Territoriality
Territoriality หมายถึงอาณาเขตพื้นที่ ในแต่ละวัฒนธรรม มนุษย์จะให้ความหมายต่อพื้นที่อาศัยของตัวเองต่างกันไป ชาวบุชแมน คุง ที่อาศัยในทะเลทรายคาราฮารี ในตอนใต้ของแอฟริกา อธิบายอาณาเขตที่อยู่อาศัยของตัวเองว่า “เนอ ออรี” อารมณ์ผูกพันต่อที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวอาหรับในเวสต์แบงค์ หรือชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายคาราฮารี อย่างไรก็ตาม ยังมีความหลากหลายของการแสดงความเป็นเจ้าของในที่อยู่อาศัย และเหตุผลของการแสดงความเป็นเจ้าของ ประเด็นของความต่างนี้เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา
การศึกษาชนเผ่าเร่ร่อนของนักมานุษยวิทยาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการสร้างพรมแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ในปี ค.ศ.1911 ซี ซี และ บี แซท เซลิคแมนชนศึกษาเผ่าเว็ดดาพบว่ามีการสร้างเขตแดนประจำเผ่า โดยแบ่งพื้นที่เป็นที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งจะกลายเป็นมรดกตกทอดให้ลูกต่อไป จูเลียน สจ๊วต (1955) นำเอกสารเก่าๆมาวิเคราะห์ และอธิบายว่าพรมแดนที่ครอบครองโดยญาติข้างพ่อเป็นแบบแผนทางสังคมในกลุ่มชนเก็บของป่าล่าสัตว์ และพบในพื้นที่แบบต่างๆ เช่น ทะเลทราย ป่าเขตร้อน และชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ 1960 การศึกษาเขตที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเพราะมีข้อมูลจาการภาคสนามเพิ่มขึ้น เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับเขตที่อยู่อาศัยของชาวบุชแมนในทะเลทรายคาราฮารี ชนเผ่าฮัดซ่าที่อาศัยในเขตทุ่งหญ้าสวันน่าทางตะวันออกของแอฟริกา และชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย การใช้ที่ดินของคนพื้นเมืองเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามขนาดของกลุ่มและที่อยู่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1966 มีการประชุมเรื่องมนุษย์ในฐานะผู้ล่า มีการอธิบายว่าชนเผ่าเก็บของป่าล่าสัตว์มีการตั้งที่อยู่อาศัยแบบหลวมๆและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนเขตแดนที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มและลักษณะภูมิประเทศ ชนเผ่าจะปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่เขาเลือกตั้งหลักแหล่ง
นักมานุษยวิทยาหลายคนในปัจจุบันเริ่มตระหนักถึงโลกสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของชนพื้นเมือง การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1920 และ 1930 เคยอธิบายเกี่ยวกับชนเผ่าอัลกอนเกียนในแคนาดา ซึ่งครอบครองดินแดนเพื่อการล่าสัตว์ที่มีขนเพื่อนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม อีเลียนอร์ ลีค็อก(1954) และการศึกษาในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 อธิบายว่าพรมแดนที่อยู่ของชนเผ่าอัลกอนเกียนจะเปลี่ยนไปตามการอพยพและเปลี่ยนเขตล่าสัตว์เพื่อเอาขนสัตว์และเนื้อ เช่นกวางคาริบู และสัตว์มีขนอื่นๆ
การหายไปของสังคมชนเผ่าเก็บของผ่าล่าสัตว์เนื่องมาจากที่ดินถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ ชนเผ่าเร่ร่อนทั้งหลายจึงอพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ทุรกันดารและห่างไกล สิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลในแง่ลบก็คือชนพื้นเมืองถูกรุกล้ำดินแดนโดยอำนาจรัฐ ซึ่งต้องการแสวงหากำไรจากเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาที่อยู่ของชนพื้นเมืองเพราะเขตแดนที่อยู่อาศัยของพวกเขามีความคลุมเคลือ หรือพวกเขาไม่มีแนวคิดเรื่องความเป็นเจ้าของในที่ดิน นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าระบบการครอบครองที่ดินของชนพื้นเมืองแตกต่างจากความคิดแบบตะวันตก ซึ่งยึดถือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคล แต่ชนพื้นเมือง ที่ดินเป็นของเครือญาติหรือเป็นมรดกที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ หรือกลุ่มตระกูล ญาติพี่น้องมีสิทธิใช้ที่ดินเท่าๆกัน ที่ดินของตระกูลไม่มีการนำไปขาย
นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องพรมแดนที่อยู่อาศัย จะพิจารณาถึงปัจจัยทางนิเวศน์ นักนิเวศน์วิทยาอธิบายว่าการป้องกันเขตแดนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขตแดนนั้นมีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ ถ้าพื้นที่ใดไม่มีทรัพยากรที่มีค่า พื้นที่นั้นก็จะไม่มีการแย่งชิง ความคิดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยทางมานุษยวิทยา กล่าวคือในพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ จะมีการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในที่ที่มีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรจะมีการครอบครองดินแดนเมื่อทรัพยากรนั้นมีค่าทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้อย จะไม่มีการครอบครองดินแดน เพราะต้องใช้เงินดูแลมากและไม่คุ้ม ทรัพยากรที่ควบคุมไม่ได้เป็นทรัพยากรที่ไม่มีค่า
ราดา ไดซัน-ฮัดสัน และอีริค เอ สมิธ (1978) อธิบายว่ามนุษย์ที่สร้างพรมแดนที่อยู่อาศัยจะเป็นมนุษย์ที่อยู่ในเขตที่มีทรัพยากรคงที่และอุดมสมบูรณ์ เช่น ชนเผ่าโชโชนในอเมริกาตะวันตก ตั้งถิ่นฐานในเขตแห้งแล้งและมีทรัพยากรขาดแคลน คนกลุ่มนี้มักจะไม่ครอบครองดินแดนถาวร แต่ชนเผ่าไพอุเต อาศัยอยู่ในเขตที่อุดมสมบูรณ์ คนกลุ่มนี้จะมีการแบ่งเขตแดนและครอบครองพื้นที่ โดยแต่ละครอบครัวจะมีที่ดินของตัวเอง พื้นที่ที่มีทรัพยากรมากอาจทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งชิงระหว่างกลุ่มคน ในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ พื้นที่มักจะถูกจับจองเกือบหมด การครอบครองทรัพยากรอาจขึ้นอยู่ชนิดของทรัพยากร เช่น ปลา และพืชที่เป็นอาหาร
เมื่อเราคิดถึงเขตแดน เรามักจะคิดถึงการต่อสู้ของสัตว์เพื่อป้องกันเขตแดน การวิจัยทางนิเวศน์วิทยาที่เกี่ยวกับเขตแดนส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาเรื่องนก ซึ่งมีการครอบครองและป้องกันที่อยู่ของตัวเอง สำหรับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีความคงที่อาจจะมีการแสดงความเป็นเจ้าของและปกป้องเขตแดนเหมือนนก แต่การศึกษาเขตแดนของนกอาจมองไม่เห็นว่าการควบคุมทรัพยากรอาจมีรูปแบบอื่นๆ ในสัตว์ประเภทสิงโตซึ่งอยู่ในเขตแดนกว้างใหญ่อาจมีศัตรูลุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของมัน แต่สิงโตไม่จำเป็นต้องขับไล่ศัตรูออกไป มนุษย์ที่อาศัยในพื้นที่ที่กันดารและไม่มีทรัพยากรมากนักอาจต้องอาศัยอยู่ในเขตแดนที่กว้างขึ้น การศึกษาทางมานุษยวิทยาในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร เช่น เขตทะเลทราย หรือเขตขั้วโลก พบว่าคนกลุ่มนี้ก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับการครอบครองดินแดน สิทธิในพื้นที่ และการปกป้องเขตแดนของตน นิโคลาส ปีเตอร์สัน(1975) อธิบายว่ามนุษย์ที่อาศัยในเขตกันดารมีการควบคุมสมาชิกในกลุ่มให้พอเหมาะกับพื้นที่ที่ครอบครอง
ชนเผ่าบุชแมนในทะเลทรายคาราฮารี มีวิธีการอ้างสิทธิในการใช้ทรัพยากรโดยไม่ต้องขออนุญาตจากใครเมื่อพวกเขาอาศัยในเขตแดนของตัวเอง เขตแดนของชาวบุชแมนมีการสืบทอดผ่านลูกหลาน อย่างไรก็ตาม ในเขตทะเลทราย มนุษย์มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆเพื่อแสวงหาอาหาร เขตแดนจึงไม่แน่นอน เมื่อที่อยู่เดิมขาดแคลนอาหาร มนุษย์ก็จะย้ายไปที่อยู่ใหม่ที่มีอาหารเพียงพอ การติดต่อขออนุญาตเพื่อใช้พื้นที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าธรรมเนียมการขออนุญาต เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งขอเข้าไปอยู่ในเขตแดนของกลุ่มอื่น ต้องขออนุญาตเพื่อให้เจ้าของพื้นที่เห็นชอบ แต่ชาวบุชแมนเป็นกลุ่มคนที่ไม่กล้าบุกรุกดินแดนคนอื่น พวกเขารู้สึกหวาดกลัวในการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของผู้อื่น
นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาชนพื้นเมืองในออสเตรเลียพบว่าการครอบครองดินแดนมีลักษณะเหมือนบุชแมนในทะเลทรายคาราฮารี ชาวบุชแมนไม่ค่อยเดินทางไกลเพราะมีอันตราย และอาจเข้าไปลุกล้ำดินแดนของผู้อื่น การไม่มีเขตแดนที่แน่นอนจึงเป็นเรื่องของการมีทรัพยากรที่ไม่แน่นอน แต่เฟร็ด ไมเยอร์ส(1988) อธิบายว่าชนเผ่าพินตูปีในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนมีการครอบครองดินแดนที่ชัดเจน และมีความหวงทรัพยากรที่มีอยู่ ถ้ามีคนอื่นเข้ามาใช้ทรัพยากรโดยไม่ขออนุญาต พวกเขาจะรู้สึกโกรธ ไมเยอร์สอธิบายว่าถ้าเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้คนอื่นเข้ามาใช้ทรัพยากร เจ้าของพื้นที่ก็จะต้อนรับเป็นอย่างดี นักมานุษยวิทยาหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการเข้าไปอยู่ในเขตแดนของผู้อื่นเป็นวิธีการแลกเปลี่ยน และเป็นการแสวงหาทรัพยากรที่ขาดแคลน เจ้าของดินแดนอาจได้รับการตอบแทนจากแขกที่มาเยือน เมื่อถึงยามที่เจ้าของดินแดนเจอปัญหาขาดแคลนอาหาร แขกที่มาเยือนอาจส่งอาหารมาช่วย
อย่างไรก็ตามคำอธิบายของไมเยอร์ส ไม่ได้บอกเกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรเท่าใดนัก แต่เป็นเพียงการคาดเดาทรัพยากรมีของมีค่า เขตแดนของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียยังคงเป็นสิ่งคลุมเคลือสำหรับนักมานุษยวิทยา เนื่องจากชนพื้นเมืองมีวิธีคิดต่อเขตแดนที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของที่ดินมีสิทธิหาอาหารในเขตแดนของตนโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่การหาอาหารอาจเกิดขึ้นในเขตแดนอื่นๆด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่อาศัยและพื้นที่สำหรับหาอาหารคืออะไร ปีเตอร์สันอธิบายว่าผู้เฒ่าต้องการอาศัยและตายในที่ดินของตนเอง สมาชิกของกลุ่มก็จะผูกพันกับผู้เฒ่า ที่ดินที่เป็นที่อยู่จึงมีความสำคัญมากและเจ้าของที่ดินก็จะมีพิธีกรรมในที่อาศัย นอกจากนั้นเขตแดนของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียยังเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร ที่อยู่อาศัยจะเป็นที่สำหรับแสงหาอาหาร ในเขตที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์จะมีการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน แต่ในเขตแห้งแล้ง เขตแดนอาจไม่ชัดเจน ที่อยู่ในเขตแห้งแล้งอาจเป็นภูมิประเทศแบบกว้างๆและมีเส้นทางเดินที่รับรู้กัน
ถึงแม้ว่าประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินในสังคมเพาะปลูกจะเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของ แต่ก็มีลักษณะคล้ายกับสังคมเร่ร่อน ไดสัน-ฮัดสัน และสมิธ(1978) อธิบายว่าชาวนามักจะขับไล่ผู้ที่มาบุกรุกในที่ดินของตน แต่ชาวนาในอดีตมีที่ดินเป็นของชุมชน การควบคุมที่ดินในการเพาะปลูกอาจขึ้นอยู่กับการแข่งขัน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อเอสเตอร์ โบเซอรัพ(1965) อธิบายว่าการเป็นเจ้าของที่ดินจะค่อยๆเปลี่ยนจากกรรมสิทธิ์ชุมชนไปเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เนื่องจากบุคคลจะมีการเพาะปลูกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแข่งขันกับชาวนาคนอื่นๆ เมื่อมีชาวนามากก็ยิ่งมีการเพาะปลูกมาก ที่ดินในการเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอยจะเป็นกรรมสิทธิ์ของสายตระกูล สมาชิกในตระกูลจะมีสิทธิใช้ที่ดิน แต่เมื่อไม่มีการเพาะปลูกในที่ดินอีก ที่ดินนั้นก็จะไม่มีเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น บุคคลก็ต้องเพาะปลูกในที่ดินของตนเองมากขึ้นซึ่งทำให้มีการแสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้เหกิดในแอฟริกา เป็นตัวอย่าง นักมานุษยวิทยาหลายคนยังไม่สนใจเรื่องพลวัตที่เกิดขึ้นในการปกป้องเขตแดน เมื่อบุคคลปกป้องที่ดินของตัวเอง เขาก็ต้องลงทุนส่วนตัว แต่ถ้าที่ดินเป็นของส่วนรวม การลงทุนก็มาจากคนหลายคน ถ้าที่ดินของส่วนรวมมีการลงทุนเพื่อป้องกันน้อย การป้องกันอาจไม่มีประสิทธิภาพ การศึกษาทางมานุษยวิทยาในเรื่องการจัดการทรัพยากรชี้ให้เห็นว่า ทรัพยากรส่วนรวมจะถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์บางอย่าง แต่อาจไม่เกี่ยวกับการปกป้องเขตแดน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.1301-1305.
Pelkmans, M. 2006. Defending the Border: Identity, Religion, andModernity in the Republic of Georgia. Ithaca, NY: Cornell University Press.
Hastings Donnan , Thomas M. Wilson 1994. Border Approaches: Anthropological Perspectives on Frontiers. Lanham, MD: University Press of America
หัวเรื่องอิสระ: อาณาเขตพื้นที่