Pregnancy
การตั้งครรภ์ ประกอบด้วยมิติต่างๆ ทั้งสังคมวัฒนธรรม จิตวิทยา สรีระ และจิตวิญญาณ เนื่องจากสังคมคาดหวังว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์คือผู้สืบทอดอนาคต การตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญทางสังคมมาก ทุกๆวัฒนธรรมต่างมีการควบคุมและดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าการตั้งครรภ์จะมิใช่เรื่องแปลก แต่ทุกสังคมก็มีวิธีจัดการเฉพาะอย่างแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมโพลิเนเซียน เมื่อคนในครอบครัวตั้งครรภ์ ทุกๆคนจะรู้สึกปราบปลื้ม สตรีที่ตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลเอาใจใส่จนกว่าจะถึงเวลาคลอด และมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ ทุกๆคนจะให้เกียรติหญิงมีครรภ์ ผู้หญิงวัยกลางคนจะเข้ามาดูแลและนวดให้พวกเธอ ตรงข้ามกับวัฒนธรรมวิคตอเรียในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งสตรีชั้นสูงจะถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ในบ้านตลอดระยะเวลาที่เธอตั้งครรภ์ เนื่องจากสังคมวิคตอเรียเชื่อว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องน่าอาย เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการมีกิจกรรมทางเพศ ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงต้องหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่อาจออกมาสู่สังคมได้
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีต่อความเชื่อเรื่องการตั้งครรภ์ พิจารณาได้จากแนวคิดเรื่องสาเหตุของการตั้งครรภ์ ซึ่งนำไปสู่การแสดงออกเชิงความหมายและคุณค่าทางสังคม ตัวอย่างเช่น ในเขต Basque ในประเทศฝรั่งเศส คนเลี้ยงแกะเชื่อว่าน้ำเชื้อของผู้ชายทำให้เลือดของผู้หญิงก่อตัวเป็นเด็กทารก คล้ายกับนมแช่แข็ง การตั้งครรภ์จึงเปรียบเสมือนการทำเนยแข็ง ชาวเผ่าฮัวในนิวกินี เชื่อว่าการตั้งครรภ์เกิดจากการผสมน้ำเชื้อของผู้ชายกับประจำเดือนของผู้หญิง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้จึงต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ชาวเกาะทรอเบียนในนิวกินี เชื่อว่าเมื่อวิญยาณของคนตายเข้าไปอยู่ในครรภ์ของผู้หญิงและผสมกับประจำเดือน ผู้หญิงคนนั้นก็จะตั้งครรภ์ ในสังคมทรอเบียนเป็นสังคมที่นับถือญาติข้างแม่ การสืบตระกูลจะเกิดขึ้นจากแม่ไปถึงลูกสาว
ในหลายๆสังคม บทบาทของผู้หญิงอาจไม่สำคัญ ในสังคมมาเลย์เชื่อว่าเด็กทารกเกิดมาจากสมองของผู้ชายที่เป็นพ่อ โดยสมองจะร่วงลงสู่อก ทำให้มีอารมณ์ความรู้สึก และจะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ผู้หญิง และเติบโตเหมือนเมล็ดพืชอยู่ในครรภ์ ผู้ชายจึงมีบทบาทในการตั้งครรภ์ ผู้ชายเปรียบเสมือนผู้สร้างเมล็ด ผู้หญิงเหมือนดินที่ทำให้เมล็ดงอกงาม เป็นความเชื่อที่พบในสังคมที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว และผุ้ใหญ่จะเป็นใหญ่ตามคติของอับบราฮัม แนวคิดนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมในสังคมตะวันตก และบางส่วนในสังคมตะวันออก สังคมที่นับญาติข้างพ่อบางแห่งจะยกย่องผู้ชายมาก เช่น สังคมอิสลาม เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ ผู้หญิงถูกควบคุมทางเพศ ผู้หญิงจะต้องสวมผ้าคลุมหน้าและแยกตัวอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เพราะเชื่อว่าต้องดูแลทายาทที่จะเกิดมาให้ปลอดภัย
เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น การทดสอบการตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ผู้หญิงควบคุมได้ด้วยตัวเอง และรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในครรภ์ของเธอบ้าง เมื่อมีการทำให้รู้สึกว่าทารกกำลังดิ้นอยู่ในครรภ์ ผู้หญิงอาจล้มเลิกความเชื่อที่ว่าประจำเดือนคือสาเหตุของการตั้งครรภ์ ในวัฒนธรรมที่เรื่องสุขภาพถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องของของเหลวในร่างกายที่ไหลเวียนอย่างอิสระ เช่นในสังคมโคลัมเบีย จาไมก้า และเขตชนบทของกรีซ เมื่อสุขภาพทรุดโทรม จึงมีสาเหตุจากการที่ของเหลวไม่อาจไหลเวียนได้ตามปกติ ผู้หญิงจึงต้องใช้สมุนไพร หรือตัวยาอื่นๆ เพื่อให้ประจำเดือนไหลตามปกติ และเพื่อบำรุงสุขภาพด้วย เช่นในจาไมก้ามีการใช้ตัวยาที่เรียกว่า ยาล้างท้อง (washout) ความเชื่อและการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ผู้หญิงควบคุมการตั้งครรภ์ และทำให้การเจริญพันธุ์มีคุณค่าสูงในสังคม
ในหลายวัฒนธรรม มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการบริโภคอาหารบางอย่างในช่วงตั้งครรภ์ ในสังคมมาเลย์ ช่วงตั้งครรภ์คือช่วงเวลาพิเศษ อาหารที่จะนำมาให้หญิงมีครรภ์ต้องทำให้ร้อน และห้ามกินผลไม้บางอย่าง ในสังคมของชาวอิว ทางตะวันตกของแอฟริกา ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะกินดินเพราะเชื่อว่ามีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับอาหารที่นิยมบริโภคในสังคมอุตสาหกรรม ในเขตชนบทของกรีซ ไม่มีการควบคุมอาหารสำหรับหญิงมีครรภ์ ถ้าเธออยากกินผลโอลิฟ เธอก็จะได้ตามต้องการ หรือได้กินผลไม้ที่คล้ายๆโอลิฟ ผู้หญิงชาวทานาล่า ในมาลากาซี มีข้อห้ามว่า ห้ามแตะต้องถั่วที่มีจุด เพราะจะทำให้เด็กที่เกิดมาตาบอด
ในสังคมยุโรปและอเมริกา มีความเชื่อว่าอารมณ์ของแม่จะแปรปรวนช่วงที่มีการตั้งครรภ์ และอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ ข้อห้ามต่างๆเกี่ยวกับการตั้งครรภ์สะท้อนความหลากหลายของความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก และการให้กำเนิดทารกจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในสังคมนั้นๆ แต่กฎระเบียบทางวัฒนธรรมมิใช่สิ่งที่ถาวร ผู้หญิงในสังคมต่างๆอาจมีทางเลือกตามปัจจัยที่จะเอื้ออำนวยให้ ในสหรัฐอเมริกา ข้อห้ามสำหรับการตั้งครรภ์ล้วนมาจากการแพทย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการให้กำเนิดไว้มาก ความรู้ดังกล่าวนี้นำมาพร้อมกับการผดุงครรภ์และการดูแลหลังคลอด มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วย โดยเฉพาะเรื่องการดูแลแม่ก่อนคลอด
