจำ
ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของเซลล์สมองและระบบประสาทที่เชื่อมต่อกันด้วยกระแสเคมีไฟฟ้า สัมพันธ์กับการปฏิบัติของมนุษย์ในชีวิตประจำวันภายในเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม นำไปสู่คำอธิบายที่มาพัฒนาการของมนุษย์ผันแปรไปตามบริบทสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังที่ Doidge (2007) กล่าวว่าคุณสมบัติของเซลล์ประสาทที่ยืดหยุ่นสามารถทำให้เรามีสมองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและทำให้สมองแข็งกระด้างมากขึ้นในเวลาเดียวกัน ในแง่สังคมจะพบว่า มนุษย์บางคนสามารถใช้ศักยภาพของระบบประสาทที่เปลี่ยนแปลงได้มาเป็นกลไกที่จะปรับตัวเองไปได้เรื่อย ๆ แต่คนบางคนกลับยึดติดและผลิตซ้ำพฤติกรรมเดิม ๆ จนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ในแง่นี้ การทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลาส่งผลให้เกิดสภาวะแข็งตัวของชีวิต ความรู้เกี่ยวกับประสาทวิทยาจึงส่งผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องตัวตนของมนุษย์ซึ่งมีทั้งสภาวะที่แข็งตัวและสภาวะที่ผันแปรในเวลาเดียวกัน นักวิชาการจึงถกเถียงและตรวจสอบว่าเราจะใช้ศักยภาพของเซลล์ประสาทในร่างกายของมนุษย์อย่างไรเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาชีวิตที่ไม่ยึดติดอยู่กับกฎเกณฑ์ที่ตายตัว
Malabou (2008, 2010) ได้เสนอให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองกับอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ทั้งสองส่วนนี้คือข้อโต้แย้งต่อกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่ยึดติดอยู่กับความจริงทางวัตถุที่มั่นคง ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาความจริงแบบเหตุผลนิยม โดยมองสมองเป็นดั่งเครื่องจักรกลที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆของร่างกาย ในทางตรงกันข้าม ความรู้ของประสาทวิทยายุคหลังมองว่าเซลล์สมองเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างกระแสเคมีไฟฟ้าสั่งการให้อวัยวะทำงานในแบบเดิมจนเคยชิน สภาวะย้อนแย้งของเซลล์สมองที่เป็นทั้งการสร้างและการรื้อทำลายจึงมีผลต่อการปฏิบัติตัวของมนุษย์ สิ่งนี้ทำให้ Malabou (2008) เสนอว่าในการศึกษาปรากฎกาณ์สังคมจำเป็นต้องเข้าใจสภาวะเปลี่ยนสภาพ (plasticity) ซึ่งเกิดขึ้นบนรอยต่อของการสร้างและการทำลาย เมื่อมนุษย์สามารถท้าทายกฎเกณฑ์ที่ครอบงำและชี้นำทางสังคมได้ มนุษย์ก็จะเห็นศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ
Plasticity กับการศึกษาความจริง
การนำแนวคิด plasticity มาทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของ “ความจริง” จำเป็นต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างโลกทางวัตถุและภาษาที่สร้างความหมายให้กับวัตถุ (material-discursive reading) โดยมิได้แบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างวัตถุและความหมาย (Ulmer, 2015) ในประเด็นนี้ Malabou กล่าวว่าสภาวะของการเปลี่ยนสภาพคือกลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อตีความอย่างเป็นอิสระ ในขณะที่ Bennett (2009) อธิบายว่าพรมแดนของวัตถุชนิดต่าง ๆ ล้วนมีศักยภาพที่จะทำให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยที่วัตถุเหล่านั้นมิใช่สิ่งที่ถูกแรงกระทำจากสิ่งอื่นเท่านั้น แต่มันยังเป็นผู้กระทำต่อตัวมันเองและต่อสิ่งรอบข้าง เช่นเดียวกับคำอธิบายของ Barad (2007) ซึ่งมองเครือข่ายของวัตถุที่มีการตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่มีวัตถุใดที่แยกตัวเป็นอิสระ วัตถุทั้งหลายจึงดำรงอยู่ในฐานะเป็น “ผู้กระทำการร่วม”
