คำศัพท์

Political Succession

        การสืบทอดอำนาจทางการเมือง หมายถึง เมื่อผู้มีอำนาจเดิมสละตำแหน่ง เสียชีวิตหรือถูกยกเลิกจากอำนาจ จะมีผู้สืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งอาจเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ จะเป็นคนในสายตระกูลหรือเป็นคนอื่นก็ได้ อาจมีการสืบทอดอำนาจหลายคน หรือคนเดียวก็ได้   เมื่อเกิดอำนาจในสังคมแบบเผด็จการ ผู้ที่ครองอำนาจย่อมจะถ่ายทอดและส่งต่ออำนาจไปยังคนที่ใกล้ชิดเพียงคนเดียว  แต่ถ้าอำนาจมาจากหลายแหล่ง เช่นในสังคมประชาธิปไตย ผู้ที่ครองอำนาจจะมอบให้อำนาจให้กับคนหลายคน

          ทฤษฎีของดาร์วินถูกนำไปอธิบายรูปแบบการสืบทอดอำนาจทั้งหลาย แนวคิดของดาร์วิน กลายเป็นรากฐานความเชื่อและสมมุติฐานต่างๆ   ในสังคมผู้ปกครอง หรือสังคมของสัตว์ที่มีการจัดช่วงชั้นทางสังคม ผู้ปกครองมักจะเกี่ยวข้องกับการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ในหนังสือของเขาเรื่อง The Descent of Man and Selection in Relation to Sex อธิบายว่าคนที่ฉลาดและแข็งแรงที่สุดจะสามารถอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ในขณะที่คนที่อ่อนแอกว่าจะค่อยๆล้มตายไป    สิ่งนี้ทำให้ดาร์วินเชื่อว่าหัวหน้าเผ่าในวัฒนธรรมต่างๆล้วนครอบครองภรรยาไว้หลายคน และมนุษย์เพศชายยังเป็นผู้ที่แข่งขันซึ่งกันและกันเพื่อที่จะแย่งเพศหญิงมาเป็นคู่

          ข้อสังเกตของดาร์วิน ขัดแย้งกับความคิดของมอร์แกน นักมานุษยวิทยาที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับดาร์วิน  มอร์แกนเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ส่ำส่อนทางเพศ ความคิดนี้เห็นได้ชัดเจนในหนังสือของเอ็ดเวิร์ด เวสเตอร์มาร์ค เรื่อง History of Human Marriage(1891)  ความเชื่อนี้ถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอ้างข้อมูลจากการศึกษาสังคมชนเผ่าหลายแห่ง เช่น ชนเผ่าเร่ร่อนโยมุทในอิหร่าน  ชนเผ่ายาโนมาโมในเวเนซุเอล่า ชนเผ่าคิปซิกิสในเคนย่า  ชนเผ่าอีฟาลูกีสในไมโครนีเซีย และชนเผ่าอื่นๆอีกหลายเผ่า  รวมทั้งข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ในอินเดีย จีน เมโซโปเตเมีย เมโซอเมริกา อียิปต์ ยุโรปในยุคต่างๆ และในอาณาจักรโรมัน  การศึกษาเหล่านี้พบว่าผู้ชายที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะมีภรรยาและบุตรหลายคนแ

          โดยปกติ มนุษย์ในสังคมล่าสัตว์ที่ประสบความสำเร็จ หรือผู้นำในสังคมชนเผ่าจะมีอำนาจและสิทธิในการมีภรรยาหลายคน  ส่วนนักการเมืองในสังคมสมัยใหม่อาจจะแต่งงานกับผู้หญิงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้  ในสังคมชนเผ่า และสังคมเกษตรกรรม อำนาจจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่ผู้ปกครอง  ตัวอย่างเช่นจักรรพรรดิของอินคาจะมีที่พักส่วนตัว และนำหญิงสาวมาปรนนิบัติ    มอนเตซูม่า กษัตริย์ชาวเอสเต็กก็มีผู้หญิงในตำหนักมากกว่า 4000 คน   จักรพรรดิของจีนมี “นางใน” อยู่ในตำหนักหลายพันคน  เช่นเดียวกับกษัตริย์ของชาวอินเดียนที่มีผู้หญิงอยู่ในปกครองมากกว่า 16,000 คน