การผดุงครรภ์ ก่อนการคลอดได้แพร่กระจายไปทั่วโลก การดูแลแม่ต้องอยู่ในสายตาของแพทย์ เช่นในอเมริกา ผู้หญิงที่ยากจนไม่อาจเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ และเป็นเหตุผลทำให้คนจนประสบปัญหาการตั้งครรภ์สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ในหลายวัฒนธรรมความสำเร็จของการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับการทำพิธีกรรมของสามี คำว่า couvade หมายถึงการกกไข่ ใช้อธิบายการผดุงครรภ์ก่อนและหลังคลอด ซึ่งผู้เป็นสามีจะทำหน้าที่นี้ พ่อชาวมาเลย์จะต้องเปิดระตูบ้าน และห้ามฆ่าสัตว์ ในเขตชนบทของกรีซ ผู้ชายจะต้องปลดเข็มขัดให้หลอมๆตอลดเวลาที่ภรรยาตั้งครรภ์ เพื่อทำให้เด็กคลอดง่าย ในวัฒนธรรมอเมริกาใต้บางแห่ง ผู้ชายต้องงดกินอาหารเช่นเดียวกับภรรยาตอลดที่มีการตั้งครรภ์ และเมื่อภรรยาถึงเวลาคลอด สามีต้องแยกตัวไปอยู่กระท่อมส่วนตัวร่วมกับผู้ชายคนอื่นๆ และต้องแสดงอาการเจ็บปวดแทนภรรยาขณะคลอด
ชาวยุโรปและชาวอเมริกัน ผู้เป็นพ่อจะต้องเข้าไปร่วมเรียนรู้การดูแลครรภ์และเด็กพร้อมกับภรรยา และต้องเข้าไปเฝ้าภรรยาขณะทำการคลอด บางครั้งอาจต้องเข้าไปดูแลภรรยาในระยะต่างๆ ตั้งแต่การแพ้ท้อง การอาเจียน และการเจ็บปวดหลังคลอด ในสังคมตะวันตก บทบาทของผู้ชายในช่วงเจริญพันธุ์ขยายขอบเขตมากกว่าไปกว่าการดูแลภรรยา โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์จนถึงคลอด ชาวตะวันตกเชื่อว่าการตั้งครรภ์เกิดจากสเปิร์มของผู้ชาย และไข่ของผู้หญิง ตามทฤษฎีของคาร์ทเซียน ซึ่งเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีนี้มีผลต่อการเกิดเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อตอบสนองการเจริญพันธุ์ เช่น การใช้เสปิร์มฝังลงไปในมดลูกของผู้หญิง การย้ายไข่และตัวอ่อน เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ได้แยกเรื่องความคิดของการตั้งครรภ์ออกจากการกระทำที่เกิดขึ้น เมื่อหญิงที่หมดประจำเดือนสามารถตั้งครรภ์ได้และเด็กอาจมีพ่อแม่ได้หลายคน เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการทำอุตราซาวน์ และการตรวจตัวอ่อน ทำให้สามารถป้องกันรักษาโรคทางพันธุกรรมของเด็กได้ก่อนที่จะคลอดออกมา เทคโนโลยียังทำให้เกิดนิยามใหม่ของครอบครัว ความสัมพันธ์และสิทธิของพ่อแม่ สิทธิของผู้หญิงในการควบคุมดูแลร่างกายของตนเอง และ การสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียการตรวจทารกและการทำแท้งจะทำให้เกิดความแน่ใจว่าเด็กที่เกิดจะเป็นเพศชาย ซึ่งมีผลให้อัตราประชากรชายหญิงเปลี่ยนไป นักมานุษยวิทยาหลายคนเริ่มตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยวิจัยเรื่องการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 และรู้จักกันในเวลาต่อมาว่าเป็นการวิจัยเพื่อศึกษาการเจริญพันธุ์
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Dudgeon, M. and M. Inhorn (2004) Men’s influences on women’s reproductive health: Medical anthropological perspectives. Social Science & Medicine, 59: 1379-1395.
Hausman, B (2007) Things (Not) to Do with Breasts in Public: Maternal Embodiment and the Biocultural Politics of Infant Feeding. New Literary History, 38(3): 479-504.
Robbie E.Davis-Floyd and Eugenia Georges. In David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.pp.1014-1015.
Vitzthum, V. (2008) Evolutionary Models of Women’s Reproductive Functioning. Annual Review of Anthropology, 37:53-73.
หัวเรื่องอิสระ: การตั้งครรภ์