ในแง่ของวิธีวิทยา แนวคิด plasticity คือแนวทางเพื่อการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ กล่าวคือ การศึกษาการดำรงอยู่ของโลกวัตถุและความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากภาษาและวาทกรรม สามารถพิจารณาได้จากกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะวัตถุจะมีการแตกสลาย ปรับเปลี่ยนตัวเองและสร้างรูปทรงใหม่ ๆ ขึ้นมา วัฏจักรของการเปลี่ยนสภาพนี้คือโครงสร้างของการไม่หยุดนิ่งของวัตถุ ซึ่ง Malabou (2010) เรียกว่า “สภาวะการเปลี่ยนสภาพเชิงโครงสร้าง” (structural plasticity) กล่าวคือปรากฎการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ล้วนมีทั้งวัตถุและควาหมายที่เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างซับซ้อน และสิ่งเหล่านี้เคลื่อนตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนสภาพตัวเองตลอดเวลา ดังนั้น วิธีการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ของความไม่นิ่งจึงต้องมีมุมมองที่ต่างไปจากเดิม มิได้มองวัตถุทั้งที่เป็นมนุษย์และมิใช่มนุษย์เป็นสิ่งที่ถาวรและสมบูรณ์แบบ แต่มองปฏิสัมพันธ์ของวัตถุที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง
Malabou (2008) กล่าวว่าการไม่หยุดนิ่งของตัวตน หมายถึงความสามารถที่จะเปลี่ยน แก้ไข รื้อทำลาย และสร้างรูปแบบของตัวตนได้ตลอดเวลา ในเวลาเดียวกันตัวตนก็พยายามรักษารูปแบบที่เคยชินเก็บไว้ในพฤติกรรมและการกระทำต่าง ๆ ตัวตนจึงดำรงอยู่บนสภาวะที่ต่อสู้กันระหว่างการสร้างใหม่และการเก็บรักษาของเดิม ในทำนองเดียวกันมนุษย์มีความสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่เช่นเดียวกับการต่อสู้ขัดขืน เพิกเฉย และยอมจำนนต่ออำนาจ Malabou (2008) เสนอว่าเงื่อนไขทางชีววิทยากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมิใช่สิ่งที่แยกขาดจากกัน หากแต่ทั้งสองส่วนนี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน รอยต่อของสองส่วนนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการมักจะมองข้ามและไม่สนใจที่จะอธิบายให้เห็นวิธีการทำงานของรอยต่อดังกล่าว ทั้งนี้ รอยต่อนี้คือสภาวะของการเปลี่ยนสภาพ เป็นสิ่งที่ไร้รูปทรงที่ตายตัว ทำให้เป็นเรื่องยากต่อการจับต้องและมองเห็น
มานุษยวิทยา กับ Plasticity
จากข้อถกเถียงของประสาทวิทยาและแนวคิดของ Malabou ทำให้เกิดการทบทวนการดำรงอยู่ของตัวตน โดยเฉพาะความเป็นมนุษย์ที่มิได้แข็งแกร่งและถาวรตามทฤษฎีชีววิทยาแบบเก่า แต่เปิดเผยให้เห็นสภาวะยืดหยุ่นและปรับตัวเองของเซลล์สมองอันมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ ท่าทีดังกล่าวนี้ทำให้เห็นวิธีคิดและความรับผิดชอบที่ต่างไปจากเดิม นักมานุษยวิทยา Gregory Bateson (2000, 2002) เคยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะจิตใจของมนุษย์ โดยชี้ให้เห็นว่าประสบการณ์มีผลต่อการรับรู้และการหยั่งรู้ของมนุษย์ ภาวะจิตใจของมนุษย์มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง มิได้เป็นผลผลิตของบุคคล หากแต่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่บุคคลใช้ชีวิต เครือข่ายความสัมพันธ์ของมนุษย์จึงเป็นตัวกำหนดความคิดและตัวตนของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า “จิตใจเชิงนิเวศ” (ecological Mind) ในทัศนะของ Bateson เชื่อว่าอัตลักษณ์ของมนุษย์คือการแสดงออกถึงเครือข่ายของระบบนิเวศ (ecological expression) หมายถึงความเป็นมนุษย์เป็นผลพวงของสิ่งแวดล้อม มิได้เป็นผลมาจากความคิดส่วนตัวของปัจเจก
