คำศัพท์

Patriarchy

       คำว่า Patriarchy หมายถึงระบบสังคมซึ่งมีพ่อทำหน้าที่หลักในการดูแลควบคุมสั่งการ จัดระเบียบสิ่งต่างๆ     ในบางวัฒนธรรม ครัวเรือนอาจมีคนที่เป็นทาสอาศัยอยู่ด้วย  แนวคิดเกี่ยวกับ การปกครองโดยผู้เป็นพ่อมักจะใช้เพื่ออธิบายบทบาทของผู้ชายที่สังคมคาดหวังที่ต้องรับผิดชอบงานหรือภารกิจต่างๆของชุมชนทั้งหมด  ผู้ชายที่มีบทบาทเหล่านี้ต้องเป็นตัวแทนของชาวบ้าน  ส่วนการปกครองโดยใช้ผู้หญิงเป็นผู้นำรู้จักในนาม Matriarchy แต่สังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่มักจะไม่ค่อยพบ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าสังคมที่ผู้หญิงมีอำนาจเป็นสังคมที่ไม่ได้รับการยอมรับ ยิ่งกว่านั้น การศึกษาของนัมานุษยวิทยาพบว่าสังคมที่ให้อำนาจผู้หญิงไม่เคยเกิดขึ้นเลย  นักวิชาการบางคนพยายามชี้ให้เห็นว่า สังคมที่ให้อำนาจผู้ชายไม่ได้มีทุกแห่ง และมิใช่กฎสากลของสังคมมนุษย์  อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่ระบุว่าบางสังคมก็ให้อำนาจผู้หญิงเป็นผู้นำครอบครัว และมีตำแหน่งทางการปกครอง  

        คำว่า Patriarchy มาจากคำในภาษากรีกโบราณ ประกอบด้วยคำสองคำคือ patria หมายถึง ผู้เป็นพ่อ และ arche หมายถึง การปกครองหรือกฎเกณฑ์  คำนี้ใช้ในหมู่นักมานุษยวิทยา ซึ่งต้องการอธิบายสภาพหรือลักษณะสังคมที่ผู้ชายมีบทบาทและอำนาจ ผู้ชายสามารถควบคุมสังคมได้โดยอาศัยตำแหน่งทางการปกครอง  คำว่า patriarchy ต่างจากคำว่า patrilineality ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีการสืบมรดกโดยผ่านญาติพี่น้องฝ่ายพ่อ และ  patrilocality  ซึ่งหมายถึง การควบคุมพื้นที่ในชุมชนที่เกิดจากอำนาจของผู้เป็นพ่อ  สังคมส่วนใหญ่มีการควบคุมพื้นที่ทั้งผู้เป็นพ่อและแม่ แต่ทุกสังคมจะให้อำนาจแก่ผู้ชายในการปกครอง  สังคมที่มีการควบคุมพื้นที่โดยผู้ชาย สมาชิกในครอบครัวจะต้องอาศัยอยู่ในเขตแดนของผู้เป็นพ่อ เช่น เมื่อผู้ชายแต่งงาน ภรรยาของเขาจะต้องย้ายมาอยู่ในบ้านของพ่อสามี  และลูกที่เกิดมาจะยึดถือธรรมเนียมนี้ต่อไป ลูกชายจะต้องอยู่พื้นที่เดิม ส่วนลูกสาวจะต้องย้ายออกไปอยู่บ้านสามี  รูปแบบการตั้งถิ่นฐานในเขตบ้านของสามีพบได้ทั่วไปในสังคมประมาณ 69 %

       นักมานุษยวิทยาอธิบายสังคมมนุษย์ในลักษณะที่เป็นการปกครองโดยผู้ชายและผู้หญิง  และการศึกษาสังคมส่วนใหญ่ก็พบว่าเป็นสังคมที่ปกครองโดยผู้ชาย   มาร์กาเร็ต มี้ด (1950) พยายามแบ่งแยกสังคมที่ผู้หญิงควบคุมพื้นที่ออกจากสังคมที่ผู้ชายควบคุมพื้นที่  มี้ดเชื่อว่าสังคมที่ปกครองโดยผู้ชายคือสังคมที่ผู้หญิงและลูกๆต้องใช้ชื่อสกุลตามผู้เป็นพ่อ    ในปัจจุบันเราจะพบว่าผู้ชายมีอำนาจและเป็นผู้นำทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และสังคม  นักมานุษยวิทยาโดนัลด์ บราวน์ (1991) เชื่อว่าสังคมมนุษย์ทุกแห่งเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่    ในสังคมอุตสาหกรรมทั้งหลายล้วนมีผู้ชายเป็นผู้นำ  และในบางสังคมผู้ชายก็มีอำนาจมากเช่น ในประเทศซาอุดิ อาระเบีย  แต่ในสังคมที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์พยายามที่จะทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน เช่นจำนวนสมาชิกในรัฐสภาต้องมีผู้หญิงผู้ชายเท่ากัน   

       การศึกษาของฟิลลิส เคเบอร์รี(1952) พบว่าสังคมของชนเผ่าบาเมนดาในประเทศคาเมรูน หัวหน้าเผ่าคือผู้ชายที่สืบสายตระกูลมาจากผู้ที่เคยตั้งรกรากในอดีต  หัวหน้าเผ่าจะมีอำนาจในการปกครอง และกำหนดเขตแดนของหมู่บ้าน  สมาชิกของหมู่บ้านจะต้องเชื่อฟังและเคารพกฎเกณฑ์ที่หัวหน้าวางไว้ หัวหน้าจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะมีสิทธิได้ที่ดินทำกินแค่ไหน และตั้งที่อยู่อาศัย ณ บริเวณใด   ผู้หญิงจะทำงานในไร่นา ส่วนผู้ชายจะนอนหลับอยู่ในกระท่อม    การศึกษาของมาลีนอฟสกี้ (1916) ศึกษาชนเผ่าโบโยวัน บนเกาะทรอเบียนด์ พบว่าปกครองด้วยผู้ชาย  ในหมู่บ้านจะประกอบด้วยหลายตระกูล ตระกูลที่สืบสายมาจากหัวหน้าเผ่าจะมีอำนาจสูงสุด ตระกูลอื่นๆต้องส่งบรรณาการไปให้  หัวหน้าเผ่าจะมีภรรยาหลายคนมาจากหมู่บ้านต่างๆ  ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งคือผู้มีเวทมนต์คาถา

       พ่อคือบุคคลที่มีอำนาจ  ตามความคิดของเดอลูซเชื่อว่าอำนาจเกิดขึ้นจากการระงับอารมณ์ทางเพศ  การศึกษาของนักวิชาการหลายคนพบว่าอำนาจของพ่อและผู้นำทางการเมืองมีความเกี่ยวพันกัน อำนาจลักษณะนี้เป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ระหว่างการปกครองในครัวเรือนและการปกครองประเทศ  อำนาจนี้จะเหี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการปกครองโดยผู้ชาย หรือ patriarchy  รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองแบบฟาสซิสต์ และการบูชาบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ  สิ่งที่มีเหมือนกันระหว่างการปกครองในครัวเรือนและประเทศก็คือ การกำหนดชื่อ คำเรียกและตัวตนของคน   การใช้ชื่อเรียกตามพ่อทำให้ผู้เป็นพ่อมีอำนาจในการปกครองและวางกฎเกณฑ์ต่างๆ

       ในยุคโรมัน ผู้มีอำนาจในครอบครัวคือพ่อและสามี ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองและภายในครัวเรือน   ในวัฒนธรรมตะวันตก อำนาจผู้ชายกับอำนาจปกครองเป็นสิ่งเดียวกัน  ในคริสต์ศตวรรษที่ 19  สังคมยุโรปปกครองด้วยผู้ชาย และเชื่อว่าผู้เป็นพ่อจะต้องดูแลครอบครัวและประเทศชาติ ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความคิดว่าผู้ชายต้องปกครองภรรยาและลูกๆด้วย   สังคมยุโรปมองว่าครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเป็นครอบครัวที่มีผู้ชายปกครองดูแล ความคิดนี้มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่

       บุคคลที่เป็นพ่อมีความสัมพันธ์กับลูกโดยอาศัยเงื่อนไขทางชีววิทยา ฐานะทางสังคมและข้อกำหนดทางกฎหมาย  แต่เดิมความสัมพันธ์ทางชีววิทยาระหว่างพ่อลูก ทำให้ผู้ชายมีบทบาทเป็นพ่อของเด็กที่เกิด แต่ความเป็นพ่อมิได้มาจากปัจจัยทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียว ปัจจัยอื่นๆอาจทำให้คนกลายเป็นพ่อได้ เช่น ผู้หญิงที่มีลูกติดแต่งงานกับผู้ชายคนใหม่ ผู้ชายคนนั้นก็จะกลายเป็นพ่อของเด็ก  หรือรู้จักในนาม “พ่อเลี้ยง”     อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนกำหนดว่าผู้เป็นพ่อที่แท้จริงสามารถตรวจสอบได้จากดีเอ็นเอ

      พ่อที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา ได้แก่ พ่อที่นำลูกของญาติพี่น้องหรือเด็กที่เป็นกำพร้ามาเลี้ยง เรียกว่าพ่อบุญธรรม พ่อที่ไมได้รับเด็กมาเลี้ยงแต่ส่งเงินสนับสนุนด้านต่างๆ มีลักษณะของการบริจาคหรือให้ทุนสงเคราะห์เด็กผู้นั้นจนกระทั่งเติบโตและเลี้ยงตัวเองได้  นอกจากนั้น พ่อยังมีหลายลักษณะโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่มีกับลูก เช่น พ่อที่ให้กำเนิดแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันเนื่องจากต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น จะกลับมาเยี่ยมในบางครั้ง พ่อที่เป็นญาติพี่น้องที่ช่วยเลี้ยงดูหลานที่เกิดจากคนในครอบครัว หรือรู้จักในนามพ่อคนที่สอง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Cynthia Cockburn 1993. Brothers: Male Dominance and Technological Change. London: Pluto.

Goldberg, Steven 1973. The inevitability of Patriarchy, William Morrow, New York.

Gordon, Schochet 2004. "Patriarchy and Paternalism". Europe, 1450 to 1789: Encyclopedia of the Early Modern World. Charles Scribners & Sons

hooks, bell 2004. "Understanding Patriarchy". The Will to Change: Men, Masculinity, and Love. Washington Square Press.

Lerner, Gerda 1986. The Creation of Patriarchy. New York: Oxford University Press.

Schlegel, Alice 1972. Male dominance and female autonomy: domestic authority in matrilineal societies. HRAF Press.

 Walby, Sylvia. 1997. Theorizing Patriarchy. Cambridge: Polity Press.


หัวเรื่องอิสระ: สังคมที่ปกครองโดยผู้ชาย