          ตามทฤษฎีของดาร์วิน การสืบทอดอำนาจทางการเมืองขึ้นอยู่กับจำนวนสตรีในตำหนักของผู้นำ โดยเฉพาะในสังคมแบบเผด็จการ  ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมผู้นำจะไม่มีผู้หญิงอยู่ในปกครอง   ทฤษฎีของดาร์วิน 2 ทฤษฎีอธิบายถึงสาเหตุของการสืบทอดอำนาจไปยังบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง  ทฤษฎีแรกมาจากแฮมิลตัน(1964) เป็นการอธิบายการเลือกญาติพี่น้อง   แฮมิลตันกล่าวว่าพฤติกรรมทางสังคมจะพัฒนาขึ้นเนื่องจากบุคคลเห็นว่าคู่แข่งมีความสมบูรณ์มากกว่า  ถ้าคนแต่ละคนมีความเข้มแข็งพอๆกัน คนที่จะถูกเลือกให้สืบทายาทต่อไปได้คือญาติที่ใกล้ชิดที่สุด   เมื่อผู้มีอำนาจมีจำนวนสตรีอยู่ในการปกครองที่เหมาะสม ผู้ที่จะครองอำนาจต่อไปจะเป็นลูกหลานของผู้ปกครอง  ในรัฐที่มีการปกครองแบบกษัตริย์ เช่น อาณาจักรเมโสโปเตเมีย อียิปต์ อินเดีย จีน เอสเต็กในเม็กซิโก และอินคาในเปรู อาณาจักรเหล่านี้จะมีกฎการปกครอง โดยกษัตริย์จะส่งมอบให้อำนาจให้กับผู้เป็นลูกชาย

          ในประเทศอียิปต์ มีกฎว่าลูกสาวคนโตที่แต่งงานกับพี่ชายหรือน้องชายจะได้รับการแต่งตั้งเป็นราชินี  แวน เดน เบิร์ก และมีเชอร์(1980) อธิบายว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในครอบครัวกษัตริย์ สามีภรรยาจะเป็นญาติกัน ดังนั้นลูกที่เกิดมาจึงมีสายเลือดคงเดิม  กูดี้(1983) อธิบายว่าการแต่งงานร่วมสายเลือดจะยิ่งทำให้ครอบครัวมีทรัยพ์สมบัติมากขึ้นเรื่อยๆ  อาจกล่าวได้ว่าการแต่งงานระหว่างญาติพี่น้องเป็นการทำให้อำนาจยังคงอยู่ต่อไป เช่นในสังคมเผด็จการ

          แต่ทำไมคนที่ขึ้นไปสู่อำนาจสูงสุดต้องเป็นเพศชาย   ทริเวอร์และวิลลาร์ด(1973) สร้างทฤษฎีขึ้นมาเพื่ออธิบายการคัดเลือกตามธรรมชาติที่พ่อแม่จะเลือกลูกตามเพศ   ทฤษฎีนี้สันนิษฐานว่าในสังคมที่ลูกชายจะเป็นผู้ที่สืบเผ่าพันธุ์ พ่อแม่ก็จะให้ความสำคัญกับลูกชายมาก  แต่ในสังคมที่คาดหวังให้ลูกสาวสืบพันธุ์ ลูกสาวก็จะมีค่ามาก    การศึกษาของคิกเคมานน์(1979, 1981) ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีดังกล่าวจะอธิบายรูปแบบการฆ่าทารกหญิงและการที่ลูกสาวไม่มีค่า  การศึกษาของฮาร์ตุง(1982) ตอกย้ำว่าการมีภรรยาหลายคนจะสอดคล้องกับการสืบทอดทรัยพ์สมบัติให้กับลูกชาย  สังคมของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน  ลูกชายจึงได้รับอำนาจต่อจากพ่อในฐานะเป็นผู้สืบเผ่าพันธุ์ ดังนั้นผู้ชายจึงเป็นผู้ที่สืบทอดอำนาจทางการเมือง

          แต่ถ้าสังคมนั้นขาดแคลนผู้ชาย หรือลูกชาย ผู้หญิงก็จะขึ้นมาปกครอง เช่น ราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งอังกฤษ ขึ้นครองราชย์ต่อจากบิดา หรือพระเจ้าจอร์จที่ 6 เนื่องจากพระองค์มีพระธิดาเพียง 2 องค์ และไม่มีพระโอรส  ในบางสังคม การขึ้นครองอำนาจต้องผ่านความเห็นชอบจากสตรีก่อน     สังคมที่สืบทายาททางฝ่ายแม่ ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เพราะลูกชายที่เกิดจากญาติข้างแม่จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจ  การสืบอำนาจทางฝ่ายแม่ทำให้ทฤษฎีของแฮมิลตันมีน้ำหนักน้อยลงไป   บทความของอเล็กซานเดอร์ในปี ค.ศ.1974 เรื่อง The Evolution of Social Behavior อธิบายว่าการสืบทอดอำนาจทางฝ่ายหญิงสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงที่ชอบเปลี่ยนคู่นอน  

        อเล็กซานเดอร์โต้แย้งว่า ในบางวัฒนธรรมที่ผู้ชายไร้อำนาจ หรือมีอำนาจน้อยกว่าผู้หญิง ผู้ชายมักจะสนิทสนมใกล้ชิดกับหลานของพี่สาวมากกว่าลูกชายของตัวเอง  สังคมแบบนี้จะมีการสืบทายาทข้างแม่และลูกชายของพี่สาวหรือน้องสาวจะได้รับการสืบทอดอำนาจ   อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนคู่นอนของผู้หญิง จะทำให้สายเลือดของลูกชายหรือพี่สาว น้องสาวของสามีเกิดมลทิน  ชไนเดอร์และก็อค (1961) อธิบายว่าในสังคมที่ผู้ชายต้องแต่งงานไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง การสืบทอดอำนาจมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิง  ดังนั้นลูกชายในครอบครัวจึงไม่อยู่กับครอบครัวตลอดไปเพราะต้องแต่งงานไปอยู่กับผู้หญิง  ลูกสาวจึงมีค่าเพราะจะได้สืบทอดอำนาจและครอบครองสมบัติต่อไป

        พัฒนาการของครอบครัวของมนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ให้ความสำคัญกับญาติพี่น้องของพ่อและแม่เท่ากัน รวมทั้งลูกชายและลูกสาวจะมีฐานะเท่ากัน  เบตซิก(1991) กล่าวว่าสังคมแบบยึดถือผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งผู้ชายมีภรรยาหลายคนจะค่อยๆหมดไปจากโลก เพราะสถาบันทางอำนาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสืบเผ่าพันธุ์ แต่ปัญหาอื่นยังไม่หมดไป  ถ้าการสืบอำนาจมีคนเข้ามาแย่งชิงมากขึ้น ใครจะเป็นผู้ได้รับเลือก  ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่ออำนาจตกไปอยู่ในมือของคนหลายคน ใครจะเป็นผู้ตัดสิน  ระบบอำนาจแบบเผด็จการ หรือยกย่องผู้นำเพียงหนึ่งเดียวอาจไม่ใช่ทางเลือก  การรับมรดกที่ดินจะเป็นสิทธิของทายาท  แต่ถ้าที่ดินเป็นของหายาก คนที่จะได้รับสิทธิจะต้องเป็นทายาทเพียงคนเดียว

         อย่างไรก็ตาม อำนาจเป็นสิ่งที่แบ่งได้ แต่เมื่ออำนาจมีการแบ่ง ปัญหาความขัดแย้งจะเกิดตามมา ในสังคมที่มีการแบ่งช่วงชั้น เช่นสังคมของแมลง นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด  จะมีจ่าฝูงหรือหัวหน้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น   กูดี้(1973) อธิบายว่าปัญหาการมีผู้สืบทอดอำนาจหลายคน หรือขาดแคลนผู้สืบทอดอำนาจเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกัน  ถ้าการสืบทอดอำนาจอยู่ในเครือญาติ กระบวนการคัดเลือกผู้สืบอำนาจจะเกี่ยวข้องกับการระบุว่าใครคือทายาท หรือใครมีสิทธิ เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจ หรือการไร้ผู้สืบอำนาจ    กระบวนการลดจำนวนผู้ที่จะเข้ามาสืบทอดอำนาจ อาจทำได้โดยการคุมกำเนิด การทำแท้ง การฆ่าทารก หรือ นำเด็กไปทิ้ง  แต่ในสังคมที่มีการสืบทอดอำนาจไปยังคนหลายคน สังคมนั้นก็จะมีมาตรการแบ่งสรรอำนาจให้กับทายาทที่เหมาะสม  บางครั้งมาตรการนี้อาจใช้ได้ดี แต่บางครั้งก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้นสังคมจึงต้องมีมาตรการใหม่ๆเข้ามาแก้ไข

