ภาพทัศน์ทุนนิยม (Capitalocene)
รากเหง้าระบบทุนนิยม
คำว่า Capitalocene คือปรากฎการณ์ที่อธิบายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ทุนนิยมเติบโตและขยายตัวซึ่งแสดงออกให้เห็นในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถูกใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาจพิจารณาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 การใช้พลังงงานจากถ่านหินและเครื่องจักรไอน้ำคือจุดเริ่มต้นของยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความพัวพันระหว่างเงินตรา ทรัพยากรธรรมชาติ และอำนาจ (Moore, 2016, 2017; Pomeranz, 2000) สถานการณ์นี้คือรากฐานของความปั่นป่วนและวิกฤตการณ์ของระบบนิเวศ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ดำเนินไปด้วยความย้อนแย้งและความตึงเครียด ในขณะที่แนวคิด Anthropocene คือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่มนุษย์เข้าไปกระทำต่อธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง Moore(2017) เรียก Anthropocene ว่าเป็นวิธีคิดในเชิงประวัติศาสตร์ (mode of historical thinking) อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่มนุษย์เริ่มการเพาะปลูกพืชเป็นอาหาร การเดินทางของโคลัมบัสมายังทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1450 อาจทำให้เข้าใจใหม่ว่ามนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ได้อย่างไร
Capitalocene จึงมีนัยยะของการมองเห็นวิกฤตและสภาพปัญหาที่ปรากฎขึ้นในระบบนิเวศและธรรมชาติ เป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (McNeill & Engelke, 2016) การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงออกในด้านลบต่อระบบนิเวศ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลไกอำนาจของทุนนิยมข้ามชาติทำงานต่างไปจากยุคเริ่มแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงสาเหตุของยุคสมัยที่มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำเอาทรัยพากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ที่ตอบสนองระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการบริโภคของมวลชน ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องใช้ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้พลังงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การคมนาคม และการสื่อสารยุคดิจิทัล การใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมจึงเป็นต้นตอของการทำลายระบบนิเวศของโลก (Moore, 2016) ดังนั้น การกลับมาทบทวนบทบาทและอำนาจของระบบทุนนิยมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการที่ซับซ้อน ในอดีต Karl Marx เคยวิจารณ์ระบบทุนนิยมในแง่ของการเอารัดเอาเปรียบแรงงานและการแสวงหาประโยชน์เชิงวัตถุของชนชั้นนายทุนและชนชั้นนำที่มีอำนาจในการควบคุมทรัพยากร ระบบทุนนิยมจึงดำเนินไปบนการแสวงหาประโยชน์ของคนกลุ่มเล็ก ๆ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ระบบทุนนิยมปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบและเทคนิคในการแสวงหาผลประโยชน์ต่างไปจากยุคสมัยของ Marx เป็นอย่างมาก ทุกประเทศในโลกล้วนพึ่งพาอาศัยและใช้ระบบทุนนิยมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก Thomas Hylland Eriksen (2020) กล่าวว่าความเลวร้ายของระบบทุนนิยมมิได้อยู่ที่การสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่อยู่ที่กลไกของการทำลายทรัพยากรและการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Klein, 2015) นักเศรษฐศาสตร์มักมองเห็นโลกในฐานะเป็นพื้นที่ของการค้าขายที่นำเอาทรัพยากรมาใช้เพื่อผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งต้นทุนการผลิตต่ำ และราคาสินค้าสูงก็จะทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นี้เห็นสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงวัตถุดิบเพื่อนำมาสร้างเป็นสินค้า ในยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ชาวตะวันตกแสวงหาพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และแรงงานราคาถูกเพื่อนำมาเป็นกลไกในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (Blackburn, 1998) การใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬารและแรงงานมนุษย์จำนวนมากถือเป็นการก่อตัวของพลังของทุนนิยม และยังนำไปสู่การแข่งขันและแย่งชิงแหล่งทรัพยากรและแรงงาน การแข่งขันของนายทุนในแต่ละประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร ยังทำให้เกิดการสร้างท่าเรือน้ำลึก ท่าอากาศยาน นิคมอุตสากรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ เส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจำนวนมาก
นอกจากนั้น ระบบทุนนิยมเติบโตบนฐานคิดที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษเหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น หรือ human exceptionalism ความพิเศษที่เหนือกว่านี้คือวิธีคิดที่แยกมนุษย์ออกไปจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Haraway, 2008; Steffen et al., 2011) มนุษย์และธรรมชาติจึงถูกแยกให้เป็นคู่ตรงข้าม ในระบบทุนนิยม มนุษย์จึงเหนือกว่าสิ่งอื่นในโลก ซึ่งมีนัยยะของการเป็นเจ้านายและผู้ครอบครอง นายทุนและชนชั้นกฎุมพีจึงมองการมีชีวิตของตัวเองด้วยการครอบครองทรัพย์สินและทรัพยากรซึ่งเรียกว่า “สมบัติส่วนตัว” การแบ่งแยกดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่ามนุษย์คือผู้กระทำ ส่วนธรรมชาติคือผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดแนวคิดประวัติศาสตร์ธรรมชาติแยกขาดจากประวัติศาสตร์สังคม พร้อมกับการให้คุณค่ากับสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าความคิดและความสัมพันธ์ทางจิตใจ (Watts, 2005) พืช สัตว์ และสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติถูกทำให้เป็นวัตถุที่สนองตอบการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยมองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร Moore (2015) กล่าวว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อม (environment-making) หมายถึงมนุษย์ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธรรมชาติทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลง การมองความสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำให้เข้าใจการเชื่อมประสานกันระหว่างนิเวศกับสังคม ดังนั้น ระบบทุนนิยมจึงเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มิใช่การแยกมนุษย์ให้อยู่ตามลำพัง
ความโหดร้ายของทุนนิยมโลก
การเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปัจจุบัน ทำให้เกิดสินค้าและขยะจากการบริโภคของมวลชนมากมายมหาศาล สิ่งเหลือใช้ที่มาจากวัตถุทางอุตสหกรรม เช่น พลาสติกและอลูมิเนียมรวมถึงน้ำเสีย ฝุ่นควัน สารเคมี ที่เกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ควันและมลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์ในเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ รวมถึงการหายไปของป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากร สารตกค้างจากการทำเกษตรกรรมแบบพืชเชิงเดี่ยว สิ่งเหล่านี้คือผลที่เกิดจากการเติบโตของทุนนิยมโลก ไลฟ์สไตล์ของการบริโภคของมนุษย์ที่พึ่งพาการใช้สินค้าที่ถูกกระตุ้นจากโฆษณาและการตลาดที่เร่งเร้า ทำให้มนุษย์เปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์และวัตถุสิ่งของที่สนองตอบรสนิยมที่ไม่หยุดนิ่ง ทิศทางของการใช้ทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น จึงเต็มไปด้วยร่องรอยของความเสื่อมโทรมและการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย ดังที่ McBrien (2016) กล่าวว่าระบบทุนนิยมคือกลไกของความตายและทำลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นนี้วางอยู่บนตรรกะของการแข่งขันเพื่อเปลี่ยนวัตถุสิ่งของให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทรัพยกรและธรรมชาติกลายเป็นวัตถุที่ถูกประเมินเป็นราคาซื้อขาย Eriksen (2020) อธิบายว่าการเติบโตและความรุง่เรืองทางเศรษฐกิจในปัจจุบันคือภาพสะท้อนอนาคตของมนุษย์ที่พบกับความสื่อมและสูญหายของทรัพยากร
การทำเกษตกรรมเชิงพาณิชย์ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช แมลง และเร่งการเติบโต สิ่งเหล่านี้ทำให้ภูมิประเทศของโลกเปลี่ยนแปลง จะพบว่าการเพาะปลูกเพื่อการค้าจะมีรูปแบบที่เหมือน ๆ กัน การเปิดพื้นที่เพื่อทำการเกษตรเชิงการค้าเท่ากับเป็นการมองธรรมชาติในฐานะสิ่งที่ถูกตัดแบ่งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ยิ่งต้นทุนในการเพาะปลูกต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ขายผลผลิตได้มากขึ้น นั่นหมายถึงธรรมชาติมีราคาต่ำกว่าราคาผลผลิตในระบบเกษตรกรรม ในระบบอุตสาหกรรม แรงงานมนุษย์ถูกมองเป็นกลไกและเครืองจักรที่จะทำให้ได้ผลผลิตและมูลค่าทางเงินตรา ศักยภาพและสมรรถนะของแรงงานจึงเป็นเป้าหมายของระบบการผลิต ยิ่งแรงงานทำงานได้ยาวนานและทำผลผลิตได้มากก็ยิ่งทำให้มีสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานมิได้มีอัตราเพิ่มเหมือนราคาสินค้า (van Zanden, 1999) จะเห็นได้ว่าในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด
บทเรียนจากทุนนิยม
จักรวรรดินิยมของยุโรปและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการมองโลกในฐานะทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ ดังนั้นใครที่ครองโลกนี้ได้ก็เท่ากับสามารถครอบครองทรัพย์สินมหาศาล (Ingold, 1993) การขับเคลื่อนโลกด้วยระบบทุนนิยมตะวันตกยังทำให้เห็นกระบวนการเอารัดเอาเปรียบ การแสวงหาประโยชน์ การใช้อำนาจครอบงำและบงการ และการคำนวณทุกอย่างเป็นเงิน (Pickles, 2004) สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนพื้นที่ระบบนิเวศและภูมิประเทศของโลกให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสะสมทุนและการบ่งชี้ถึงความมั่งคั่ง ธรรมชาติและทรัพยากรบนโลกจะเป็นวัตถุดิบราคาถูกที่มีไว้สำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม Malm (2016) กล่าวว่าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำมันในกระบวนการผลิตและการขนส่งอย่างมหาศาล ทำให้ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ล้างผลาญน้ำมันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือเรียกว่าเป็น fossil capital ในแง่นี้ ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบนิเวศของอำนาจที่เกี่ยวข้องกับทุนและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง Moore( 2003) เรียกว่า World-ecology ระบบนิเวศนี้คือความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสังคมและธรรมชาติที่ทำให้เกิดการสร้างความรู้และวัฒนธรรมที่มนุษย์และธรรมชาติพัวพันกัน
Eriksen (2020) กล่าวว่าตรรกะของระบบทุนนิยมซึ่งก่อตัวและเติบโตจากระบบคิดแบบสมัยใหม่ที่ยึดมั่นกับการค้นหาความจริงเชิงวัตถุและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องตรวจสอบและค้นหาวิธีคิดใหม่ต่อการอยู่ในโลกร่วมกับสิ่งอื่น เป้าหมายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต้องรื้อแก้ไข Toscano (2008) กล่าวว่าในระบบทุนนิยมได้สถาปนาความจริงที่ว่ามนุษย์และปัจจัยการผลิตแยกออกจากกัน ทำให้นายทุนในฐานะเจ้าของการผลิตตัดขาดจากแรงงานที่ถูกทำให้เป็นเพียงปัจจัยการผลิตเท่านั้น นอกจากนั้น Moore(2017) อธิบายว่าระบบทุนนิยมทำให้พรมแดนของมนุษย์แยกออกจากพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่ภววิทยาแบบทวิลักษณ์ (dualist ontology) โดยมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ประเด็นสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมิใช่เป็นการทำให้มนุษย์มีอำนาจควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่จัดวางมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกับสิ่งอื่น ดังที่ Moore (2015) คิดว่ามนุษย์กับสิ่งต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่ในโครงข่ายของชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (nterdependencies)
Blackburn, R. (1998). The making of New World slavery. London: Verso.
Eriksen, T.H. (2020). Capitalocene. In Marianne Krogh, (ed.), Connectedness: an incomplete encyclopedia of Anthropocene: Views, thoughts, considerations, insights, images, notes & remarks. København, Denmark: Strandberg Publishing.
Haraway, D. (2008). When species meet. Minnesota: University of Minnesota Press.
Ingold, T. (1993). Globes and spheres. In K. Milton, (ed.), Environmentalism, (pp.31–42). New York: Routledge.
Malm, A. (2016). Fossil capital. London: Verso.
McBrien, J. (2016). Accumulating extinction. In J.W. Moore, (ed.), Anthropocene or Capitalocene? (pp.116–37). Oakland: PM Press.
McNeill, J.R. & Engelke, P. (2016). The Great Acceleration. Cambridge: Harvard University Press.
Moore, J.W. (2003). Capitalism as World-Ecology, Organization & Environment, 16(4), 431-458.
Moore, J.W. (2015). Capitalism in the Web of life. London: Verso.
Moore, J. W. (ed.). (2016). Anthropocene or Capitalocene? Nature, History, and the Crisis of Capitalism. Binghamton, NY: PM Press.
Moore, J.W. (2017) The Capitalocene, Part I: on the nature and origins of our ecological crisis. The Journal of Peasant Studies. http://dx.doi.org/10.1080/03066150.2016.1235036
Pickles, J. (2004). A history of spaces. New York: Routledge.
Pomeranz, K. (2000). The great divergence. Princeton: Princeton University Press.
Klein, N. (2015). This Changes Everything: Capitalism vs. The Climate. New York: Simon & Schuster.
Steffen, W., J. Grinevald, P. Crutzen, and J. McNeill. (2011). The Anthropocene: Conceptual and historical perspectives. Philosophical Transactions of the Royal Society, A 369: 842–67.
Toscano, G. (2008). The open secret of real abstraction. Rethinking Marxism, 20(2), 273–87.
Watts, M.J. (2005). Nature: culture. In P. Cloke, and R. Johnston, (eds.), Spaces of geographical thought, (pp.142–74). London: Sage.
van Zanden, J.L. (1999). Wages and the standard of living in Europe, 1500–1800. European Review of Economic History, 3(2), 175–97.