Queer Anthropology
Queer Anthropology หมายถึง มานุษยวิทยาที่สนใจวัฒนธรรมทางเพศที่หลากหลาย ที่แตกต่างไปจากจารีตและบรรทัดฐานทางสังคม ในช่วงทศวรรษที่ 1920 นักมานุษยวิทยาเช่น โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ และมาร์กาเร็ต มี้ด ค้นพบรูปแบบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันหลายแบบ ซึ่งแปลกไปจากการรับรู้ของชาวตะวันตก เช่นพฤติกรรมของคนแต่งตัวผิดเพศในชนเผ่าอเมริกาเหนือ ซึ่งได้รับฉายาว่า เบอร์ดาเช่ หรือคนเพศที่สาม และพฤติกรรมชายรักชายในชนเผ่าเมลานีเซีย โดยปกติการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันมักจะอธิบายด้วยมิติทางวัฒนธรรม เช่น แวน บาล(1966) ทำงานวิจัยในชนเผ่ามารินด์-เอมิน ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเขาอธิบายพฤติกรรมชายรักชายในมิติของศาสนา
การวิจัยของฟอร์ด และบีช(1951) สำรวจเรื่องเพศในวัฒนธรรมต่างๆทั่วโลก การสำรวจครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่มีสาเหตุมาจากร่างกาย และมักจะเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง จากการสำรวจวัฒนธรรม 76 แห่ง มีอยู่ 28 แห่งที่ไม่พบพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล และมี 17 แห่งที่พบโฮโมเซ็กช่วลในเพศหญิง นอกจากนั้น ยังพบว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลพบมากในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับตะวันตก พบว่าวัฒนธรรมต่างๆในโลกไม่ค่อยรังเกียจโฮโมเซ็กช่วล การศึกษาของฟอร์ดและบีช เป็นการศึกษาจากข้อมูลชั้นสองซึ่งยังมีคำถามน่าสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ และเรื่องที่น่ากังวลก็คือไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลในเพศหญิงนำมาอ้างถึงเลย
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 วิชามานุษยวิทยาและรัฐศาสตร์เป็นวิชาที่สนใจศึกษาเรื่องเกย์ นักมานุษยวิทยาเช่น นิวตัน(1972) ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมย่อยของชาวเกย์และเลสเบี้ยนในตะวันตก และเบอร์ดาเช่ในวัฒนธรรมพื้นเมืองอเมริกา นักมานุษยวิทยาหลายคน นำวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาไปใช้กับการศึกษาเกย์ในวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามนักสังคมวิทยาบางคนก็นำวิธีการทางมานุษยวิทยาไปใช้เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาเช่น เกเยิล รูบิ้น เคยอธิบายเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเพศในมิติทางการเมืองและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ รูบิ้นสนใจศึกษาวัฒนธรรมเกย์ชุดหนังในซานฟรานซิสโก นักมานุษยวิทยาคนแรกที่ศึกษาเรื่องเพศในสังคมนอกตะวันตกคือเฮิร์ด เฮิร์ดศึกษาพิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่มและ พิธีรับน้ำอสุจิของเด็กชายในนิวกินี การศึกษาของเฮิร์ดเป็นการศึกษาแรกที่พูดถึงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในวัฒนธรรมมีลานีเซียน การทำงานภาคสนามเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น เฮิร์ดวิเคราะห์พิธีกรรมย่างเข้าสู่วัยหนุ่มในฐานะเป็นพิธีกรรมของโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องคนรักเพศเดียวกันในตะวันตก ส่วนพิธีรับน้ำอสุจิของเด็กชายในการศึกษาในระยะต่อมา ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมชายรักชายเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง
สิ่งสำคัญจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา คือการยืนยันว่าอารมณ์ พฤติกรรม และการเกี้ยวพาราสีแบบคนรักเพศเดียวกันมีความหลากหลาย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีความหลากหลาย แต่รูปแบบที่สำคัญของพฤติกรรมรักเพศเดียวกันมีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ ความรักเพศเดียวกันที่มาจากโครงสร้างอายุ มาจากโครงสร้างเพศสภาพ และ รูปแบบที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ
1 ความรักที่มาจากโครงสร้างของเพศสภาพ
พฤติกรรมและอารมณ์แบบรักเพศเดียวกันที่มีโครงสร้างมาจากเพศสภาพ หมายถึง ฝ่ายหนึ่งจะแสดงบทบาททางเพศของอีกฝ่ายหนึ่ง รูปแบบความสัมพันธ์นี้จะมีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามชายหญิง ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีการแสดงบทบาททางเพศอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ฮีจาราในอินเดีย และเบอร์ดาเช่ในอเมริกาเหนือ คนประเภทนี้จะเกิดมาเป็นชายตามธรรมชาติ แต่จะแสดงบทบาทเป็นผู้หญิงและมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ในบางกรณี ฮีจาราอาจมีการตัดอวัยวะเพศทิ้ง ส่วนผู้หญิงที่แสดงบทบาทเป็นชายจะพบไม่มากนัก อาจพบได้ในเขตอเมริกาและกึ่งทะเลทรายซาฮารา ในกรณีที่หญิงแต่งตัวเป็นชายยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ส่วนกรณีฮีจารา มีความชัดเจนว่ามีพฤติกรรรมทางเพศแบบโสเภณี แต่เบอร์ดาเช่ และการแต่งงานระหว่างหญิงกับหญิงอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะยังไม่มีการวิจัยที่แน่ชัด เพศและเพศสภาพจึงมิใช่สิ่งถาวร แต่มีลักษณะที่เปลี่ยนไปตามสภาพ
การสลับบทบาททางเพศอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่เป็นพระหรือหมอผี อาจแสดงบทบาทเป็นเพศตรงข้ามเพื่อทำหน้าที่ในพิธีกรรม ศาสนาและรักษาโรค หรือมีความเชี่ยวชาญในงานหัตถกรรม ในสังคมที่นับญาติข้างพ่อ การแต่งงานของผู้หญิงจะช่วยให้ครอบครัวมีทายาทสืบต่อไป แต่การแสดงความรักกับคนเพศเดียวกันโดยการแสดงบทบาททางเพศตรงข้ามยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี การแสดงบทบาทเพศที่สามอาจเป็นการให้ความสุขทางเพศแก่ผู้อื่น แต่จะไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นเพศที่สามเหมือนกัน
เพศสภาพที่ต่างกันสองด้านจะถูกทำลายลงเมื่อเกิดเพศสภาพที่คลุมเคลือ แม้แต่การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงก็ทำให้บุคคลนั้นมิใช่ผู้หญิงที่เกิดตามธรรมชาติ เพราะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย จะทำให้ผู้นั้นมีฐานะเป็นชาย เพศสภาพแบบคลุมเคลืออาจเห็นได้จาก พวกขันธี ซึ่งอาจถูกจัดเป็นเพศที่สาม เฮิร์ดใช้การจัดประเภทเพศที่สามเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ความหลากหลายของเพศสภาพ การมีอยู่ของเพศที่สามบอกให้รู้ถึงสภาวะเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของเพศ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ต่างไปจากแม็กนัส เฮิร์ชเฟลด์ที่มองเพศเป็นแก่แท้แน่นอน ตายตัว และธรรมชาติสร้างมา เพศสภาพมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มาจากบริบททางวัฒนธรรม
2 ความรักที่มาจากโครงสร้างอายุ
อารมณ์และพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันที่มีโครงสร้างจากอายุ คือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่มีอายุต่างกัน ตัวอย่างเช่นความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มและผู้ใหญ่ในสมัยกรีก หรือ pederasty และพิธีกรรมรับน้ำอสุจิในสังคมมีลานีเซียน แต่ความสัมพันธ์แบบนี้อาจพบเห็นได้ในที่อื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น แอฟริกา และอาหรับ การศึกษาที่น่าสนใจมาจาก กลอเรีย เว็คเกอร์(1994) ซึ่งศึกษาชาวพารามาไรโบ ในประเทศซูรินัม เว็คเกอร์พบว่าผู้หญิงครีโอที่เป็นชนชั้นล่างจะมีความสัมพันธ์แบบมาตี หรือความสัมพันธ์ของหญิงมีอายุกับหญิงสาว ซึ่งหญิงที่มีอายุจะแต่งงานแล้วและมีลูกแล้ว ในกรณีของผู้ชาย ความสัมพันธ์ของชายสูงวัยกับเด็กหนุ่มจะเป็นความสัมพันธ์ทางเพศและพิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่ม แต่คู่รักต่างวัยนี้อาจมีหลายแบบ ในการศึกษาของเฮิร์ดในสังคมชนเผ่าแซมเบีย พบว่าเด็กหนุ่มอาจมีอายุระหว่าง 6-12 ปี ซึ่งอาจเป็นคู่กับเด็กที่มีอายุมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายหลั่งน้ำอสุจิให้ การหลั่งน้ำอสุจิของเด็กชาวชาวแซมเบียถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปลี่ยนฐานะเป็นชาย ชาวแซมเบียเชื่อเด็กชายที่กินน้ำอสุจิจะสามารถผลิตน้ำอสุจิได้ นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ เช่น การสอดใส่ทางทวารหนักและการอมองคชาต หรือการนำน้ำอสุจิมาถูกไถที่ผิวหนังจะทำให้ผู้นั้นเป็นชายเต็มตัว
3 ความรักแบบผู้มีฐานะเท่ากัน
ตัวอย่างของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม โดยปราศจากความแตกต่างของเพศสภาพและอายุ สามารถเห็นได้จากชาวเกย์ในปัจจุบัน ในสังคมเกย์ไม่มีการแบ่งแยกเพศสภาพและอายุ เกย์จะแสดงบทบาททางเพศสลับไปสลับมา (ฝ่ายรุก ฝ่ายรับ) ซึ่งต่างไปจากความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนโครงสร้างอายุหรือเพศสภาพ คู่รักเกย์หลายคู่จะไม่มีการแบ่งความเป็นชายหญิงที่ชัดเจน ยกเว้นไสต์การแต่งตัว แต่ก่อนปี ค.ศ.1900 ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าใดนัก ยกเว้นความรักแบบเพื่อนซึ่งอาจไม่มีเรื่องเซ็ก ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเพศแบบเท่าเทียมกันกลายเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป แต่ก่อนหน้านั้นในหลายวัฒนธรรมจะมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย และมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเพศสภาพ ชนชั้น อายุ และชาติพันธุ์ การศึกษาของบอสเวลล์พบว่าความรักของคนเพศเดียวกันที่มีฐานะเท่ากันในศาสนาคริสต์ยุคแรกๆ มีไม่มากนัก แต่จริงๆแล้วมีมากกว่าที่คิดเพราะคนรักเพศเดียวกันไม่เปิดเผยตัว
กรีนเบิร์ก(1988) ได้เพิ่มรูปแบบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันอีก 1 แบบ คือความสัมพันธ์ที่เกิดจากความไม่เทียมทางสังคม หรือความสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างทางชนชั้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์แบบนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ในสังคมที่มีทาส ซึ่งผู้เป็นทาสจะต้องยอมปฏิบัติตามเจ้านาย ในขณะที่ระบบชนชั้นในยุโรป เจ้านายจะต้องมีเซ็กกับคนใช้ อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่มีทาสส่วนใหญ่ เจ้านายที่เป็นชายจะไม่แสดงบทบาทเป็นฝ่ายรับ แต่ในยุโรป เจ้านายอาจแสดงบทบาทเป็นฝ่ายรับได้
ในแต่ละวัฒนธรรม ไม่มีอิสระทางเพศ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องของสังคมและมีขอบเขตที่ชัดเจน สิ่งที่ควบคุมเรื่องเพศ ได้แก่ อายุ เพศสภาพ ฐานะ ชนชั้น และเงื่อนไขอื่นๆ พฤติกรรมทางเพศโดยส่วนมากฝ่ายชายเป็นผ่ายรุก และฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายรับ ในวัฒนธรรมตะวันตกอาจถูกมองว่ามีอิสระทางเพศสูง เนื่องจากการแสดงออกทางเพศมีความหลากหลาย ความสัมพันธ์ที่มาจากโครงสร้างอายุเป็นความสัมพันธ์แบบพิเศษที่พบในหลายวัฒนธรรม แต่นักคิดทางสังคมเชื่อว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นพฤติกรรมสากลที่พบในมนุษย์ทุกแห่ง แต่แนวคิดเรื่องเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การปลดปล่อยทางเพศ การจับคู่ทางเพศ หรืออารมณ์ทางเพศของตะวันตกจะเป็นสิ่งเดียวกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในที่อื่น ปัจจุบัน อัตลักษณ์ของเกย์อาจมีอยู่ทั่วไป บางคนเชื่อว่าเป็นเพราะโลกาภิวัตน์ แต่บางคนคิดว่ามาจากความรู้สึกของท้องถิ่นที่มีพัฒนาการต่างไปจากเดิม
สิ่งสำคัญที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาได้มอบให้ในการศึกษาโฮโมเซ็กช่วลในปัจจุบัน คือการชี้ให้เห็นบริบททางสังคมและการนำเสนอภาพของโฮโมเซ็กช่วล นิยามเกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกันขึ้นอยู่กับความรู้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ พฤติกรรมที่คล้ายๆกันอาจมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน ตัวอย่างในวัฒนธรรมตะวันตก ผู้ชายสองคนจูบกันในเขตเมือง อาจเป็นเกย์ แต่ผู้ชายสองคนกอดกันจูบกันในสนามกีฬาเพราะดีใจที่แข่งขันชนะ อาจเป็นการกระทำของเกย์หรือไม่ก็ได้ การตีความขึ้นอยู่กับความหมาย หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาถึงความหมายและบริบทของสิ่งนั้น นิยามของโฮโมเซ็กช่วลอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความรู้ท้องถิ่น หรือคำถามจากการวิจัย
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Blackwood, Evelyn (Ed.), 1986. The Many Faces of Homosexuality: Anthropological
Approaches to Homosexual Behavior. Routledge, New York.
Evans-Pritchard, E.E., 1970. Sexual inversion among the Azande. American Anthropologist
72 (6), 1428–1434.
Gert Hekma. 2000 “Queering Anthropology” in Theo Sandfort and Others (eds.) Lesbian and Gay Studies. SAGE Publication, London. 2000.pp.81-93.
Herdt, Gilbert H. (Ed.), 1984. Ritualized Homosexuality in Melanesia. University of
California Press, Berkeley.
Jacobs, Sue-Ellen, Thomas, Wesley, Lang, Sabine (Eds.), 1997. Two-Spirit People:
Native American Gender Identity, Sexuality, and Spirituality. University of Illinois
Press, Urbana.
Leap, William, Boellstorff, Tom (Eds.), 2003. Speaking in Queer Tongues: Globalization
and Gay Language. University of Illinois Press, Urbana.
Lewin, Ellen, Leap, William (Eds.), 1996. Out in Theory: the Emergence of Lesbian and
Gay Anthropology. University of Illinois Press, Urbana.
Nanda, Serena, 1998. Neither Man Nor Woman: The Hijras of India. Cengage Learning,
New York.
Weston, Kath, 1993. Lesbian/Gay Studies in the House of Anthropology. Annual
Review of Anthropology 22, 339–367.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเพศนอกกรอบ