คำศัพท์

Anthropology of Tourism

         การท่องเที่ยวในมิติมานุษยวิทยา สนใจรูปแบบและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อมนุษย์และชุมชนท้องถิ่น  ในแง่ของรูปแบบ จะเป็นการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว การจัดการท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว ในแง่ของผลกระทบ จะเป็นการศึกษาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในชุมชนท้องถิ่นในมิติต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การทำมาหากิน วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในกิจกรรมท่องเที่ยว บุคคลที่สำคัญคือนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอาจหมายถึงบุคคลที่ใช้ “เวลาว่างชั่วคราว” เพื่อที่จะเดินทางไปยังที่ต่างๆซึ่งไม่ใช้บ้านของตนเอง เพื่อพบกับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม    เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆซึ่งห่างไกลจากบ้านของตน เขาจะกลายเป็นคนแปลกหน้า แต่มิใช่คนอพยพ หรือคนย้ายถิ่นฐาน  แต่นักท่องเที่ยวมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนที่อยู่จากบ้านของตนเองไปอยู่ในที่ใหม่ เช่น โรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์    

          นักท่องเที่ยวแตกต่างจากผู้อพยพ หรือคนย้ายถิ่น  นักท่องเที่ยวเป็นผู้ที่มีการเคลื่อนย้ายในลักษณะชั่วคราว แต่การท่องเที่ยวก็คล้ายกับการเดินทางไปแสวงบุญ หรือการหาความสนุกสนาน   วิคเตอร์ และอีดิธ เทอร์เนอร์ กล่าวว่านักท่องเที่ยวคล้ายกับนักแสวงบุญ ถ้าหากการแสวงบุญเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว  คำอธิบายนี้ตอกย้ำว่านักท่องเที่ยวคือผู้ที่เคลื่อนย้ายตัวเองไปในที่ต่างๆและได้รับบางสิ่งตอบแทน  การท่องเที่ยวในแง่นี้จึงเป็นทั้งการเดินทางและวันพักผ่อน คล้ายกับการประกอบพิธีกรรมในช่วงที่ว่างจากงาน เช่นเดียวกับพิธีทางศาสนาซึ่งจะมีวันศักดิ์สิทธิ์ การท่องเที่ยวจึงมีลักษณะคล้ายปรากฏการณ์ทางศาสนา   คำอธิบายของเทอร์เนอร์ได้ตรวจสอบโครงสร้างในชีวิต ซึ่งประกอบด้วยสภาพที่เป็นปกติกับผิดปกติ คำอธิบายนี้นักมานุษยวิทยาคุ้นเคยมานานแล้ว เช่นการศึกษาการบูชายัญของฮิวเบิร์ต และมอสส์ การศึกษาพิธีกรรมเปลี่ยนสถานภาพของแวน เก็นเน็บ และการศึกษาโครงสร้างของเวลาของลีช ซึ่งเทอร์เนอร์นำความคิดนี้มาอธิบายเรื่องพิธีกรรม

          การศึกษาของเนลสัน เกรเบิร์น อธิบายมนุษย์ถูกควบคุมให้อยู่ในระเบียบของเวลา การทำงานจะถูกแยกออกจากเวลาพักผ่อนในช่วงสั้นๆ  ในสังคมประเพณีเวลาแบบนี้คือเวลาทางศาสนา  ส่วนในสังคมอื่นๆเวลานี้อาจเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องธรรมชาติ  สุขภาพ หรืออิสรภาพ  หากเปรียบเทียบกับการแสวงบุญ จะพบว่านักแสวงบุญก็คล้ายกับนักท่องเที่ยว ซึ่งออกเดินทางจากบ้านไปยังที่ต่างๆ  การดำรงอยู่ของคุณลักษณะของศาสนาในการท่องเที่ยวในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียด และต้องเปรียบเทียบว่าการท่องเที่ยวกับการแสวงบุญต่างกันอย่างไร

