คำศัพท์

Tradition

       จารีตประเพณี หรือ tradition หมายถึงการสืบทอด หรือส่งต่อความคิด กฎระเบียบ และธรรมเนียมการปฏิบัติ  จารีตประเพณี อาจหมายถึงการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ จารีตประเพณียังอาจเป็นความหมายกว้างๆที่ใช้อธิบายการกระทำบางอย่างที่มีความต่อเนื่องมา ทั้งที่เป็นรูปแบบ พฤติกรรม หรือความเข้าใจ  ความคิดเกี่ยวกับจารีตประเพณียังเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณค่าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมด้วย    แต่เดิม แนวคิดของยุโรปมีรากฐานมาจากศาสนา   ในสมัยแรกๆ คำว่าจารีตประเพณีหมายถึงความต่อเนื่องของการสั่งสอนศาสนาของสาวกพระเยซู เพื่อธำรงรักษากฎระเบียบและพิธีกรรมทางศาสนาให้ดำรงอยู่ได้  พระในศาสนาคริสต์เชื่อว่าการปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาต้องมีการสั่งสอน  

          ต่อมาชาวยุโรปเชื่อว่าคุณค่าของจารีตประเพณีมีลักษณะบางอย่าง   กล่าวคือ ในทางปรัชญา  เดคาร์ต เสนอวิธีการค้นหาความจริงด้วยความคิดใหม่ โดยกล่าวว่าบุคคลสามารถใช้เหตุผลของตัวเองอธิบายความจริงได้  ความจริงมิได้มาจากอำนาจของจารีตประเพณี    ในทางศิลปะซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดโรแมนติกในคริสต์ศตวรรษที่18-19  เชื่อว่าจารีตประเพณีคือแบบจำลองของธรรมชาติที่รักอิสระของมนุษย์   ในทางรัฐศาสตร์ อธิบายว่าจารีตประเพณีคือประเด็นที่ยกขึ้นมาโต้เถียงระหว่างพวกอนุรักษ์นิยมกับพวกก้าวหน้า   พวกอนุรักษ์นิยมเช่น เอ็ดมันด์ เบิร์ก กล่าวว่าจารีตประเพณี เปรียบเสมือนผู้ชี้ทิศทางของสังคมที่รอบคอบ ส่วนพวกก้าวหน้าเช่น คาร์ล มาร์กซ์ เชื่อว่าจารีตก่อให้เกิดการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ  มาร์กซ์กล่าวว่าจารีตประเพณีคือฝันร้ายที่ตามมาหลอกหลอนมนุษย์

          การศึกษาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19   ประเด็นเรื่องจารีตประเพณีจะถูกอธิบายว่าเป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึกที่มาพร้อมกับตำนานและเรื่องเล่าของสังคม     เจมส์ เฟรเซอร์ อธิบายเรื่องพิธีการประหารชีวิตกษัตริย์ในยุคโบราณว่า  พิธีนี้สามารถสืบทอดและดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่ยังคงมีการปฏิบัติอยู่   บาลด์วิน สเปนเซอร์ และเอฟ เจ กิลเลน อธิบายถึงการสร้างตำนานของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียว่า คนเหล่านั้นแบ่งช่วงเวลาของประเพณีในตำนานเป็น 4 สมัย

          ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  นักมานุษยวิทยามีความเข้าใจเกี่ยวกับจารีตประเพณีควบคู่ไปกับความหมายของวัฒนธรรม  อัลเฟรด โครเบอร์ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมต่างจากชีววิทยา และเชื่อว่าประเพณีดำรงอยู่ได้โดยอาศัยเงื่อนไขทางชีววิทยา  ประเพณีจะอยู่คนละด้านกับสัญชาติญาณ  สังคมจะอยู่ตรงข้ามกับชีววิทยา   โรเบิร์ต  โลวี่อธิบายความหมายของวัฒนธรรมว่า หมายถึงจารีตประเพณีทุกอย่างของสังคม  ส่วนราล์ฟ ลินตันอธิบายว่าวัฒนธรรมเทียบเท่ากับมรดกที่ตกทอดมาของสังคม

          ในการศึกษาทางชาติพันธุ์ซึ่งต้องการอธิบายและเก็บข้อมูลแบบแผนทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิม ไม่มีการจำกัดความของคำว่า “จารีตประเพณี” อย่างชัดเจนเท่าใดนัก คำนี้จะถูกใช้ปะปนกับคำว่า “วัฒนธรรม”  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความสนใจของนักมานุษยวิทยาในเรื่องการแลกเปลี่ยนหลอมรวมทางวัฒนธรรม (Acculturation) การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้การใช้คำว่าจารีตประเพณีมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น   จารีตประเพณีจะถูกใช้ในความหมายของการเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่า  ความหมายนี้ทำให้จารีตประเพณีมีความคงที่ ตายตัวและ มีลักษณะล้าสมัย ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง

          ฟรานซ์ โบแอสอธิบายไว้ในเรื่อง Anthropology and Modern Life ว่า ความขัดแย้งระหว่างจารีตประเพณีที่ต้องการสงวนไว้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับอารยธรรมของมนุษย์    ความคิดดังกล่าวนี้ถูกตอกย้ำในศาสตร์แขนงอื่น โดยเฉพาะวิชาสังคมวิทยาของอีมิล เดอไคม์ และแม็ก เวเบอร์  ความคิดของเดอไคม์เรื่องข้อคัดแย้งระหว่างชีววิทยาและสังคม  กับความคิดของเวเบอร์เรื่องความแตกต่างระหว่างการกระทำแบบเหตุผลและแบบจารีต  ความคิดทั้งสองนี้เชื่อว่าจารีตประเพณีเป็นคู่อริกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

          แนวคิดเรื่องจารีตประเพณีปรากฏชัดในการศึกษาของโรเบิร์ต  เรดฟีลด์ซึ่งศึกษาสังคมชาวนา และมีการแบ่งประเพณีเป็นสองส่วน คือ  Great Tradition และ Little Tradition   เรดฟีลด์กล่าวว่าในอารยธรรมมีประเพณีของหลวงซึ่งเป็นของผู้ปกครอง และมีประเพณีราษฎร์ ซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่  ประเพณีของนักปราชญ์ พระสอนศาสนา และกวี คือประเพณีที่มีการสืบทอดต่อๆกันมา  ส่วนประเพณีราษฎร์เกิดขึ้นตามเงื่อนไข ไม่มีการเคร่งครัด หรือทำให้เป็นสิ่งที่สวยงามสมบูรณ์

          อาจกล่าวได้ว่าประเพณีหลวง (Great Tradition) เกี่ยวข้องกับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของชนชั้นปกครองและความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรม  ส่วนประเพณีราษฎร์(Little Tradition) หมายถึงประเพณีของชาวบ้าน หรือชุมชนชาวนาซึ่งไม่มีตัวหนังสือ และไม่มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด   ความแตกต่างนี้ถูกนำไปอธิบายในสังคมระดับรัฐ เช่นการศึกษาของเมลฟอร์ด สปีโรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในพม่า และการศึกษาของมิลตัน ซิงเกอร์ เกี่ยวกับศาสนาฮินดูในอินเดีย

          ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา  ความเข้าใจเกี่ยวกับจารีตประเพณีในทางมานุษยวิทยาได้เปลี่ยนไปมาก   ในระยะแรกๆ  ความหมายของจารีตประเพณีถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัยและมีลักษณะหยุดนิ่ง ความคิดนี้ไม่อาจนำมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หรือเหตุการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้   ทฤษฎีหลังสงครมโลกครั้งที่สองมีการเสนอว่าจารีตประเพณีมีการปรับตัวเพื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าในแอฟริกา  ระบบวรรณะในอินเดีย หรือความเคร่งครักในศาสนาอิสลามของชาวอาหรับ เป็นต้น

          ทฤษฎีสมัยใหม่พยายามอธิบายเรื่องเกี่ยวกับจารีตประเพณีว่า เป็นสิ่งที่ลื่นไหล และเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดคุณค่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  รวมทั้งเป็นความสืบเนื่องของประวัติศาสตร์  ทฤษฎีเกี่ยวกับสัญลักษณ์และการตีความทางมานุษยวิทยาพยายามอธิบายลักษณะกระบวนการที่ซับซ้อนของการเรียนรู้ การให้ความหมาย และการสื่อสารเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมต่างๆซึ่งช่วยนำทางสำหรับการดำเนินชีวิตและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ     การทำความเข้าใจเรื่องจารีตประเพณีด้วยแนวคิดนี้ทำให้มองเห็นลักษณะความต่อเนื่องที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งดำเนินควบคู่กันไปได้


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Eugenia Shanklin. Two Meanings and Uses of Tradition. Journal of Anthropological Research, Vol. 37, No. 1 (Spring, 1981), pp. 71-89

Hobsbawm, E. J., Introduction: Inventing Traditions, in E. J. (Eric J.) Hobsbawm; T. O. (Terence O.) Ranger. The Invention of tradition. Cambridge University Press.

Robert H. Winthrop. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. 1991. Pp.300-303.

Simon J. Bronner. The Meaning of Tradition: An Introduction. Western Folklore,

Vol. 59, No. 2, (Spring, 2000), pp. 87-104.


หัวเรื่องอิสระ: จารีตประเพณี