Reciprocity
การแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือ Reciprocity หมายถึง ผู้ให้และผู้รับจะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันในแบบเท่าเทียม แต่เงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนสิ่งของยังขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมของบุคคล โอกาส ช่วงเวลา และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นักมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม สร้างมิตรภาพ และรักษาระเบียบทางสังคม ซึ่งในสังคมชนเผ่า การแลกเปลี่ยนสิ่งของอาจมิใช่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ แต่อาจเป็นเงื่อนไขทางศีลธรรมและวัฒนธรรม ในสังคมตะวันตก แนวคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งดำเนินไปตามกลไกของการค้าขาย ระบบตลาดและการแสวงหากำไร แต่ระบบทุนนิยมตะวันตกก็ถูกวิจารณ์ว่านำไปสู่ความไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดการผูกขาด นายทุนได้กำไร แรงงานยากจนได้ค่าแรงต่ำ และถูกเอารัดเอาเปรียบ
อีมิล เดอร์ไคม์ (1893) อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของคือพฤติกรรมที่ควบคุมให้บุคคลมีระเบียบโดยการแลกสิ่งของและบริการ การแลกเปลี่ยนจึงเป็นการปฏิบัติทางสังคม มนุษย์จะมีสังคมได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับผู้อื่น เดอร์ไคม์ใช้รูปแบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยกสังคมชนเผ่าออกจากสังคมอุตสาหกรรม กล่าวคือ สังคมชนเผ่า คนแต่ละคนจะมีการผลิตของตัวเอง และมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของแบบเท่าเทียมกัน ในสังคมทุนนิยมจะมีการสร้างความชำนาญในการผลิต ดังนั้นคนแต่ละคนจะไม่สามารถผลิตสิ่งของได้เอง จึงต้องซื้อสิ่งของจากคนอื่น ความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบทุนนิยมจึงความแตกต่างทางฐานะ ซึ่งทำให้คนบางคนเกิดความแปลกแยก สังคมทุนนิยมจึงเป็นสังคมที่สร้างความสัมพันธ์ผ่านการทำสัญญา มิใช่การเป็นเครือญาติ เดอร์ไคม์ (1912) อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของในสังคมชนเผ่าเป็นการกระทำที่ศักดิ์สิทธิ์ ของกำนัลที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นสิ่งที่สร้างความเท่าเทียมให้กับสมาชิก
บรอนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ ศึกษาสังคมบนเกาะทรอเบี้ยน ในมหาสมุทรแปซิฟิก อธิบายถึงระบบการแลกเปลี่ยนของกำนัลที่เรียกว่า “กูลา” ซึ่งเป็นระบบการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนต่างวัฒนธรรม ผู้ที่เข้ารวมพิธีแลกเปลี่ยนของกำนัลหรือพิธีกูลาจะต้องเดินทางเป็นเดือนเพื่อไปพบกับเพื่อนบ้านที่อยู่เกาะอื่น ของกำนัลที่นำไปแลก ได้แก่ เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอย ของกำนัลนี้จะส่งต่อไปยังคนแต่ละคนเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิครอบครองของกำนัลเท่าเทียมกัน
ปัจจุบัน มีนักมานุษยวิทยาหลายคนศึกษาพิธีกูลาเพิ่มเติม และพบความซับซ้อนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน เพราะการแลกเปลี่ยนบ่งบอกถึงอำนาจ ฐานะ และชนชั้น คำอธิบายของมาลีนอฟสกี้ที่บอกว่าการแลกเปลี่ยนในพิธีกูลาคือความเท่าเทียมจึงไม่จริง เพราะพิธีกูลาสร้างความแตกต่างทางฐานะและไม่เท่าเทียม มาร์เซล มอสส์ โต้แย้งความคิดของมาลีนอฟสกี้ โดยเขียนหนังสือเรื่อง The Gift (1925) อธิบายว่าพิธีกูลาของชาวทรอเบี้ยนสะท้อนระบบการเมืองและสัญลักษณ์