          ส่วนการพักผ่อนเป็นกิจกรรมปกติของมนุษย์ ซึ่งมิใช่การทำงาน แต่การเล่นสนุกเป็นเรื่องที่ผ่อนคลาย  ต่างจากเวลาทำงานในชีวิตประจำวันที่เคร่งเครียด   ฮุยซิงกาเรียกมนุษย์ว่าเป็นผู้ที่ชอบสนุก (homo luden) เขากล่าวว่าการเล่นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นนอกเวลางาน แต่อาจเกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังระหว่างมนุษย์  เทอร์เนอร์เรียกสภาวะนี้ว่า communitas  นักท่องเที่ยวจะมีความรู้สึกเดียวกันว่าตนเองสนุกสนาน และอยู่นอกเวลาทำงานปกติ  อาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ของการท่องเที่ยวเหมือนกับการเล่นสนุก เล่นเกมส์ การพักผ่อน การประกอบพิธีกรรม และ กิจกรรมอื่นๆที่อยู่นอกระเบียบ กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้พบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์

          การท่องเที่ยว คล้ายกับพิธีกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งมีส่วนประกอบ 2 อย่าง คือ การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในครอบครัว เช่น การที่สมาชิกในครอบครัวมาพบกันในวันคริสต์มาส หรือวันชาติ หรือการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในฤดูร้อน  อีกส่วนหนึ่งคือ การท่องเที่ยวยังมีลักษณะที่คาดเดาไม่ได้ เหมือนกับสภาวะเปลี่ยนผ่าน  การท่องเที่ยวจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของบุคคล การจบการศึกษา การแต่งงาน การหย่าร้าง การเปลี่ยนอาชีพ หรือการเกษียณอายุการทำงาน   การท่องเที่ยวจึงดำเนินควบคู่ไปกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์ เช่น วันคริสต์มาส วันขอบคุณพระเจ้า วันถือศีล  นอกจากนั้น การท่องเที่ยวยังอาจเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเดินทางไปแสวงบุญในวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวอินเดียน หรือชาวอิสลาม

          การศึกษาของดีน แม็คแคนเนลล์ ใช้แนวคิดดังกล่าวนี้มาอธิบายการท่องเที่ยวสมัยใหม่  การศึกษาของเขาเรื่อง The Tourist : A New Theory of the Leisure Class (1989) และเรื่อง Empty Meeting Grounds : The Tourist Papers(1992) ใช้แนวคิดมาร์กซิสต์ และ semiotics มาอธิบายการท่องเที่ยว เขากล่าวว่าการท่องเที่ยวสมัยใหม่เป็นการค้นหา “ความจริงแท้ดั้งเดิม” (authenticity)  คนชั้นกลางจะมีความรู้สึกว่าพวกเขาขาดบางสิ่งบางอย่างไปเพราะต้องอาศัยอยู่ในเมือง และถูกโทรทัศน์ครอบงำ   แม็คแคนเนลล์อธิบายว่าการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนการประกอบพิธีกรรมเพื่อทำให้สังคมแตกต่างไปจากเดิม  การท่องเที่ยวจะใช้วัฒนธรรมเป็นตัวแสดง  นักท่องเที่ยวจึงคล้ายนักแสวงบุญซึ่งต้องการบางสิ่งบางอย่างจากการเดินทาง  สังคมสมัยใหม่จึงอยากได้สิ่งที่เป็นของเก่าๆ เช่น ชนบท ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ของแปลกๆ และธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของความจริงแท้ดั้งเดิม ซึ่งจะถูกหมายปอง ถูกเก็บรักษา ถูกแยกไว้ และถูกสรรเสริญจากนักท่องเที่ยว