แนวคิดของ Bateson (2000) ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการกระทำต่าง ๆ ของบุคคลมิได้เกิดขึ้นด้วยตัวคนเดียว แต่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่น รวมถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นด้วย ความเข้าใจนี้เป็นการโต้แย้งสมมติฐานเกี่ยวกับการแบ่งแยกร่างกายจากจิตใจ กล่าวคือ ความเป็นบุคคลของมนุษย์มิได้แยกกายออกจากจิต แต่ทั้งสองส่วนคือองค์ประกอบที่สร้างตัวตนของมนุษย์ ในแง่นี้จะพบว่าองค์รวมของความเป็นมนุษย์ไม่สามารถตัดแบ่งและไม่สามารถพิจารณาได้จากส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น Bateson ยังอธิบายว่าธรรมชาติที่ดำรงอยู่ถูกกำหนดมาให้มีความแตกต่างหลากหลาย สิ่งนี้จะมาบรรจบกับเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธรรมชาติ ซึ่งได้แก่การทำกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อม ทั้งสองส่วนนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์จึงดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ทางชีวภาพ (biospheric interaction) ที่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คำอธิบายนี้ได้ทำลายวิธีคิดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งแวดล้อม และเสนอการมองเครือข่ายความสัมพันธ์ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของระบบนิเวศ
Bateson ยังกล่าวว่ากระบวนคิดของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นเป็นเส้นตรงที่บ่งชี้การไม่รู้ไปสู่การหยั่งรู้ มิใช่การเริ่มต้นด้วยการไร้จิตสำนึกไปสู่การมีจิตสำนึก การเคลื่อนที่แบบเส้นตรงนี้มิได้ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องกระบวนการคิด ในทางตรงกันข้าม ความคิด การเรียนรู้ และการรับรู้ของมนุษย์ดำรงอยู่ในความเกี่ยวพันที่ซับซ้อนเชิงนิเวศ (ecological tangle) ซึ่งมีทั้งเรื่องที่จับต้องได้และเรื่องที่มองไม่เห็น ดังนั้น การรู้จึงมิใช่ผลผลิตที่เกิดจากสมอง แต่เกิดจากประสบการณ์ที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งสิ่งที่คงเดิมและสิ่งที่เปลี่ยนแปลง คล้ายกับคำอธิบายของ Malabou ที่ระบุว่าเครือข่ายการทำงานของเซลล์สมองพัวพันกันด้วยปฏิกริยาเคมีไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปทรงของเซลล์ สิ่งนี้คือหัวใจของสภาวะของการเปลี่ยนสภาพ จะเห็นได้ว่า Bateson มองการเรียนรู้และการคิดของมนุษย์เป็นกระบวนการที่อาศัยปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของและระบบนิเวศที่สร้างสิ่งที่ต่างไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น คนตาบอดอาศัยไม้เท้าช่วยคลำหาเส้นทางเดิน ปลายของไม้เท้าที่ทิ่มลงไปในพื้นดินคือวิธีการรับรู้ของคนตาบอด ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงทางเดินของคนตาบอดจึงมิได้เกิดจากการสั่งให้มือแกว่งไม้เท้า แต่เกิดจากการที่ไม้เท้าสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม
ความคิดของ Bateson ที่สนใจเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงนิเวศ และ Malabou สนใจระบบประสาทที่เปลี่ยนสภาพของเซลล์สมอง ช่วยทำให้เห็นพรมแดนของพื้นที่และเวลาที่ซับซ้อน กล่าวคือ ตัวตนของมนุษย์ในพื้นที่และเวลาที่เปลี่ยนไปสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายปฏิสัมพันธ์ที่ต่างกัน ตัวตนจึงเคลื่อนที่ไปตามความสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่ง ในความสัมพันธ์แบบใหม่จะสร้างประสบการณ์ ทักษะ ความคิด ความรู้และความรู้สึกในแบบที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการคลี่คลายและปรับเปลี่ยนตัวตนที่ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ข้อสังเกตเกี่ยวกับความผันแปรและการยึดติดกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เป็นความพยายามที่จะมองมนุษย์เป็นสิ่งที่สร้างตัวเองแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่ง Malabou มองว่านี่คือศักยภาพที่มนุษย์มองข้ามไป รวมถึงชี้ให้เห็นว่าเซลล์สมองของมนุษย์มิใช่อวัยวะศูนย์กลางที่มีหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆในร่างกาย แต่เซลล์สมองคือความมีอิสระที่จะสร้างและทำลายตัวเองในเวลาเดียวกัน
ในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน การทำความเข้าใจพรมแดนชีวิตที่แยกระหว่างวัตถุกับสิ่งมีชีวิต แยกมนุษย์ออกจากสภาพแวดล้อม ล้วนเป็นการจองจำมนุษย์ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ข้อเสนอของ Bateson และ Malabou ได้ปลดล็อคตรรกะและความคิดดังกล่าวเพื่อเสนอการทำความเข้าใจชีวิตในฐานะเป็นองค์รวมของทุกสิ่งบนโลกและมีสภาวะที่เปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา แนวคิด Plasticity เป็นการเสนอมุมมองเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิตที่หลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อทำให้มนุษย์เข้าใจว่าตนเองเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ ในเครือข่ายความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ เพื่อทำให้เราตรวจสอบและทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่สร้างตัวตนของมนุษย์ขึ้นมาบนโลกนี้ การเห็นกลไกทางชีววิทยาและทางนิเวศอาจทำให้เราตระหนักว่าตัวของเราไม่ได้แยกอยู่ตามลำพังโดยปราศจากกลไกที่ซับซ้อนและไม่ยุดนิ่งเหล่านั้น
Barad, K. (2007). Meeting the universe halfway. Durham, NC: Duke University Press.
Bateson, G. (2000). Steps to an Ecology of Mind: Collected Essays. in Anthropology, Psychiatry, Evolution, and Epistemology. Chicago: University of Chicago Press.
Bateson, G. (2002). Mind and Nature: A Necessary Unity. London: Wildwood House.
Bennett, J. (2009). Vibrant matter. Durham, NC: Duke University Press.
Cicchetti, D. & Curtis, W.J. (2006). The Developing Brain and Neural Plasticity: Implications for Normality, Psychopathology, and Resilience. In Developmental Psychopathology, (pp. 1-64). Hoboken, NJ: John Wiley & Sons Inc.
Doidge, N. (2007). The Brain That Changes Itself. London: Penguin Books.
Hegel, G.W. F. (2018). The Phenomenology of Spirit (Cambridge Hegel Translations). translated by Terry Pinkard. Cambridge: Cambridge University Press.
James, I. (2012). The new French philosophy. Cambridge: Polity.
Malabou, C. (2005). The Future of Hegel: Plasticity, Temporality and Dialectic. New York: Routledge.
Malabou, C. (2007a). Plasticity and elasticity in Freud’s beyond the pleasure principle. Diacritics, 37, 78–86.
Malabou, C. (2007b). The end of writing? Grammatology and plasticity. The European Legacy, 12, 431–441.
Malabou, C. (2009). What should we do with our brain? Bronx, NY: Fordham University Press.
Malabou, C. (2008). What Should We Do with Our Brain? New YorK: Fordham University Press.
Malabou, C. (2010). Plasticity at the dusk of writing: Dialectic, destruction, deconstruction. NewYork, NY: Columbia University Press.
Malabou, C. (2012). Ontology of the accident: An essay on destructive plasticity. Cambridge: PolityPress.
Malabou, C., & During, L. (2000). The future of Hegel: Plasticity, temporality, dialectic. Hypatia, 15, 196–220.
Malabou, C., & Ziarek, E. P. (2012). Negativity, unhappiness or felicity: On Irigaray’s dialectical culture of sexual difference. L’Esprit Cre ́ateur, 52, 11–25.
Ulmer, J. B. (2015) Plasticity: a new materialist approach to policy and methodology, Educational Philosophy and Theory,47(10), 1096-1109