Personality

Personality

คำว่าบุคลิกภาพ (personality) เป็นคำที่มีรากมาจากภาษาลาติน คำว่า persona หมายถึง หน้ากากที่นักแสดงสวมใส่ในบทบาทต่าง ๆ โดยทั่วไปคำว่าบุคลิกภาพจะเกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะของบุคคล ทำให้คนแต่ละคนแตกต่างกัน คำว่าบุคลิกภาพเป็นคำที่ใช้ในทางจิตวิทยา ส่วนการศึกษาทางมานุษยวิทยา บุคลิกภาพจะถูกใช้อธิบายในสาขามานุษยวิทยาจิตวิทยา ซึ่งเป็นการศึกษากระบวนการทางจิต ในวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยอาศัยการศึกษาเก็บข้อมูลภาคสนาม การศึกษาทางมานุษยวิทยาจะอธิบายบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

กอร์ดอน อัลพอร์ตอธิบายว่าบุคลิกภาพคือการจัดระเบียบของจิตที่ต่อเนื่องของบุคคล ซึ่งทำให้บุคคลรู้ว่าตนเป็นใครในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่การศึกษาทางมานุษยวิทยาก็มีปัญหาในการใช้แนวคิดเรื่องบุคลิกภาพที่ถูกสร้างเป็นกรอบทฤษฎีทางจิตวิทยา การใช้แนวคิดนี้เพื่อการศึกษาวิจัยมีหลากหลาย โดยนำทฤษฎีของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้ รวมทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์ และจิตวิทยาแบบมนุษยนิยมด้วย

ประเด็นที่มีการถกเถียงในสาขามานุษยวิทยาจิตวิทยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบแผนของบุคลิกภาพเฉพาะเจาะจงที่มีในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง หรือ อาจเรียกว่าบุคลิกประจำชาติ ข้อถกเถียงนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 13 บาร์โธโลมิวส์ แองกลิคัสพยายามแยกประเภทคนที่เรียกว่าชาวแคนทาเบรียนแห่งสเปน โดยกล่าวว่าคนพวกนี้มีนิสัยขี้ขโมยและโลเล ส่วนชาวเฟลนเดอร์เป็นพวกรักสงบ ซื่อสัตย์และสุภาพเรียบร้อย ชาวเยอรมันเป็นพวกห้าวหาญ ดื้อรั้น และทะลึ่งตึงตัง ต่อมาอีก 500 ปี นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เจ จี วอน เฮอร์เดอร์ได้วิเคราะห์ในแนวเดียวกับแองกลิคัส โดยกล่าวว่าชาวทะเลที่เรียกว่าฟีเนเซียเป็นพวกละโมบและไว้ใจไม่ได้ ชาวอียิปต์เป็นพวกพูดน้อย และขยัน ศิลปะของชาวอียิปต์จะบ่งบอกถึงความซื่อสัตย์และถูกต้องตามของเดิม ส่วนพวกโรมันเป็นคนที่กล้าหาญ และเข้มแข็ง

การศึกษาที่พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับวัฒนธรรม ได้แก่การศึกษาของนักมานุษยวิทยาอเมริกันในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มาร์กาเร็ต มี้ดเขียนหนังสือเรื่อง Coming of Age in Samoa ในปี ค.ศ.1928 มี้ดกล่าวว่าวัฒนธรรมมีส่วนหล่อหลอมให้เกิดบุคลิกภาพ บุคลิกภาพของวัยรุ่นในสังคมซามัวเกิดขึ้นจากบรรทัดฐานเกี่ยวกับเพศ ซึ่งมีอิสระในการมีสัมพันธ์ทางเพศ ตรงข้ามกับวัยรุ่นในอเมริกาซึ่งถูกควบคุมทางเพศอย่างเคร่งครัด ทำให้วัยรุ่นอเมริกันมีปัญหา

ในทางทฤษฎี บุคลิกภาพถูกหยิบยกขึ้นมาพูดด้วยกรอบความคิดแบบโบแอสซึ่งอธิบายเกี่ยวกับตัวแบบทางวัฒนธรรมที่รับมาจากที่อื่น เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์กล่าวว่าบุคลิกภาพคือหลักฐานของการมีวัฒนธรรม เนื่องจากวัฒนธรรมมิใช่วัตถุสำเร็จรูปที่มีอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่มีส่วนประกอบของพฤติกรรมและความคิดร่วมอยู่ด้วย ซาเปียร์อธิบายว่าถ้าเราต้องการทำความเข้าใจวัฒนธรรม เราก็ต้องศึกษาบุคลิกภาพให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา กิริยาท่าทาง การสืบเผ่าพันธุ์ และความเชื่อทางศาสนา สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความหมายเกี่ยวกับสถานะของบุคคล