          แม็คแคนเนลล์ ชี้ว่าผู้ที่สร้างวัฒนธรรมต้องการให้มีสิ่งนี้ และต้องสร้างสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ศูนย์วัฒนธรรมโพลินีเซียนในฮาวาย  หรือโรงถ่ายภาพยนตร์ของยูนิเวอร์แซล ที่มีสิ่งของบ่งบอกถึงความดั้งเดิมให้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวแวะมาชม โดยเสียเงินแลกเปลี่ยน  อาจกล่าวได้ว่า นักท่องเที่ยวจะถูกหลอก เมื่อพวกเขาคิดว่ามันเป็นของจริงแท้ดั้งเดิม  ในทางตรงข้าม นักท่องเที่ยวรู้ว่าสิ่งต่างๆถูกสร้างไว้เป็นพิเศษเพื่อพวกเขา และเริ่มสำรวจดูเบื้องหลังว่ามันสร้างมาได้อย่างไร พวกเขาหวังว่าจะพบเจอสังคมที่ “แท้จริง” ซึ่งมันกำลังถูกกระทำต่างๆนานา

          การศึกษาของแม็คแคนเนลล์ และการศึกษาของวาลีน สมิธ เป็นการวางรากฐานให้กับนักมานุษยวิทยาในการศึกษาเรื่องการท่องเที่ยว     นักสังคมวิทยาอีริค โคเฮน แนะนำว่านักท่องเที่ยวในความหมายของแม็คแคนเนลล์มีลักษณะเป็นหุ่น  แต่นักท่องเที่ยวอาจมีลักษณะแตกต่างกันได้     คำว่า “นักท่องเที่ยว”  อาจหมายถึงผู้ที่ต้องการความแตกต่าง หรือความเปลี่ยนแปลง หรืออาจหมายถึงผู้ที่ต้องการค้นหาความจริงแท้ดั้งเดิม หรือการผจญภัย  หรืออาจหมายถึงผู้ที่เชื่อว่าจิตวิญญาณมีอยู่ในที่ต่างๆ แต่ไม่อาจหาได้ในชีวิตการทำงาน  ข้อคิดเห็นของโคเฮนทำให้ความหมายของนักท่องเที่ยวกับความหมายนักแสวงบุญเหมือนกัน กล่าวคือทั้งคู่เป็นพวกที่อพยพ ซึ่งต่างไปจากความคิดของแม็คแคนเนลล์    นักท่องเที่ยวจึงเป็นผู้ที่ต้องการความแตกต่างเช่น อาจพอใจกับดีสนีย์แลนด์ หรือการไปพักร้อนในที่ต่างๆ  ซึ่งพวกเขาเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ มากกว่าที่จะมองหาความจริงแท้ดั้งเดิม

          โคเฮน กล่าวว่า ธรรมชาติของความจริงแท้เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาทางวัฒนธรรม และถูกเชื่อในหมู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่งเป็นหวงเป็นใยต่อประวัติศาสตร์รากเหง้าที่แท้จริง   ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจไม่สนใจสิ่งนี้ เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งบันเทิง และเติมเต็มความต้องการเท่านั้น  โคเฮนและแคมป์เบลล์ วิเคราะห์ว่าวันหยุดพักของคนขับรถ ไม่มีความหมายเหมือนกับที่แม็คแคนเนลล์อธิบายไว้ เพราะมันเป็นความคิดแบบชนชั้นกลาง แต่คนขับรถเป็นพวกที่ใช้แรงงาน 

          การศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ อธิบายว่านักท่องเที่ยวคือชาวตะวันตก ถึงแม้ว่าลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจะมิใช่ชาวตะวันตกก็ตาม  นักมานุษยวิทยาสนใจการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม และดูบริบทประวัติศาสตร์   การศึกษาชิ้นแรกที่มีการเปรียบเทียบการท่องเที่ยวในตะวันตก กับสังคมนอกตะวันตก ชี้ให้เห็นปัญหาของการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง ความทันสมัยที่มีอยู่ในการท่องเที่ยวกับ ความล้าสมัยที่มีอยู่ในการแสวงบุญ ในกรณีของประเทศอินเดีย ศรีลังกา เม็กซิโก และญี่ปุ่น  การศึกษาของกราเบิร์น ชี้ให้เห็นความแตกต่างของระบบการท่องเที่ยวแบบพื้นเมืองที่พบในญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากตะวันตก    การท่องเที่ยวในมิติประวัติศาสตร์ไม่ได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาเท่าใดนัก แต่ก็เป็นประเด็นที่สำคัญ    ในสังคมตะวันตก การท่องเที่ยวเจริญก้าวหน้าและพ้นขอบเขตของการแสวงบุญ  การใช้ชีวิตประจำวัน การศึกษา และการเมือง   ในสังคมอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 การท่องเที่ยวตะวันตกเป็นเรื่องซับซ้อนและสำคัญมากสำหรับขุนนาง พวกเขาต้องการเดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมที่อยู่ในกรุงโรม และปาดัว  การเดินทางจะมีเป็นประจำ เมื่อชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รูปแบบการเดินทางจึงเปลี่ยนไป จากเดิมที่เดินทางไปเพื่อศึกษาหาความรู้ก็เปลี่ยนเป็นการไปชมของแปลกๆ  ในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม  การท่องเที่ยวธรรมชาติจะเริ่มเป็นที่นิยมมาก

          เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การท่องเที่ยวเริ่มเปิดเสรีมากขึ้น มวลชนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ และศูนย์เรียนรู้สาธารณะมากมาย     โธมัส คุก รัฐมนตรีที่ริเริ่มให้ก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่เพื่อเปิดเส้นทางนำคนจนออกไปสู่ชนบท  คุกทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องการค้าและเข้าถึงมวลชน พร้อมกับสร้างเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับการท่องเที่ยว สร้างตารางวันเวลาท่องเที่ยว การจองที่พัก  และระบบการเงินสำหรับนักท่องเที่ยว  ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการพัฒนาที่สำคัญ 2 อย่าง คือ รถยนต์ที่ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย และเครื่องบินโดยสารที่พัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

          นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาการท่องเที่ยว เริ่มมองเห็นผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อโลกที่สามและสี่    จอห์น เอ็ม บรีดอน นักเศรษฐศาสตร์ อธิบายว่าผลกำไรที่คาดหวังได้จากการท่องเที่ยวจะไม่คุ้มกับสิ่งที่การท่องเที่ยวสร้างไว้ให้  นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาการท่องเที่ยวในระยะหลังยอมรับว่า คนพื้นเมืองที่เขาทำงานด้วยได้พบกับนักท่องเที่ยว  คนพื้นเมืองเหล่านี้คิดว่านักมานุษยวิทยาก็คือนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้นักวิชาการตะวันตกไม่อยากศึกษาวิจัยว่าชีวิตคนพื้นเมืองเป็นการแสดงละครให้นักท่องเที่ยวดู  ปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลก และมีเงินหมุนเวียนเกือบ 400 ล้านดอลล่าส์ต่อปี  สถานที่ต่างๆจึงกลายเป็นที่สำหรับการท่องเที่ยว การวิจัยมิติทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นตามมา

          บทความของแนช เรื่อง Tourism as a Form of Imperialism สะท้อนประเด็นทางมานุษยวิทยา โดยกล่าวว่าการท่องเที่ยวคือการทำลายล้างชีวิตคนจนและคนโลกที่สามโดยน้ำมือของคนเมืองที่ร่ำรวย  การท่องเที่ยวแบบนี้เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาพบเจอ และส่งผลเสียตามมา เช่น  ชาวบ้านจะกลายเป็นคนรับใช้ให้การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในสังคมที่มีความแตกต่างทางฐานะ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือชนชั้นปกครอง และคนภายนอก   ชุมชนจะสูญเสียทรัพยากรและพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งเสียทักษะทางสังคมและเศรษฐกิจชุมชน    ชาวบ้านจะกลายเป็นผู้แสดงละครเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสิ่งแปลกๆตามจินตนาการของพวกเขา ชาวบ้านจะนำวัตถุทางวัฒนธรรมมาขายแลกกับเงิน   ชาวบ้านจะพบคนภายนอกในช่วงที่เป็นวันหยุด  แต่ชาวบ้านจะถูกโฆษณาในภาพลบว่าเป็นโสเภณี หรือคนหยาบช้า     การท่องเที่ยวเพื่อมวลชน เป็นเรื่องของการค้า เป็นความโง่ และความโก้เก๋ แต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และทำลายสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

      การศึกษาการท่องเที่ยวพยายามทำความเข้าใจต่อประเด็นข้างต้น และยังชี้ให้เห็นว่าผลกำไรทางเศรษฐกิจอาจมีมากขึ้น ถ้าคนในท้องถิ่นจะช่วยป้องกันผลกระทบต่างๆ ผลดีก็อาจเกิดขึ้น ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายให้ศึกษาวิจัย   สิ่งที่ถูกตำหนิติเตียนเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนก็คือ นักท่องเที่ยวทำให้วัตถุในชุมชนเป็นของซื้อขาย  ชุมชนถูกรุกรานด้วยเส้นทางคมนาคมและการสื่อสาร คนชนบทอพยพเข้าเมือง เพื่อเรียนหนังสือ และประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้น  ผู้ปกครองต้องพบกับคำถามที่ว่า  ถ้าการท่องเที่ยวไม่ส่งผลเสีย ระบบเศรษฐกิจสังคมจะเป็นอย่างไรบ้าง

       เมื่อของที่ระลึกเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ  งานศิลปะ งานฝีมือ หัตถกรรมของชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบบ้าง  แต่การท่องเที่ยวก็ยังช่วยให้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้รับความนิยม ทำให้ชุมชนเกิดความภูมิใจ ชุมชนมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น และสร้างสรรค์การแสดงเต้นรำ ฟ้อนรำต่างๆ   การท่องเที่ยวอาจทำให้คนหันมาสนใจชนกลุ่มน้อย หรือสภาพแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายไปเนื่องจากความทันสมัย  การท่องเที่ยวยังทำให้เกิดเกิดความเคารพ และอนุรักษ์สิ่งที่ดีงามต่างๆ   ภูมิภาคต่างๆของโลก  เช่นเขตกันดาร ชนบท และชายฝั่งของประเทศอุตสาหกรรมในตะวันตก และญี่ปุ่น การท่องเที่ยวคือเครื่องมือสำหรับการขจัดภัยพิบัติร้ายแรงโดยความร่วมมือจากเยาวชนที่สังคมทิ้งขว้าง

      ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะกำจัดผลเสียจากการท่องเที่ยวโดยการพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   ความตื่นตัวในทางเลือกใหม่ๆ เห็นได้จากประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกต่อต้านเรื่องเซ็กซ์ทัวร์   ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีความหวังว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวแบบหยั่งยืน (sustainable tourism)  เพื่อทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมคงอยู่ได้นานๆ หรือเก็บรักษาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม   ถ้าการท่องเที่ยวคือการเดินทางเพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่  เช่น การใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นในบ้านแบบตะวันตก ชาวตะเอเชียกินอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกัน  หรือชาวอเมริกันกินอาหารญี่ปุ่น อาหารไทย อาหารอินเดีย   การหลอมรวมเข้าด้วยกันเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากสามารถท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ซึ่งรองรับวัฒนธรรมบริโภค   การท่องเที่ยวจึงเป็นเหมือนสินค้าที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้จินตนาการ ความฝัน และสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Burns PM. 1999. An Introduction to Tourism and Anthropology. London: Routledge.

Chambers E. 1999. Native Tours: The Anthropology of Travel and Tourism. Prospect

Heights, IL: Waveland.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1316-1319

Hall CM. 1994. Tourism and Politics: Policy, Power and Place. West Sussex, UK: Wiley.

Nash D. 1996. Anthropology of Tourism. New York: Pergamon.

Stronza, Amanda. 2001. Anthropology of Tourism: Forging New Ground for Ecotourism and Other Alternatives. Annual Review of Anthropology. 2001. 30:261–83.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาการท่องเที่ยว