การศึกษาของฟรานซ์ โบแอส อธิบายว่าพิธีพ็อตแลตช์เป็นการแลกเปลี่ยนอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน และของมีค่า เช่น ถัง สิ่งทอ เสื้อคลุม และจานที่ทำจากโลหะ พิธีพ็อตแลตช์จะเกิดขึ้นในงานแต่งงาน พิธีศพ และการเข้ารับตำแหน่งของหัวหน้าเผ่า การแลกเปลี่ยนสิ่งของจะเกิดขึ้นด้วยความโอบอ้อมอารีย์และการแข่งขัน เสื้อคลุมและถังจะเป็นวัตถุที่มีความสำคัญเพราะเป็นของบรรพบุรุษ เมื่อนำของเหล่านี้ไปให้ผู้อื่น จะทำให้ผู้นั้นสูญเสียมรดก มอสส์แยกความแตกต่างของการแลกเปลี่ยนของกำนัลเป็นสองประเภท คือ การแลกเปลี่ยนของเชิงพิธีกรรม และการแลกเปลี่ยนของเพื่อประโยชน์ใช้สอย ของที่ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างจะตกทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เช่น เสื้อคลุม หรือถัง ของเหล่านี้จะได้รับการดูแลอย่างดี
มอสส์เชื่อว่าของมีค่าเหล่านี้มี “พลัง” จะช่วยให้เกิดความกลมเกลียวและสัมพันธภาพระหว่างบรรพบุรุษ หัวหน้าปัจจุบัน และหัวหน้าเผ่าในอนาคต “พลัง” ในความคิดของมอสส์จะพบได้ในวัฒนธรรมเมารี ชาวเมารีจะมีความเชื่อเกี่ยวกับ “ฮาอู” หรือวิญญาณ ซึ่งจะมีอยู่ในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ชาวเมารีเชื่อว่าของกำนัลจะมีวิญญาณของผู้ให้สิงอยู่ “ฮาอู” จะสิงอยู่ในของกำนัล มอสส์อธิบายว่าวิวัฒนาการสังคมเริ่มจากระดับสังคมเร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ ต่อมาพัฒนาเป็นสังคมที่มีการแลกเปลี่ยนของกำนัล ต่อมาจะเป็นขั้นเศรษฐกิจแบบตลาดและสินค้า การแลกเปลี่ยนของกำนัล ผู้ให้ของยังคงมีความผูกพันกับของที่ให้ มอสส์เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนของกำนัลเป็นการกระทำเชิงศีลธรรม
ในปี ค.ศ.1949 เลวี่-สเตราสส์ได้อธิบายเรื่องการสร้างพรรคพวก และชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงคือของกำนัลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่ม เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่าการแต่งงานระหว่างกลุ่มมีการแลกของกำนัลเกิดขึ้น การแลกของกำนัลในที่นี่จะเป็นการสร้างพรรคพวกระหว่างพี่น้องชายของผู้หญิงกับฝ่ายสามี ผู้หญิงจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมีค่า เลวี่-สเตราสส์พยายามสร้างกฎและโครงสร้างสากลของการแต่งงาน และโต้แย้งความคิดของมอสส์โดยกล่าวว่าการแต่งงานมีโครงสร้างที่ชัดเจน การแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มสองกลุ่ม เป็นการที่ผู้ชายมอบน้องสาวหรือพี่สาวของตนให้กับผู้ชายที่มาจากกลุ่มอื่นเพื่อไปเป็นภรรยา การแลกเปลี่ยนแบบนี้เรียกว่า “การแลกแบบมีขอบเขต” กลุ่มสองกลุ่มจะยึดประเพณีการแลกเปลี่ยนนี้ไปตลอด ส่วนการแลกเปลี่ยนแบบเปิด เป็นการแลกเปลี่ยนกับคนหลายกลุ่ม เช่นการแลกของกำนัลในพิธีกูลาส่วนการแต่งงานแบบเปิด จะเป็นการแลกผู้หญิงระหว่างกลุ่มหลายกลุ่ม ไม่มีการชี้ชัดว่ากลุ่มใดควรแลกผู้หญิงกับกลุ่มใด การแลกเปลี่ยนแบบเปิดกว้างจะทำให้เกิดการแตกต่างทางฐานะระหว่างผู้ให้กับผู้รับ
เลวี่-สเตราสส์ กล่าวว่าการแลกเปลี่ยนมีระบบที่ชัดเจน การแลกเปลี่ยนเกิดมาจากความต้องการวัตถุสิ่งของของมนุษย์ ความต้องการในการแต่งงานคือ ความอยากมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง เลวี่-สเตราสส์คิดว่าการแลกเปลี่ยนผู้หญิงคือที่มาของวิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยน ความคิดของเลวี่-สเตราสส์ เชื่อว่าระบบเครือญาติและสังคมชนเผ่าเกิดขึ้นจากโครงสร้างของการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศและมีประโยชน์เพื่อการสืบพันธุ์เพียงอย่างเดียว เฟมินิสต์จึงออกมาโต้แย้งเลวี่-สเตราสส์
คาร์ล โพลันยีอธิบายว่าในสังคมชนเผ่า ชีวิตทางสังคมมิได้เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจทั้งหมด โพลันยีเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนวัตถุเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับเครือญาติ กลุ่มเพื่อน และพันธมิตรทางการเมือง โพลันยีกล่าวว่าทุกสังคมจะมีระบบเศรษฐกิจแบบเก็บผลผลิตและแจกจ่าย รูปแบบการเก็บภาษีและการค้า ล้วนมีพื้นฐานมาจากการเก็บผลผลิตและแจกจ่าย ในสังคมขนาดเล็ก หัวหน้าเผ่าจะมีฐานะร่ำรวยโดยการได้รับของบรรณาการจากชาวบ้าน อาหารและวัตถุสิ่งของที่อยู่ในการครอบครองของหัวหน้าจะถูกแจกจ่ายไปยังเครือญาติและคนอื่น ๆ โดยผ่านพิธีกรรม งานเลี้ยง หรือการชุมนุมทางสังคม การแลกเปลี่ยนและแจกจ่ายผลผลิตคือระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคมชนเผ่า
ซาลินส์(1958) ศึกษาชนเผ่าในหมู่เกาะโพลินีเซียน อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนวัตถุมีสามลักษณะ คือแลกเปลี่ยนแบบทั่วไป แลกเปลี่ยนแบบสมดุล และแบบเสียเปรียบ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบเครือญาติ ซาลินส์อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนแบบสมดุลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่จะแลกเปลี่ยนด้วยต้องไม่อยู่ไกลเกินไป ส่วนการแลกเปลี่ยนแบบเสียเปรียบจะเกิดขึ้นในระบบการค้า ซาลินศ์กล่าวว่าสังคมชนเผ่าต่างจากสังคมสมัยใหม่ เพราะสังคมชนเผ่ามีระบบการผลิตแบบครัวเรือน การผลิตและการแลกเปลี่ยนสิ่งของจะเกิดขึ้นตามอายุและวัยของเครือญาติ ซาลินส์ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของชนเผ่าเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมต่างจากสังคมตะวันตกที่ขึ้นอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์
พอล โบฮันเน็น(1955) อธิบายระบบเศรษฐกิจของชาวทีฟในเขตไนจีเรีย ซึ่งประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งของและการแจกจ่ายผลผลิต วัตถุสิ่งของต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนค่าได้จากของยังชีพไปเป็นของมีค่า เช่น วัว ผ้า จะกลายเป็นของมีค่าที่ใช้เป็นสินสอดให้เจ้าสาว เมื่อยามสงคราม ของมีค่าก็อาจนำไปแลกหรือขายต่อเพื่อซื้ออาหาร ในบางสถานการณ์ เงินอาจเข้ามาแทนที่ทรัพย์สมบัติ วัตถุทางวัฒนธรรมอาจกลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ในชนเผ่าหลายเผ่า เช่น มาไซ, ฟูลานี และกูโร่ สมบัติที่มีค่าที่สุดคือวัว ซึ่งสามารถนำมาขายได้
David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.1060-1067.
Graeber, David 2001. Toward an Anthropological Theory of Value: The false coin of our own dreams. New York: Palgrave.
Parry, Jonathan 1986. "The Gift, the Indian Gift and the 'Indian Gift'". Man 21 (3): 464.