คำศัพท์

Postmodernism

         คำว่า postmodernity  หมายถึงสภาพ หรือลักษณะของวิถีชีวิตในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20  สภาพการณ์เช่นนี้ประกอบไปด้วย การเคลื่อนย้ายถ่ายเทของประชากรโดยอาศัยการคมนาคม ระบบข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์  ภาพลักษณ์และความคิดที่ผ่านสื่อซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ติดต่อสัมพันธ์ข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น  ผู้คนจึงมีวิธีคิดต่อเวลาและสถานที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ท้องถิ่นกับความรู้จากโลกาภิวัตน์  สภาพการณ์แบบ postmodernity  จึงเป็นสภาวะตึงเครียดระหว่างความต่างกับความเหมือน ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการโลกาภิวัตน์

          Postmodernism ชี้ให้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ของ modernism  และ modernity พร้อมๆกับวิพากษ์วิจารณ์ช่วงเวลาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆในยุค modernity  ซึ่งความคิดแบบ Enlightenment ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมา   ความคิดแบบ Modernism มีความแนบแน่นกับยุค Enlightenment  และในเวลาเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดและการก้าวหน้า หรือสิ่งใหม่ๆที่ยังนำคุณค่าแบบเก่ามาใช้

          Modernism มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาชัยชนะต่ออดีต และนำมนุษยชาติไปสู่อิสระแบบอุดมคติ เป็นอิสระจากความงมงาย ความโง่เขลา และความไร้เหตุผล  เป้าหมายนี้จะประสบผลสำเร็จได้โดยการอ้างถึงระบบเหตุผลและตรรกะที่มนุษย์ทุกคนต้องมี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การก้าวกระโดดของการไปถึงจุดหมายสุดท้าย  มานุษยวิทยาที่ศึกษาภายใต้ระบบ Modernism ได้สถาปนาศาสตร์ที่ใช้ศึกษา “มนุษย์” ซึ่งได้อธิบายให้เห็นถึงวัฒนธรรมของ “คนป่า” หรือ primitive พร้อมๆกับชี้ว่าคนเหล่านั้นมีธรรมชาติเป็นอย่างไร (เมื่อเกิดคำว่า postmodernism ทำให้คำว่า “มนุษย์” “ป่าเถื่อน” และ “ธรรมชาติ” กลายเป็นคำที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากการมีคู่ตรงข้ามที่ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นความหมาย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นส่วนต่อเติมความหมาย  ในฝ่ายหลังจะเป็นเรื่องของทฤษฎีที่หยิบยืมคำมาจากภาษากรีกโรมัน)  มานุษยวิทยาดำเนินรอยตามความคิดนี้ด้วยความพยายามที่จะสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษยชาติ โดยการอธิบายตรรกะและความจริงของประวัติศาสตร์

          นักคิด Postmodernists ต่างสงสัยเกี่ยวกับความรู้สึกปรารถนาในแบบโมเดิร์น และสงสัยผู้ที่อ้างว่าจะเดินไปสู่ความปรารถนานั้น   นักคิดโพสต์มอเดิร์นเชื่อว่าคำอ้างที่บอกว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งโลก ได้กีดกันคนบางกลุ่มออกไป โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสและอยู่ชายขอบ  ความสามารถที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษยชาติเกิดขึ้นบนฐานอำนาจซึ่งอาจเป็น หรือไม่เป็นสิ่งสากล และมาจากข้อสงสัยที่เกิดจากสภาพโมเดิร์น ซึ่งนักคิดแนวโพสต์มอเดิร์นพยายามค้นหาสิ่งที่ขาดหายไปจากโมเดิร์น พร้อมๆกับตั้งคำถามต่อสมมุติฐานที่โมเดิร์นใช้เป็นฐาน  นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌอง ฟรังซัวส์ เลียวทาร์ด(1984) เคยกล่าวว่า postmodernism หมายถึงการไม่เชื่อในวาทกรรมกระแสหลัก หรือ metanarrative   คำว่า metanarrative หมายถึงทฤษฎีที่ถูกสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่และละเอียดอ่อนเพื่อสร้างความรู้  ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีต่างอ้างความสำคัญของตัวเองเพื่อที่จะสร้างความรู้และปลดปล่อยมนุษยชาติจากอดีต และอ้างว่าตัวเองเป็นทฤษฎีสากลสำหรับการค้นหาความจริงและการนำไปปฏิบัติ

          ตัวอย่างของวาทกรรมกระแสหลัก เห็นได้จากทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน, คาร์ล มาร์กซ์ ,ซิกมันด์ ฟรอยด์ และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์  ทฤษฎีเหล่านี้ล้วนอธิบายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ จิตวิญญาณ และความเป็นสากลของทุกสิ่งทุกอย่าง  วาทกรรมแต่ละเรื่องล้วนสร้างทฤษฎีและวิธีการเพื่อจะตรวจสอบสิ่งต่างๆ ด้วยท่าทีที่เชื่อว่ามนุษย์ต้องทำตามทฤษฎีนี้เพื่อจะได้พบกับความจริงและความรู้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ตัวอย่างความคิดของนักคิดแนวโมเดิร์นที่ปรากฎในวิชามานุษยวิทยา เห็นได้จากการศึกษาของเซอร์เจมส์ เฟรเซอร์,   ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน,  เอ อาร์ เรดคลิฟฟ์-บราวน์, โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้, คล้อด เลวี่-สเตราสส์ และนักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาระบบเครือญาติ  หน้าที่นิยม และโครงสร้างนิยม

          นักคิด Postmodernists ท้าทายและตั้งคำถามต่อทฤษฎีที่อ้างว่าได้สร้างความรู้ที่เป็นธรรมชาติ มีอยู่จริงและเป็นสากล สิ่งที่ Postmodernism ทำคือชี้ให้เห็นโครงสร้างของวิธีคิดของการแสวงหาความจริง หรือการเข้าถึงความจริงต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ ทฤษฎีเหล่านี้มิได้ถูกทำลายแต่มันจะถูกลดอำนาจและคุณค่า ถูกรื้อความมั่นใจต่อการสร้างความรู้ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นข้อจำกัดและอคติของการใช้ทฤษฎีต่างๆ  โพสต์มอเดิร์น นำวิธีการรื้อทำลายและท้าทายดังกล่าวมาจากความคิดของ นักปรัชญาเยอรมัน เช่น โจฮันน์ ก็อตต์ไฟรด์ ฟอน เฮอร์เดอร์, อาร์เธอร์ โชเพนฮาวเออร์ และวิลเฮล์ม ดิวธี เพื่อที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบเหตุผล  ทัศนะเกี่ยวกับวัฒนธรรมในฐานะเป็นกระบวนการ และวิธีการทำความเข้าใจโลกในฐานะเป็นการสร้างตัวตนมนุษย์

          ความแตกต่างระหว่าง modernism และ postmodernism อาจดูได้จากความสัมพันธ์ที่แนวคิดเหล่านี้มีต่อ “ความจริง”  สำหรับพวกโมเดิร์นเชื่อว่าความจริงมีอยู่หนึ่งเดียว เป็นสากล และไม่มีสิ่งใดมาทำลายได้ นักวิชาการที่เชื่อในแนวคิดนี้จะต้องแสวงหาวิธีการที่จะได้ความจริงมาให้ได้ เมื่อได้ความจริงมาแล้วก็ต้องแสดงให้คนอื่นเห็น  ส่วนโพสต์มอเดิร์น เชื่อว่าความจริงเกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างคำอธิบายต่างๆ ความจริงเป็นเรื่องของการตีความของแต่ละคน  ซึ่งคนแต่ละคนจะมีทัศนะที่ต่างกันตามบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  ความจริงแบบโมเดิร์นที่มีลักษณะเป็นเอกภาพและไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาถูกเปลี่ยนใหม่โดยโพสต์มอเดิร์น ทำให้ความจริงมีหลาบแบบ

