Primitivism
คำว่า primitivism หมายถึงลักษณะที่ตรงข้ามกับอารยธรรม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมเรียบง่าย คำว่าพรีมีทีพอาจอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ก้าวหน้า เป็นคำที่ชาวตะวันตกเรียกสังคมในอดีต เช่น สังคมมายา เอซเต็ก อินเดีย และ จีน รากศัพท์ของคำว่า primitivism ย้อนกลับไปถึงสมัยกรีก นักเขียนกรีกได้อธิบายถึงลักษณะเรียบง่าย 2 อย่างคือ chronological primitivism กับ cultural primitivism ความเรียบง่ายแบบแรก chronological primitivism หมายถึงยุคสมัย เริ่มจากยุคทอง ตามด้วย ยุคเงิน ทองแดง และโลหะ ซึ่งเป็นพัฒนาการถอยหลังของความเจริญ สมัยอินเดียโบราณเชื่อว่ามนุษย์มีช่วงชีวิต 4 ช่วง เริ่มจากช่วง krta yuga เป็นช่วงวัยบริสุทธิ์ ช่วงต่อมาคือ treta, dyapara, และ kali ในช่วงสุดท้ายความบริสุทธิ์จะหายไป ตามคัมภีร์ไบเบิลมีความเชื่อเรื่องสวนแห่งอีเดน สถานที่อดัมและอีฟอาศัยอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ความเชื่อเรื่องยุคทองวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่าสังคมมียุครุ่งเรืองและล่มจม เช่นในสังคมกรีกและอินเดีย ซึ่งมียุคทองและยุคเสื่อม ในสังคมอินเดีย ความคิดเรื่องยุคเสื่อมเป็นเรื่องของวัฏจักรหมุนเวียนไป ศาสนาพุทธมีความเชื่อเรื่องความก้าวหน้า และการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อถึงจุดเสื่อม ก็จะมีจุดเริ่มต้นใหม่
ความเรียบง่ายแบบที่สอง คือ cultural primitivism หมายถึงความเรียบง่ายของวิถีชีวิต แต่คุณค่าทางศีลธรรมสูงส่ง ความเรียบง่ายมีค่าเทียบเคียงกับธรรมชาติ ชาวตะวันตกเชื่อว่าธรรมชาติเป็นมาตรฐานทางศีลธรรม ลักษณะความเรียบง่าย หรือความเป็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีงาม คล้ายกับสภาวะดั้งเดิม ซึ่งมนุษย์ยังไม่มีสมบัติเป็นของส่วนตัว และอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่ กินพืชผักเป็นอาหาร ความเรียบง่ายทางวัฒนธรรมอาจแบ่งได้เป็น2 แบบ คือ แบบที่มีความสงบสุข และ แบบที่โหดร้าย ในแบบที่มีความสงบสุขคือวัฒนธรรมที่เข้าสู่ยุคทอง ตามตำนานของชาวเกาะHyperboreans เชื่อว่าจะมีชีวิตอยู่เป็นหนุ่มสาวอมตะในดินแดนเขตร้อนที่อยู่ห่างไกล
ส่วนวัฒนธรรมเรียบง่ายที่มีความโหดร้าย หมายถึงสังคมที่มีการกดขี่ข่มเหง ต่อสู้ ขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวCynics ซึ่งปกครองอย่างโหดเหี้ยม มีอำนาจ และต้องการปฏิวัติสังคมให้เจริญก้าวหน้า ในสมัยกลางของยุโรป ความเป็นพรีมีทีพปรากฏอยู่ในศาสนาจักร ศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าสร้างคำพูดให้กับมนุษย์ แต่ชนเผ่าที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เป็นผู้รับถ่ายทอดภาษามาจากพระเจ้าโดยตรง และเชื่อว่าสวรรค์มีอยู่บนโลกมนุษย์ มีความเชื่อว่าคนป่าบางกลุ่ม เช่นในเอธิโอเปียเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมสูงส่ง
คนป่าในสมัยกลางคือคนที่อยู่ในที่ห่างไกลความเจริญ เมื่อเกิดการล่าอาณานิคม ยุโรปคือศูนย์กลาง คนป่าจะถูกผลักให้เป็นคนอื่นที่ด้อยกว่า ชาวยุโรปคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น คนป่าที่ห่างไกลที่ยังไม่มีใครค้นพบจะกลายเป็นพวกที่ “สาบสูญ” และเป็นเป้าหมายของการตามหา แนวคิดเรื่องคนป่าที่สูงส่งยังคงมีความคลุมเคลือ เพราะชาวยุโรปทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นวัตถุเครื่องราง เป็นสัตว์ประหลาด หรือเป็นผู้ที่มีอำนาจวิเศษ ความเชื่อเรื่องของขลังในเชิงจิตวิทยา คือความต้องการที่จะได้สิ่งที่แปลกหายาก โดยที่เราต้องแสวงหาสิ่งของของที่มีอยู่ในธรรมชาติ
โคลัมบัสและชาวสเปนได้ค้นพบดินแดนใหม่ ชนพื้นเมืองจะถูกจินตนาการว่าเป็นคนยุคดั้งเดิมที่ไร้เดียงสา มีคุณธรรม สวยงาม และเรียบง่าย (ชาวอินเดียนพื้นเมืองยังคงถูกมองในลักษณะนี้ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด) บาทหลวง Bartolome de Las Casas นำความคิดเรื่องคนป่าที่สูงส่งมาโต้แย้งเพื่อที่จะช่วยเหลือคนพื้นเมืองให้รอดจากการเป็นทาส แต่เขาปฏิเสธที่จะช่วยเหลือทาสชาวแอฟริกัน คำถามก็คือทำไมชาวแอฟริกาจึงไม่ถูกมองว่าเป็นคนป่าที่สูงส่ง
Michel Montaigne เป็นผู้นำทางความคิดเรื่องคนป่าที่สูงส่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เชื่อว่ามนุษย์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ นักปรัชญาชาวอังกฤษใน คริสต์ศตวรรษที่ 17 โทมัส ฮ็อบส์ เชื่อว่าธรรมชาติป่าเถื่อน นักเขียนชาวอังกฤษ แดเนียล เดโฟ เขียนนิยายเรื่อง Robinson Crusoe (1750) เขียนเรื่องราวเสียดสีเปรียบเปรยเกี่ยวกับคนป่าที่น่ายกย่อง ในศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการสำรวจดินแดนต่างๆ ทำให้ชาวตะวันตกพบกับคนพื้นเมือง นักเดินเรือชาวฝรั่งเศสชื่อ Louis Antonio de Bougainville ได้เดินทางไปยังหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ทำให้มีผลต่อความคิดของชาวตะวันตกซึ่งสะท้อนผ่านงานปรัชญาของรุสโซ งานวรรณกรรมวิลเลียม วอร์ดส์ ซึ่งเน้นความโรแมนติก และธรรมชาตินิยม
รุสโซเขียนเรื่อง Discourse on Inequality ในปี ค.ศ.1755 และมองคนป่าในแง่ลบ เขากล่าวว่าคนป่าเฉื่อยชาและไร้ความเจริญ ความคิดเกี่ยวกับคนป่าตกทอดมาถึงสมัยใหม่แต่ด้วยความอธิบายต่างไป นักมานุษยวิทยาพยายามอธิบายความหมายของพรีมีทีพจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งเมืองและชนบท แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยากับ primitivism ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นักมานุษยวิทยาอย่างมาลีนอว์สกี้ และมาร์กาเร็ต มีด สนใจในวิถีชีวิตแบบพรีมีทีพขณะที่พวกเขาทำวิจัยภาคสนาม Lucien Levy-Bruhl เชื่อว่าความหมายของพรีมีทีพตรงข้ามกับระบบเหตุผลของตะวันตก เขาเชื่อว่าพรีมีทีพเป็นความบริสุทธิ์
ฟรอยด์อธิบายว่าจิตวิทยาแบบดั้งเดิมจะปรากฏในช่วงแรกๆของชีวิต ความเรียบง่ายจึงเป็นพื้นฐานของคนป่า และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในศิลปะสมัยใหม่ เช่นงานของปิกัสโซ่ สร้างงานศิลปะแบบ primitive art เพราะเชื่อว่าทำให้มนุษย์เป็นอิสระ ศิลปะของปิกัสโซ่เน้นความบริสุทธิ์ เพื่อหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ศิลปินชาวเยอรมันชื่อ อีมิล โนลเด้ และศิลปินแนวเอ็กเพรสชั่นนิสต์คนอื่นๆ นิยมชมชอบพลังของพรีมีทีพที่ดิบเถื่อนง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ศิลปะแนวนี้จึงปลดปล่อยชีวิตแบบคนพื้นเมืองให้โลดแล่น แต่สิ่งนี้ก็คือความเชื่อ เพราะสิ่งที่เรียกว่าศิลปะ หรือสังคมแบบเรียบง่ายนั้น ยังมีโครงสร้างและกฏระเบียบมากมาย
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Adam Kuper, 1988. The Invention of Primitive Society: Transformations of an Illusion. Routledge
Antliff, Mark and Patricia Leighten, 1996. "Primitive" in Critical Terms for Art History, R. Nelson and R. Shiff (Eds.). Chicago: University of Chicago Press,
Partha Mitter ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1029-1031.
Susan Hiller (ed.), 1991. The Myth of Primitivism. Routledge.
หัวเรื่องอิสระ: สังคมเรียบง่าย