Trance
Trance มาจากภาษาลาตินว่า Transire หมายถึงผ่านไป หรือข้ามไป การผ่านข้ามไปยังหมายถึงสภาพของจิตใจซึ่งบุคคลเปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติไปสู่สภาพที่ควบคุมไม่ได้ หรืออยู่ในภวังค์ ภวังค์จึงเป็นสภาพที่ไร้การควบคุมของมนุษย์ หรือเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการอยู่ในภวังค์มักจะเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ มานุษยวิทยาพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยอธิบายว่าเป็นสภาวะที่ไร้การควบคุมที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่นพิธีเกี่ยวกับการรักษาโรคของผู้มีอำนาจวิเศษ หรือผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณและกลายเป็นร่างทรง
ปรากฏการณ์นี้สามารถพบได้ในหลายวัฒนธรรม จากการสำรวจของเบอร์กียองพบว่าสังคม 437 แห่งจากทั้งสิ้น 488 แห่งมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น สภาวะไร้การควบคุมของจิตใจเป็นเรื่องของแต่ละวัฒนธรรม แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสภาวะนี้เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ตรงข้ามกับความคิดเรื่องผีเข้า ร่างทรง หรือผู้วิเศษทั้งหลาย เรย์มอนด์ เฟิร์ธอธิบายว่าการถูกวิญญาณเข้าสิง คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวิญญาณกำลังควบคุมร่างกายและจิตใจของมนุษย์ การถูกผีสิงจึงต้องมีพิธีการขับไล่ผี ส่วนปรากฏการณ์ของร่างทรง เป็นสภาวะที่มนุษย์เป็นสื่อกลางเพื่อติดต่อกับวิญญาณ
ในขณะที่ผู้มีอำนาจวิเศษ แตกต่างจากการถูกผีสิง เนื่องจากผู้วิเศษไม่ได้ถูกวิญญาณควบคุม แต่เขามีอำนาจควบคุมวิญญาณได้ หรือได้รับความช่วยเหลือจากวิญญาณในการสร้างพลังอำนาจในการพยากรณ์ มองเห็นอนาคตหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
แนวคิดเกี่ยวกับสภาวะไร้การควบคุมของจิตใจ มีการอธิบายที่แตกต่างกัน 2 ลักษณะ คือ อธิบายในเชิงจิตวิทยา กับเชิงวัฒนธรรม การอธิบายด้วยกรอบความคิดจิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมที่แสดงออกแบบไร้เหตุผลเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง เจมส์ เฟรเซอร์ เชื่อว่าผู้ที่ถูกผีสิง คือผู้ที่เสียสติ จอร์จ เดเวอรักซ์ นำแนวคิดของฟรอยด์มาอธิบายว่าสภาวะจิตใจของผู้มีอำนาจวิเศษ คือจิตใจของผู้ที่ป่วยทางจิตอย่างรุนแรง ส่วนนักมานุษยวิทยาเชื่อว่าสภาวะที่ไร้การควบคุมของจิตใจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม มิใช่อาการป่วยทางจิตแต่อย่างใด
เจน เบโล ศึกษาปรากฏการณ์เกี่ยวกับการถูกผีสิงและร่างทรงในบาหลี พบว่าสภาวะที่ไร้การควบคุมเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทางวัฒนธรรม แอนโธนี วอลเลซ เรียกสภาวะนี้ว่าอาการป่วยแบบปลอมๆ หรือ Pseudo-Illnesses เช่น สภาวะของจิตหลอน อาการมึนงง หรือเมา หรืออาการสิ้นสติ นักจิตวิทยามักจะอธิบายว่า สภาวะที่ไร้การควบคุมคืออาการทางจิต การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในกรณีนี้มีหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการอธิบายหน้าที่ของพฤติกรรมในวัฒนธรรม การศึกษาของลิวอิสเรื่อง Ecstatic Religion พบว่าการถูกผีสิงมีมิติทางการเมือง ในสังคมที่มียกย่องเพศชาย ผู้หญิงจะกลายเป็นของกำนัลให้ผู้ชาย การศึกษาของเอสเธอร์ เพรซเซล ในบราซิล พบว่าร่างทรงทำหน้าที่รักษาโรค และไกล่เกลี่ยความรู้สึกแปลกแยกของมนุษย์ที่มีต่อระบบอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การศึกษาของเวอร์จิเนีย ไฮน์ เกี่ยวกับการพูดของผู้ที่นับถือลัทธิ Pentecostalism พบว่าการพูดลักษณะนี้สะท้อนวิธีคิดของกลุ่ม เพื่อบอกว่าตนเองต่างไปจากคนอื่น และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม การศึกษาอื่นๆยังมีการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรมและชีววิทยา เช่น การศึกษาของจูดิธ กัสส์เลอร์ เชื่อว่าอาการเครียดและขาดอาหารมีส่วนทำให้เกิดสภาวะคุ้มคลั่งและควบคุมตัวเองไม่ได้ ปัจจัยเกี่ยวกับการยังชีพ การทำมาหากิน สภาพแวดล้อม และแบบปฏิบัติทางสังคมอาจเป็นตัวกำหนดให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม การกระทำ อารมณ์และความรู้สึก สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีลักษณะคล้ายการถูกผีสิง การขาดแร่คัลเซียมอาจทำให้เกิดอาการจิตหลอนได้เช่นกัน การศึกษาทางด้านประสาทวิทยาเชื่อว่า อาการที่คล้ายการถูกผีสิงเป็นสิ่งที่พบได้กับคนทุกคน มิใช่เป็นอาการป่วยของคนบางคนแต่อย่างใด
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Castillo, Richard J. 1995. Culture, Trance, and the Mind-Brain. In Anthropology of Consciousness. Volume 6, Number 1, March 1995, pp. 17–34.
Goodman, Felicitas D. 1999. Ritual Body Postures, Channeling, and the Ecstatic Body Trance. In Anthropology of Consciousness. Volume 10, Number 1 (March 1999).
Heinze, Ruth-Inge 1994. Applications of Altered States of Consciousness in Daily Life. In Anthropology of Consciousness. Volume 5, Number 3, September 1994, pp. 8–12.
Hubbard, Timothy L. 2003. Some Correspondences and Similarities of Shamanism and Cognitive Science: Interconnectedness, Extension of Meaning, and Attribution of Mental States. In Anthropology of Consciousness. Volume 14, Number 1, March–June 2003, pp. 26–45
Lewis, I.M. 2003. Trance, Possession, Shamanism and Sex. In Anthropology of Consciousness. Volume 14, Number 1, March–June 2003, pp. 20–39.
Robert H. Winthrop. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. 1991 pp.304-306.
Wallis, Robert 1999. Altered States, Conflicting Cultures: Shamans, Neo-Shamans and Academics. In Anthropology of Consciousness. Volume 10, Numbers 2–3 (June–September 1999).
หัวเรื่องอิสระ: สภาวะไร้การควบคุม