การวิเคราะห์ตามแนวคิดของซาเปียร์ บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นวิธีการศึกษาเค้าโครงของบุคลิกภาพ ซึ่งรูธ เบเนดิกต์นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาในการศึกษาเรื่อง Patterns of Culture กล่าวคือวัฒนธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะประจำตัว และเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมแต่ละชนิดถูกคัดสรร เปลี่ยนแปลง และตกผลึกมาจากพฤติกรรมที่ต่างกัน เบเนดิกต์กล่าวว่าแบบแผนพฤติกรรมสัมพันธ์กับทางเลือกที่ไม่เฉพาะเจาะจงซึ่งค่อย ๆ พัฒนาขึ้นในวัฒนธรรม เบเนดิกซ์เชื่อว่าวัฒนธรรมเกิดมาจากส่วนประกอบทางจิตวิทยาที่เฉพาะตัว การศึกษาชนเผ่า Pueblo ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาของเบเนดิกซ์ อธิบายว่าชนเหล่านี้เปรียบเสมือนเทพอพอลโลซึ่งมีบุคลิกแบบสุขุมรอบคอบ และนิยมการเฉลิมฉลอง ตรงข้ามกับชนเผ่า Kwakiutl ในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมการสะสมทรัพย์ และเคารพคนตามฐานะ ชนกลุ่มมนี้จะมีการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรี โดยจัดพิธีกรรมทำลายวัตถุสมบัติ การกระทำเช่นนี้ทำให้ชาว Kwakiutl เปรียบเสมือนคนที่บ้ายศอำนาจ

การศึกษาที่อธิบายบุคลิกภาพแตกต่างจากแนวคิดของซาเปียร์ เบเนดิกต์ และมี้ด คือการศึกษาที่ไม่เหมือนกับการเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม และนำแนวทฤษฎีจิตวิทยามาอธิบายโดยตรง ทฤษฎีของฟรอยด์มีสมมุติฐานว่ากระบวนการก่อร่างบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่คงที่สม่ำเสมอ และนำไปสู่การแสดงงอกเชิงวัฒนธรรมได้ ฟรอยด์เชื่อว่าจุดกำเนิดของศาสนา ศีลธรรม สังคมและศิลปะ เป็นจุดกำเนิดเดียวกันคือปมโอดิปุส

อบรัม คาร์ดิเนอร์นำแนวคิดนี้ไปอธิบายวัฒนธรรมว่าเป็นร่องรอยนำไปสู่จิตวิทยาของมนุษย์ คาร์ดิเนอร์ได้พูดถึงเรื่องสถาบันปฐมภูมิ ซึ่งเป็นแบบแผนการจัดระเบียบและการดำรงชีพทางสังคมที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ประสบการณ์วัยเด็กจะสร้างโครงสร้างของบุคลิกภาพที่มีลักษณะเฉพาะตัว ต่อมาจะพัฒนาไปสู่สถาบันทุติยภูมิ เช่นการสร้างตำนานและศาสนา ในสังคมของชนเผ่าอะโลรีส ในประเทศอินโดนีเซีย ทฤษฎีของคาร์ดิเนอร์อธิบายว่าผู้หญิงจะยุ่งอยู่กับการทำงานภาคเกษตร จนกระทั่งไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตร บทบาทของพ่อแม่ในฐานะเป็นผู้เลี้ยงดูเอาใจใส่จึงขาดหายไป ชาวอะโลรีสมีการสังสรรค์ทางสังคมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ และความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ แต่โคร่า ดูบอยส์ไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของคาร์ดิเนอร์ โดยกล่าวว่าในสังคมหนึ่งอาจประกอบด้วยคนที่มีหลายแบบ หลายบุคลิกภาพ บุคลิกภาพจึงไม่มีแบบเดียว ดูบอยส์จึงพยายามมองหาจุดร่วมของบุคลิกภาพของคนในสังคมที่เหมือนกัน

Atran, Scott and Douglas Medin, 2008 The Native Mind and the Cultural Construction of Nature. Cambridge, MA: MIT Press.

Jenkins, Janis H. and Robert J. 2004. Schizophrenia, Culture, and Subjectivity. New York: Cambridge University Press.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.213-216.

Whiting, Beatrice and John Whiting. 1975. Children of Six Cultures: a psychocultural analysis. Cambridge, MA: Harvard University Press.

Wierzbicka, Anna 1999. Emotions across Languages and Cultures: diversity and universals. Cambridge, UK: Cambridge University Press.