Psychological Anthropology
มานุษยวิทยาจิตวิทยา เป็นคำเรียกการศึกษาที่ใช้แนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยามาทำความเข้าใจวัฒนธรรม ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นักมานุษยวิทยาใช้มีหลากหลาย ตั้งแต่ทฤษฎีสากลที่อธิบายธรรมชาติมนุษย์ และความมีเอกภาพ ไปจนถึงลักษณะเฉพาะทางเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติ การศึกษาทางชาติพันธุ์ระยะแรกๆเกี่ยวข้องกับความคิดของชาวตะวันตกในยุคอาณานิคมและจักรวรรดินิยม ถึงแม้ว่านักชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะเก็บบันทึกเรื่องราวของมนุษย์ในแนวประนีประนอม แต่พวกเขาก็ใช้วิธีคิดแบบชาวตะวันตกที่พยายามแบ่งแยกว่าใครคือผู้เจริญ ใครคือผู้ล้าหลัง ใครมีเหตุผล ใครไร้เหตุผล และใครอ่านออกเขียนได้ ใครอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ความคิดเกี่ยวกับความป่าเถื่อน หรือล้าหลัง นำไปสู่การอธิบายเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับความคิดเรื่องเชื้อชาติแล้วจะทำให้เกิดกล่าวหาว่าใครคือผู้ที่ต่ำต้อย แนวคิดดังกล่าวทำให้ลัทธิอาณานิคมมีอำนาจเหนือชนเผ่า ตักตวงทรัพยากรของชนเผ่าและนำชนเผ่าไปเป็นแรงงาน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่นำทฤษฎีจิตวิทยามาใช้เพื่อที่จะทดสอบมนุษย์
สิ่งท้าทายที่สำคัญต่อแนวคิดข้างต้นมาจากทฤษฎีของฟรอยด์และลูกศิษย์ ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาจะยอมรับความเชื่อเรื่องความล้าหลัง แต่การวิเคราะห์แนวนี้ก็ยังเชื่อว่ามนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มีความคิดแบบไร้เหตุผลเหมือนกัน ฟรอยด์ได้นำความรู้ทางวัฒนธรรมมาอธิบายทฤษฎีทางจิตวิทยา เช่น แนวคิดเรื่องเครื่องราง totemism ฟรอยด์อธิบายว่าเด็กจะมีความรู้สึกผิดต่อพ่อแม่จึงแสดงออกด้วยสัญลักษณ์รูปสัตว์ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและวัฒนธรรม ได้อาศัยแนวคิดจิตวิทยาของเกสทัลท์มาอธิบาย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการรับรู้ของบุคคลทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมต่างๆ ในการศึกษาของรูธ เบเนดิกส์, เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ และมาร์กาเร็ต มี้ด อธิบายว่าแบบแผนทางวัฒนธรรมสำคัญกว่ารายละเอียด ทฤษฎีวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพจะเอ่ยถึง “บุคคลในอุดมคติ” ด้วยแนวคิดที่ต่างกัน เพราะบุคคลในอุดมคติจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความพึงพอใจหรือความทุกข์ใจ
อาบราม คาร์ดิเนอร์พัฒนาแนวคิดเรื่องบุคลิกภาพรวมหมู่ที่เกิดจากสถาบันทางสังคม เช่น การเลี้ยงลูก การสร้างบ้าน และการยังชีพ ซึ่งจะนำไปสู่สถาบันขั้นที่สองคือ ศาสนา ศิลปะและ คติความเชื่อ วัฒนธรรมแต่ละอย่างจะถูกวิเคราะห์ว่ามาจากกระบวนการทางจิตที่ต่างกัน แนวคิดนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อธิบายเรื่องบุคลิกภาพแห่งชาติและส่วนบุคคล ผู้ที่ใช้แนวคิดนี้ เช่น แอนโทนี วอลเลซ(1970)อธิบายเรื่องความแตกต่างของบุคลิกภาพภายใต้วัฒนธรรมแบบเดียวกัน แนวคิดเรื่องบุคลิกภาพถูกนำไปใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองโดยรัฐบาลสหรัฐ เพื่อที่จะทำความเข้าใจจิตวิทยาของศัตรู เพื่อนำไปสู่ชัยชนะต่อศัตรู นักมานุษยวิทยา เช่น เบเนดิกส์, มี้ด, จอฟฟรีย์ โกเรอร์ และ ไคลด์ คลั๊กโคน ล้วนนำแนวคิดบุคลิกภาพไปใช้และพัฒนาวิธีการศึกษาวัฒนธรรมในดินแดนที่ห่างไกล
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อทฤษฎีพฤติกรรมในแวดวงจิตวิทยาอเมริกาส่งผลต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาในหลายประการ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ที่หมาวิทยาลัยเยล นักวิจัยกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะนำทฤษฎีพฤติกรรมไปใช้กับข้อมูลทางชาติพันธุ์ โดยการอธิบายว่าวัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมที่ผ่านการเรียนรู้มาแล้ว ซึ่งทำให้พฤติกรรมเป็นกฎการเรียนรู้สากล ผู้นำในการใช้ทฤษฎีนี้คือ จอห์น ดับบลิว เอ็ม ไวท์ทิง ซึ่งนำทฤษฎีการเรียนรู้ของคล้าก ฮุลล์ ไปผนวกกับการวิจัยทางวัฒนธรรมของจอร์จ พี เมอร์ด็อก ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์สมมุติฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ ข้อสมมุติฐานหลายอย่างจากทฤษฎีนี้ล้วนมาจากการศึกษาของฟรอยด์ ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของเด็กบ่งบอกถึงความกังวลใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของผู้ใหญ่ การศึกษาของไวท์ทิงและเออร์วิน แอล ไชลด์(1953) ศึกษาสังคม 36 แห่ง และพบว่าวัยเด็กเป็นวัยที่สับสน และทำตามใจตัวเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสาเหตุของการเกิดโรค
การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจาก Human Relation Area Files แต่ต่อมานักชาติพันธุ์ก็ลงไปเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ และนำข้อมูลจากพื้นที่ 6 แห่งมาเปรียบเทียบ โดยเน้นเรื่องการเลี้ยงเด็ก การศึกษาหลายประเด็นนำวิธีการศึกษานี้มาใช้ เช่น จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม การทำเสน่ห์ และข้อห้ามต่างๆ แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจะเป็นเรื่องประสบการณ์ในวัยเด็กที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่น โครงสร้างสังคม และแบบแผนการยังชีพ แนวการศึกษาเชื่อว่า หน้าที่การเลี้ยงเด็กก่อให้เกิดบุคลิกภาพบางอย่าง ซึ่งทำให้ระบบทางสังคมและวัฒนธรรมดำรงอยู่ได้ หรือบุคลิกภาพนี้จะยังคงถูกแสดงในคนรุ่นต่อไป
แนวคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ โครงสร้างสังคมและบุคลิกภาพ แนวคิดนี้จะใช้อธิบายบุคลิกภาพของชาวนาหรือพวกขุนนาง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชาวนามีบุคลิกภาพคล้ายกันเพราะอยู่ในสังคมที่เหมือนกัน แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้อธิบายระบบชนชั้น ชนกลุ่มน้อย อาชีพ และกลุ่มคนต่างๆที่มีวัฒนธรรมของตัวเอง นอกจากนั้นการศึกษาแนวนี้ยังสนใจเรื่องอำนาจที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาของนักสังคมวิทยาชื่อเออร์วิ่ง กอฟฟ์แมน อธิบายว่าการปฏิสัมพันธ์กันทำให้เกิดกฎเกณฑ์ของพฤติกรรม การศึกษาเรื่องต่อมา กอฟฟ์แมนสนใจภาษาในฐานะเป็นหลักฐานการเปลี่ยนแปลงวิธีการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคล ซึ่งต้องการที่จะหาวิธีควบคุมข้อมูลและคนอื่นๆ
แนวการศึกษาอื่นๆของมานุษยวิทยาจิตวิทยา มาจากแนวคิดทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ และทำให้เกิดมานุษยวิทยาเชิงความคิด ในตอนต้นทศวรรษที่ 1950 นักมานุษยวิทยาบางคนสนใจระบบความหมายเพื่อนำไปศึกษาชาติพันธุ์ เป้าหมายของการศึกษานี้เพื่อทำความเข้าใจประเภทของความคิดและกระบวนการที่ “ชาวบ้าน” ใช้จำแนกแยกแยะประสบการณ์ และตัดสินใจเกี่ยวกับกากระทำต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างนิยามทางวัฒนธรรมในฐานะเป็นประเภทของการเรียนรู้และแบบแผนที่มีผลต่อพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ของชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้จากแบบสอบถาม วิธีการนี้ยังใช้ศึกษาวิธีการแยกชนิดของสี ซึ่งดูได้จากคำเรียกสี
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักมานุษยวิทยาจิตวิทยาหันมาสนใจเรื่องสภาวะไร้จิตสำนึกและการเข้าทรง นักศึกษาที่สนใจประเด็นนี้ได้อ่านประสบการณ์เกี่ยวกับสัมผัสพิเศษซึ่งถูกกระตุ้นโดยการกินสมุนไพร หรือเห็ดบางชนิด โดยมีหมอผีหรือผู้วิเศษเป็นผู้ให้คำแนะนำ การศึกษาแนวนี้ได้แก่ การศึกษาของคาร์ลอส คาสตาเนดา และไมเคิล ฮาร์เนอร์ การศึกษาในเรื่องนี้ยังต้องการคำตอบ และทำให้เกิดสมาคมมานุษยวิทยาจิตศาสตร์ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับผู้วิเศษยังคงดำเนินต่อไป จากประเด็นนี้ทำให้เกิดการศึกษาเฉพาะด้านที่สนใจการรักษาทางจิตโดยความรู้ชาวบ้าน ซึ่งมีการนำความรู้ทางการแพทย์และชาติพันธุ์มาอธิบาย
ความสนใจเรื่องชีววิทยาสังคมในทางมานุษยวิทยา นำไปสู่การศึกษาที่เรียกว่ามานุษยวิทยาจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ ซึ่งมีการถามว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติและสังคมนั้นส่งผลกระทบต่อความสามารถของมนุษย์อย่างไร แนวการศึกษานี้ทำให้มีการอธิบายพฤติกรรมการเลี้ยงลูก ความก้าวร้าว และการหาคู่ มีการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของแมลงและสัตว์บางชนิด การศึกษาของ ลี ครองค์(1991) ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาจิตวิทยาแนววิวัฒนาการต้องการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่ผ่านการปรับตัวพร้อมทั้งเข้าใจวิธีการปรับตัวที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมนั้นๆ การศึกษาแนวนี้จะช่วยให้เข้าใจความคิด การเรียนรู้ และอารมณ์ของมนุษย์
มานุษยวิทยาจิตวิทยายังสนใจแนวคิดเรื่องตัวตนและอารมณ์ ตัวอย่างเช่น นักมานุษยวิทยาหลายคนจะถกเถียงเรื่องอารมณ์โดยใช้ทฤษฎีภาษา และความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและแบบแผนของอารมณ์ เช่นการศึกษาของโรเบิร์ต เลวี, มิเชลล์ โรซัลโด, จอฟฟรีย์ ไวท์ และ แคทเธอรีน ลัตซ์ ซึ่งเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับอารมณ์ในหมู่เกาะแปซิฟิก การศึกษาเหล่านี้ให้ความสนใจเรื่องตัวตนที่ถูกสร้างมาจากสังคม และมีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม
ปัจจุบันเมื่อมีแนวคิดโพสต์มอเดิร์น ทำให้การศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยาเปลี่ยนไป ประเด็นที่สำคัญคือเรื่อง การรื้อทำลายตัวตนซึ่งท้าทายนักวิจัยที่เชื่อว่าตัวตนมีจริง เมื่อตัวตนเป็นสิ่งลวงตา ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ การศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยาจึงหันมาใช้แนวคิดใหม่ๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเวลากว่า 100 ปีที่มานุษยวิทยาจิตวิทยาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและวงวิชาการ เมื่อความมีตัวตนของมนุษย์ถูกทำลาย การศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยาจึงพบกับการท้าทายใหม่
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Bock, Philip K. (1999) Rethinking Psychological Anthropology, New York: W. H. Freeman
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1042-1045.
Hsu, Francis L. K., ed. (1972) Psychological Anthropology. Cambridge: Schenkman Publishing Company, Inc.
Jenkins, Janis H. and Robert J. Barrett (2004) Schizophrenia, Culture, and Subjectivity: The Edge of Experience. New York: Cambridge University Press.
Kleinman, Arthur (1980) Patients and healers in the context of culture: an exploration of the borderland between anthropology, medicine, and psychiatry. Berkeley, CA: University of California Press.
Schwartz, Theodore, Geoffrey M. White, and Catherine A. Lutz, eds. (1992) New Directions in Psychological Anthropology. Cambridge, UK: Cambridge University Press.
Shore, Bradd (1995) Culture in Mind: cognition, culture, and the problem of meaning. New York: Oxford University Press.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาจิตวิทยา