คำศัพท์

Tribes

       ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เจ้าหน้าที่อาณานิคมใช้คำว่า “เผ่า” เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่เรียกว่าเผ่า อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนและมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง  ถึงแม้ว่าในความจริงจะไม่มีชนกลุ่มใดอยู่เป็นเอกเทศในพื้นที่ที่โดดเดี่ยว   เมื่อเกิดแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์ (races) ทำให้ความหมายของคำว่า “เผ่า” ต้องสั่นคลอนไป แต่นักมานุษยวิทยาก็ยังคงใช้คำนี้เพื่อศึกษาทางชาติพันธุ์ โดยอธิบายและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่สูญหายไปแล้ว การอธิบายเรื่องเหล่านี้นักมานุษยวิทยายังคงใช้แนวคิดทฤษฎีหน้าที่ในการวิเคราะห์

        คาร์ก วิสสเลอร์ กล่าวว่า “เผ่า” มีความหมายเชิงการเมือง เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวกัน และบ่งบอกถึงพื้นที่ตั้ง   แต่จากการศึกษาทางชาติพันธุ์บ่งชี้ว่าความหมายของ “เผ่า” มิได้มีความหมายทางการเมือง และไม่ใช่เรื่องของกลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวกัน  นอกจากนั้นพื้นที่ตั้งของเผ่าก็อยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ จูเลียน สจ๊วต นำแนวคิดนี้ไปอธิบายว่าเผ่าหมายถึงกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ มีชีวิตง่ายๆ ยังชีพด้วยตัวเอง และเป็นกลุ่มเป็นก้อน      

       เอลแมน อาร์ เซอร์วิส กล่าวว่ามีการใช้คำว่าเผ่าเพื่ออธิบายลำดับขั้นของวิวัฒนาการที่แยกเป็นกลุ่ม (band) เผ่า (tribe)  การปกครองแบบมีหัวหน้า(chiefdom)  และรัฐพื้นเมือง(primitive state)  ขั้นของวิวัฒนาการนี้ก่อให้เกิดการแบ่งวัฒนธรรมเป็นลำดับชั้น โดยเริ่มจากสังคมป่าเถื่อน(savagery)   สังคมไร้อารยะ (barbarism) และสังคมอารยะ(civilization)  ความคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ซึ่งถือเป็นสังคมที่เจริญสูงสุดในลำดับวิวัฒนาการ  

        เซอร์วิสแยกประเภทสังคมเป็น 2 กลุ่ม คือ สังคมที่มีความเท่าเทียมกับสังคมที่มีชนชั้น  ดังนั้นคำว่า “เผ่า” จึงลดความสำคัญลงไป  ข้อโต้แย้งของเซอร์วิส และการปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “เผ่า” ปรากฏอยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1958-1978  ในเรื่อง Cultural Evolution (1971) ไม่มีการแบ่งสังคมเป็น 4 ขั้น หากแต่มีการจัดประเภทสังคมเป็น 2 กลุ่ม คือ สังคมเท่าเทียม กับสังคมชนชั้น  เซอร์วิสกล่าวว่าลำดับขั้น 4 อย่างนั้นมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมพื้นเมือง    สจ๊วตเคยกล่าวถึงดินแดนของคนพื้นเมืองชาวอินเดียนว่า ชนพื้นเมืองที่ไม่มีตัวหนังสือทั้งหลายมิได้อยู่ในขั้นวิวัฒนาการของเผ่า และ “เผ่า” ต่างๆในโลกก็ไม่มีลักษณะที่เหมือนกัน

        อีแวนส์ พริตเชิร์ด แยกความแตกต่างของสิ่งที่เรียกว่า “เผ่า” ดังเช่นในกลุ่มชน Nuer   ซึ่งมีการสืบตระกูลทางฝ่ายชาย   “เผ่า” จึงหมายถึงกลุ่มชนขนาดใหญ่ที่มีการเมืองการปกครอง  ผู้ชายในกลุ่ม Nuer คือผู้ที่ปกครองสังคม  เผ่าในลักษณะนี้จึงขึ้นอยู่กับการปกครองและโครงสร้างของระบบเครือญาติ ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ชนเผ่าดิงก้าที่มีระบบเครือญาติต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆอีก 70 เผ่าที่พริตเชิร์ดได้ศึกษาไว้  เซอร์วิส อธิบายว่า “เผ่า” หมายถึงสังคมที่ไม่ใช่รัฐ ดำรงชีพอยู่ด้วยการกสิกรรม หรือเลี้ยงสัตว์  นิยามที่กว้างขึ้นของกลัคแมนและนักวิชาการคนอื่นๆ รวมเอากลุ่มชนที่เร่ร่อน และสังคมรัฐพื้นเมืองเข้ากับนิยามคำว่า “เผ่า”ของเซอร์วิส

         การปกครองสมัยอาณานิคมต้องพึ่งพาอาศัยหัวหน้าเผ่า และถ้าหาไม่พบเจ้าอาณานิคมก็จะตั้งหัวหน้าเผ่าให้  ความเป็นหัวหน้าเผ่าจึงเป็นสิ่งที่บิดเบือนเพราะลัทธิอาณานิคมเข้าไปแทรกแซง  ลัทธิอาณานิคมทำให้ผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่ามีตัวตนที่ชัดเจนกว่าอดีตที่เคยเป็นมา   ตามจารีตประเพณี อำนาจของหัวหน้าคืออำนาจทางพิธีกรรม และถูกกำหนดด้วยระบบเครือญาติและการใช้แรงงานในครัวเรือน  เมื่อหัวหน้ามีอำนาจทางการปกครองมากขึ้น พวกเขาก็จะเป็นผู้นำรัฐ ต่อมาก็เป็นผู้นำอาณาจักร ซึ่งถูกเรียกว่ากษัตริย์หรือหัวหน้าเผ่า  แนวคิดเรื่อง “เผ่า”จึงเกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมซึ่งปกครองโดยคนผิวขาว  “เผ่า” จึงถูกใช้ในบริบทพิเศษและยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน

         คำว่า “เผ่า” เป็นคำทำนายแบบชาวตะวันออก ซึ่งมีไว้เรียกคนต่างถิ่น  ประเทศจักรวรรดินิยมเสแสร้งที่จะถามว่าคนพื้นเมืองเป็นใคร แต่ไม่ต้องการคำตอบ คนพื้นเมืองจึงถูกขนานนามด้วยคำเรียกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชื่อแบบพื้นเมืองไปจนถึงคำเรียกที่คุ้นเคยสำหรับผู้ปกครองอาณานิคม    อาจกล่าวได้ว่า คนกลุ่มหนึ่งอาจมีชื่อเรียกเป็น 2 เผ่า หรือคน 3 กลุ่มอาจกลายเป็นเผ่าเดียวกัน    การเรียกเผ่าจึงไม่มีกฎตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์    นิยามที่ง่ายที่สุดสำหรับการเรียก “เผ่า” ทำให้เกิดข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับสังคมของชาวแอฟริกัน ซึ่งไม่เป็นเอกภาพในการปฏิบัติ แต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับความหมายของเผ่า หรือการเป็นเผ่าชัดเจนใน 4 ลักษณะ คือ คนพื้นเมืองในอเมริกา ชนพื้นเมืองในเขตปกครองของอังกฤษ คนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในเขตแห้งแล้งในตะวันออกกลาง และชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้

         การเรียกชื่อเผ่า ต้องชี้แจงเงื่อนไขของการเรียกว่าคืออะไร  ชาว Azande ในซูดานถูกเรียกว่า Niam-niam โดยชาวดิงก้า คำว่า niam-niam หมายถึงคนที่มีธรรมเนียมกินเนื้อมนุษย์  ส่วนชาวบองโก้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Mundo หรือ Munyanya    ชาวมิตตูเรียกชนกลุ่มนี้ว่า Makkaraka  หรือ Kakkaraka   ชาวโกโล เรียกชนกลุ่มนี้ว่า Kunda และชาว Mangbetu เรียกชนกลุ่มนี้ว่า Banbungera  

        อีแวนส์ พริตเชิร์ด ใช้คำว่า Nuer เรียกชื่อชนเผ่า แต่คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า Nath ซึ่งแปลว่า “คน” ชื่อนี้ใช้เรียกเพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างจากกลุ่มชนเพื่อนบ้านที่เรียกว่า Dinka   ส่วนชาว Dinka เรียกตัวเองว่า Jieng หรือแปลว่า “คน”  ทั้งชาว Nath และJieng ต่างเรียกตัวเองว่า “เป็นคน”  อาจกล่าวได้ว่า คำเรียกชื่อดำกล่าวนี้ไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “เผ่า” แต่อย่างใด   กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ใกล้กันมักจะสับสน หรือเรียกชื่อกันและกันผิดๆ เช่นเดียวกับชาวผิวขาว   เช่น ชาว Baganda เรรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาที่ตนไม่เข้าใจว่า Bakedi  ซึ่งหมายถึงคนที่เปลือย ทั้งๆที่คำว่า Bekadi จะมิได้หมายถึง “เผ่า” ก็ตาม

       กลุ่มชนในประเทศไนจีเรียตอนเหนือ ได้แก่ ชาว Kano, Sokoto, Zaria, Katsina  ชนเหล่านี้ชาวอังกฤษรู้จักในนาม Hausa ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่มาจากชาว Songhai ทางตะวันตก  คำว่า Hausa หมายถึง คนตะวันออก  ขณะที่ชาว Hausa เรียกกลุ่มชนทางภาคใต้ว่า Yoruba  ซึ่งถูกเรียกโดยเจ้าอาณานิคมซึ่งใช้อย่างแพร่หลาย    ชาว Yoruba  และ Hausa ไม่ใช้ชื่อนี้เรียกตัวเองแต่ เรียกตัวเองตามเมืองที่อยู่อาศัย

        นักมานุษยวิทยาหลายคนพบว่าเผ่าเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงในพื้นที่ที่พวกเขาศึกษา และยังคงเป็นเรื่องน่าฉงนว่าเผ่ามีอยู่ในที่อื่นๆหรือไม่  ทำไมการศึกษาวิจัยต่างๆจึงต้องทำให้มนุษย์ให้มีป้ายเรียกที่ชัดเจนทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ผิดพลาด  อาจจะเป็นเพราะว่าการศึกษาต้องการชี้ให้เห็นว่ามนุษย์กลุ่มอื่นแตกต่างจากเราอย่างไร เพื่อมิให้สับสนกับสิ่งที่เราเป็น   แนวคิดเรื่องเผ่าหยั่งรากลึกในประสบการณ์ของลัทธิอาณานิคมตะวันตก ซึ่งได้สร้างระบบคุณค่าและปัญหาทางทฤษฎีไว้ให้กับนักมานุษยวิทยา  มีการใช้คำว่าเผ่า แต่ไม่มีการตรวจสอบทางวิชาการว่าเผ่ามีข้อจำกัดเพียงไร 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Aidan Southall ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.pp.1329-1335.

Helm, June, ed., 1968. Essays on the Problem of Tribe, Proceedings, American Ethnological Society, 1967. Seattle: University of Washington Press.

James, Paul 2006. Globalism, Nationalism, Tribalism: Bringing Theory Back In. London: Sage Publications.

Morton H. Fried 1972 The Notion of Tribe. Cummings Publishing Company.


หัวเรื่องอิสระ: เผ่า