บทความ

ข้ามโพสต์ซับฯ (post-subculture): ข้อถกเถียงและทิศทางการศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่น

การศึกษาวัยรุ่นในบริบทร่วมสมัยเกิดดีเบตในแวดวงวิชาการระหว่างสองกระบวนทัศน์ ได้แก่ หลังวัฒนธรรมย่อย (post-subculture) และวัฒนธรรมย่อย (subculture) การโต้เถียงที่เกิดขึ้นนำมาสู่การเสนอกระบวนทัศน์การศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่นในแนวทางใหม่

จากโพสต์ซับคัลเจอร์ ถึงซับคัลเจอร์

การศึกษาวัยรุ่นแบบหลังวัฒนธรรมย่อยเกิดขึ้นภายใต้การตระหนักถึงปัจจัยการเติบโตของฐานคิดการมองวัฒนธรรมในลักษณะยืดหยุ่น ข้อจำกัดการดึงปัจเจกสู่พื้นที่ความเป็นกลุ่มก้อน และความล้มเหลวของการยึดคุณค่าวัฒนธรรมย่อยในฐานะพื้นที่อุดมการณ์ของชีวิตทางสังคมมากกว่าการศึกษาเพื่อยืนยันว่าวัฒนธรรมย่อยถูกประกอบสร้างอย่างไรหรือใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรม (Bennett and Kahn-Harris, 2004) ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัญหาทางวิชาการที่นำไปสู่การพัฒนากรอบคิดใหม่ แอนดี้ เบนเนตต์ (2011) เสนอว่าเป็นการหันไปสู่การศึกษาแบบหลังวัฒนธรรย่อย หรือ‘โพสต์ซับคัลเจอร์’ (post-subculture) โดยมีแนวทางการศึกษา ได้แก่

(1) ชนเผ่าแนวใหม่ (neo-tribes) แนวคิดชนเผ่าแนวใหม่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเข้มงวดขององค์กรทางสังคม แต่เป็นรูปแบบเชิงประจักษ์ของการศึกษาวัฒนธรรมย่อย เช่น การเต้นรำและการบรรเลงดนตรีแบบร่วมสมัย (ช่วงปลายทศวรรษ 90) ผู้เข้าร่วมคลับการเต้นรำสามารถสร้างวิถีการเต้นและการบรรเลงเพลงด้วยตัวพวกเขา เช่น เทคนิคการผสมผสานเสียงหรือการสแครชแผ่นแบบดีเจเป็นต้น หลักการของการศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่าแนวใหม่จะสร้างความเข้าใจว่าเหตุใดและทำไมคนหนุ่มสาวจึงเต็มใจเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันโดยปราศจากการบังคับ หรือปราศจากเงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นชนชั้นหรือชาติพันธุ์เดียวกันเท่านั้นจึงจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งภายในกลุ่มก้อนเดียวกันได้ (2) ฉาก (scene) เป็นแนวคิดใช้อธิบายกลุ่มคนที่มีรสนิยมเพลงคล้ายกัน ลักษณะการเกาะกลุ่มรวมตัวผ่านเพลงมีอิทธิพลต่อฐานคิดแบบหลังวัฒนธรรมย่อยพอสมควร เนื่องจากเป็นแนวทางการโต้แย้งรากความคงตัวของชนชั้นและชุมชนที่ก่อตัวเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย หน้าที่เพลงในมุมมองแบบหลังวัฒนธรรมย่อย คือการสร้างพื้นที่สำหรับความผูกพันของปัจเจกที่ไม่ได้ยึดติดชนชั้นหรือชุมชน แต่ผูกพันเชื่อมโยงกันด้วยรสนิยมของเพลงและความรู้สึกทางสุนทรียศาสตร์ (aesthetic sensibilities) (3) ลีลาชีวิต (lifestyles) เป็นความสร้างสรรค์ที่แสดงออกให้เห็นถึงศักยภาพหรือความสามารถในรูปแบบการบริโภคร่วมสมัยของคนหนุ่มสาว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ชุมชนจากความเป็นหนึ่งเดียวสู่การกระจายเป็นวัฒนธรรมย่อยหลายชิ้นหลายแบบ

ภาพรวมของกรอบคิดแบบโพสต์ซับคัลเจอร์มีวัฒนธรรมที่ลื่นไหล ยอมรับความหลากหลายของรสนิยม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของปัจเจก และสามารถเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ได้โดยไม่ยึดติดกับชนชั้น และความเป็นชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาฐานคิดของกระบวนทัศน์แบบหลังวัฒนธรรมย่อย เห็นได้ว่าเป็นการต่อยอดการวิจารณ์กระบวนทัศน์ศึกษาวัยรุ่นในยุคก่อนหน้า นั่นคือ การศึกษาวัยรุ่นในฐานะกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แนวคิดนี้ถูกพัฒนาโดยนักวิชาการศูนย์การศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย (CCCS) แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมช่วงทศวรรษ 1970 การศึกษาวัยรุ่นแบบวัฒนธรรมย่อยเป็นวาระที่เกิดขึ้นหลังสงคราม รูปแบบการศึกษาแนวนี้สัมพันธ์กับชนชั้นและอำนาจครอบงำที่ค้ำจุนโครงสร้างวัฒนธรรมหลัก (Hall and Jefferson, 1977) วัฒนธรรมย่อยจึงมีลักษณะเป็นแบบแผนของปฏิบัติการการต่อต้านจากกลุ่มคนที่ต่างชนชั้นกัน (Williams, 2011)

ตัวอย่างกลุ่มวัฒนธรรมย่อยหรือ‘ซับคัลเจอร์’ (subculture) ในสังคมประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษ 1950 – 1960 เช่น กลุ่มม็อด ปาร์ก้า หรือกลุ่มสกินเฮด เป็นผลพวงจากช่องว่างทางสังคมระหว่างกลุ่มชนชั้นแรงงานแบบจารีตและกลุ่มนิยมการบริโภค (Cohen, 1997) อันนำไปสู่การเกิดขึ้นของนัยทางวัฒนธรรมใหม่ การก่อตัวของชุมชนเหล่านี้ได้ดึงเอาชิ้นส่วนของวัฒนธรรมเดิมที่กำลังถูกทำลายมาประสานกับองค์ประกอบของชนชั้นอื่น ด้านหนึ่งวัยรุ่นอังกฤษจึงสืบทอดความสอดคล้องทางวัฒนธรรมกับผู้ปกครอง แต่ในด้านหนึ่งก็เป็นการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งบนฐานความแตกต่างระหว่างความเป็นท้องถิ่นและชนชั้นทางสังคมอื่นที่รายล้อมพวกเขา

นักวิชาการกลุ่มหลังวัฒนธรรมย่อยตั้งข้อสังเกตเชิงวิจารณ์ว่าภายใต้ความสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมกระแสหลัก วัฒนธรรมย่อยถูกสร้างคำอธิบายในฐานะรูปแบบการต่อต้าน ทำให้เกิดสมมุติฐานเชิงสารัตถะทางกระบวนทัศน์ว่าลักษณะของวัฒนธรรมกระแสหลักเป็นวัฒนธรรมครอบงำ และวัฒนธรรมย่อยเป็นวัฒนธรรมต่อต้านเสมอ (Williams, 2011) ราวกับเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตายตัวในกลุ่มชุมชนนั้น ๆ (Hodkinson, 2015) กระแสการวิจารณ์วัฒนธรรมย่อยแนวนี้เกิดขึ้นเป็นระยะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา และพัฒนาสู่แนวทางการศึกษาวัยรุ่นแบบหลังวัฒนธรรมย่อยในลำดับต่อมา


จากซับคัลเจอร์ถึงโพสต์ซับฯ และเข้าสู่การข้ามโพสต์ซับฯ (beyond post-subculture)

การขัดกันของวิธีการศึกษาระหว่างวัฒนธรรมย่อยกับกลุ่มหลังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่ก่อให้เกิดความขัดแยงที่ไม่อาจปรองดองกันได้ ภายหลังการวิจารณ์ของเบนเนตต์ (2004; 2011) กลุ่มวัฒนธรรมย่อยได้ออกมาตอบโต้ โดยชี้ว่าแม้พันธกิจของศูนย์การศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยจะถือหางความเสียเปรียบและตอบโต้อิทธิพลกระแสหลักของสังคมที่จำกัดควบคุมการแสดงออกหรือการมีส่วนร่วมของวัฒนธรรมรูปแบบอื่น แต่ก็เป็นเสมือนคบเพลิงทางความคิดที่มีจุดเด่นความใส่ใจต่อปัญหาจากการกีดกันคนที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์

อีกทั้งกระแสความคิดของนักวิชาการสายวัฒนธรรมย่อยก็ไม่ได้ยืนกรานว่าการวิเคราะห์วัยรุ่นต้องแข็งทื่อในรูปแบบที่จำกัด นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ ต่างก็ตระหนักว่าการศึกษาวัฒนธรรมย่อยวัยรุ่นสามารถยืดหยุ่นในขอบเขตทางวัฒนธรรมได้ ทำนองเดียวกันอัตลักษณ์ของผู้คนก็ไหลลื่นตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วย (Robert, 2015: Hodkinson, 2015)

ต่อประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่ากรอบคิดแบบวัฒนธรรมย่อยให้ความสำคัญกับการวิพากษ์ชนชั้นทางสังคมแทนที่จะขยายขอบเขตการวิเคราะห์สู่ปัญหาเรื่องเชื้อชาติหรือเพศภาวะ ฝากฝั่งของนักวิชาการสายวัฒนธรรมย่อยโต้ว่าการมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นเรื่องชนชั้นเป็นความสืบเนื่องของบริบทยุคหลังสงครามอังกฤษ ปัญหากลุ่มคนแรงงานเป็นปัญหาหลักการปรับโครงสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งความสนใจมิติโครงสร้างอื่นทั้งหมด พวกเขาโต้กลับโดยวิจารณ์ว่าความคิดเรื่องฉาก (scenes) และชนเผ่าแนวใหม่ (neo-tribes) แบบหลังวัฒนธรรมย่อยอวดอ้างศักยภาพความเป็นอิสระรายบุคคลเกินจริง ราวกับว่าพวกเขาปราศจากการสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในมิติอื่น เช่น เพศ เชื้อชาติ ชนชั้น หรือโครงสร้างอื่น (Robert, 2015)

การตอบโต้ไปมาระหว่างสองกรอบคิดนำไปสู่การเสนอแนวทางการก้าวข้าม (beyond) การศึกษาวัยรุ่นแบบวัฒนธรรมย่อยและแบบหลังฯ พอล ฮอดกินสันเสนอการทลายข้อจำกัดทั้งสองกระบวนทัศน์ผ่านการดึงปัจเจกสู่พื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการขยายขอบเขตการตีความชีวิตวัยรุ่นในฐานะองค์ประกอบทางวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งอาจแสดงถึงการปรับเปลี่ยน การต่อรอง หรือการวาดลวดลายของตำแหน่งแห่งที่ของตนในความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างปัจเจกต่อกลุ่มตน หรือต่อกลุ่มอื่น กระทั่งต่อศูนย์กลางวัฒนธรรมต่าง ๆ (Hodkinson, 2015) แนวทางข้ามหลังวัฒนธรรมย่อยหรือ ‘ข้ามโพสต์ซับฯ’ (beyond post-subculture) ยังคาบเกี่ยวปริมณฑลการดำเนินชีวิต การศึกษา อาชีพ เป้าหมาย โดยสนใจว่าปัจเจกดึงเอาวิถีวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการขยายขอบเขตชีวิตของพวกเขาอย่างไร และชีวิตปัจเจกที่แสนธรรมดาถูกหล่อหลอมจากการเข้าไปมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมอย่างไร อีกทั้งการมีส่วนร่วมในกลุ่มแต่ละบริบทนั้นเล็งเห็นแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตวัยรุ่นอย่างไร

ดีเรก โรเบิร์ตวิเคราะห์วัฒนธรรมการสักลายที่มีเครือข่ายชุมชนอยู่ในเพจเฟสบุ๊ค โดยชี้ให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวในประเทศอังกฤษที่นิยมสักลายทั่วทั้งตัวต้องเผชิญความมั่นคงในการทำงานพอสมควร การแปลงร่างกาย (modified body) แบบเห็นได้ชัดผ่านการสักลายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าส่งผลกระทบต่อการหางานประจำที่ยากขึ้น ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนชอบสักมีแค่การค้าขายเสียส่วนใหญ่ (Roberts, 2015) คนสักลายที่เพิ่งเรียนจบหลายคนจึงเผชิญอุปสรรคทางสังคมและความไม่พอใจของวัฒนธรรมกระแสหลักในการยอมรับการสักแปลงร่างกาย พวกเขาถูกตัดสินศักยภาพความสามารถเพียงเพราะพวกเขาปรับแปลงผิวร่างกายของตน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจโดยตรง และความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ก็เป็นผลต่อกลุ่มชุมชนของพวกเขา เนื่องจากความปรารถนาในการแปลงร่างกายถูกจำกัดด้วยทุนทรัพย์ที่มีอยู่ วัฒนธรรมของพวกเขาจะเข้มแข็งได้มากขึ้นก็เป็นผลจากความเข้มข้นของการแปลงผิวหนังร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้นแม้พวกเขาจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีสมาชิกคนใดลบรอยสักของพวกเขาเพื่อให้มีงานที่ดีขึ้น พวกเขาเต็มใจและพอใจที่ต้องเผชิญปัญหาการเงินเพื่อให้คงไว้ซึ่งความคาดหวังและแรงปรารถนาที่มีต่อวัฒนธรรมของตน

การศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่นสักลายยังสะท้อนการเลือกเส้นทางชีวิตในสองลักษณะคือช่วงการร่างโครงร่างชีวิตที่ก้าวสู่กิจวัตรของชีวิตที่มั่นคง หรือช่วงชีวิตของจุดเปลี่ยนหลักสู่วิถีใหม่ แม้เหล่าผู้สักลายต้องเจออุปสรรคทุกขั้นตอนการทำงาน แต่มันคือการร้อยเรียงเส้นทางอาชีพในฐานะส่วนของชีวิต (rest of life) (Hodkinson, 2015) โดยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม (ชนชั้น ช่วงวัย หรืออาชีพการทำงานของปัจเจก) และความปรารถนาในการแสดงออกถึงการควบคุมร่างกายตนเองแบบหลังวัฒนธรรมย่อย (Roberts, 2015) ตลอดจนปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ ที่หล่อหลอมโครงสร้างความละเอียดอ่อนของชีวิตพวกเขาในแง่มุมต่าง ๆ

โดยการสักลายในหมู่วัยรุ่นสามารถสรุปอย่างกระชับด้วยวิธีการวิเคราะห์ตามแนวทางต่าง ๆ ดังนี้



ส่งท้าย

ในแง่นี้ ทิศทางการศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่นอาจไม่ได้แบ่งแยกตัวตนและวัฒนธรรมของพวกเขาด้านใดด้านหนึ่ง ผลกระทบต่อกันระหว่างปัจเจกกับสังคมและโครงสร้างกลุ่มในยุคร่วมสมัยอาจเชื่อมโยงหรือกระทบกันอย่างต่อเนื่อง ทำนองเดียวกันกระบวนทัศน์การศึกษาก็อาจไม่ได้เข้มงวด แบ่งแยกตายตัว แต่สามารถเชื่อมโยงประเด็นการวิเคราะห์ข้ามไปมาได้ จึงไม่มีการสูญเสียมิติชนชั้นในวัฒนธรรมย่อยและไม่มีการสูญเสียความเป็นอิสระของปัจเจกแบบหลังวัฒนธรรมย่อย สิ่งที่ดำเนินอยู่ในวัฒนธรรมวัยรุ่นร่วมสมัยคือชิ้นส่วนของชีวิตพวกเขาท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับโครงข่าย

Bennett, Andy. (2011). The Post-Subcultural Turn: Some Reflections 10 Year On. Journal of Youth Studies, 14(5), 493-506.

Bennett, Andy and Kahn-Harris, Keith.(2004). Introduction. In Bennett, Andy and Kahn-Harris, Keith (Ed.), After Subculture: Critical Studies in Contemporary Youth Culture. (pp. 1-18). Palgrave Macmillan.

Cohen, Phil. (1997). Rethinking the Youth Question: Education, Labour and Cultural Studies. London: Macmillan Press.

Hall, Stuart and Jefferson, Tony. (1977). Introduction. In Hall, Stuart and Jefferson, Tony (Ed.), Resistance Through Rituals: Youth Subculture in Post-War Britain. (p. 5-7). London: Hutchinson.

Hodkinson, Paul. (2015). Youth Cultures and the Rest of Life: Subcultures, Post-Subcultures and Beyond. Journal of Youth Studies, 19(5), 1-17.

Roberts, Derek. (2015). Modified People: Indicators of a Body Modification Subculture in a Post-Subculture World. Sociology,49(6), 1096-1112.

Willaims, J. Patrick. (2011). Subcultural Theory: Traditions and Concepts. Cambridge: Polity Press.