        กูดี้อธิบายว่า ถ้าในกรณีที่ภรรยามีลูกชายคนเดียว หรือไม่มีลูก  สังคมนั้นก็จะอนุญาตให้สามีมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนเพื่อสร้างทายาท  ลูกๆที่เกิดมาก็จะมีสิทธิสืบทอดอำนาจ  มาตรการแบบนี้จะใช้ได้ดีในสังคมขนาดเล็กที่ไม่ซับซ้อน เช่น สังคมชนเผ่าเร่ร่อน ล่าสัตว์  สังคมแบบนี้จะยอมให้ผู้ชายมีภรรยาหลายคนเพื่อที่จะสร้างสมาชิกในครัวเรือน ผู้ชายสามารถแต่งงานได้หลายครั้ง   ถ้าหากภรรยายังไม่มีลูก ทางออกประการหนึ่งคือการหาผู้หญิงอื่นมาเป็นผู้ตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ทำหน้าที่นี้อาจมิใช่ภรรยาแต่มีลักษณะคล้าย “นางบำเรอ”  แต่ลูกที่เกิดจากนางบำเรออาจได้รับสิทธิเป็นผู้สืบทอดอำนาจ  นางบำเรอนี้มักจะมีฐานะที่ต่ำกว่าภรรยา

        สังคมที่มักจะมีนางบำเรอ คือสังคมเกษตรกรรม หรือสังคมเผด็จการ  เวสเตอร์มาร์คอธิบายว่าลูกของภรรยาคนแรกจะมีสิทธิมากกว่าลูกๆของภรรยาคนที่สอง หรือนางบำเรอ ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิสืบทอดอำนาจจึงมักจะเป็นลูกคนแรกของภรรยาคนที่หนึ่ง  ตัวอย่างพระเจ้าเฮนรีที่ 8 มีมเหสีถึง 6 คน แต่ผู้ที่มีสิทธิสืบทอดอำนาจคือพระโอรสองค์แรก   กูดี้อธิบายว่าถ้าภรรยาไม่มีลูก  มาตรการอื่นจะถูกนำมาใช้คือการรับเด็กมาเป็นลูกบุตรธรรม  กูดี้กล่าวว่าทางเลือกในกรณีที่ไม่มีลูกชาย คือให้ลูกสาวหรือลูกบุตรธรรมเป็นผู้สืบอำนาจ  เด็กที่ถูกเลือกมาเป็นบุตรส่วนใหญ่มักจะเป็นญาติๆ เช่น ในสมัยโรมัน จักรพรรดิออกัสตัสใช้ลูกบุตรธรรมชื่อทิเบเรียสเป็นผู้สืบอำนาจ  ทิเบเรียสเป็นบุตรชายคนแรกของภรรยาคนที่สามของออกัสตัส

        หากรูปแบบการสืบทอดอำนาจที่กล่าวมานี้เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ชายที่มีภรรยาหลายคน  อาจมีคำถามว่าอะไรที่ทำให้ระบบผู้ชายเป็นใหญ่ล่มสลายหรือเจริญงอกงาม   ระบบที่ให้อำนาจและสิทธิผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน หรือระบบเผด็จการโดยคนๆเดียว คือระบบที่ทำให้คนจำนวนมากถูกกดขี่และพ่ายแพ้  ในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น เช่นสังคมมนุษย์ ผู้ที่มีอำนาจจะเป็นผู้ที่ชี้ชะตาการอยู่รอดของสังคม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York,  pp.975-978.

Robbins Burling. 1974. Passage of Power: Studies in Political Succession. Academic Press.


หัวเรื่องอิสระ: การสืบทอดอำนาจการเมือง