คำศัพท์

Peasantry

       คำว่า “ชาวนา”  อาจหมายถึงผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบทหรือเขตทุรกันดารไกลความเจริญ คำว่าชาวนา หรือ peasant มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน คือ pagensis หมายถึงเขตแดนของชนบท  หรือเป็นดินแดนที่ป่าเถื่อน   คำนี้ถูกใช้ในภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตอนปลาย  รูปแบบการยังชีพแบบชาวนาเป็นการทำมาหากินแบบดั้งเดิม  ชาวนาจะอาศัยอยู่ในเขตชนบทในยุคสมัยที่เริ่มมีอารยธรรมเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อน    สังคมชาวนาเป็นสังคมหลักในอารยธรรมจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกใกล้ และยุโรป รวมทั้งบางส่วนในเขตอเมริกา เช่น สังคมของชาวมายา

       คาร์ล มาร์ก อธิบายว่าชีวิตแบบชาวนาชาวสวนคือชีวิตที่โง่เง่า    เออร์เนสทีน ฟรีด กล่าวว่าความหมายของ peasant คือการขัดขืนอย่างโง่เขลาและดื้อดึงต่อการเปลี่ยนแปลง     สังคมชาวนาชาวสวน มีลักษณะที่มั่นคงทางวัฒนธรรมและประเพณี อยู่ห่างไกลจากเมืองและการครอบงำของผู้ปกครอง    การศึกษาสังคมชาวนาทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นได้ไม่นาน ก่อนหน้านั้นนักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาความสัมพันธ์ในระบบฟิวดัลและการถือครองที่ดินของชาวนาในสมัยยุโรปตอนกลาง   นักคติชนวิทยาได้ศึกษาขนบธรรมเนียม นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อ และชีวิตพื้นบ้าน  

        การศึกษาทางมานุษยวิทยา เป็นการศึกษาภาคสนามในสังคมชนเผ่าแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์  จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1930  การศึกษาทางชาติพันธุ์ในสังคมชาวนาก็เริ่มชัดเจนขึ้น เช่นในศึกษาของเรดฟีลด์ในเม็กซิโก  การศึกษาของอาเรนเบอร์กในไอร์แลนด์  และการศึกษาของเอ็มบรีในญี่ปุ่น   หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษาสังคมชาวนาของนักมานุษยวิทยามีมากขึ้น  ประเด็นเรื่องชาวนาเริ่มมีแนวคิดทฤษฎีเป็นของตัวเอง

       การศึกษาสังคมชาวนาด้วยแนวคิดหน้าที่นิยม เป็นการใช้ทฤษฎีแรกๆในการอธิบาย โดยเชื่อว่าสังคมชาวนาคือรูปแบบของชุมชนประเภทหนึ่ง ที่มีความกลมเกลียวแน่นแฟ้น มีขนาดเล็ก และอยู่ห่างไกล  นักมานุษยวิทยาอธิบายสังคมชาวนาด้วยแนวคิดเรื่องกลุ่มทางสังคม ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาตามแบบที่เคยทำมาในสังคมชนเผ่า   อย่างไรก็ตาม การแยกตัวอย่างโดดเดี่ยวของสังคมชาวนามีลักษณะที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่  สังคมชาวนาดำรงอยู่ในวงล้อมของอารยธรรมที่ใหญ่กว่า และถูกปกครองจากรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า ต่างไปจากสังคมชนเผ่า  อัลเฟร็ด โครเบอร์กล่าวว่าสังคมชาวนา เป็นส่วนประกอบของสังคมและวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า ไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ยังชีพด้วยการเพาะปลูก หน่วยทางสังคมของท้องถิ่นยึดถือจารีตประเพณี และใช้การทำงานในภาคเกษตรเป็นบรรทัดฐาน 

      ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือเรื่องการปกครองตัวเองของสังคมชาวนา  กล่าวคือชุมชนชาวนา เป็นชุมชนที่เผชิญหน้ากับการท้าทายระหว่างจารีตประเพณี และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะสังคมเมือง     โรเบิร์ต เรดฟีลด์เรียกสังคมชาวนาว่าวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือ folk culture

