คำศัพท์

Ritual

      พิธีกรรม คือ การแสดงออกทางสังคมที่ถูกจัดระเบียบอย่างมีแบบแผนและมีความหมาย   มีการกำหนดกฎเกณฑ์ และขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน  เพื่อใช้แสดงออกถึงความคิด   พิธีกรรมเป็นเรื่องทางสังคม มิใช่เรื่องส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง   พิธีกรรมจะช่วยบอกเล่าว่าสังคมควรจะเป็นอย่างไร และคนในสังคมจะประพฤติตัวอย่างไร  ในความหมายกว้าง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อจะมีการเล่าถึงตำนาน  ถ้าเกี่ยวกับข้อห้ามจะเป็นเรื่องของการมีกฎบังคับ เอ็ดมันด์ ลีช อธิบายว่าพิธีกรรมคือภาพสะท้อนชีวิตทางสังคม เป็นวิธีการสื่อสารและภาพสะท้อนของการกระทำต่างๆในสังคม ซึ่งทำให้บุคคลมีสถานะและบทบาทที่ชัดเจน    เอส พี นาเกนดรา กล่าวว่าพิธีกรรมคือการกระทำเชิงสัญลักษณ์ซึ่งอยู่นอกเหนือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน

       ปีเตอร์ ลอมบาร์ด นักศาสนวิทยาในยุคกลางอธิบายว่าความศักดิ์สิทธิ์ คือสัญลักษณ์ที่มีอยู่ในวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ และมองเห็นได้ด้วยการสวดมนต์     มาร์ติน ลูเธอร์ อธิบายว่าความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่จับต้องได้  ในคำอธิบายเชิงจิตวิทยาเชื่อว่าศรัทธาเป็นเรื่องของจิตใจที่บุคคลยอมอุทิศตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการกระทำและสัญลักษณ์โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา   คู่ตรงข้ามระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติ หรือ ประสบการณ์ทางจิตกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอก นำไปสู่การศึกษาพิธีกรรมที่โน้มเอียงไปสู่เรื่องการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามนี้ในเวลาต่อมา

           นักมานุษยวิทยาอธิบายความหมายของพิธีกรรมแตกต่างกันไปตามกรอบความคิดทฤษฎี เช่น การเล่ารายละเอียดของพิธีกรรมเป็นข้อมูลพื้นฐานของสังคมนั้น  พิธีกรรมเป็นภาพสะท้อนความคิดของสังคมที่ล้าหลัง พิธีกรรมเป็นเครื่องมือทางสังคมเพื่อทำให้สมาชิกรักใคร่กลมเกลียวกัน  และพิธีกรรมอาจเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความเข้าใจสัญลักษณ์ทางสังคม

        ในทศวรรษที่ 1930 การศึกษาทางมานุษยวิทยาในอเมริกาให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลภาคสนามในชุมชนต่างๆ  นักมานุษยวิทยาคิดว่าพิธีกรรมคือแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม โดยใช้แนวคิดเรื่อง “การแพร่กระจาย” และ “การอพยพ” มาอธิบายความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเป็นการศึกษาในชุมชนพื้นเมืองอินเดียน    ตัวอย่างเช่น การศึกษาของฟรานซ์ โบแอซ ได้เปรียบเทียบพิธีกรรมของชนเผ่าต่างๆในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา  การศึกษารายละเอียดของพิธีกรรม ทำให้เห็นภาพวัฒนธรรมที่คล้ายๆกัน เช่น การเต้นรำวิญญาณ การเต้นรำพระอาทิตย์ 

        นักมานุษยวิทยาค้นพบข้อแตกต่างระหว่างพิธีกรรมกับการทำงาน  โดยพยายามวิเคราะห์ด้วยทฤษฎี   เช่นเรื่องระบบเหตุผล  มีการอธิบายว่าพิธีกรรมคือการกระทำที่ไม่มีเหตุผล     ความคิดนี้เกิดขึ้นจากแนวทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยวิคตอเรีย ซึ่งนักมานุษยวิทยานำมาใช้อธิบายความแตกต่างทางวัฒนธรรม    พฤติกรรมของมนุษย์จะถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากการใช้สติปัญญา

        พิธีกรรมถูกเชื่อว่าเป็นผลผลิตของชีวิตทางสังคม มิใช่เป็นความโง่เขลา  การศึกษาพิธีกรรมต้องเข้าใจแบบแผนของความสัมพันธ์และความคิดที่เชื่อมโยงสมาชิกในสังคมให้อยู่ด้วยกันได้     นักศาสนวิทยาชื่อ โรเบิร์ตสัน สมิธเป็นผู้นำในการอธิบายพิธีกรรมในความหมายนี้ โดยทำการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมของชาวเซเมติกในยุคโบราณ  และพบว่าพิธีกรรมช่วยให้สมาชิกในสังคมกลมเกลียวกัน  แนวคิดของสมิธช่วยให้เกิดความเข้าใจพิธีกรรมและศาสนาในมิติทางสังคม  เดอร์ไคม์ เชื่อว่าสังคมดำรงอยู่ได้ด้วยพิธีกรรม  ความเชื่อในสังคมจะถูกแสดงออกมาในช่วงเวลาต่างๆโดยผ่านเรื่องราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์   ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นศีลธรรม พิธีกรรมจึงเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ของสังคม  


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alexander, Jeffrey C., Bernhard Giesen, and Jason L. Mast 2006    Social performance: symbolic action, cultural pragmatics, and ritual. Cambridge: Cambridge University Press.

Bell, Catherine M. 1992    Ritual theory, ritual practice. Oxford: Oxford University Press.

Kertzer, David I. 1988    Ritual, politics, and power. New Haven: Yale University Press.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.245-249.


หัวเรื่องอิสระ: พิธีกรรม