Anthrozoology
Anthrozoology คือวิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ หรือเป็นการศึกษาชีวิตทางสังคมของสัตว์ในวัฒนธรรมของมนุษย์ การศึกษาดังกล่าวนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานและเป็นศาสตร์ที่อาสัยความรู้จากหลายสาขาวิชา ทั้งมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สัตววิทยา ชาติพันธุ์วิทยา จิตวิทยา สัตวแพทยศาสตร์ ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ และปรัชญา เป็นต้น
เรื่องสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ คือ กิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์มีกับสัตว์และผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมเหล่านั้น การศึกษามุ่งที่จะอธิบายและทำความเข้าใจคุณค่าและความหมายในกิจกรรมที่มนาย์มีต่อสัตว์ชนิดต่างๆ พอลลีน เบ็นเน็ตต์ ตั้งข้อสังเกตว่าในแวดวงวิชาการที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เพื่อทำความเข้าใจความหมายทางสังคมและวัฒนธรรม เพราะการศึกษามักจะแยกส่วนเพื่อเน้นศึกษามนุษยือย่างเดียวหรือศึกษาชีวิตของสัตว์อย่างเดียว ทำให้ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของสัตว์
การศึกษาความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสัตว์ จะช่วยให้เห็นเรื่องราวของสัตว์ที่มนุษย์นำมาใช้ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ ศิลปะ ความเชื่อ ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ประเพณี ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้นอกจากจะชี้ให้เห็นกิจกรรมทางกายภาพและวัตถุวิสัยที่มนุษย์มีต่อสัตว์แล้ว ยังทำให้เห็นคุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อสัตว์ ทำให้เข้าใจสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนสังคมของมนุษย์โดยมีสัตว์เป็นสื่อแสดงความหมายต่างๆ
ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสัตว์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เห็นวิธีคิดของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยและแต่ละวัฒนธรรมที่นำสัตว์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ถ้าเราเข้าใจความหมายของสัตว์ในกิจกรรมทางสังคม เราก็จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในวิธีปฏิบัติที่มนุษย์มีต่อสัตว์ ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เริ่มที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์มากยิ่งขึ้น และมีหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ ประเทศอังกฤษ รวมทั้งมีการตั้งสถาบัน มูลนิธิ โครงการศึกษาวิจัย และเวทีสัมมนาในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เป็นต้น
นักมานุษยวิทยา อลิซาเบ็ธ มาร์แชล โธมัส เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขในมิติวัฒนธรรม คือ The Hidden Life of Dogs (1993) และ The Social Life of Dogs: The Grace of Canine Company (2000) เป็นตัวอย่างการศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของสัตว์ที่อยู่ในกิจกรรมของมนุษย์ ในกรณีการศึกษาชีวิตของสุนัข โธมัสชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นและพรมแดนทางสังคมที่ปรากฎอยู่ในชีวิตสุนัข ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและความใกล้ชิดกับมนุษย์ การเรียนรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์ที่สุนัขมีต่อมนุษย์และต่อสุนัขด้วยกันเองจะทำให้เห็นความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นที่สุนัขแสดงออก สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าสุนัขมิใช่สัตว์ที่แสดงพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ แต่เรียนรู้ที่จะแสดงออกทางสังคม
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
DeMello, Margo. 2010. Teaching the Animal: Human–Animal Studies Across the Disciplines. New York: Lantern Books.
Hurn, Samantha. 2012. Humans and Other Animals. London: Pluto Press.
Mills, Daniel S. "Anthrozoology", 2010.The Encyclopedia of Applied Animal Behaviour and Welfare. CABI, pp. 28–30.
Thomas, Elizabeth Marshall. 1993. The Hidden Life of Dogs. Houghton Mifflin.
Thomas, Elizabeth Marshall. 2000. The Social Lives of Dogs: The Grace of Canine Company. New York: Simon & Schuster
หัวเรื่องอิสระ: ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์