Possession

Possession

คำว่า การถูกผีสิง เป็นคำที่ใช้ในกลุ่มของผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งใช้เรียกอาการที่มนุษย์ถูกวิญญาณบางอย่างเข้าครอบครอง หรือเข้าสิงร่าง เมื่อมนุษย์ถูกวิญญาณเข้าครอบงำ มนุษย์จะตกอยู่ใต้อำนาจของวิญญาณ และแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ตามที่วิญญาณสั่ง เจ้าของร่างจะไม่รู้สึกตัว หรือจำสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ วิญญาณที่เข้าสิงอาจจะเป็นผีบรรพบุรุษ เทวดา ปีศาจ และวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดต่าง ๆ คนที่ถูกผีสิงจะมีอาการเปลี่ยนไป กลายเป็นคนละคน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา เรียกอาการผีเข้านี้ว่า ซาร์ (Zar) ในประเทศเฮติ เรียกว่าวูดู (Voodoo) ในบราซิลเรียกว่า อัมบันดา (Umbanda) เป็นต้น นักมานุายวิทยาบางคนพยายามแยกความหมายของ การถูกผีสิง ออกจาก การเข้าทรง (Shamanism) หรือการติดต่อกับวิญญาณโดยหมอผี หรือพระ แต่ความหมายของทั้งสองก็ยังก่ำกึงกัน การไล่ผีและการติดต่อกับผีนั้นยังมีมิติอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการที่บุคคลเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมเพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การติดต่อกับวิญญาณยังเกี่ยวข้องกับลัทธิความเชื่อทางศาสนา และยังมีมิติทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การถูกผีสิงเป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษามายาวนาน เนื่องจากลักษณะของการถูกผีสิงเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ซึ่งอยู่นอกกฎเกณฑ์ของเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ เมื่อสิ่งนี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลจึงทำให้นักมานุษยวิทยาพยายามสร้างคำอธิบาย ถึงแม้ว่าวิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาจะเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบกฏเกณฑ์ ซึ่งอาจดูคัดแย้งกับการอธิบายเรื่องการถูกผีสิง แต่นักมานุษยวิทยาก็พยายามที่จะเข้าใจว่าการถูกผีสิงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่มนุษย์แสดงออกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การทำนายฝัน การถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม การมีข้อห้ามตามประเพณี สิ่งเหล่านี้ถูกกระทำด้วยอำนาจของวิญญาณที่จะแสดงตัวออกมาด้วยคำพูด การแต่งกาย การกินอาหาร การแสดงอาการต่าง ๆ ที่ต่างไปจากร่างเดิมของมนุษย์คนนั้น

นักมานุษยวิทยาพยายามแยกประเด็นศึกษาเรื่องนี้เป็น 2 กรณี กรณีแรก การถูกผีสิงเป็นเรื่องที่สังคมสร้างระเบียบขึ้นมาควบคุมบุคคลโดยการกล่าวอ้างตำนาน ความเชื่อ หรือข้อห้าม พร้อม ๆ กับมีการปฏิบัติ หรือการตอบโต้กับวิญญาณที่เข้ามาสิงร่าง เช่น การเข้าทรง การขับไล่ผี การเยียวยารักษา และพิธีกรรมต่าง ๆ ประสบการณ์การถูกผีสิงจึงเป็นเรื่องของการนำบุคคลไปพบกับตำนานความเชื่อในอดีต กรณีที่สอง การถูกผีสิงเปิดโอกาสให้มีการตีความว่าอย่างไรคือเรื่องส่วนตัว และอย่างไรคือส่วนรวม ความหมายและคุณค่าของส่วนรวมจะถูกอธิบายให้กับบุคคล และบุคคลก็จะแสดงตัวเองออกมาผ่านอำนาจของวิญญาณ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถูกผีเข้าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แตกต่างจากพิธีกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายการศึกษาทางมานุษยวิทยา

การเข้าสิงของวิญญาณโดยผ่านร่างทรง หน้าที่ของวิญญาณคือนำเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันมาบรรจบกัน เพราะวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาหาลูกหลานในปัจจุบัน เช่น ในประเทศซิมบับเว ทหารที่ผ่านสงครามจะมีความสัมพันธ์กับร่างทรง เพราะในกองทัพ ร่างทรงจะมีบทบาทสำคัญ ชนเผ่านาดีบีลีและโชน่าในซิมบับเวเชื่อว่าในยามสงคราม วิญญาณบรรพบุรุษที่สิงร่างทรงจะให้คำแนะนำเพื่อการทำสงครามต่อสู้กับชาวตะวันตกในยุคอาณานิคม ร่างทรงจึงเปรียบเสมือนแม่ทัพที่จะชี้ชะตากรรมให้กับทหารที่รบในสงคราม รวมทั้งมีหน้าที่ออกคำสั่งให้ทหารและชาวบ้านทำในสิ่งต่าง ๆ ชาวตะวันตกจึงพุ่งเป้าหมายไปที่ร่างทรงเพื่อจับตัวมาประหาร วอล์ชและคอฟแมน(1999) วิเคราะห์ว่าการสิงของวิญญาณในร่างทรงในซิมบับเว เป็นเรื่องทางการเมือง ศีลธรรมและสังคม

Alan Barnard and Jonathan Spencer 1996. Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge : London. P.439-440

Craig S. Keener. 2010. Spirit Possession as a Cross-cultural Experience. Bulletin for Biblical Research 20.2 (2010) 215-236.

Morton Klass. 2003. Mind over Mind: The Anthropology and Psychology of Spirit Possession. Rowman & Littlefield Publishers.

Paul Christopher Johnson. 2014. Spirited Things: The Work of Possession in Afro-Atlantic Religions. Chicago: University of Chicago Press.