คำศัพท์

Shamanism

        Shamanism หมายถึง ลัทธิบูชาอำนาจของผู้วิเศษ เป็นระบบความเชื่อเชิงศาสนาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ที่มีอำนาจวิเศษจะเป็นผู้ทำการติดต่อระหว่างมนุษย์กับอำนาจวิญญาณเพื่อให้ช่วยเหลือในกรณีต่างๆ   การติดต่อกับอำนาจวิเศษนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤตหรือได้รับความเจ็บป่วย  ผู้ที่มีอำนาจวิเศษจะติดต่อกับวิญญาณโดยการประกอบพิธีกรรมซึ่งเต็มไปด้วยอันตราย ผู้ทำหน้าที่นี้จึงต้องฝึกฝนตนเองให้มีศีลธรรม อดทน เข้มแข็ง  มีความรู้ความชำนาญ ในเรื่องวัตถุพิธีกรรมคาถา

        ในตำนานของชาวชุคชี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย  ผู้มีอำนาจวิเศษชื่อ  แอตตีจิตกี สามารถเอาชนะคู่แข่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ ท้องฟ้า ทะเล รุ่งอรุณ รัตติกาล และพื้นพิภพ เมื่อได้ชัยชนะแอตตีจิตกีก็ได้ลูกสาวของพิภพเป็นภรรยา คู่แข่งของแอตตีจิตกีหนีไปด้วยความหวาดกลัวพลังของเขา แล้วศัตรูเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนต่างๆของจักรวาล

           เมอร์เซีย อีเลียด พยายามศึกษาผู้มีอำนาจวิเศษในหลายแห่งเพื่อหาลักษณะร่วมกันบางอย่าง เขานิยามว่าผู้วิเศษคือ ช่างเทคนิคที่สร้างความหรรษา หรือทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ เนื่องจากผู้วิเศษสามารถติดต่อกับวิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์ได้  นักมานุายวิทยาไอโอน เอ็ม ลิวอิส กล่าวว่าการนับถือผู้มีอำนาจวิเศษ คล้ายกับความเชื่อเรื่องการถูกผีสิงและการประท้วงทางการเมือง  นักชาติพันธุ์วิทยาชาวไซบีเรีย เซอร์ไก ชิโรโกโกรอฟฟ์ อธิบายว่าผู้วิเศษคือผู้เยียวยาทางจิต เพื่อให้คนในชุมชนขนาดเล็กแก้ปัญหาการเจ็บป่วย การเปลี่ยนแปลง และความตึงเครียดทางสังคม

          อาเก ฮุลท์แกรนซ์ ทำการศึกษาคนพื้นเมืองในอเมริกา และวลาดีเมียร์ นิโกเลวิช บาซิลอฟ ซึ่งวิจัยในเอเชียตอนกลาง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลัทธินับถือผู้วิเศษว่าเป็นการไกล่เกลี่ยระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของสิ่งเหนือธรรมชาติ   นักวิชาการหลายคนยังคงถกเถียงว่าความเชื่อดังกล่าวนี้จะเป็นศาสนาของสังคมได้หรือไม่  นักโฆษณาชวนเชื่อ และมิชชันนารีเชื่อว่าผู้มีอำนาจวิเศษก็คือหมอผี หรือพ่อมดซึ่งให้โทษมากกว่าให้คุณ  ในชุมชนต่างๆอาจมีการแข่งขันระหว่างผู้วิเศษทั้งหลายและอาจทำให้เกิดการทำลายล้าง

          นักวิชาการบางคนวิเคราะห์หน้าที่ที่หลากหลายของผู้วิเศษในมิติประวัติศาสตร์  เช่นกรณีรัสเซีย ก่อนที่โซเวียตจะห้ามปราบการแสดงออกของมวลชน ผู้วิเศษที่ชื่อ อ็อป –อูเกรียน คันที เฉกเช่นผู้วิเศษชาวไซบีเรียอื่นๆ จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสังคม แต่ยังทำหน้าที่พยากรณ์ลมฟ้าอากาศ บวงสรวงดวงวิญญาณยามที่บ้านเมืองอยู่ในอันตราย  คอยคุ้มครองสวรรค์จากการรุกรานของคนตาย เป็นตัวแทนไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม เป็นศิลปิน เป็นผู้นำทางการเมือง เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ตัดสินคดี เป็นผู้ให้การบำบัดทางจิต เป็นผู้ให้ความบันเทิง  และเป็นนักวางแผนหลอกลวง