        สังคมชาวนาถูกนิยามว่ามีแบบแผนทางเศรษฐกิจของตัวเอง  เรมอนด์ เฟิร์ธอธิบายว่าสังคมชาวนาเปรียบเสมือนสังคมของผู้ที่เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นกลุ่มการผลิตขนาดเล็ก อาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีง่ายๆ     แต่ คำอธิบายของเฟิร์ธมีข้อด้อยเนื่องจากเข้าใจผิดว่าชนเผ่ามีการทำมาหากินต่างจากชาวนาที่อยู่ในสังคมแบบรัฐ    ในสังคมประเภทกลุ่มเร่ร่อนและเผ่า ผลผลิตส่วนเกินจะถูกนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่ม   ส่วนสังคมชาวนา ส่วนเกินจากการผลิตจะถูกส่งไปให้ชนชั้นปกครองที่มีอำนาจ  อาจกล่าวได้ว่าการทำมาหากินในสังคมชนเผ่า บุคคลจะเข้าถึงทรัพยากรได้โดยตรง ขณะที่สังคมชาวนาต้องแบ่งปันผลผลิตส่วนหนึ่งให้กับผู้ปกครอง เช่น การจ่ายค่าเช่าที่ดินทำกิน  ครัวเรือนของชาวนาจึงเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าและผู้ที่เป็นแรงงาน ภายใต้ระบบช่วงชั้นทางสังคมซึ่งเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ 

      นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย  เอ วี เชยานอฟ กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจและการผลิตของสังคมชาวนาต่างจากระบบทุนนิยมและสังคมนิยม   กล่าวคือในสังคมชาวนา หน่วยการผลิตและบริโภคคือครัวเรือน  ดังนั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจจึงมิได้อยู่ที่ผลกำไรและเงินตรา แต่อยู่ที่การทำให้สมาชิกในครัวเรือนมีชีวิตรอด  ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาและปรับเปลี่ยนสังคมชาวนา สังคมชาวนาอาจเป็นรูปแบบการดำรงชีพที่มีลักษณะที่ต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม  ตัวอย่างสังคมชาวนาที่มีการใช้เงินตราภายใต้ระบบการตลาดและพรมแดนรัฐชาติ  จะมีประเด็นเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน  การส่งบรรณาการให้กับผู้ปกครอง เช่น ภาษี ค่าเช่า แรงงาน และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชาวนารวยและชาวนายากจน ซึ่งไม่มีที่ดิน เป็นต้น

       การนำแนวคิดเรื่องสังคมชาวนาไปใช้มีหลายลักษณะ   ตัวอย่างเช่นการศึกษาของอีริค วูลฟ์ได้แยกความแตกต่างระหว่างชุมชนชาวนาที่ต่างคนต่างอยู่ กับชุมชนที่มีการร่วมมือกันซึ่งเกิดขึ้นในเขตที่ราบสูงของลาตินอเมริกา   ชุมชนสองแบบนี้มีการถือครองที่ดิน และการปลูกพืชที่ต่างกัน    พอล ฟรีดริชวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและระบบการเมืองในชนเผ่ามิโชกัน ในเม็กซิโก การศึกษานี้เป็นการอธิบายบริบททางประวัติศาสตร์ในสังคมชาวนา    การศึกษาของเพ็กกี้ บาร์เล็ตต์เป็นการศึกษากลวิธีการปรับตัว และการตัดสินใจของสังคมชาวนาซึ่งได้นำทฤษฎีหลายอย่างมาใช้ เช่น นิเวศวัฒนธรรม การปรับตัว และการวิเคราะห์เศรษฐกิจระบบจุลภาค 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bryceson, Deborah, Cristóbal Kay, and Jos Mooij, eds. 2000. Disappearing Peasantries?: Land and Labour in Africa, Asia and Latin America. London: Immediate Technology Publications

Dalton, George. 1972. “Peasantries in Anthropology and History.” Current Anthropology 13, no. 3–4: 385–407, 411–415.

Michael Kearney. 1996. Reconceptualizing the Peasantry: Anthropology in Global Perspective. Boulder, CO: Westview Press.

Robert H.Winthrop. 1991 Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.210-212.

Silverman, Sydel. 1979. “The Peasant Concept in Anthropology.” Journal of Peasant Studies 7, no. 1: 49–69.


หัวเรื่องอิสระ: สังคมชาวนา