Social Structure
การศึกษาโครงสร้างสังคม สนใจเรื่องการจัดระเบียบทางสังคม สังคมจะถูกมองว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่มีโครงสร้าง และกฎระเบียบที่แน่นอน การศึกษาในเรื่องนี้จึงเป็นการอธิบายสถาบัน และแบบแผนของพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กัน อธิบายรายละเอียดของโครงสร้างสังคมที่ปรากฏอยู่ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ฟัสเทล เดอ คูแลงส์ กล่าวว่าคนสมัยโบราณ เช่นชาวกรีกโรมัน ใช้พิธีบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างเป็นปึกแผ่น แต่ละครัวเรือนจะมีแท่นบูชาเทพเจ้าของตัวเอง เช่นเดียวกับชาวเมืองจะมีเทพเจ้าประจำเมือง คอบคุ้มครองชาวเมือง ชาวเมืองจะทำพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อบูชาเทพเจ้าองค์เดียวกัน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมมาอธิบายโครงสร้างทางสังคม เช่น การศึกษาของ จอห์น แม็คเลนแนน อธิบายว่าระบบเครือญาติ การสืบตระกูล และการแต่งงาน มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆกัน นักสังคมวิทยา อีมิล เดอร์ไคม์ ได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมขึ้น เดอร์ไคม์กล่าวไว้ในเรื่อง The Rules of Sociological Method ว่าเป็นทฤษฎีทางสังคมในการศึกษาโครงสร้างสังคมที่เป็นจริง ในเรื่อง The Elementary Forms of the Religious Life(1915) กล่าวว่าความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคม
อีแวนส์-พริตเชิร์ด อธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆซึ่งมีความสม่ำเสมอและคงที่คือโครงสร้างสังคม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้อง ระหว่างคนรุ่นต่างๆและกลุ่มตระกูล ส่วนเรดคลิฟฟ์-บราวน์ อธิบายว่าโครงสร้างสังคมคือสถาบันที่ควบคุมดูแลบุคคลให้อยู่ในระเบียบและกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละคน เช่น พ่อกับลูกชาย ลุงกับหลาน เป็นต้น นอกจากนั้นโครงสร้างสังคมคือการแยกประเภทคนตามบทบาททางสังคม เช่น ตำแหน่งของผู้หญิงกับผู้ชาย หัวหน้ากับลูกน้อง เป็นต้น
โครงสร้างสังคมไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นตอลดไปถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของบุคคลก็ตาม เรดคลิฟฟ์-บราวน์กล่าวว่า โครงสร้างทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ต้องมาจากระบบประธานาธิบดี ถึงแม้ประธานาธิบดีจะเปลี่ยนคน แต่ระบบโครงสร้างนี้ยังคงดำเนินต่อไป เฟิร์ธกล่าวในทำนองเดียวกันว่า แนวคิดเรื่องโครงสร้างสังคม เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงถาวร ความต่อเนื่อง แบบแผน และการมีอยู่ตลอดเวลา
แนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมยังเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่เรื่องระบบ หมายถึงหน่วยที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ กฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และกลุ่มบุคคล และการสร้างข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มคนที่มีพื้นฐานต่างกัน นักมานุษยวิทยาสังคมจะพูดถึงสังคมซึ่งต้องมีแนวคิดที่ชัดเจน แต่คำว่าสังคมเป็นคำที่คลุมเครือ สังคมถูกใช้ในสองลักษณะ คือ อย่างแรกอธิบายว่าสังคมคือวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ คำอธิบายนี้วางอยู่บนความเชื่อว่าที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ประการที่สอง สังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย แม็ก กลักแมน อธิบายว่า สังคมชนเผ่าที่อาศัยเครื่องมือง่ายๆ ไม่มีของมีค่า และแลกเปลี่ยนสินค้ากันภายในกลุ่มเล็กๆ แต่คำอธิบายของกลักแมนยังคงคลุมเคลือ เพราะชีวิตทางสังคมไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ขอบเขตที่มีการพูดถึง ได้แก่เรื่อง การค้าขาย สงคราม การแต่งงาน การอพยพย้ายถิ่น และการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม พรมแดนทางสังคมอาจปรากฎชัดเจนเมื่อถูกควบคุมด้วยการเมือง การจัดประเภทรูปแบบทางการเมืองที่พบเห็นโดยทั่วไป เริ่มจากสังคมแบบกลุ่มขนาดเล็กที่ประกอบด้วยครัวเรือนไม่มากนัก จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่สังคมระดับเผ่าที่ใหญ่ขึ้นและมีการแบ่งชนชั้นที่ซับซ้อนขึ้น จนถึงสังคมระดับรัฐที่มีการควบคุมดินแดนอย่างเป็นทางการ สมาชิกในรัฐต้องมีความจงรักภักดีต่อผู้ปกครองที่อยู่ในดินแดน
“กลุ่ม” คือรูปแบบทางสังคมที่นักมานุษยวิทยาสนใจโดยพื้นฐาน กลุ่มจึงหมายถึงสังคมขนาดเล็ก มีเครือญาติเป็นหน่วยพื้นฐาน และใช้เทคโนโลยีง่ายๆ การศึกษาทางชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มุ่งไปที่เรื่องชุมชน ซึ่งประกอบด้วยประชากรในท้องถิ่นซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกันในรูปแบบต่างๆ มีการพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ และมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมร่วมกัน ในชุมชนจะมีหน่วยย่อยที่สำคัญคือครัวเรือน เป็นหน่วยหลักของสมาชิกที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุด ครัวเรือนประกอบด้วยกลุ่มญาติพี่น้องหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน ในสังคมประเพณีส่วนใหญ่ หน่วยทางการเมือง เศรษฐกิจ และพิธีกรรมจะถูกปฏิบัติผ่านกลุ่มเครือญาติเป็นสำคัญ สมาชิกในกลุ่มจะถูกกำหนดความสัมพันธ์โดยอ้างอิงจากบรรพบุรุษ สังคมแบบกลุ่มขนาดเล็กจะมีกลุ่มย่อยๆหลายประเภทโดยอาศัยความเป็นญาติ การถือครองที่ดิน การแบ่งช่วงอายุ การแยกหน้าที่ ซึ่งกลุ่มย่อยๆเหล่านี้คล้ายกับสมาคมที่พบในสังคมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก
โครงสร้างสังคมยังต้องมีแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดคือความเป็นญาติพี่น้อง ในสังคมประเพณี เครือญาติจะเป็นตัวกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง กลุ่มญาติที่มีความใกล้ชิดกันคือคนที่มีสายเลือดเดียวกัน สำหรับการแต่งงานเป็นการเชื่อมกลุ่มของผู้ชายเข้ากับกลุ่มของผู้หญิง ญาติจากการแต่งงานคือกลุ่มอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญ นอกจากนั้นเครือข่ายทางสังคมอื่นๆยังอาจเกิดขึ้นได้โดยผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคคล
ถึงแม้ว่าโครงสร้างสังคมจะทำให้เกิดการรวมตัวของคนกลุ่มต่างๆ แต่ก็ยังมีความแตกต่าง และความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น ในสังคมจะมีการจัดระเบียบบุคคลตามฐานะทางเศรษฐกิจ ลำดับญาติ สถานภาพทางสังคม ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมจะมีกฎเกณฑ์ต่างกัน การแยกบทบาททางเพศคือพื้นฐานในการแยกฐานะของบุคคลที่พบได้ในทุกสังคม การแยกกลุ่มคนตามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ อาจพิจารณาได้จากวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา หรือรูปร่างหน้าตา สังคมที่เป็นรัฐขนาดใหญ่ มีการแยกประเภทช่วงชั้นและความแตกต่างของบุคคลโดยอาศัยชนชั้นและฐานะทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง
ฐานะของบุคคล ในสังคมที่ซับซ้อนอาจเป็นได้ทั้งฐานะตั้งแต่กำเนิด เช่น ผู้ที่เกิดในชนชั้นวรรณะใดต้องสืบทอดชนชั้นนั้นต่อไป ส่วนฐานะที่ได้มาทีหลัง เกิดจากการกระทำของบุคคล หรือเป็นการสะสมทรัพย์สินเงินทองและอำนาจบารมีจนกลายเป็นผู้นำทางสังคม แต่ฐานะทางสังคมอาจซับซ้อนและมีความขัดแย้งได้ เช่นระบบวรรณะในอินเดียสมัยใหม่
อิทธิพลความคิดของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930-40 ทำให้การศึกษามานุษยวิทยาในอังกฤษสนใจประเด็นเรื่องโครงสร้างสังคมเป็นส่วนใหญ่ ผลที่ตามมาก็คือเกิดการทบทวน หรือสร้างความชัดเจนให้กับแนวคิดเรื่องโครงสร้างสังคม ประเด็นที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. แนวคิดทฤษฎีหน้าที่นิยมและปฏิบัตินิยม สำหรับเรดคลิฟฟ์-บราวน์เชื่อว่าโครงสร้างสังคมมีอยู่จริง เขากล่าวว่าความเชื่อ ประเพณี และสถาบันสังคมก่อให้เกิดระบบที่วางระเบียบแบบแผนในชีวิต ชีวิตทางสังคมจึงเป็นที่สิ่งมีจริงตามธรรมชาติ แต่นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ปฏิเสธคำอธิบายนี้ โดยอ้างว่าการหาโครงสร้างสังคมที่แท้จริงเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เป็นไปได้คือการศึกษาการกระทำของบุคคล มาลีนอฟสกี้แย้งว่าการศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์มิใช่การศึกษาสังคม แต่เป็นการศึกษาเรื่องของคนแต่ละคน
การกระทำของมนุษย์ถูกกำหนดและถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ทางสังคม ตัวอย่างเช่น การเป็นปึกแผ่นในกลุ่มญาติ หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างญาติพี่น้อง เรย์มอนด์ เฟิร์ธ กล่าวว่าการยึดมั่นในข้อบังคับต้องอาศัยโครงสร้าง ซึ่งมาจากความต้องการของบุคคล ดังนั้นการปฏิบัติทางสังคมที่เกิดขึ้นจึงต้องเป็นไปตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามคำอธิบายนี้มองข้ามประเด็นเรื่องความขัดแย้ง ทางเลือก และการปฏิบัติของคนแต่ละคนที่ต่างกัน
เฟิร์ธเชื่อว่าโครงสร้างสังคมดำรงอยู่ได้โดยการจัดระเบียบ ซึ่งประกอบด้วยการปฏิบัติและเป้าหมายของคนในสังคมที่หลากหลาย คนแต่ละคนจะมีแบบแผนความร่วมมือแตกต่างกัน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษาในเรื่องนี้จึงเน้นเรื่องการหาทางออกของบุคคล และการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใต้โครงสร้าง เช่น การศึกษาของวิคเตอร์ เทอร์เนอร์ อธิบายเรื่องละครทางสังคมในชุมชนแอฟริกา และเฟรดริค บาร์ธ ศึกษาเรื่องการจัดระเบียบสังคม โดยกล่าวว่าชีวิตคือกระบวนการค้นหาความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องของบุคคล
2. แนวคิดประจักษ์นิยมและเหตุผลนิยม เรคลิฟฟ์-บราวน์ คิดว่ามานุษยวิทยาสังคมคือการศึกษาในเชิงโพสซิทีบ หรือเชื่อมั่นในความสมบูรณ์ของความจริง มานุษยวิทยาสังคมถูกนิยามว่าเป็นการศึกษาสังคมมนุษย์แบบวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีทางชีววิทยามาอธิบายเช่นเดียวกัยวิทยาศาสตร์ เป้าหมายของการศึกษาจึงเป็นการสังเกตความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม หรือโ๕รงสร้างสังคมซึ่งดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ การศึกษาชีวิตทางสังคมอย่างรัดกุมจะต้องชี้ให้เห็นโครงสร้าง เช่นเดียวกับการศึกษาการขับเคลื่อนของรถยนต์ที่ต้องบ่งชี้ทิศทางการขับเคลื่อน อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดนี้เชื่อว่าหน่วย หรือส่วนประกอบของโครงสร้างสังคมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล และมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง
ในช่วงทศวรรษที่ 1940 นักมานุษยวิทยาตระหนักว่าการศึกษาโครงสร้างสังคมเป็นเรื่องซับซ้อนมาก โครงสร้างสังคมเป็นนามธรรม ขึ้นอยู่กับวิธีการและทฤษฎีของผู้ศึกษา เมเยอร์ ฟอร์เตสกล่าวไว้ในปี ค.ศ.1949 ว่าเมื่อเราอธิบายโครงสร้าง เราก็กำลังพูดถึงหลักเกณฑ์บางอย่างที่ห่างไกลจากการปฏิบัติที่ซับซ้อนของบุคคล ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก และหลักเกณฑ์นั้นก็จะกลายเป็นตัวแทนของชีวิตทั้งหมด เราตระหนักถึงโครงสร้างในแบบที่มันเป็นความจริงเชิงรูปธรรม ก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เรื่องนามธรรม ที่นำมาอธิบายได้แก่ การจัดประเภทเครือญาติและการเมืองในสังคมขนาดเล็ก นักมานุษยวิทยาจะอธิบายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งเรดคลิฟฟ์-บราวน์ และฟอร์เตสต่างอธิบายสังคมจากการสังเกต เมื่อถึงในช่วงทศวรรษที่ 1960 ความคิดของเลวี-สเตราส์ ก็ชี้ให้เห็นการเผชิญหน้ากันระหว่างแนวคิดแบบประจักษ์นิยมในทางมานุษยวิทยากับสมมุติฐานใหม่ที่เป็นทฤษฎีโครงสร้างนิยม แนวคิดใหม่เชื่อในระบบเหตุผล และอธิบายความคิดภายในที่ใช้อธิบายประสบการณ์ต่างๆ เป้าหมายแรกของการศึกษามิใช่เรื่องพฤติกรรม แต่เป็นเรื่องโครงสร้างความคิดที่ใช้แยกคู่ตรงข้ามในการแสดงออกทางวัฒนธรรม เลวี-สเตราส์อธิบายว่าโครงสร้างสังคมมิอาจเข้าใจได้จากการสังเกต แต่ต้องศึกษาความคิดที่อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น โครงสร้างสังคมจึงต่างจากความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้างสังคมเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคมของสิ่งต่างๆที่เป็นรูปธรรม เช่นการศึกษารูปแบบการแต่งงาน มีกลุ่มที่ต่างกันสองแบบคือ กลุ่มญาติร่วมสายเลือด กับกลุ่มจากการแต่งงาน ถ้าเป็นการศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์จะอธิบายว่ากลุ่มญาติจะดำรงอยู่ได้โดยการแต่งงาน ส่วนแนวคิดของโครงสร้างนิยมเชื่อว่ากฏการแต่งงานมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการที่จะสรรหาสมาชิกเข้ากลุ่ม หรือแยกจากกลุ่ม
นักโครงสร้างนิยมเชื่อว่าโครงสร้างสังคมถูกสร้างขึ้นโดยความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆตามกาลเวลา แต่มันจะไม่ถูกทำลายไป ดังนั้นแบบแผนการแต่งงานก็คือส่วนหนึ่งของรูปแบบการแลกเปลี่ยน โครงสร้างสังคมจะแสดงออกโดยการกระทำต่างๆ เช่น การแต่งงาน การแลกเปลี่ยนของกำนัล หรือการเล่าตำนานของเผ่า แต่ปัญหาของการอธิบายแนวนี้ก็คือ การแสวงหารูปแบบการแสดงออกที่ไม่รู้จบสิ้นเพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่ถูกกำหนดด้วยโครงสร้างไว้แล้ว แนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสะท้อนให้เห็นความไม่ลงรอยและข้อโต้เถียงที่ดำเนินมาในมานุษยวิทยา ในส่วนที่เป็นทฤษฎี มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการสร้างนิยามและวิธีการศึกษา เนื่องจากคุณสมบัติของโครงสร้างสังคมยังคงเป็นเรื่องของการสังเกตจากการกระทำ และยังเชื่อมโยงไปถึงปัจจัยอื่นๆที่ช่วยหล่อหลอมชีวิตทางสังคมให้ดำรงอยู่ได้
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Abercrombie, N., S. Hill and B. S. Turner 2000, 'Social structure' in The Penguin Dictionary of Sociology, 4th edition, London: Penguin, pp. 326–327.
Lopez, J. and J. Scott 2000, Social Structure, Buckingham and Philadelphia: Open University Press.
Murdock, George 1949. Social Structure. New York: MacMillan.
Porpora, D. V. 1987, The Concept of Social Structure, New York, Wetport and London: Greenwood Press.
Robert H. Winthrop. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greewood Press,New York. 1991. Pp.261-266.
หัวเรื่องอิสระ: โครงสร้างสังคม