Poverty
คำอธิบายเกี่ยวกับความยากจนมีสองด้าน ด้านหนึ่งมาจากนักวิชาการที่เชื่อว่าความยากจนมีจริง มีการอธิบายว่าความยากจนคือสภาพเชิงโครงสร้างซึ่งคนจนมิใช่ผู้ที่สร้างขึ้นเอง ดังนั้นคนจนจึงไม่ควรถูกตำหนิ อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าความยากจนเกิดขึ้นมาจากคนจนเอง เพราะคนจนมีพฤติกรรมแปลกแยก หรือมีความบกพร่อง ข้อโต้แย้งของแต่ละฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำไปสร้างนโยบายสาธารณะ กล่าวคือ พวกที่เชื่อว่าความจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจะส่งเสริมให้มีนโยบายการพัฒนาที่ช่วยคนจน ส่วนพวกที่เชื่อว่าความจนมาจากคนจน จะกล่าวโทษคนจน
การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับมนุษย์ที่เป็น “คนอื่น” ทำให้นักมานุษยวิทยามองข้ามเรื่องความยากจน ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นทฤษฎีที่มีปัญหาเนื่องจากมีความลำเอียงและแบ่งแยกคนเป็นช่วงชั้น ในช่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าหลายคนจึงหยิบเรื่องวัฒนธรรมขึ้นมาอธิบาย แนวคิดแต่ละเรื่องจะเน้นให้เห็นว่ามนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมมีค่าในตัวเอง เช่น แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์คือผู้ที่สร้างสัญลักษณ์ และมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมย่อมจะเข้าใจความหมายดีกว่าคนอื่น คนอื่นจึงไม่สามารถตัดสินวัฒนธรรมได้ แนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาหลุดออกจากโซ่ตรวนเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องความยากจนและทฤษฎีวิวัฒนาการ ในความเป็นจริง นักมานุษยวิทยาให้ความเคารพมนุษย์ในสังคมอื่นๆและมีวิธีศึกษาในแบบของตัวเอง นักมานุษยวิทยาจึงโต้แย้งกับทฤษฎีวิวัฒนาการและเศรษฐศาสตร์การเมือง
สิ่งที่เป็นฉนวนที่ทำให้เกิดความยากจน ได้แก่ลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคม การแบ่งชนชั้น และอำนาจ นอกจากนั้นยังความจนยังเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางวัฒนธรรม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกอธิบายด้วยแนวคิดของโบแอส ซึ่งอาลัยอาวรณ์กับการสิ้นสลายของวิถีชีวิตพื้นบ้าน ในสายมานุษยวิทยาอังกฤษ นักมานุษยวิทยามักจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่ถูกส่งไปยังดินแดนอาณานิคมต่างๆ จึงทำให้ไม่มีการถามถึงปัญหาของอาณานิคม ผลร้ายก็คือ วัฒนธรรมพื้นบ้านจะสูญหายไปโดยไม่มีการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ถึงแม้ว่าจะมีนักมานุษยวิทยาบางคนจะเก็บข้อมูลในกลุ่มคนจนที่อยู่ในเมืองใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930-1950 การศึกษาเหล่านี้มุ่งที่จะอธิบายลักษณะทางชาติพันธุ์ของคนจน เนื่องจากกลุ่มคนที่อ่านหนังสือไม่ออกค่อยๆมีน้อยลง นักมานุษยวิทยาจึงหันมาศึกษาสังคมชาวนาในประเทศกำลังพัฒนา เพราะชาวนาจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ต่างไปจากการเป็นพลเมืองของรัฐ การศึกษาแนวนี้จึงมุ่งไปที่สังคมชนพื้นเมืองในเขตที่สูงของลาตินอเมริกา มีการอธิบายว่าชาวนาเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากชาวอินคา ชาวมายา และชาวแอซเท็ก หลังจากที่ชนพื้นเมืองต้องอยู่ใต้อำนาจของชาวสเปน ชนพื้นเมืองเหล่านี้คือคนจนในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา เปรู เอกวาดอร์ และโบลิเวีย งานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่สนใจการอนุรักษ์ชีวิตชาวบ้าน มักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องความยากจน ยกเว้นนักพัฒนา
ในวิชามานุษยวิทยา ความยากจนกลายเป็นประเด็นวิจัยในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น และมีการพูดถึงความยากจนในประเทศโลกที่สาม ส่วนประกอบสำคัญของการต่อสู้ในช่วงสงครามเย็นก็คือลัทธิทุนนิยมซึ่งเชื่อว่าสามารถช่วยเหลือและแก้ไขความจนของประชาชนในโลกที่สามได้ นโยบายต่างประเทศของตะวันตกไม่อาจนำเรื่องความจนมาอ้างได้เมื่อหลายๆประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์หรือปกครองแบบสังคมนิยม ประเทศสังคมนิยมแสดงให้เห็นถึงปัญหาของคนจนที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ดังนั้น ประเทศโลกที่สามจึงเร่งพัฒนาตัวเองภายใต้การครอบงำของสหรัฐ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ จึงให้ทุนทางด้านการแพทย์และสังคมศาสตร์เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับความยาจนของโลกที่สาม