        ผู้วิเศษจึงทำหน้าที่หลากหลาย เป็นชายหรือหญิงก็ได้ อายุมากหรืออายุน้อยก็ได้ เป็นคนก้าวร้าวหรือใจเย็นก็ได้ เป็นผู้มีชื่อเสียงหรือซ่อนเร้นก็ได้ เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์หรือไม่ก็ได้ เป็นผู้ที่ทำความดีหรือไม่ก็ได้ (บางทีเรียกว่าทูตสวรรค์) หรือเป็นผู้ที่ทำชั่วก็ได้ (บางทีเรียกว่าพวกใต้ดิน)  คำถามคือผู้วิเศษลุ่มหลงว่าตัวเองสามารถติดต่อกับวิญญาณได้ใช่หรือไม่  ประเด็นนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ด้วยแนวคิดทฤษฎีต่างๆ นับตั้งแต่มาร์กซิสต์ ไปจนถึงนักจิตวิทยา ซึ่งอธิบายว่าผู้วิเศษคือผู้ที่ถูกหลอก ซึ่งเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่อันตรายมาก  เกซ่า โรไฮม์ นักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยาชาวฮังการี กล่าวว่าผู้วิเศษคือผู้ป่วยทางจิตที่ถูกรักษาแล้ว โดยอาศัยพฤติกรรมของตัวเอง     ก่อนหน้านั้น วิลเฮล์ม แรดลอฟฟ์ นักชาติพันธุ์วิทยา พยายามตีความผู้วิเศษในเรื่องความสามารถทางสติปัญญา

          การตีความแต่ละแบบ ให้ภาพของการเป็นผู้มีอำนาจวิเศษว่าเกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตซึ่งไม่สัมพันธ์กับเพศ วัย เรื่องเป็นเรื่องน่าเศร้าในชีวิตส่วนตัว  นักวิชาการมักคิดว่าผู้วิเศษถูกควบคุม เนื่องจากมีพลังวิเศษในการทำสิ่งต่างๆ เป็นผู้สร้างสรรค์ และเป็นที่รวมร่องรอยทางวัฒนธรรม  นักวิชาการมักแยกปรากฎการณ์ทางจิตของชาวมองโกเลียที่เรียกว่า ลาตาฮ์ ออกจากอาการถูกผีเข้าของผู้วิเศษ  ผู้วิเศษในสังคมตุรกีที่เรียกว่า ซากา  และสาวกอาจเป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ว่า ผู้วิเศษที่ถูกมองว่ามีพรสวรรค์นั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับมรดกตกทอดมาจากคนตระกูลเดียวกัน

        นักวิชาการโซเวียตที่ใช้แนวคิดเรื่องตำนานวีรบุรุษ ชื่อเยกาเตริน่า โปรคอฟเยว่า และ อาร์คาดี้ อนิซิมอฟ พยายามสืบค้นแนวคิดและสัญลักษณ์ของผู้วิเศษโดยอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ  นิโคไล อเล็กซีพ เชื่อว่าลัทธิบูชาผู้วิเศษเกิดขึ้นในเขต ไซบีเรีย เตอร์กิคเมื่อไม่นานมานี้  ส่วนอเลีน่า โนวิค นำแนวทฤษฎีโครงสร้างมาอธิบาย  แนวทฤษฎีอื่นๆที่นำมาใช้เชื่อว่าลัทธิบูชาผู้วิเศษเกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณในยุคที่มนุษย์ยังเร่ร่อนล่าสัตว์  นักวิชาการมีความคิดต่างกัน 2 แนว แนวแรกเชื่อว่าลัทธิบูชาผู้วิเศษเกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณซึ่งพบได้ในมนุษย์ทุกกลุ่ม โดยมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณ ส่วนนักวิชาการอีกแนวหนึ่งเชื่อว่าลัทธินี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในบางแห่งเท่านั้น

         หลักฐานที่เป็นไปได้เกี่ยวกับลัทธินี้มาจากถ้ำLascaux  และจากภาพถ่ายหน้าผาของชาวไซบีเรียซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายว่าลัทธิบูชาผู้วิเศษเกิดมาจากไหน เช่น ตัวอย่างการศึกษาของแอนเดรียส์ ลอมเมล และอังเดร ลีรอย-เกอร์ฮัน อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งมากมายที่พูดถึงพัฒนาการของพ่อมดหมอผี ผู้วิเศษ และพระ

          ประเด็นที่สำคัญคือการเข้าสู่สภาวะศักดิ์สิทธิ์ของผู้วิเศษ หรือสาวก    สิ่งนี้เป็นเรื่องพลังอำนาจส่วนตัว มิใช่อาการเมามายที่ควบคุมสติไม่ได้ พบเห็นได้ในหมู่ชาวไซบีเรีย และเอเชียกลาง   หลักฐานในอเมริกาพบว่าสภาวะที่ควบคุมไม่ได้เกิดจากการเสพยาเสพติด เช่นการศึกษาของริชาร์ด ชูลเทสปีเตอร์ เฟิร์สต์ และบาร์บาร่า เมเยอร์ฮอฟ  การศึกษาของกอร์ดอน วาสสัน พบว่าในเขตเอเชียก็มีการใช้สาร และตัวยาทำให้เกิดสภาวะควบคุมตัวเองไม่ได้  ผู้วิเศษมักจะใช้เห็ดประกอบการเข้าทรง พบได้ในกลุ่มอ็อบ อูเกรนส์ และอิเทลเมน

          การเข้าสู่สภาวะศักดิ์สิทธิ์ของผู้วิเศษยังถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์  และเป็นปริศนาสำหรับผู้ที่พบเห็น ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้วิเศษกำลังเข้าทรงกล่าวว่า ผู้วิเศษมีเสียงพูดของวิญญาณ สามารถเดินบนถ่านร้อนๆ น้ำร้อน โดยไม่เกิดบาดแผล ผู้วิเศษยังหาสิ่งของหรือคนที่หายไปพบ สามารถปลดตัวเองจากเชือกที่มัดได้ สามารถช่วยให้น้ำท่วมลดลง ควบคุมลมพายุได้  ความสามารถเหล่านี้มีอยู่ในผู้วิเศษของไซบีเรีย และเอเชียกลาง  นอกจากนั้นผู้วิเศษอาจเล่นกล สะกดจิต และเปลี่ยนเสียงตัวเองได้หลายเสียง  ผู้วิเศษชาวไซบีเรียบางคนอ้างว่ามีเวทมนต์เล่นกลได้ แต่ต้องมีวิญญาณช่วยเหลือ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alice Kehoe, 2000. Shamans and Religion: An Anthropological Exploration in Critical Thinking. London: Waveland Press.

Andrei Znamenski, 2003. Shamanism in Siberia: Russian Records of Siberian Spirituality. Dordrech and Boston: Kluwer/Springer

Czaplicka, M.A. 1914. "Types of shaman". Shamanism in Siberia. Aboriginal Siberia. A study in social anthropology. preface by Marett, R.R. Sommerville College, University of Oxford, Clarendon Press.

Diószegi, Vilmos 1968. Tracing shamans in Siberia. The story of an ethnographical research expedition. Translated from Hungarian by Anita Rajkay Babó. Oosterhout: Anthropological Publications.

George Devereux, "Shamans as Neurotics", American Anthropologist, New Series, Vol. 63, No. 5, Part 1. (Oct. 1961), pp. 1088–1090.

Harner, Michael, 1980. The Way of the Shaman: A Guide to Power and Healing, Harper & Row Publishers, NY

Marjorie Mandelstam Balzer. ใน David Levinson and Melvin Ember. (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1182-1184.

Silvia Tomášková, 2013. Wayward Shamans: the prehistory of an idea, University of California Press


หัวเรื่องอิสระ: ลัทธิบูชาผู้มีอำนาจวิเศษ