คำศัพท์

Postcolonialism

        ความหมายของ postcolonial นำไปใช้อธิบายสถานะของการลี้ภัยทางการเมืองและผู้อพยพย้ายถิ่นเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งมีลักษณะการข้ามพรมแดนชาติที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับการศึกษาระบบทุนนิยมในโลกที่สาม และการแตกแยก หรือความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่งผลต่อการแยกตัวเพื่อก่อตั้งประเทศใหม่  ทฤษฎีนี้มีกำเนิดมาจากสายวรรณกรรม การศึกษาแบบสหวิทยากร และการศึกษาสายวัฒนธรรม  

        ตามทัศนะของนักมานุษยวิทยา อธิบายว่าหลังยุคอาณานิยมเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือใช้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นตัวแบ่ง  หลังสิ้นสงครามโลกนำไปสู่การแบ่งโลกออกเป็น 3 ส่วน คือ โลกที่หนึ่ง สอง และสาม  ถ้ายุคหลังสงครามคือยุคของอำนาจอเมริกาและยุโรป หรือเป็นยุคสงครามเย็นระหว่างอเมริกาและสหภาพโซเวียต  ดังนั้นคำว่า postcolonial จึงเป็นคำที่ใช้อธิบายโลกที่สาม ซึ่งประกอบด้วยคนและชาติที่อยู่ใต้อำนาจอาณานิคมของตะวันตก  ระหว่างปี ค.ศ.1945 ถึง 1968  ประเทศต่างๆ 66 ประเทศออกมาเรียกร้องอิสรภาพทางการเมืองจากเจ้าอาณานิคม  กระบวนการเรียกร้องเอกราชยังดำเนินต่อไปในปี ค.ศ.1975 เมื่อประเทศโมแซมบิคประกาศเอกราชจากโปรตุเกส และปี ค.ศ.1980 ประเทศซิมบับเว ประเกาศเอกราชจากอังกฤษ     คลิฟฟอร์ด เกียร์ต(1973) คือนักมานุษยวิทยาคนแรกที่นำคำว่าโพสต์โคโลเนียลไปอธิบายเพื่อชี้ให้เห็นว่าการประกาศเอกราชของประเทศต่างๆเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน มิใช่เป็นจุดสุดท้ายของชัยชนะ

       การศึกษาของจอร์จส  บาแลนเดียร์(1951) เรื่อง The Colonial Situation A Theoretical Approach ชี้ว่าสังคมสมัยอาณานิคมแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และทำให้อำนาจของอาณานิคมแผ่ขยายออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์    งานเขียนของนักวิชาการแนวชาตินิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นผู้บุกเบิกทฤษฎีเกี่ยวกับวาทกรรมยุคอาณานิคม นักวิชาการเหล่านี้โจมตีอุดมการณ์ในลัทธิอาณานิคมซึ่งฝังแน่อยู่ในความคิดของเจ้าอาณานิคมและผู้อยู่ใต้อาณานิคม  และยังสนใจประเด็นเกี่ยวกับการกีดกันคนที่ถูกกดขี่ทั้งทางการเมืองและการดำเนินชีวิต

       การศึกษาของเอ็ดเวิร์ด ซาอีด(1978) ในหนังสือเรื่อง Orientalism  หนังสือเรื่องนี้มีการวิจารณ์ความรู้แบบตะวันตกที่สะท้อนออกมาในวิธีคิดแบบ essentialist ซึ่งสร้างภาพความเป็นอื่นหรือความแปลกพิศดารให้กับคนพื้นเมือง   หนังสือเรื่องนี้อาศัยแนวคิดของฟูโก้ จากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและความรู้ ซึ่งอธิบายว่าความพยายามที่จะค้นหาหรือล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนต่างๆของชาวตะวันตกวางอยู่บนการสร้างความรู้เกี่ยวกับดินแดนเหล่านั้น  ผลที่ตามมาก็คือตะวันตกใช้อำนาจควบคุมกดขี่คนพื้นเมืองที่อยู่ใต้ปกครอง

      แนวคิด Orientalism อธิบายให้เห็นทั้งด้านที่เป็นอุดมการณ์ และการกระทำที่ฝั่งรากลึกซึ่งก่อให้เกิดการความแตกต่างหลากหลาย และความซับซ้อนของเรื่องราวต่างๆภายใต้ตัวแบบที่ตายตัวแบบเดียว  ถ้าหนังสือเรื่องนี้เปรียบเป็นอุดมการณ์แบบอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยม ดังนั้นลัทธิอาณานิคมที่ต่างกันก็จะทำให้เกิดรูปแบบ Orientalism ที่ต่างกันด้วย เช่นการศึกษาของโรนัลด์ อินเด็น(1990) และลิซ่า โลว์(1992)   การศึกษาของนิโคลาส เดิร์กส์(1992) และนิโคลาส โธมัส(1994) ชี้ให้เห็นว่าลัทธิอาณานิคมมิใช่เรื่องราวทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมถึงการควบคุมทางวัฒนธรรมด้วย  อาจกล่าวได้ว่าถ้าลัทธิอาณานิคมเปรียบเป็นการก่อร่างสร้างตัวของวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นวัฒนธรรมก็อาจเกิดขึ้นจากลัทธิอาณานิคมด้วยเช่นกัน

       หนังสือของซาอีดเรื่อง Culture and Imperialism(1993)  พัฒนาแนวคิดดังกล่าวโดยมีสมมุติฐานว่าแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมถูกสร้าง อธิบาย ตอกย้ำ วิจารณ์ หรือปฏิเสธโดยความคิดของจักรวรรดินิยม  การวิเคราะห์วาทกรรมแบบอาณานิคมและทฤษฎีโพสต์โคโลเนียลจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการคิดทบทวนตรวจสอบรูปแบบความรู้และอัตลักษณ์ทางสังคมที่ถูกจัดการโดยอำนาจอาณานิคม เช่นเดียวกับเป็นการมองเห็นความต่อเนื่องและความไม่ลงรอยกันทางสังคมการเมืองระหว่างยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม

         ข้อวิจารณ์ของเจมส์ คลิฟฟอร์ด แตกต่างไปจากการศึกษายุคแรกๆของซาอีด   คลิฟฟอร์ดพยายามลบล้างหรือกำจัดคำอธิบายที่บิดเบือนโดยวิธีการทางมานุษยวิทยาและสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม  และยังใช้วิธคิดแบบนิตเช่ส์ที่อธิบายเรื่องการเสนอภาพตัวแทน  ความคิดของซาอีดในเรื่องความเกลียดชังต่อการศึกษาโพสต์โคโลเนียลอาจมีอยู่บ้างแต่นักมานุษยวิทยานำความคิดในยุคแรกๆของเขามาศึกษา ในขณะที่งานของซาอีดในยุคหลังเป็นงานที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้ในฐานะเป็นตัวอย่างการวิจารณ์   ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960  มานุษยวิทยาได้ประกาศตัวเองเป็นวิชาที่เผชิญจุดวิกฤต และกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยม

       ความพยายามที่จะปลดแอกตนเองออกจากลัทธิอาณานิคม ทำให้มานุษยวิทยาหันมาสนใจผลกระทบทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมในโลกที่สาม ซึ่งแต่เดิมมานุษยวิทยาไม่เคยมองว่าวิธีการศึกษาของตัวเองเป็นวิธีการแสวงหาความรู้แบบหนึ่ง  คาโรลแบ็คเคนริจ และปีเตอร์ แวน เดอร์ เวียร์ (1993)อธิบายว่าการวิจารณ์ลัทธิอาณานิคมมิได้นำไปสู่การมองเห็นวิวัฒนาการของความรู้ซึ่งนำเรามาถึงยุคหลังอาณานิคม อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มานุษยวิทยา โดยเฉพาะในอาณาจักรของอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มก่อตัวเป็นเทคนิคเพื่อการปกครองอาณานิคม นับแต่นั้นโครงสร้างการแสวงหาความรู้ของมานุษยวิทยาก็ถูกวิจารณ์จากนักคิดแนวมาร์กซิสต์

       การศึกษาของชัตเตอร์จี(1986) อธิบายถึงอุดมการณ์ชาตินิยมทั้งในส่วนที่สะท้อนวาทกรรมแนวตะวันออกนิยมและวาทกรรมแยกต่างหากจากแนวคิดตะวันออกนิยม  การศึกษาของชัตเตอร์จีและรานาจิต กูฮา (ผู้ก่อตั้งการศึกษาแนว subaltern)  ช่วยปูทางการศึกษาที่ชี้ว่าแนวคิดของมาร์กซิสต์  ชาตินิยม นีโอโคโลเนียล และประวัติศาสตร์นิพนธ์เป็นการศึกษาที่ลบล้างตัวตนของชาวบ้านที่ถูกกดขี่  แต่กลับตอกย้ำบทบาทของผู้นำระดับชาติ

        การศึกษาแนว subaltern คือการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่าการศึกษาแนวนี้อาศัยพื้นที่ที่หลากหลายแบบข้ามชาติ ซึ่งช่วยให้เกิดข้อวิจารณ์แบบลัทธิชาตินิยม และนักมานุษยวิทยาก็นำมาศึกษาวัฒนธรรมและการเมืองแบบข้ามพรแมดน เช่นการศึกษาของอรุณ อัพพาดูรัย   นักสตรีนิยมที่มีความเชื่อเหมือนและไม่เหมือนแนว subaltern เช่นกายาตรี สปีแว็ค และลาตา มานี ต่างแสดงความคิดคล้ายๆกันว่าวาทกรรมของอาณานิคมและชาตินิยมทำหน้าที่คล้ายกัน คือการลบตัวตนของผู้หญิงออกไปจากประวัติศาสตร์  จากคำอธิบายนี้ ทฤษฎีโพสต์โคโลเนียลอาจเป็นการวิจารณ์ทฤษฎีกระแสหลักซึ่งเกี่ยวพันอยู่ในประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคม

         อาจกล่าวได้ว่า พัฒนาการในวิชามานุษยวิทยาในช่วงที่ผ่านมามีความสอดคล้องกับแนวคิดโพสต์โคโลเนียล  กล่าวคือ มานุษยวิทยาหันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมและสำนึกทางชาติพันธุ์ นักมานุษยวิทยาตระหนักว่าวัฒนธรรมไม่อาจมองจากสภาพภูมิศาสตร์แบบหยุดนิ่งได้อีกต่อไป หากแต่ต้องมองการเคลื่อนย้ายของผู้คน มองการอพยพ การอาศัยอยู่ในดินแดนต่างๆของมนุษย์ซึ่งพ้นไปจากดินแดนรัฐ รวมถึงการเคลื่อนย้ายของทุนข้ามพรมแดน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเรื่อง hybridity หรือ การผสมรวม เป็นแนวคิดของโฮมี บาบา ซึ่งอธิบายว่าการผสมรวมคือพื้นที่ของ “กึ่งกลาง” พื้นที่นี้ไม่มีพรมแดนรัฐที่ชัดเจน เช่นเดียวกับยุคอาณานิคมซึ่งมีสังคมที่หลากหลาย

          อย่างไรก็ตาม ถ้านักมานุษยวิทยาบางคนตั้งตัวเป็นนักคิดแนวโฑสต์โคโลเนียล  คำถามที่ตามมาจะเกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมที่ทำลายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นใต้การปกครองแบบอาณานิคม  ความสัมพันธ์นี้จะยังเหมือนเดิมในยุคต่อมาหรือไม่  พื้นที่ภูมิศาสตร์ของโพสต์โคโลเนียลเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจน ดิแดนอาณานิคมของคนผิวขาวหลายแห่ง เช่น แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา แตกต่างไปจากดินแดนในโลกที่สามอื่นๆ  ดังนั้นแนวคิด postcolonialism จึงลบความแตกต่างของดินแดนทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นภายในอาณานิคมหรือระหว่างอาณานิคม  

       ทฤษฎีโพสต์โคโลเนียลอาศัยตัวอย่างลัทธิอาณานิคมของยุโรปมาศึกษา  ข้อวิจารณ์ที่มีต่อแนวคิด postcolonialism  ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า post ที่ใช้กับ postcolonialism นั้นคือมาตรฐานที่ใช้ตัดสินหรือไม่  เมื่อฮ่องกงแยกตัวออกเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษในปี ค.ศ.1997  และไอร์แลนด์เหนือยังคงเป็นดินแดนในการปกครองของอังกฤษอยู่จนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ทำให้ลัทธิอาณานิคมมีความคลุมเคลือและบอกถึงจุดสิ้นสุดมิได้  ข้อวิจารณ์ของเอลล่า โชฮัต (1992) และแอนน์ แม็คคลินท็อค(1992) ชี้ให้เห็นรูปแบบของลัทธิอาณานิคมใหม่และลัทธิอาณานิคมภายในรัฐ โดยเฉพาะคนพื้นเมืองซึ่งประกอบด้วยคนจากโลกที่สี่ภายในดินแดนรัฐชาติของโลกที่หนึ่ง สอง และสาม  อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดโพสต์โคโลเนียลอาจทำให้ไขว่เขว่ต่อการพูดถึงการครอบครองดินแดนติมอร์ตะวันออกของชาวอินโดนีเซีย  ดินแดนไซปรัสโดยชาวตุรกี และเขตเวสต์แบงค์หรือปาเลสไตน์โดยชาวอิสราเอล

        ซาอีดโต้แย้งว่าถึงแม้จะมีลัทธิอาณานิคม ซึ่งหมายถึงการก่อตั้งเขตปกครองในดินแดนที่ห่างไกล แต่ลัทธินี้ก็จบลงไปแล้ว  ส่วนลัทธิจักรวรรดินิยม หมายถึงการที่รัฐๆหนึ่งควบคุมปกครอง และมีอำนาจเหนือรัฐอื่นๆทั้งในด้านการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ  ถึงแม้ลัทธิดังกล่าวนี้จะจบไปแล้ว แต่ผู้มีอำนาจชี้นำโลกก็ยังคงดำรงอยู่ในรูปแบบอื่นๆ แม้จะมิใช่การปกครองแบบอาณานิคมก็ตาม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Ahmad, A. 1997 ‘Postcolonial theory and the “Post-” Condition’, The Socialist Register, pp. 353-81.

David Levinson and Melvin Ember (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.988-992.

Dirlik, A. 1997. The Postcolonial aura: Third World criticism in the age of global capitalism. Boulder: Westview Press.

Gaurav Gajanan Desai, Supriya Nair (2005). Postcolonialisms: An Anthology of Cultural Theory and Criticism. Rutgers University Press.

Gilbert, Helen; Tompkins, Joanne (1996). Post-Colonial Drama: Theory, Practice, Politics. Routledge.

Quayson, Ato (2000). Postcolonialism: Theory, Practice, or Process?. Polity Press, Blackwell Publishers

Said, Edward (1978). "Orientalism". New York: Pantheon.

Said, E. 1989. ‘Representing the colonized: Anthropology’s interlocutors.’ Critical

Inquiry, 15: 205-25.

Said, E. 2002. Reflections on exile. Cambridge, Mass: Harvard University Press.

Scott, D. 1992. ‘Criticism and culture: Theory and post-colonial claims on anthropological disciplinarity.’ Critique of Anthropology, 12: 4, 371-94.

Young, R. 2001. Postcolonialism: An historical introduction. London: Blackwell.


หัวเรื่องอิสระ: หลังยุคอาณานิคมนิยม