Practicing Anthropology
การศึกษามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติมีส่วนคล้ายและต่างกับมานุษยวิทยาประยุกต์ กล่าวคือ มานุษยวิทยาประยุกต์จะให้ความสนใจกับการสร้างความรู้เพื่อที่จะนำไปใช้ ส่วนมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างความรู้ ความชำนาญ และการใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาในการทำงาน อาจกล่าวได้ว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติมีแนวทางของตัวเองต่างไปจากมานุษยวิทยาทั่วไป ทั้งในแง่บทบาทและแนวคิดทฤษฎีซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานจริง
องค์ประกอบสองอย่างที่ทำให้เกิดการเติบโตของมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 องค์ประกอบแรกคือ การตระหนักว่านักมานุษยวิทยาสามารถทำงานด้านต่างๆได้ดี มากกว่าจะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ การนำความรู้ทางมานุษยวิทยามาใช้ปฏิบัติเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับนักมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ ซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไปยังคนอื่นๆ และช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ จอห์น บุชแนลล์(1976) อธิบายว่าการทำงานของนักมานุษยวิทยาอาจเหมือนกับนักจิตวิทยาหรือแพทย์ที่ทำงานด้านสาธารณสุข บุชเนลล์ร่วมมือกับโคแครนในการชี้แนวทางใหม่ในการฝึกฝนนักมานุษยวิทยาให้เป็นผู้ทำงานได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการเรียนแบบเดิมๆ
องค์ประกอบที่สอง คือการไม่มีงานทำของนักมานุษยวิทยา ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 มีปรากฎการณ์ที่บ่งชี้ว่ามานุษยวิทยาผลิตนักษึกษาปริญญาเอกมากกว่าตำแหน่งงานวิชาการจะรองรับได้ เบล่า ซี มาเดย์(1975) ชี้ว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางมานุษยวิทยา เพราะนักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จะทำงานวิชาการหรือในพิพิธภัณฑ์ ถึงเวลาต้องเปลี่ยนไปเป็นการทำงานนอกสายวิชาการ ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาบางคนคิดว่าสถานการณ์นี้อาจไม่ใช่ปัญหา การฝึกนักมานุษยวิทยาให้ทำงานนอกสายวิชาการอาจเป็นเรื่องเฉพาะ และการไม่มีงานทำของนักมานุษยวิทยาอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น เอิร์ฟ แชมเบอร์(1987) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงอาชีพของนักมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1970 นั้นไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานในสถาบันการศึกษา แต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของนักศึกษาที่ต้องการเรียนวิชามานุษยวิทยามากขึ้น เพราะเห็นว่าวิชานี้มีความเป็นวิชาการและมีความเป็นกลาง
คำว่า “นักมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ” เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของหนังสือชื่อ Practicing Anthropology ของสมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ เมื่อเริ่มต้นใหม่ๆ คำว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติจะใช้เรียกบุคคลที่ทำงานนอกสายวิชาการ ซึ่งเดิมเคยเรียกว่า “นักมานุษยวิทยาที่มิใช่วิชาการ” (nonacademic anthropologist) ถึงแม้ว่าคำนี้ยังมีผู้ใช้ทั่วไป แต่ก็มีความไม่ลงรอยกับแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของนักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นสาขาย่อย สาขามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ทั้งหลายที่พยายามสร้างวิชาชีพของตัวเองขึ้นมาซึ่งมิใช่อาชีพเชิงวิชาการ แต่ผู้ที่สนับสนุนการเกิดขึ้นของมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติส่วนใหญ่จะมาจากนักมานุษยวิทยาในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ซึ่งต้องการให้นักศึกษามานุษยวิทยาทำงานในวิชาชีพอื่นๆ
โรเบิร์ต เอช ฮินชอว์(1980) อธิบายว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติเป็นเรื่องการการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ฮินชอว์ชี้ให้เห็นว่าลักษณะการทำงานร่วมกับคนอื่นๆของนักมานุษยวิทยาทำให้หน่วยงานที่ใช้นักมานุษยวิทยาทำงานมีลักษณะพิเศษ แต่ก็มีบางเรื่องที่หน่วยงานต่างๆยังเข้าไม่ถึง เช่นการเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เชอร์ลีย์ ฟิสก์(1992) อธิบายว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติพยายามทำให้ทฤษฎีและการปฏิบัติมีความสำคัญเท่าเทียมกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์จากมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติก็คือ ทำให้นักมานุษยวิทยาทดสอบทฤษฎีที่ตนเองคิดขึ้นมา แต่นิยามของฟิสก์มิได้แยกความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยาประยุกต์กับมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ
แชมเบอร์(1985) อธิบายว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติเปรียบเสมือนส่วนย่อยๆของมานุษยวิทยาประยุกต์ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มานุษยวิทยาเกิดประโยชน์ในการทำงาน ในขณะที่มานุษยวิทยาประยุกต์จะวางอยู่บนงานวิจัยเพื่อที่จะนำไปใช้งาน แต่มานุษยวิทยาแนวปฏิบัติจะวางอยู่บนพื้นฐานการลงมือทำจริง แชมเบอร์กล่าวว่ามานุษยวิทยาแนวปฏิบัติมี 3 รูปแบบ คือ หนึ่งการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ สอง การนำความรู้ไปใช้งาน และ สามการตัดสินใจ แชมเบอร์อธิบายว่าทั้งมานุษยวิทยาประยุกต์และปฏิบัติต้องการแนวคิดทฤษฎี เพื่อที่จะทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ได้จริง
ในปี ค.ศ.1941 สมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์พยายามที่จะอธิบายความหมายของมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ มีหลายประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาในบทความต่างๆ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 สมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ก็เริ่มสนใจในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ส่วนมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติจะเป็นการทำงานนอกสายวิชาการอย่างชัดเจนในปี ค.ศ.1968 โดยเกิดขึ้นในองค์กรท้องถิ่นทั้งหลาย ในปี ค.ศ.1984 สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันเริ่มหันมาสนใจการปฏิบัติมากขึ้น ในขณะเดียวกันสมาคมนักมานุษยวิทยาแนวปฏบิบัติก็เริ่มสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมต่อประเด็นที่สนใจระหว่างนักมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติกับนักมานุษยวิทยาสายหลัก
มานุษยวิทยาปฏิบัติจะให้ความสนใจกับการกระทำหรือการใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยา ซึ่งอาจต้องการกลวิธีต่างๆในการปฏิบัติ มานุษยวิทยาแนวปฏิบัติมีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้
1 มานุษยวิทยาแนวปฏิบัติไม่จำเป็นต้องนำความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยมาใช้งาน ความรู้อาจจะมาจากอะไรก็ได้แต่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน เช่นความรู้จากคนยากจน ในขณะที่ความรู้จากนักวิชาการอาจจะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์หรือการปฏิบัติ การกระทำต่างๆของมนุษย์จึงมีทั้งด้านที่เป็นอารมณ์และเหตุผลซึ่งทำให้เกิดความรู้ที่หลากลหาย การปฏิบัติที่เป็นไปได้จะเกิดจากความเข้าใจที่หลากหลาย
2 การให้ความสำคัญในเรื่องที่ต่างกันอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่นมุมมองของนักวิชาการกับมุมมองของนักพัฒนา การปฏิบัติที่เป็นไปได้จะเกิดจากการให้ความสำคัญในเรื่องที่สอดคล้องกับการทำงาน
3 มานุษยวิทยาแนวปฏิบัติต้องการฝึกให้นักมานุษยวิทยาทำงานด้านบริหารและตัดสินใจ มานุษยวิทยาในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับการตัดสินใจจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อที่จะนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติได้ แต่บทบาทดังกล่าวนี้ยังคลุมเคลือ เพราะหน่วยงานต่างๆยังคงใช้นักมานุษยวิทยาสายวิชาการอย่างเต็มตัว และนักมานุษยวิทยาเหล่านั้นก็เป็นนักบริหาร เช่นนักโบราณคดีที่ทำงานอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานต่างๆ ส่วนนักมานุษยวิทยาสายวัฒนธรรมยังมีความคลุมเคลือในบทบาท นอกเหนือจากเป็นผู้เก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์
4 การปฏิบัติจะเกิดผลก็ต่อเมื่อมีการลงมือทำ ในอดีต นักมานุษยวิทยาต่างทำงานร่วมกับนักวิชาชีพอื่นๆหรือร่วมมือกับชาวบ้าน สำหรับนักมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติต้องทำงานร่วมกับคนอื่นด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์และน่าเชื่อถือมากขึ้น การทำงานแบบใหม่ของนักมานุษยวิทยาแนวปฏิบัติอาจทำให้เนื้อหาทางมานุษยวิทยาต่างไปจากเดิม เช่น วิธีการพูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจโดยไม่ใช้ภาษาวิชาการ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Brondo, Keri Vacanti. 2010 Practicing Anthropology in a Time of Crisis: 2009 Year in
Review. American Anthropologist 112(2):208–218.
Checker, Melissa 2009 Anthropology in the Public Sphere, 2008: Emerging Trends and Significant Impacts. American Anthropologist 111(2):162–169.
David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996.pp.1009-1013.
Paul R. Mullins. 2011. Practicing Anthropology and the Politics of Engagement: 2010 Year in Review. American Anthropologist, Vol. 113, No. 2, pp. 235–245.
Schuller, Mark 2010 From Activist to Applied Anthropologist to Anthropologist? On the Politics of Collaboration. Practicing Anthropology 32(1):43–47.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาแนวปฏิบัติ