คำศัพท์

Rite of Passage

        พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rite of Passage) เป็นคำที่นักคติชนชาวชาวฝรั่งเศส อาร์โนลด์ แวน เก็นเน็ปใช้อธิบายการกระทำที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง  จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง  การหมุนเวียนของวัฎจักรในรอบปี หรือ การเปลี่ยนสถานะของบุคคล  ความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีเปลี่ยนสถานะมีความสำคัญมากในพิธีกรรม  สิ่งแรกที่เก็นเน็ปสนใจก็คือ แบบแผนการปฏิบัติ พิธีการเปลี่ยนสถานะประกอบด้วยช่วงเวลาที่ต่างกัน 3 ช่วง คือ ช่วงที่หนึ่งคือการแยก  ช่วงที่สองคือการเปลี่ยน และช่วงที่สามคือกลับมารวมกันใหม่  ในพิธีกรรมการเปลี่ยนสถานภาพ บุคคลจะถูกแยกจากตัวตนและสภาพแวดล้อมเดิม เพื่อเข้าสู่พิธีเปลี่ยนสถานะทางสังคมโดยใช้สัญลักษณ์เป็นเครื่องมือสื่อความหมาย  และสุดท้ายบุคคลจะถูกนำไปอยู่ในกลุ่มใหม่ หรือมีสถานะใหม่  

         เก็นเน็ปเชื่อว่าการเคลื่อนย้ายพรมแดนทางกายภาพ เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนสถานะและเป็นอุปมาอุปมัยที่มีพลังของการเปลี่ยนสถานะของคนในสังคม    กล่าวคือในเชิงรูปธรรม พิธีกรรมคล้ายกับประตู แต่ละพิธีกรรมจะมีการแสดงออกที่ต่างกัน   ธรณีประตูจะถูกพรมด้วยเลือด หรือน้ำบริสุทธิ์  เสาประตูจะถูกชะโลมด้วยเลือดหรือน้ำหอม  วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์จะถูกแขวนไว้บนเสาประตู    พิธีเปลี่ยนสถานะจึงเป็นการอุปมาอุปมัยทางสังคม  ช่วงเวลาที่ต่างกัน 3 ช่วง อาจมีชื่อเรียกต่างกัน คือช่วงที่หนึ่งเรียก preliminal  ช่วงที่สอง เรียก liminal และช่วงที่สามเรียก postliminal   คำว่า liminal มาจากคำว่า limen ในภาษาลาติน หมายถึงพรมแดน หรือธรณีประตู    เก็นเน็ปอธิบายว่าโครงสร้างสังคมอาจเปรียบเสมือนโครงสร้างของสถาปัตยกรรม  สังคมคล้ายกับบ้านที่ประกอบด้วยห้องและระเบียง   ในยุคที่สังคมยังล้าหลัง ส่วนประกอบยังกระจัดกระจาย  การเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งจะต้องมีพิธีกรรมที่ชัดเจน

          พิธีเปลี่ยนสภานภาพในมุมมองทางมานุษยวิทยาอาศัยความคิดของเก็นเน็ป  เช่น การศึกษาของเจมส์ เฟรเซอร์ เรื่อง Golden Bough อธิบายพิธีกรรมหลายชนิด เช่น พิธีกรรมที่หมุนเวียนในรอบปี    การศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ เรื่อง The Andaman Islanders เป็นการวิเคราะห์หน้าที่ทางสังคมของพิธีเปลี่ยนสถานะ เช่น พิธีศพ   แนวคิดเกี่ยวกับพิธีเปลี่ยนสถานภาพ  ทำให้การศึกษาเรื่องพิธีกรรมต่างๆอยู่ภายใต้กรอบคิดเดียวกัน  แนวคิดของเก็นเน็ปในการศึกษาพิธีเปลี่ยนสถานภาพนอกจากจะเกี่ยวกับเรื่องพิธีในรอบปี หรือการเปลี่ยนพื้นที่แล้วยังเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเกิด การเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ การเข้าสู่พิธีแต่งงาน พิธีศพและความตาย ซึ่งพิธีเหล่านี้พบได้ในสังคมขนาดเล็ก   การใช้ทฤษฎีเปลี่ยนสถานภาพมาวิเคราะห์พิธีกรรม อาจดูได้จากการปฏิบัติในพิธีกรรมนั้น  เก็นเน็ปกล่าวว่าพิธีเปลี่ยนสถานภาพเกิดขึ้นได้ทุกสังคม และทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องพิสูจน์

        เมเยอร์ ฟอร์เตสพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับพิธีเปลี่ยนสถานภาพ โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประการ คือ 1.พิธีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องทางกายภาพ ซึ่งถูกนิยามจากสังคม 2. การเปลี่ยนสถานะจะถูกควบคุมด้วยพิธีกรรม 3. พิธีเปลี่ยนสถานะมีมาตรฐานเดียวกัน   ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการศึกษาพิธีเปลี่ยนสถานภาพเกิดขึ้นมากมาย  โดยเป็นการวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมซึ่งสะท้อนชีวิตทางสังคมของกลุ่มคน   ตัวอย่างเช่น การศึกษาของออเดรย์ ริชาร์ด เรื่องพิธีย่างเข้าสู่วัยสาวของชนเผ่าแบมบ้าในประเทศแซมเบีย  และการศึกษาของกิลเบิร์ต เฮิร์ต เรื่องพิธีย่างเข้าวัยหนุ่มของชนเผ่าแซมเบียในปาปัวนิวกินี 

          นักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่าแนวคิดของเก็นเน็ปคือแบบจำลองเพื่ออธิบายระเบียบทางสังคม  แนวคิดดังกล่าวอธิบายว่าพิธีเปลี่ยนสถานภาพ คือการเรียนรู้ที่จะรักษากฎระเบียบ หรือเปลี่ยนกฎระเบียบในสังคมนั้นๆ   แมรี ดักลาสกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆก็ตามถูกมองว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้สถานภาพของบุคคลคลุมเคลือ     ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน หรือ liminal เป็นช่วงเวลาตรงกลางคือช่วงที่สำคัญ     ดักลาสกล่าวว่าระหว่างช่วงเวลาที่อยู่ชายขอบ เป็นช่วงที่อยู่ตรงกลางระหว่างความตายกับการเกิดใหม่  บุคคลที่จะเปลี่ยนสถานภาพจะถูกแยกออกมา ช่วงเวลานี้บุคคลจะไม่มีพื้นที่ทางสังคม

          ในช่วงเปลี่ยนผ่าน  บุคคลจะถูกปลดเปลื้องสถานะ คนจะมีสภาพเดียวกัน อาจเรียกช่วงเวลานี้ว่าช่วง Communitas คือเวลาที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ต่างกัน และไม่มีโครงสร้างทางสังคม เป็นช่วงที่ทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมสมบูรณ์มากขึ้น   วิคเตอร์ เทอร์เนอร์เชื่อว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน คือช่วงสำคัญของพิธีกรรม ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย และทำให้เกิดบรรยายกาศแบบ communitas  ดังเช่นลัทธิพระศรีอารย์  การปกครองแบบคอมมูน และนิยายเชิงอุดมคติ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Robert H. Winthrop, 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology, Greenwood Press, New York,pp.242-244.

Turner, Victor 1967. "Betwixt and between: the liminal period in rites de passage". Forest of symbols: aspects of the Ndembu ritual. Ithaca: Cornell University press.

Turner, Victor W. 1969. The Ritual Process. Penguin.

Van Gennep, Arnold 1909. Les rites de passage (in French). Paris: Émile Nourry. Lay summary – Review by Frederick Starr, The American Journal of Sociology, V. 15, No. 5, pp 707-709 (March 1910).


หัวเรื่องอิสระ: พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน