คำศัพท์

Applied Anthropology

       มานุษยวิทยาประยุกต์ หมายถึง การนำเอาแนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาทางสังคม นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยาที่ทำงานดังกล่าวยังต้องร่วมมือกับนักวิชาการสาขาอื่นๆในการแสวงหาแนวคิดและแนวทางแก้ปัญหาในประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาจช่วยสร้างแนวนโยบายให้กับองค์กรของรัฐและเอกชนในการพัฒนาสังคมและช่วยเหลือมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่ามานุษยวิทยาประยุกต์คือการทำวิจัยวัฒนธรรมและสังคมโดยอาศัยภาคปฏิบัติเป็นฐานในการสร้างความรู้ ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นนักวิจัย นักแก้ปัญหา นักพัฒนา และผู้สร้างแนวนโยบายในเวลาเดียวกัน

        การศึกษาแบบมานุษยวิทยาประยุกต์นั้นต่างไปจากมานุษยวิทยาแขนงอื่นๆ มานุษยวิทยาประยุกต์จะนำความรู้มาใช้ปฏิบัติเพื่อวางแผน วางนโยบาย และตอบสนองความต้องการของหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆที่มิใช่สถาบันวิชาการ เช่น องค์กรพัฒนาภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม องค์กรชาวบ้าน เป็นต้น   คำว่า Applied Anthropology ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1906 ในบทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด  ประเทศอังกฤษ ในระยะแรกๆ มานุษยวิทยาประยุกต์ยังเป็นการทำวิจัยเพื่อให้ข้อมูลต่อรัฐบาลอังกฤษที่เข้าไปปกครองประเทศในอาณานิคม  นักมานุษยวิทยาในประเทศ เช่น เนธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอเมริกา ซึ่งมีอาณานิคมก็ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักมานุษยวิทยายังคงทำงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน และเพื่อค้นหาความจริงบางอย่างเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ นักมานุษยวิทยายังวิจัยเพื่อที่จะพัฒนาชีวิตชาวบ้าน ช่วยเหลือการศึกษา ส่งเสริมรายได้ สุขภาพ และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน  ในทศวรรษที่ 1970 เป็นช่วงที่มีการฝึกฝนให้นักมานุษยวิทยาทำงานกับชาวบ้าน  นักมานุษยวิทยาจบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่องค์กรต่างๆไม่มีตำแหน่งให้คนเหล่านี้  มีเพียงหน่วยงานของรัฐบาลบางแห่งที่ต้องการนักมานุษยวิทยาไปทำงานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม หรืองานด้านพัฒนาต่างๆ

          อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยาประยุกต์ กับการนำไปปฏิบัติยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของงานและหน่วยงานที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้อง  นักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆแบบชั่วคราว คือการนำวิชามานุษยวิทยาไปใช้ปฏิบัติ ส่วนนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในองค์กรอื่นๆที่มิใช่สถาบันการศึกษา เป็นการปฏิบัติงานจากผู้ที่เป็นนักมานุษยวิทยาเอง  นอกจากนั้นมานุษยวิทยาประยุกต์ยังอาจหมายถึง การเรียนในสาขาย่อยที่เน้นเรื่องการพัฒนา ซึ่งนักมานุษยวิทยาประเภทนี้จะเรียกตัวเองว่า นักมานุษยวิทยาการพัฒนา (Development Anthropologists)

          มานุษยวิทยาประยุกต์ได้พัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะของตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับงานที่ทำ และการนำไปประยุกต์ใช้   นักมานุษยวิทยาที่ทำงานเฉพาะต้องการนำความรู้ทางมานุษยวิทยาไปใช้ร่วมกับความรู้ประเภทอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ในองค์กรนั้นๆ   งานที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ได้แก่ งานทางการแพทย์ สาธารณสุข สุขภาพ การศึกษา และการพัฒนา นักมานุษยวิทยาเหล่านี้จึงได้ชื่อว่านักมานุษยวิทยาการแพทย์ นักมานุษยวิทยาการศึกษา และนักมานุษยวิทยาการพัฒนา

          นอกเหนือจากงานที่กล่าวมาแล้ว นักมานุษยวิทยายังเข้าไปทำงานเกี่ยวกับการเกษตร สถาปัตยกรรม กฎหมาย แรงงาน สิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางเพศ ผู้สูงอายุ ผู้อพยพ การจัดการทรัพยากร การวางผังเมือง เป็นต้น  นักมานุษยวิทยาทำงานเพื่อสังคมในหลายประเภท ในกรณีที่เป็นนักวิจัย  นักมานุษยวิทยายังเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายแก่องค์กร บริษัท และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ  นักมานุษยวิทยาจึงทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินโครงการ เพื่อตัดสินใจว่ามีผลประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง เช่นโครงการสร้างเขื่อน และถนนที่อาจส่งผลดีและเสียต่อชาวบ้าน

          นักมานุษยวิทยายังมีส่วนร่วมในการเขียนโครงการ และแผนการทำงานในโครงการต่างๆ และบางครั้งอาจเป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน หรืออบรมชาวบ้านให้รู้จักทำวิจัยในเรื่องต่างๆ   งานประเภทนี้ทำให้นักมานุษยวิทยามีบทบาทคล้าย “นายหน้าทางวัฒนธรรม” (Cultural Broker) ที่ประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรกับชาวบ้าน  บทบาทดังกล่าวนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเข้าใจชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านเป็นอย่างดี  นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในศาล เช่น กรณีพิพาทระหว่างคนพื้นเมืองกับคนภายนอก เป็นต้น

          บทบาทของนักมานุษยวิทยากับการทำงานชุมชนค่อยๆเปลี่ยนไปตามวิธีการศึกษา และกรอบความคิด เนื่องจากนักมานุษยวิทยามีคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังศึกษา   โดยเฉพาะการย้อนถามตัวเองของนักมานุษยวิทยาว่าสิ่งที่ศึกษานั้นคืออะไร  การทำวิจัยชุมชนจึงมีคำถามว่าชาวบ้านเป็นใคร  มานุษยวิทยาประยุกต์ที่ต้องทำงานกับชาวบ้านคือการทำงานที่ตอบคำถามให้ชาวบ้าน แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับชาวบ้านเปลี่ยนไปจึงทำให้การค้นหาคำตอบมิใช่เพื่อชาวบ้าน แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์มากขึ้น  การทำวิจัยเพื่อนำไปใช้จึงเปลี่ยนรูปโฉมไป และมีเป้าหมายต่างไป

          มานุษยวิทยาประยุกต์ เริ่มกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง นักมานุษยวิทยาวางตัวเป็นกลางมากขึ้น คล้ายๆกับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยทางวัฒนธรรม โดยไม่ปฏิบัติต่อชาวบ้านในฐานะเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว  นอกจากนั้น  การทำงานของนักมานุษยวิทยาในสายพัฒนายังถูกมองว่ามิใช่การวิจัยทางมานุษยวิทยา เพราะการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างมักจะมีเป้าหมายเชิงการเมืองและตอบสนองกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งสวนทางกับปรัชญาทางมานุษยวิทยาที่ต้องวางตัวเป็นกลางโดยไม่ลำเอียงเข้าหาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น การเข้าไปแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านหรือชนพื้นเมือง ทำให้นักมานุษยวิทยากลายเป็นพวกเดียวกับชาวบ้าน   ปัจจุบันนี้ มานุษยวิทยาประยุกต์ก็ยังคงพัฒนารูปแบบและวิธีการของตัวเองต่อมา โดยหันเข้าหาความร่วมมือจากคนกลุ่มต่างๆมากขึ้น


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

John Van Willigen.1996. “Applied Anthropology” in David Levinson, Melvin Ember. (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. Pp.68-73.)

Kedia, Satish, and Willigen J. Van. 2005. Applied Anthropology: Domains of Application. Westport, Conn: Praeger.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาประยุกต์