Popular Culture
การศึกษาเพื่อค้นหาความหมายของการแสดงออกทางวัฒนธรรม มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ หรือความหมายที่อยู่ในความคิด โลกทัศน์ และการปฏิบัติ วิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบที่หลากหลายของวิธีการแสดงออก เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค การตีไก่ของชาวบาหลี ขบวนพาเหรด งานคาร์นิวัล การแสดงมหรสพ การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ละครสัตว์ มวยปล้ำ การเล่นเกมส์ งานเฉลิมฉลอง การแสดง เทศกาล งานออกร้าน สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ เทศกาลทางศาสนา การแสวงบุญ การท่องเที่ยว และละครเวที
นักมานุษยวิทยาที่สนใจวัฒนธรรมที่ผ่านการแสดง จะสนใจระเบียบทางสังคมที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งอาจถูกแสดงออกในกิจกรรมทางวัฒนธรรม มากกว่าจะถามถึงผลผลิต อำนาจ หรือการต่อต้าน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงมุ่งความสนใจไปที่เรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งสังคมต้องการสื่อสารออกมาผ่านกิจกรรมต่างๆ สัญลักษณ์เหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์ ความเชื่อ ระบบคุณค่า และความคิดที่มีต่อโลกซึ่งสังคมนั้นปฏิบัติมา กิจกรรมเหล่านี้ นักมานุษยวิทยาจะเรียกว่าพิธีกรรม หรือการแสดง ซึ่งเป็นรูปแบบของวัฒนธรรมที่สื่อสารออกมาให้คนอื่นเห็น
นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้จึงสนใจวิเคราะสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในการแสดงและพิธีกรรม นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาแนวนี้ ได้แก่ วิคเตอร์ เทอร์เนอร์, คลิฟฟอร์ด เกิร์ต และเออร์วิ่ง กอฟฟ์แมน เกิร์ต(1973) เชื่อว่าวัฒนธรรมเปรียบเสมือน “เรื่องที่ถูกแต่งขึ้น” โดยนำไปวิเคราะห์การตีไก่ของชาวบาหลีว่าเป็นการแสดงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราววัฒนธรรมของชาวบาหลี เรื่องราวนี้เป็นเรื่องที่ชาวบาหลีกำลังบอกตัวเอง การตีไก่จึงเป็นการแสดงที่สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์สังคมของชาวบาหลีไปพร้อมๆกัน ส่วนเทอร์เนอร์คิดว่าการแสดงสมัยใหม่เปรียบเสมือนพิธีกรรมทางศาสนาของชนเผ่า ซึ่งผู้คนจะมาสะท้อนความคิด ความเชื่อ และบทบาทของตัวเองในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าพิธีกรรมในสังคมประเพณีจะเพิกเฉยต่อโครงสร้างทางสังคมในชีวิตประจำวันชั่วคราว และเปลี่ยนสิ่งนี้เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ทำให้สมาชิกมีฐานะเท่าเทียมกัน หรือ communitas ช่วงเวลานี้ทำให้เกิดการสลับขั้วของสิ่งต่างๆ ซึ่งเทอร์เนอร์อธิบายว่าจะทำให้โครงสร้างสังคมมีความชัดเจนขึ้น
แต่การแสดงสมัยใหม่จะไม่เหมือนกับพิธีกรรมของชนเผ่า เทอร์เนอร์คิดว่าสิ่งที่มีความสำคัญมากในการแสดงหรือพิธีกรรมคือ การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น การแสดงออกทางสังคม(การปฏิวัติ) มีพลังที่จะเปลี่ยนระบบทางสังคม เสนอทางเลือกใหม่สำหรับการเมือง และนำไปสู่การจัดระเบียบสังคมในรูปแบบใหม่ที่มั่นคงขึ้น การศึกษาของเทอร์เนอร์ และเกิร์ต บอกให้ทราบว่ารูปแบบการแสดงออกทางสังคม เป็นทั้งแบบแผนทางวัฒนธรรม และการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมในเวลาเดียวกัน วิธีคิดแบบโมเดิร์นนิสต์จะสนใจวัฒนธรรมที่ผ่านการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาศึกษาและเน้นย้ำให้เห็นศักยภาพของการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ รูปแบบเหล่านี้มิได้ทำลายหรือเข้ามาแทนที่ผลผลิตทางวัฒนธรรมของมวลชน หากแต่เข้ามาทำให้ผลผลิตเหล่านั้นชัดเจนขึ้น กล่าวคือ การแสดงออกในรูปแบบต่างๆจะทำให้ผลผลิต หรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเข้าไปแทรกตัวอยู่ในเรื่องราวทางสังคมได้กว้างขึ้นกว่าเดิม
ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา การศึกษาแบบสหสาขาวิชาเกิดขึ้นมาอย่างมีพลังและมีรูปแบบที่ชัดเจนเพื่อศึกษาวัฒนธรรมป๊อป การศึกษาแนวนี้รู้จักในนาม cultural studies ซึ่งก่อตัวเป็นระบบอยู่ในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การศึกษาเชิงวัฒนธรรมนี้สนใจวิเคราะห์สินค้าเชิงวัฒนธรรม ผลผลิต สิ่งประดิษฐ์เพื่อการค้าในระบบอุตสหกรรม เช่น ดนตรี เพลง ดีสนีย์แลนด์ ภาพยนตร์ ละครทีวี หนังสือการ์ตูน รายการโทรทัศน์ โฆษณา และนิยายประโลมโลกทั้งหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การศึกษาแนวนี้สนใจสิ่งที่จับต้องได้ซึ่งเป็นสินค้าที่แพร่หลายในมวลชน สินค้าต่างๆที่กล่าวมานั้นถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมป๊อป เพราะว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นพื้นที่ของความหมายซึ่งมีการแข่งขันต่อสู้ และเป็นสนามรบของการเปลี่ยนแปลงอำนาจ และความหมายในบริบทของการเปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวของความรู้และทุน
สิ่งที่ทำให้การศึกษาเชิงวัฒนธรรมมีพลังและทำให้การศึกษาวัฒนธรรมป๊อปได้รับความนิยม ก็คือ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ใน 3 แนวทาง แนวทางแรก วิเคราะห์ผลผลิตและสินค้าทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างมาจากระบบอุตสาหกรรม เช่น อธิบายว่าสินค้าเป็นทรัพย์สมบัติของผู้ผลิตที่เป็นชนชั้นนำทางสังคม ได้แก่ นายทุน พ่อค้า สื่อมวลชน (ทฤษฎีมาร์กซิสต์จากสกุลแฟรงเฟิร์ต และทฤษฎีภาพยนตร์จากสกุลลาคอง) แนวทางที่สอง วิเคราะห์วิธีการที่กลุ่มคนบริโภค หรือรับรู้สินค้า (ทฤษฎีการรับสาร และการศึกษาแนว semiotics) แนวทางที่สาม วิเคราะห์การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค (การศึกษาในสกุลเบอร์มิงแฮม ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงปี ค.ศ.1964-1979 นักคิดสำคัญได้แก่ สจ๊วต ฮอลล์ และลูกศิษย์อีกหลายคน)
การศึกษาในแนวที่สามทำให้การศึกษาเชิงวัฒนธรรมมีข้อวิจารณ์ที่ท้าทาย นักวิชาการที่ศึกษาในแนวนี้เชื่อว่าความนิยมของมวลชนไม่ได้มาจากการผลิตสินค้า หรือจากการรับรู้ บริโภค จับจ่ายสินค้าของประชาชน กล่าวคือ การบริโภคสินค้ามิใช่การควบคุม หรือมิใช่ช่องทางการแสดงออกของคนที่ต้องการต่อต้านสังคม แต่ ความนิยมเป็นพฤติกรรม เป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม สินค้าชนิดต่างๆต้องการที่จะแข่งขันเพื่อจะสร้างความหมายให้กับชีวิตมนุษย์ การบริโภคสินค้าจึงเป็นจินตนาการของผู้บริโภคซึ่งมีเหตุผลส่วนตัว คนแต่ละคนจะมีความสนใจต่อสินค้าไม่เหมือนกัน
เมื่อนักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาวัฒนธรรมป๊อปในเขตเมือง นักมานุษยวิทยาก็กลับมาทบทวนสิ่งที่ตนเองเคยศึกษามาแล้ว นั่นคือ คลื่นของฝูงชนและความรู้ที่ไหลบ่าข้ามพรมแดนรัฐชาติ กลับมาทบทวนรูปแบบการแสดงออกทางวัฒนธรรม และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นักมานุษวิทยาเริ่มมองเห็นว่าวิธีการศึกษาแบบเดิมยังไม่สามารถอธิบายวัฒนธรรมได้ถูกต้องนัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนมองวัฒนธรรมที่ผ่านการแสดงออกว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับระบบโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม การศึกษาแนวใหม่นี้อธิบายว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนได้ และไม่ใช่สิ่งตายตัว
การเปลี่ยนวิธีคิดนี้มีสาเหตุหลายประการ แต่เหตุผลหลักมี 2 ประการ คือ ประการแรก การเปลี่ยนวิธีคิดมาจากการเปลี่ยนวิธีเขียนงานทางมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1980 และทำให้วิชามานุษยวิทยากลายเป็นการวิจารณ์ทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการมองว่ามานุษยวิทยาเป็นศษสตร์ที่มีประวัติศาสตร์ซึ่งมาพร้อมกับยุคอาณานิคมของตะวันตก และการเกิดขึ้นของลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งมีการรวมอำนาจเศรษฐกิจ การแพร่หลายของวัฒนธรรมป๊อป การอพยพย้ายถิ่น ลัทธิชาตินิยม และการแบ่งแยกทางศาสนาและเผ่าพันธุ์ ประการที่สอง คือ รูปแบบของวัฒนธรรมป๊อปที่อธิบายมาจากการศึกษาเชิงวัฒนธรรมส่งผลให้มานุษยวิทยาต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
เมื่อไม่นานมานี้ นักมานุษยวิทยาหลายคนเริ่มใช้วิธีการศึกษาเชิงวัฒนธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาวัฒนธรรมที่ผ่านการแสดงออก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิธีการเก็บขอมูลเปลี่ยนไปจากเดิม โดยนักมานุษยวิทยาจะสนใจวัตถุที่จับต้องได้ โดยมองว่าสิ่งนั้นมิใช่ของตายตัว หรือมีเอกภาพในตัวเอง คำที่นักมานุษยวิทยาเคยใช้มาในอดีต เช่น คำว่า “ความแท้จริง” “จิตสำนึกที่เป็นหนึ่งเดียว” “ประเพณี” และ “วัฒนธรรม” กำลังจะกลายเป็นคำพูดทั่วไปเหมือนกับคำที่ชาวบ้านใช้อธิบาย อาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเขียนงานทางมานุษยวิทยาแนวใหม่นี้ ทำให้นักมานุษยวิทยาหลุดพ้นจากทฤษฎีและคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตรรกะแบบตะวันตก และนักมานุษยวิทยาเริ่มมองเห็นตัวตนของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมจำเป็นต้องวิเคราะห์ว่ากลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นสร้างประวัติศาสตรืและวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างไร
การศึกษาในเชิงวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่ต้องขัดขวางคำพูดหรือสำนวนของนักมานุษยวิทยา (โดยเฉพาะคำพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรม) และต้องไม่นำคำอธิบายแบบนั้นมาใช้ในงานเขียน ริชาร์ด แฮนด์เลอร์ และจอร์จ มาร์คัส กล่าวว่าการที่วัฒนธรรมศึกษาสนใจต่อเนื้อความหรือเรื่องเล่า ทำให้เป็นผู้เขียนมีอำนาจเพื่อที่จะสร้างทฤษฎีโดยใช้งานของผู้อื่นเป็นฐาน และพยายามทำให้สิ่งที่ตนเองเขียนแยกจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การศึกษาเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นวัฒนธรรมแบบชนชั้นนำ ถึงแม้ว่านักวิชาการในแนวนี้จะยืนยันว่าเป็นการศึกษามวลชนและเพื่อวิพากษ์วิจาร์ณก็ตาม
อยางไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการศึกษาเชิงวัฒนธรรมที่ดีที่นักมานุษยวิทยาใช้วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อศึกษาวัฒนธรรมป๊อป เช่น เอลิซาเบ็ธ จี ทรูบ(1992) ศึกษาเรื่องการแสดงความเป็นชายและหญิงของบุคคลซึ่งแฝงอยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในทศวรรษที่ 1980 ทรูบอธิบายตำนานเกี่ยวกับแดนตะวันตกของอเมริกา และเรื่องของชัยชนะต่างๆที่เกิดขึ้นในอเมริกา ทรูบกล่าวว่าภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจะพูดในแนวเดียวกันโดยเกี่ยวข้องกับการเมืองและความคิดสมัยเรแกน ซึ่งต้องการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ยุค 1960 ทรูบชี้ให้เห็นว่ายุคของเรแกนเป็นยุคของอนุรักษ์นิยมใหม่ ซึ่งความคิดเหล่านี้ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษที่ 1980 กล่าวคือ ฮอลลีวู้ดทำให้ผู้หญิงกลายเป็นปีศาจร้าย และสร้างจินตนาการว่าผู้หญิงเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคม ความคิดดังกล่าวนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความเป็นหญิงที่มองจากมาตรฐานของผู้ชาย
การตีความวัฒนธรรมป๊อปในมุมมองทางมานุษยวิทยายังเป็นเรื่องใหม่ มานุษยวิทยายังต้องการขยายพรมแดนการศึกษาด้วยคำอธิบายที่แปลกใหม่เพื่อที่จะตีความสังคมและวัฒนธรรม การศึกษาในแนวนี้ยังคงเปิดประตูให้กับความคิดใหม่ที่มาจากสาขาวิชาต่างๆ บริบทเชิงประวัติศาสตร์ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนักมานุษยวิทยา
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.984-988.
Danesi, M. 2007. Popular culture: Introductory perspectives. Lanham, MD: Rowman and Littlefield.
Docker, John. 1994. Postmodernism and popular culture: A cultural history. Cambridge, UK: Cambridge Univ. Press.
Hermes, Joke. 2005. Re-reading popular culture. Oxford: Blackwell.
Heike Becker. 2012. Anthropology and the Study of Popular Culture: A Perspective from the Southern Tip of Africa. Research in African Literatures, Vol. 43, No. 4
หัวเรื่องอิสระ: วัฒนธรรมประชานิยม