คำศัพท์

Taboo

       คำว่า taboo เป็นคำพื้นเมืองของชาวเกาะโพลินีเซีย  ซึ่งนักเดินทางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นำมาใช้   ความหมายของคำว่า taboo จึงเป็นคำที่ใช้ในภาษาของชาวบ้านและเป็นคำอธิบายในเชิงมานุษยวิทยา  เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางของกัปตันคุ้กซึ่งพูดถึงการเดินทางไปยังเกาะโพลินีเซียนทำให้ชาวยุโรปสนใจดินแดนแถบนี้   ในเรื่องเล่าได้อธิบายเกี่ยวกับดินแดนที่เต็มไปด้วยทุ่งมันฝรั่ง และหมอผีคอยขับไล่ชนพื้นเมืองที่ย่างกรายเข้ามา   หมอผีจะใช้ท่อนไม้ปักเป็นแนวล้อมรอบทุ่งกลายเป็นกำแพง การป้องกันมิให้ผู้อื่นบุกรุกเข้ามานี้เรียกว่า “Taboo”

          คำว่า taboo จึงเป็นการห้ามที่ถูกกำหนดขึ้น   ความหมายและแนวคิดเกี่ยวกับทาบูถูกนำมาใช้ครั้งแรกเพื่ออธิบายเขตพื้นที่วัฒนธรรมเฉพาะ แต่ต่อมาก็ค่อยๆขยายไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในสังคมอื่นๆ   คำว่าทาบูจึงมีความคลุมเคลือมาก     ในวัฒนธรรมของชาวโพลินีเซีย พื้นที่เพาะปลูกและพืชพันธุ์อาจเป็นสิ่งต้องห้ามโดยหัวหน้าเผ่า  นอกจากนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตในบุคคล จะมีข้อห้ามมิให้ทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การกิน การทำอาหาร หรือการจุดไฟ   ในเขตเอเชียตอนใต้   ข้อห้ามจะเป็นส่วนกำหนดพฤติกรรมของวรรณะต่างๆ เช่น ข้อห้ามการแต่งงานข้ามวรรณะ ห้ามรับอาหารจากคนที่มีวรรณะต่ำกว่า  ในศาสนายิวมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารหลายอย่าง ซึ่งเป็นไปตามคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล และยังคงเคร่งครัดในนิกายออร์ธอดอกซ์

          มาร์กาเร็ต มี้ด อธิบายว่า taboo หมายถึงข้อห้ามที่มีบทลงโทษในตัวเองโดยไม่ต้องใช้อำนาจของมนุษย์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์     ทั้งนี้ไม่ว่าทาบูจะเป็นการละเมิดหรือการทำตามกฎ  สิ่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติในทางอารมณ์และมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์      ทาบูคือข้อห้ามที่เกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี มิได้มาจากข้อกฎหมาย   ดังนั้นทาบูและพิธีกรรมจึงมีพื้นที่แยกจากกัน ทั้งที่เป็นการกระทำและการหลีกเลี่ยงซึ่งมีอยู่ในวัฒนธรรมนั้น

          คำคิดเกี่ยวกับทาบูได้รับความสนใจจากนักวิชาการสมัยวิคตอเรีย    ความคิดเกี่ยวกับทาบูเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาโดยผ่านการศึกษาวัฒนธรรมโพลินีเซียนในสังคมต่างๆและก่อให้เกิดการเปรียบเทียบความคิด   ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาข้อห้ามที่มีอยู่ในศาสนายิวควบคู่ไป  ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19   ประเด็นเกี่ยวกับทาบูกลายเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันในการตีความเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล  จากจุดนี้ทำให้เกิดการตรวจสอบที่มาของวัฒนธรรมในศาสนายิว รวมถึงศาสนาคริสต์ด้วย เช่นการศึกษาของนักเทววิทยาชื่อ W.Robertson Smith (1846-1894)

          ในหนังสือเรื่อง The Religion of the Semites  สมิธอธิบายว่าชาวเซเมติคมีความเชื่อทางศาสนาต่างไปจากชาวยิว ทั้งนี้เห็นได้จากหลักฐานเกี่ยวกับศาสนาพยากรณ์   หากมองด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ จะพบว่าคนในยุคโบราณเป็นพวกที่งมงายเชื่อผีสางเทวดา ป่าเถื่อน  ต่อมาค่อยๆพัฒนาขึ้นโดยสร้างระบบศีลธรรมและศาสนา   สิ่งนี้ทำให้เชื่อว่ามนุษย์ที่ไร้ความเจริญ หรือพวกคนป่ามีการสร้างข้อห้ามต่างๆมากมาย  และกลายเป็นคนที่ไร้ความรู้สึก   แนวคิดนี้ถูกนำไปอธิบายว่าชาวอาหรับและยิวมีจิตใจแบบเดียวกับคนป่า โดยพิจารณากฎข้อห้ามเกี่ยวกับสิ่งสกปรก   สมิธเชื่อว่าข้อห้ามที่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สะท้อนภาพในเชิงบวกของศาสนายิว และยังช่วยให้ระเบียบทางศีลธรรมและสังคมดำรงอยู่ได้

          มีนักวิชาการหลายคนพยายามที่จะนำความคิดเกี่ยวกับทาบูมาประยุกต์ใช้กับกรอบทฤษฎีทางมานุษยวิทยา    เจมส์ เฟรเซอร์ อธิบายว่า taboo คือเวทมนต์ดำประเภทหนึ่ง   ซึ่งมีไว้เพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา ส่วนเวทมนต์ที่ดีจะช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แต่เวทมนต์ทั้งสองก็ยังมาจากความคิดที่หลงผิด  มาเร็ต อธิบายว่า taboo ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเวทมนต์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองบุคคลจากอันตราย สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้อาจเป็นวัตถุ สถานที่ หรือมนุษย์ก็ได้   เดอร์ไคม์เชื่อว่า taboo คือส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนา กล่าวคือเป็นข้อห้ามในการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก และเป็นสภาพเริ่มแรกเพื่อที่จะสัมผัสกับความศักดิ์สิทธิ์  นอกจากนั้นปรากฏการณ์เกี่ยวกับ taboo ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องบรรพบุรุษด้วย

          การศึกษา taboo ส่วนใหญ่ได้อาศัยแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ในการวิเคราะห์    เรดคลิฟฟ์-บราวน์กล่าวว่าทาบูเปรียบเสมือนพิธีกรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีการแสดงความหมายต่างๆ และสะท้อนให้เห็นระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม  การศึกษาทาบูของชาวเกาะอันดามันของเรดคลิฟฟ์-บราวน์จึงเป็นการอธิบายเกี่ยวกับพิธีกรรมการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมของบุคคล เช่น การเข้าสู้วัยหนุ่มสาว การแต่งงาน และความตาย เป็นต้น พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับสภานภาพที่กำลังเปลี่ยนไป   แมรี ดักลาส พยายามเพิ่มมุมมองในการอธิบายว่าโครงสร้างทางสังคมมีอยู่ในการกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอันตราย การไร้ระเบียบ สิ่งสกปรก และการห้ามกระทำในสิ่งต่างๆ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Douglas, Mary. [1966] 1984. Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo. London: Ark-Routledge and Kegan Paul.

Lynn Holden. 2001. Taboos: Structure and Rebellion. London. The Institute for Cultural Research,

Robert H. Winthrop. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.295-297.

Steiner, Franz. 1956. Taboo. London: Cohen and West.


หัวเรื่องอิสระ: ข้อห้าม