สถานการร์ดังกล่าวสร้างโอกาสการวิจัยให้กับนักมานุษยวิทยาในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาซึ่งพบกับปัญหาการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม เพราะชาวนาอพยพเข้าไปทำงานในเมือง เมืองใหญ่ๆในลาตินอเมริกาต่างขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และยังคงขยายตัวต่อมา คนที่อาศัยในเมืองจึงเป็นคนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น คนผิวดำจะพบในเมืองใหญ่ๆของบราซิล ส่วนเมืองที่อยู่ในที่สูงของเม็กซโก หรือเทือกเขาแอนดีส จะเป็นคนที่มีเชื้อสายพื้นเมืองอินเดียน เช่นเมืองเม็กซิโกซิตี้ ประชากรในเตเมืองกลุ่มใหม่นี้เป็นกลุ่มคนที่นักมานุษยวิทยาสนใจที่จะศึกษา อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้นโยบายต่างประเทศที่ล่อแหลมต่อนักมานุษยวิทยา ทฤษฎีความทันสมัยทำให้ความเป็น “คนอื่น” ของชาวบ้านลดน้อยลง ชาวบ้านจะถูกมองเป็นแค่ปัญหาเชิงเศรษฐกิจและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งเป็นศัตรูต่อแนวคิด cultural relativism ที่เห็นคุณค่าวัฒนธรรมในบุคคล ปัญหาที่ถูกยกมา คือ อะไรคือหน้าที่ของวัฒนธรรม และเกี่ยวข้องกับอำนาจการพัฒนาระดับโลกอย่างไร เพราะอำนาจนั้นทำให้คนทั้งหมดกลายเป็นคนจนเหมือนกัน
การศึกษาแบ่งออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการศึกษาเชิงชาติพันธุ์และมุ่งที่จะเปิดเผยใหเเห็นสภาพชีวิตมนุษย์ที่อาศัยในเขตเมือง การศึกษาแนวนี้ต้องการโต้แย้งกับอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็น เช่นการศึกษาของแอนดรูว์ เพียร์ซ(1958) ซึ่งชี้ให้เห็นชีวิตคนเมืองชาวลาตินที่มาอาศัยในอเมริกา ซึ่งมักจะตกงานและถูกปฏิเสธจากการบริการของรัฐ คนเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ และเศรษฐกิจนอกระบบ ใช้ความเป็นญาติพี่น้องช่วยเหลือกัน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในสลัมแล้ว คนลาตินจะไม่มีปัญหาอาชญากรรม และไม่ต้องการเป็นคอมมิวนิสต์ การศึกษาแนวที่สอง เช่นการศึกษาของออสการ์ ลิวอิส(1966) เป็นผู้นำแนวคิดเรื่องระบบกลไกมาอธิบาย แนวคิดนี้เกิดจากงานวิจัยส่วนตัวของลิวอิสซึ่งต้องการขยายความเข้าใจเรื่องความยากจน ลิวอิสเชื่อว่าความยากจนเป็นสิ่งสากลซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่อต้านสังคมทุกชนิด พฤติกรรมเหล่านี้สามารถขจัดหมดไปได้โดยการที่รัฐเข้าไปส่งเสริมให้คนจนมีอำนาจ การศึกษาสองแนวนี้ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1970
การศึกษามานุษยวิทยาร่วมสมัยเป็นการศึกษาที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างของคนจนที่อยู่ในโลก ซึ่งกำลังตกอยู่ใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเดียวกัน การศึกษาแบบเดิมที่อธิบายความสันโดษของชาวบ้านในที่ห่างไกลกำลังหมดไป ความสนใจของมานุษยวิทยาต่อ “คนอื่น” จึงถูกท้าทายด้วยพลังทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระบบโลก ผลกระทบจากระบบนี้ทำให้คนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน คือการทำให้คนกลายเป็นคนจน สำหรับมานุษยวิทยาในอนาคต สิ่งที่ท้าทายคือการทำวิจัยที่ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจหลักของมานุษยวิทยา การทำให้โลกเหมือนกันยังก่อให้เกิดการเดินทางของผู้คนซึ่งตัดขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม และยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพวกเราและพวกเขา
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Abram, Simone and Jacqueline Waldren (eds.), 1998. Anthropological Perspectives
on Local Development: Knowledge and Sentiments in Conflict. London: Routledge.
David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996.pp.998-1003.
Goode, Judith and Edwin Eames (1996). "An Anthropological Critique of the Culture of Poverty". In G. Gmelch and W. Zenner. Urban Life. Waveland Press.
Kristine Frerer & Catherine M. 2007. An Anthropological View of Poverty. Journal of Human Behavior in the Social Environment Volume 16, Issue 1-2, 73-86.
Lewis, Oscar (1969). "Culture of Poverty". In Moynihan, Daniel P. On Understanding Poverty: Perspectives from the Social Sciences. New York: Basic Books. pp. 187–220.
หัวเรื่องอิสระ: ความยากจน