          วรรณกรรมและความคิดปรัชญาแนวโพสต์โมเดิร์น มีส่วนเกี่ยวข้องกันในเรื่องการสะท้อนตัวตนและการรื้อโครงสร้างของความรู้และเรื่องแต่ง  การสะท้อนตัวตนนำไปสู่จิตสำนึกของกระบวนการสร้างความรู้ เช่นเดียวกับนำไปสู่จิตสำนึกของการมีจิตสำนึกดังกล่าว  การตระหนักถึงสิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้ที่ว่าตัวตนที่มีอยู่ในการสะท้อนตัวตนคือวาทกรรมที่มีหลากหลาย ตัวตนจึงไม่มีเอกภาพและไม่เป็นแก่นแท้  การตรวจสอบตัวตนทำให้เกิดคำถามในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ  อิทธิพลของการตรวจสอบตัวตนทำให้เกิดการทบทวนการทำงานภาคสนาม เป็นการเปลี่ยนทัศนะและวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยา  ดังนั้น คำถามของนักคิดโพสต์โมเดิร์นต่อข้อสงสัยเรื่องความจริงสากล ก็เพื่อจะบอกว่าความจริงเหล่านั้นมีปัญหาและไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ

          สำหรับนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ข้อคิดของโพสต์โมเดิร์นถูกนำไปใช้เพื่อแก้ไขวิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจว่าข้อมูลถูกตีความอย่างไร และข้อเขียนถูกสร้างมาจากข้อมูลได้อย่างไร การล่วงรู้ถึงข้อจำกัดในระบบ แนวคิดทฤษฎี การปฏิบัติ และการนำเสนอ เกิดมาจากโครงสร้างของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งทำให้รู้ว่าในทางกลับกันประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้นก็เกิดมาจากโครงสร้างเดียวกัน สิ่งที่ถูกสร้างจึงเป็นทั้งสิ่งเกื้อกูลและกีดขวางในเวลาเดียวกัน  การล่วงรู้อย่างทะลุทะลวงเช่นนี้ ทำให้ต้องกลับไปทำความเข้าใจเรื่องการสร้างและการได้ความรู้มาซึ่งเริ่มจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

          ก่อนที่จะมี postmodernity นักมานุษยวิทยาเข้าใจว่าเทคนิคการวิจัยต้องปราศจากอคติ ถึงแม้ว่ากระบวนการทำงานวิจัยจะหนีไม่พ้นความคิดส่วนบุคคลก็ตาม  แต่เมื่อเกิดโพสมอเดิร์น ทั้งเทคนิคและประเด็นการวิจัยจะถูกมองว่าเต็มไปด้วยอคติทั้งสิ้น  ผลผลิตจากการวิจัย เช่น ข้อเขียน หรืองานเขียนทางชาติพันธุ์ คือรูปแบบหนึ่งของการเขียน มิใช่การเสนอความจริงในตัวมันเอง  งานเขียนจึงเป็นผลผลิตจากความรู้ภายใต้สถาบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ ความคิด การเมืองและวัฒนธรรม  นอกจากนั้นสถานการณ์ต่างๆที่ผันแปรไปก็ส่งผลให้ข้อเขียนผันแปรตาม กล่าวคือข้อเขียนมีข้อจำกัดในการนำเสนอความจริงเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่ถูกเขียนขึ้น

          ในวงการมานุษยวิทยาวัฒนธรรม โพสต์มอเดิร์นถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นวิธีการตรวจสอบการทำงานของนักมานุษยวิทยา ในเวลาเดียวกันก็เป็นการขยายพื้นที่ของการแสวงหาความจริงให้กว้างขึ้น  นักคิดโพสต์มอเดิร์นตั้งข้อสันนิษฐานต่อประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา ซึ่งทำให้เห็นการแสวงหาความจริงในทางมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนักมานุษยวิทยายังคงใช้ข้อมูลจากเอกสาร จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มทำงานภาคสนาม  นักคิดโพสต์มอเดิร์นพบว่านักมานุษยวิทยาเขียนงานจากห้องสมุด ในเต้นท์ ในพื้นที่ ในที่พักอาศัยของมิชชันนารีและเจ้าอาณานิคม ในพิพิธภัณฑ์ และในภาควิชามานุษยวิทยา ซึ่งการทำงานของนักมานุษยวิทยาในที่ต่างๆไม่มีใครดีกว่ากัน  การวิจารณ์ตัวตนแบบโพสต์มอเดิร์นได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะทบทวนประวัติศาสตร์ที่อยู่ใต้การควบคุมของตะวันตก นักวิชาการหลายคนคิดว่าการวิจารณ์แบบนี้เป็นการบ่อนทำลาย และสั่นคลอนเสถียรภาพของสถาบันวิชาการในมหาวิทยาลัย ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าการวิจารณ์จะช่วยให้วิชาการเข้มแข็งขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          การศึกษาแบบโพสต์มอเดิร์น มองว่าภาษาศาสตร์มีข้อจำกัดในการอธิบายวัฒนธรรม เนื่องจากมีสมมุติฐานเกี่ยวกับภาษาและการจัดประเภทภาษาสำหรับการอธิบายโลก ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะมีความลำเอียงและอคติ    โพสต์มอเดิร์นมองว่าภาษาเป็นเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาวัฒนธรรม และในเวลาเดียวกันภาษาก็เป็นสิ่งที่ถูกศึกษาด้วย   ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้กับทุกศาสตร์ ในฐานะเป็น “วิกฤตของภาษา” ซึ่งกำลังสำแดงตัวด้วยกระแสการวิจารณ์ตัวเอง   ปัญหาที่เกิดจากภาษา การใช้สำนวน และการอธิบายล้วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่โพสต์มอเดิร์นสนใจ

          มานุษยวิทยาเชิงตีความ ได้รับความนิยมมากในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970  ทำให้วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆกลายเป็นของเหมือนกัน การศึกษามานุษยวิทยาเชิงตีความจะมุ่งตีความเนื้อหาในข้อเขียนโดยอาศัยแนวคิดแบบเลวี่สเตราสส์เป็นแนวทาง  วิธีการศึกษาแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด hermeneutics แต่มีกลิ่นอายแบบวรรณกรรมวิเคราะห์ การศึกษาแนวนี้มีสมมุติฐานว่าความหมายในเรื่องแต่งจะซ่อนอยู่ในเรื่องนั้น  การวิเคราะห์แบบวรรณกรรมถูกนำมาใช้เพื่อค้นหาความหมายนี้  แต่ปัญหาอคติของผู้ตีความยังคงมีอยู่เนื่องจากใช้ความคิดแบบโมเดิร์น ปัญหานี้ทำให้มานุษยวิทยาหันเหตัวเองมาสู่มนุษยศาสตร์เพื่อที่จะค้นหากระบวนทัศน์ในการศึกษาวัฒนธรรม

          ความคิดแบบวรรณกรรมและปรัชญาบีบบังคับให้นักมานุษยวิทยาต้องค้นหาตัวเองใหม่ภายใต้กรอบความคิดที่กว้างขึ้น และเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกับศาสตร์อื่นๆที่สนใจภาษา วาทกรรม และสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตของการสร้างคำอธิบาย”  การค้นหาตัวเองของมานุษยวิทยาเกิดขึ้นเมื่อทฤษฎีสตรีนิยมเริ่มมีบทบาทในการทบทวนงานวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ  มานุษยวิทยาพบประโยชน์จากสตรีนิยมซึ่งนำแนวคิดวรรณกรรมมาวิเคราะห์ รวมทั้งแนวคิดเรื่องการรื้อสร้าง หลังโครงสร้าง และการตอบสนองจากผู้รับสาร  นอกจากนั้นมานุษยวิทยายังสนใจการใช้คำสำนวนในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์แนวใหม่ที่ท้าทายจารีตนิยมทางมานุษยวิทยา    ในแวดวงมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  วิกฤตของการอธิบายกลายเป็นสิ่งที่เห็นได้ในการเขียนงานทางมานุษยวิทยา  สิ่งที่เคยเป็นวิธีการสื่อสารประสบการณ์วัฒนธรรมค่อยๆกลายเป็นของล้าสมัยและมีข้อจำกัดในการอธิบายเนื่องจากวิธีการเก่าๆไม่มีการตรวจสอบตัวเอง  เมื่อการตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สำนวนภาษาหรือรูปแบบการเขียน กับเนื้อหาของเรื่องมีความสำคัญมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การทดลองเพื่อเขียนงานทางมานุษยวิทยาด้วยวิธีใหม่ๆ 

          จากจุดยืนของโพสต์มอเดิร์น ทำให้รู้ว่างานเขียนมานุษยวิทยาในยุคหลังมีความระมัดระวังในการใช้ภาษา มีการตรวจสอบตัวเองทั้งในด้านการเขียนงานวิจัยและกระบวนการทำงาน มีการทบทวนเนื้อหา บริบทที่แวดล้อมสถานการณ์ต่างๆเพื่อที่จะอธิบายเรื่องราวของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม  นักมานุษยวิทยาที่ใช้โพสต์มอเดิร์น ได้แก่ เจมส์ คลิฟฟอร์ด, วินเซนต์ คราแพนซาโน, ไมเคิล ฟิสเชอร์, จอร์จ มาร์คัส, พอล ราบินาว, แมรี หลุยส์ แพร็ตต์, มารีลีนส์ สแตรทเทิร์น, ไมเคิล ทุสซิก, และ สตีเฟ่น ไทเลอร์  โพสต์มอเดิร์นเปิดประตูให้มานุษยวิทยาได้พบกับข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสอบสวนทางปัญญาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และยังทำให้มานุษยวิทยามีเครื่องมือใหม่ๆในการทำงาน 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Ashley, David. 1991. "Introduction: Postmodernism and the Social Science." The Social Science Journal 28 (3): 279-287.

Connor, Steven. 1989. Postmodern Culture: An Introduction to Theories of the Contemporary. New York: Basil Blackwell.

Coombie, Rosemary J. 1991. "Encountering the postmodern: new directions in cultural anthropology." The Canadian Review of Sociology and Anthropology 28 (2): 188-205.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. . Pp.993-998.

Katy Garder and David Lewis (1996). Anthropology, Development and the Post-Modernist Challenge. London, UK: Pluto Press.

Lyotard, Jean Francois. 1984. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge, trans. Geoff Bennington and Brian Massouri. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Mascia-Lees, Frances and Patricia Sharpe, and Colleen Ballerino Cohen. 1989. "The

Postmodern Turn in Anthropology: Cautions from a Feminist Perspective." Signs: Journal of Women in Culture and Society 15 (1): 7-33.

Murphy, John, W. 1989. Postmodern Social Analysis and Criticism. New York: Greenwood Press.

Rosenau, Pauline Marie. 1992. Post-Modernism and the Social Sciences. Princeton: Princeton University Press.

Spiro, Melford E. (October 1996). "Postmodernist Anthropology, Subjectivity, and Science: A Modernist Critique" Comparative Studies in Society and History 38 (4): 759–780.

Wolf, M. (1992). A Thrice Told Tale: Feminism, Postmodernism & Ethnographic Responsibility. Stanford: Stanford University Press


หัวเรื่องอิสระ: หลังสมัยใหม่นิยม