คำศัพท์

Anthropology of Music

       การศึกษาดนตรีในทางมานุษยวิทยา เป็นการศึกษาวัฒนธรรมดนตรีที่อยู่นอกสังคมตะวันตก เพื่อสำรวจและทำความเข้าใจประสบการณ์ของการใช้อุปกรณ์สร้างเสียงชนิดต่างๆที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาก็หันมาศึกษาวัฒนธรรมดนตรีในสังคมตะวันตกด้วย เพราะเชื่อว่าในแต่ละวัฒนธรรม มนุษย์จะมีกิจกรรมทางดนตรีในแบบของตัวเอง บางครั้ง การศึกษาดนตรีทางมานุษยวิทยารู้จักในชื่อ “มานุษยดุรางคศาสตร์” (Ethnomusicology) หรือชาติพันธุ์วรรณาทางดนตรี ethnography of music  ซึ่งมองดนตรีในฐานะเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง การศึกษาดังกล่าวนี้เริ่มชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ทั้งนี้มิใช่นักมานุษยวิทยาเท่านั้นที่ศึกษาในมิติดังกล่าว แต่ยังมีนักสังคมศาสตร์และนักดนตรีเข้ามาศึกษาด้วย

       หน้าที่ทางสังคมของดนตรี ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของเสียงที่ปรากฎขึ้น  ดนตรีอาจเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและสถานการณ์ เช่น ดนตรีกับการเกษตรกรรม การรักษาพยาบาล พิธีกรรมทางศาสนา หรือการเมือง   นอกจากนั้นดนตรีอาจเป็นจินตนาการส่วนตัวของผู้สร้างสรรค์หรือสร้างขึ้นเพื่อมวลชน  อาจเป็นกิจกรรมของเครือข่ายระหว่างประเทศ หรือโยงใยกับศาสนาระดับโลก  กิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ดนตรีเพื่อปลดปล่อยบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมหรือการทำงาน  การเต้นรำและเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหลายมักจะใช้ดนตรีเป็นสื่อในการแสดงเพื่อทำให้นักเต้นตระหนักถึงตัวตน

       การศึกษามานุษยวิทยาการดนตรี เป็นการศึกษาดนตรีในวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิด พฤติกรรม และเสียงที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน  เมียสซีสโลว์ โคลินสกี้ (1967) อธิบายว่าวิชามานุษยวิทยามิได้สนใจ “เสียง” ในฐานะที่เป็นเสียง แต่สนใจรูปแบบของเสียงที่ปรากฎอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม และสนใจดนตรีที่ถูกแสดงในสังคม อย่างไรก็ตาม การศึกษาดนตรีแบบมานุษยวิทยา (anthropology of music) แตกต่างจากการศึกษามานุษยวิทยาเชิงดนตรี (musical anthropology) ในแง่ที่ว่า การศึกษาดนตรีแบบมานุษยวิทยาคือการศึกษาสังคมโดยตีความจากการแสดงดนตรี  ส่วนมานุษยวิทยาเชิงดนตรีเป็นการนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาไปอธิบายการสร้างสรรค์ดนตรี  นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาการศึกษาดนตรีแบบมานุษยวิทยามีการศึกษาอย่างกว้างขวาง และมีการชี้ว่าการศึกษาดนตรีนอกสังคมตะวันตกต้องอธิบายจากบริบททางวัฒนธรรม

       ส่วนการศึกษาดนตรีทางชาติพันธุ์ (ethnomusicology) เริ่มปรากฎเป็นสาขาย่อยชัดเจนในช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นการศึกษาที่เน้นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเสียงที่ถูกสร้างโดยมนุษย์ เช่นเสียงดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งศึกษาบริบททางวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดเสียงเหล่านั้น  นักชาติพันธุ์ทางดนตรีมักจะนำแนวคิดทางมานุษยวิทยาไปอธิบายปรากฎการณ์ดนตรี เช่น ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่  โครงสร้างนิยม วิวัฒนาการทางสังคม การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม  ชาตินิยม และโลกาภิวัตน์ เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม บรูโน่ เน็ตต์ วิจารณ์ว่าวิชามานุษยดุริยางคศาสตร์เกิดขึ้นภายใต้วิธีคิดแบบตะวันตก ซึ่งพยายามมองหากฎเกณฑ์ทางดนตรีที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ และพยายามนำกฎเกณฑ์นั้นมาจัดระเบียบภายใต้มาตรฐานดนตรีตะวันตก เดวิด แม็คอเลสเตอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าในวัฒนธรรมนอกตะวันตก อุปกรณ์ที่สร้างเสียงมิได้ถูกนิยามว่าเป็นเครื่องดนตรี แต่เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางสุนทรียะ

       เมื่อระเบียบแบบแผนดนตรีของตะวันตกกลายเป็นมาตรฐานของดนตรีทำให้มีการแบ่งประเภทดนตรีตามคุณภาพและความซับซ้อน   ทฤษฎีวิวัฒนาการและมิติประวัติศาสตร์ถูกนำมาอธิบายพัฒนาการของดนตรี มีการศึกษาสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการสร้างดนตรีที่แตกต่างกัน การศึกษาดนตรีในระยะแรกๆ จึงเป็นการอธิบายสาเหตุของการเกิดดนตรี การศึกษาที่มีอิทธิพลในแง่ประวัติศาสตร์การดนตรีและการเต้นรำคือ การศึกษาของเคิร์ต แซคส์ อธิบายว่าดนตรีเกิดขึ้นจากเหตุผลทางจิตวิทยาและเศรษฐกิจ  ต่อมามีการอธิบายเพิ่มเติมโดย อลัน โลแม็กซ์ และวิคเตอร์ เกราเออร์ (1968) ซึ่งวิเคราะห์ดนตรีอย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติ

      การจัดแบ่งประเภทดนตรีตามสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ และจิตวิทยา ทำให้เห็นว่ามีดนตรีประเภทไหนที่กำลังสูญหายและสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะดนตรีพื้นบ้าน  นอกจากการจัดแบ่งประเภทดนตรีตามสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมแล้ว  ทฤษฎีเกี่ยวกับดนตรีอื่นๆยังมองมิติของการเป็นเครื่องมือต่อต้านขัดขืนจากการถูดกดขี่ข่มเหง  แนวคิดนี้มีการนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม”โดยอาศัยดนตรีและการเต้นรำเป็นสื่อในการแสดงออก องค์กรที่ทำงานด้านนี้เช่น Musicians United for Superior Education (MUSE)  เป็นการทำงานอุทิศเพื่อปรับปรุงแก้ไขและป้องกันดนตรีพื้นเมืองมิให้สูญหายไปจากมนุษยชาติ

      แนวคิดอีกแนวหนึ่งอธิบายเรื่อง “อำนาจ” ของดนตรีซึ่งมีผลต่อจิตวิญญาณ  แนวคิดนี้สนใจการเปล่งเสียงที่สามารถทำให้มนุษย์มีพลังที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ และความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสร้างพลังออกจากตัวเอง  แต่พลังนี้เป็นสิ่งที่ลี้ลับ มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายหรือความอึดอัดได้ ดนตรีประเภทนี้อาจพบในพิธีรักษาโรคภัยไข้เจ็บ   อิทธิพลของภาษาศาสตร์ก็ถูกนำมาอธิบายเรื่องดนตรี แนวคิดนี้เชื่อว่าดนตรีเปรียบเสมือนภาษา เป็นระบบการสื่อสารประเภทหนึ่ง การวิเคราะห์แนวนี้คือการมองหาโครงสร้างไวยกรณ์ของดนตรี อย่างไรก็ตามดนตรีบางประเภทก็ไม่สามารถวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างได้

      ปัจจุบันการศึกษาบทบาทของดนตรีในฐานะเป็น “สัญลักษณ์” ทางวัฒนธรรมกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว    ข้อสังเกตของอัปพาดูรัย ชี้ว่าปัจจุบันกำลังมีพื้นที่ชนิดใหม่เกิดขึ้น พื้นที่นี้มีหลายแบบได้แก่  พื้นที่สื่อ(mediascapes) พื้นที่เทคโนโลยี  (technoscapes) พื้นที่การเงิน (financscape)  พื้นที่ความคิด (ideoscape) พื้นที่เหล่านี้เข้ามาแทนพื้นที่ทางชาติพันธุ์แบบเดิม    อัปพาดูรัยกล่าวว่าปัจจุบันกำลังมีการศึกษาผลผลิตทางวัฒนธรรมมากมาย เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี และโฆษณา ทำให้ต้องมองไปที่สถาบันที่ผลิตสิ่งเหล่านี้ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการบริโภคสินค้า  ตัวอย่าง  “ดนตรีโลก” (world music) ชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายของดนตรีกำลังหายไป เพราะดนตรีกำลังกลายเป็นสินค้าที่เหมือนๆกัน

    มาร์ค สโลบิน(1993) ตั้งข้อสังเกตว่าการพัฒนาดนตรีสมัยใหม่เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีสากล  การศึกษาทางมานุษยวิทยาด้านความคิดและทฤษฎี ethnoscience ได้เสนอมุมมองในการศึกษาการเคลื่อนไหวของดนตรีทางชาติพันธุ์ ซึ่งหันไปสนใจความคิดของผู้สร้างดนตรี  นักวิชาการด้านดนตรีทั่วโลกกำลังศึกษาดนตรีแขนงต่างๆมากมาย ในขณะที่นักมานุษยวิทยาแนวสะท้อนตัวตนก็มีข้อโต้แย้งกับนักวิชาการด้านดนตรีทางชิพันธุ์ โดยชี้ว่านักวิชาการเหล่านี้มีอิทธิพลต่อดนตรีทางชาติพันธุ์ หรือตัวตนของนักวิชาการด้านดนตรีชาติพันธุ์แยกไม่ออกจากเสียงดนตรีที่พวกเขาศึกษา


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. p.821, 826.

Hood, Mantle 1969. "Ethnomusicology". In Willi Apel. Harvard Dictionary of Music Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

McAllester, David P. 1954. Enemy Way Music: A Study of Social and Esthetic Values as Seen in Navaho Music. Cambridge, MA: Peabody Museum of American Archaeology and Ethnology, Harvard University vol. XLI, no. 3.

Merriam, Alan. 1960. “Ethnomusicology: A Discussion and Definition of the Field.” Ethnomusicology 4(3): 107-114.

Nettl, Bruno. 1983. The Study of Ethnomusicology. Urbana, Ill.: University of Illinois Press.

Nettl, Bruno. 2005. "The Harmless Drudge: Defining Ethnomusicology." The Study of Ethnomusicology: Thirty-one Issues and Concepts. Urbana: University of Illinois.

Nettl, Bruno. 2005. “You Will Never Understand this Music.” The Study of Ethnomusicology: Thirty-one Issues and Concepts. Urbana: University of Illinois.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาดนตรี