Visual Anthropology
มานุษยวิทยาทัศนา หรือ Visual Anthropology เกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมถูกแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ มีอยู่ในกิริยาท่าทาง การเฉลิมฉลอง พิธีกรรม และวัตถุที่ถูกสร้างในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การรับรู้วัฒนธรรมเกิดขึ้นโดยการเขียนบอกเล่าเป็นเรื่องราวที่มีตัวละคร ซึ่งมีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ และการจัดฉาก วัฒนธรรมจึงเสมือนภาพที่มองเห็นซึ่งบุคคลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเรามองเห็นวัฒนธรรม นักวิจัยก็ควรจะใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีด้านภาพเพื่อที่จะบันทึกข้อมูลสำหรับนำมาศึกษาวิเคราะห์ และเผยแพร่ความรู้ออกไป ถึงแม้ว่ารากฐานของมานุษยวิทยาทัศนาจะมาจากแนวคิดของสำนัก positivist ที่อธิบายว่าความจริงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ นักทฤษฎีวัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวว่าความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น และการเข้าใจวัฒนธรรมอื่นเป็นเรื่องของการทดลอง
ความเกี่ยวข้องระหว่างสมมุติฐานที่ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มองเห็น กับความคิดที่ว่าเทคโนโลยีสามารถถ่ายทอดวัตถุทางวัฒนธรรมได้ตรงไปตรงมาและเป็นกลาง เป็นสิ่งที่ชัดเจน จากแนวคิดของโพสติวิสต์ เชื่อว่าความจริงสามารถบันทึกด้วยภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องอาศัยสติปัญญาของมนุษย์ ภาพถ่ายคือหลักฐานและเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีด้านภาพ นักมานุษยวิทยาพยายามที่จะใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการทำวิจัยและเก็บข้อมูล ซึ่งภาพถ่ายจะกลายเป็นข้อมูลหลักฐานสำหรับการศึกษาของคนรุ่นหลัง
ความคิดในปัจจุบันเกี่ยวกับความรู้ทางวัฒนธรรมและการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ความคิดแบบโพสติวิสต์และโพสต์มอเดิร์นนิสต์ กล้องคือสิ่งที่ถูกควบคุมโดยวัฒนธรรม ภาพยนตร์และภาพถ่ายเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ถูกบันทึก และ วัฒนธรรมของการถ่ายภาพ เมื่อการดูภาพถ่ายเป็นเรื่องของการนำเสนอความคิด ดังนั้น นักมานุษยวิทยาก็จะใช้เทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ผู้ที่มองดูภาพถ่ายก็จะคิดว่าสิ่งต่างๆในภาพเป็นจริง นักชาติพันธุ์วิทยาที่ใช้การบันทึกภาพจะมีวิธีการส่วนตัวที่จะจัดการสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ แนวคิดของมานุษยวิทยาทัศนาจึงเป็นเรื่องของลักษณะทางวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ ไม่มีเสียงพูด มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม พิธีกรรม การแสดง เต้นรำ และศิลปะวัตถุต่างๆ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของการถ่ายภาพ อธิบายว่าภาพถ่ายคือสิ่งที่ถูกสร้างโดยสังคม และเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นวัฒนธรรมของการถ่ายภาพ เช่นเดียวกับเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรม การศึกษาดังกล่าวสนใจบริบททางสังคมของการสร้างและใช้ภาพถ่าย ภาพถ่ายจะเปรียบเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยาทัศนาเข้าไปวิเคราะห์วัฒนธรรมการถ่ายภาพในมิติประวัติศาสตร์ ซึ่งเปรียบเสมือนการประพฤติทางวัฒนธรรม และเป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น โดยอาศัยภาพนิ่งเป็นกรณีศึกษา เป็นต้น
การศึกษาในแนวทางนี้พยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขของการถ่ายภาพ ความหมายของภาพถ่ายจึงมีความลื่นไหลตามบริบททางสังคม ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายของเอ็ดเวิร์ด เคอร์ติส คือตัวอย่างของผลผลิตทางวัฒนธรรมในยุคโรแมนติกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ถ่ายทอดภาพของชีวิตชาวอินเดียน และถูกวิจารณ์ว่าลำเอียงทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ในเวลาเดียวกันภาพของเคอร์ติสก็เป็นตัวอย่างสำหรับการค้นหาคุณค่าของชาวอินเดียนในปัจจุบันซึ่งต้องการใช้ภาพเหล่านี้สร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา
การวิคราะห์ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่ออื่นๆในมิติมานุษยวิทยาเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 นักวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้ได้แก่ เกรกอรี เบตสัน, มากาเร็ต มี้ด และ โรด้า เมทรักซ์ นักวิชาการเหล่านี้อธิบายว่าวัฒนธรรมมีระยะห่าง เรื่องราวทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์จะอธิบายได้ด้วยภาษา ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมามีการศึกษาบทบาทของผู้ชมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่มีส่วนในการสร้างความหมาย การศึกษาทางวัฒนธรรมและการสื่อสารใช้วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อที่จะเข้าใจวิธีคิดของผู้ชม วิลตัน มาร์ติเนซ ทำการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ของนักศึกษาที่มีต่อภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในวิชามานุษยวิทยาเบื้องต้น เขาพบว่า ถึงแม้วัตถุประสงค์ของวิชาและภาพยนตร์จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเคารพวัฒนธรรมของผู้อื่น แต่ภาพยนตร์ก็ได้ทำให้นักศึกษาเกิดความลำเอียง
ภาพถ่ายทางชาติพันธุ์คือการลงมือปฏิบัติที่ไม่มีแนวคิดทฤษฎี ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1890 เมื่อการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากขึ้น การทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาทำให้เกิดการถ่ายภาพผู้คนที่นักมานุษยวิทยาไปพบเจอ นักชาติพันธุ์บางคนใช้ภาพถ่ายในพื้นที่เพื่อที่จะถามข้อมูลจากชาวบ้าน หน้าที่เบื้องต้นของภาพถ่ายในภาคสนามจึงเป็นการบันทึกความจำ คล้ายๆกับการจดบันทึก เพื่อจะช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ภาพบางภาพจะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป หรือทำเป็นสไลด์เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน หรืออาจใช้เป็นนิทรรศการ ครั้งหนึ่งการบันทึกข้อมูลสนามทำโดยการจด แต่ภาพถ่ายจะเก็บไว้เป็นข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ หรือของสะสมส่วนตัวเช่นเดียวกับสมุดบันทึก ภาพที่ถ่ายโดยนักมานุษยวิทยา แตกต่างจากภาพถ่ายเล่นๆ หรือภาพเชิงศิลปะของนักท่องเที่ยว เพราะภาพถ่ายทางมานุษยวิทยาไม่มีรูปแบบ ถึงแม้ว่าภาพถ่ายจะมีลักษณะบางอย่างคล้ายสารคดี แต่ภาพทางสารคดีมีมิติทางศิลปะและวัตถุประสงค์แอบแฝง
ภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์ คือสิ่งที่มีความสำคัญในทางมานุษยวิทยาทัศนา ยังไม่มีแนวคิดทฤษฎีที่เป็นมาตรฐาน แต่มีการนิยามว่าภาพยนตร์ชาติพันธุ์คือการบันทึกเกี่ยวกับผู้คนที่มีชีวิตแปลกๆ คำว่าชาติพันธุ์ใช้แทนคำว่าวัฒนธรรม นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่าภาพยนตร์ทุกประเภทคือการบันทึกทางชาติพันธุ์ บางคนพยายามสร้างนิยามเฉพาะให้กับภาพยนตร์ที่ทำโดยนักมานุษยวิทยา เรื่องราวในภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์ถูกปกปิดไว้โดยการทำตามความพอใจของนักมานุษยวิทยาซึ่งไม่สนใจแนวคิดทฤษฎี ภาพยนตร์ที่มิใช่เรื่องแต่งจึงถูกทำให้เชื่อว่าไร้ความหมาย ผู้สร้างภาพยนตร์จะสนใจประเด็นเกี่ยวกับการห้ามทำภาพยนตร์ที่ต้องห้าม และบอกเล่าว่าภาพยนตร์ถูกสร้างมาได้อย่างไร นอกจากนั้นมีการถกเถียงเรื่องส,ปะกับวิทยาศาสตร์ ความถูกต้อง ความยุติธรรม เป้าหมาย และการสร้างความจริงในภาพยนตร์ คุณค่าของภาพยนตร์ในการสอนมานุษยวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างการบันทึกเป็นตัวหนังสือการภาพถ่ายทางมานุษยวิทยา การทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างภาพยนตร์กับนักมานุษยวิทยา และการสร้างภาพเป็นเรื่องราวโดยคนพื้นเมือง
ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในระยะแรกๆที่บันทึกพฤติกรรมของมนุษย์ ต่างไปจากการถกเถียงทางทฤษฎี นักมานุษยวิทยาลุ่มหลงเทคโนโลยี และถ่ายภาพเป็นหลักฐาน เฟลิค หลุยส์ เรกนูลต์อาจเป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในปี ค.ศ.1900 และทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งต้องการเก็บภาพยนตร์เป็นหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อใช้ศึกษาและแสดงนิทรรศการ นักวิชาการ นักสำรวจและเจ้าหน้าที่อาณานิคมล้วนถ่ายภาพยนตร์เพื่อใช้ทำวิจัยและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เทคโนโลยีภาพยนตร์ ความไม่คุ้นเคยต่ออุปกรณ์ และวัตถุประสงค์ที่ไม่แน่ชัดของผู้สร้างภาพยนตร์ ทำให้การใช้ภาพยนตร์มีข้อจำกัดมาก
การสร้างภาพยนตร์ได้พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับนักวิจัย ความขัดแย้งระหว่างการสร้างภาพยนตร์เชิงศิลปะกับความต้องการทางวิชาการ ทำให้ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์สำหรับการทำวิจัย ตัวอย่างเช่น ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการทำให้การแสดงเกิดขึ้นตามลำดับเพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของเวลาที่แตกต่างต่างกันตามเหตุการณ์ นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่าการถ่ายภาพยนตร์ไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีประโยชน์ทางวิชาการมาก การแต่งเรื่องเชื่อว่าเป็นอุปสรรคระหว่างนักมานุษยวิทยาและนักสร้างภาพยนตร์ สมมุติฐานที่ต่างกันของศิลปะภาพยนตร์กับการศึกษาทางมานุษยวิทยาค่อยๆถูกแทนที่ด้วยแนวคิดที่อธิบายว่าภาพยนตร์คือการสื่อสารทางวัฒนธรรมที่มีหลายความหมาย การไม่มีวิธีที่จะใช้ข้อมูลจากภาพยนตร์เพื่ออธิบายพฤติกรรมทางวัฒนธรรมนำไปสู่การใช้กล้องเป็นเครื่องมือสำหรับทำวิจัย
ในทศวรรษที่ 1930 มี้ดและเบตสันนำความคิดของเรกนูลต์มาใช้ โดยสร้างภาพยนตร์เรื่อง Bathing Babies in Three Cultures (1941) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อนักวิชาการคนอื่นๆ นักวิชาการที่สนใจวิธีการถ่ายภาพยนตร์ ได้แก่อลัน โลแม็กซ์ เรื่อง Choreometrics เป็นเรื่องวัฒนธรรมการเต้นรำ เรย์ เบิร์ดวิสเทลล์ และเอ็ดเวิร์ด ฮอลล์ ใช้ภาพยนตร์เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการใช้พื้นที่เพื่อการสื่อสารทางวัฒนธรรม นักชาติพันธุ์ที่ศึกษาการเต้นรำมักจะใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ และการวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวของท่าทางก็เป็นที่สนใจของนักจิตวิทยาชื่อ พอล เอคแมน
ในทศวรรษที่ 1950 สถาบันภาพยนตร์ Fur den Wissenschaftlichen ในเมือง Gottingen ได้สร้างสารานุรมเกี่ยวกับภาพยนตร์ขึ้นมา รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ ศูนย์ข้อมูล Human Studies Film Archives ในสถาบันสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ก็เป็นสถาบันที่ทำงานคล้ายกัน ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดที่จะนำข้อมูลที่มีอยู่ในภาพยนตร์มาใช้เพื่องานวิจัยทางวัฒนธรรม แต่นักมานุษยวิทยาส่วนน้อยที่จะทำวิจัยโดยใช้ภาพยนตร์ที่มีคนอื่นทำวไเป็นแหล่งค้นคว้า นอกจากนั้น คนพื้นเมืองบางคนอาจค้นหาภาพยนตร์เกี่ยวกับพิธีฉลองในวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่เก่าแก่
การสร้างภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์สำหรับสาธารณะและความบันเทิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการศึกษาภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ก่อนหน้านั้นภาพยนตร์เกี่ยวกับ”คนแปลกๆ” ถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิงในท้องตลาด บางครั้งมีเรื่องราวของนักมานุษยวิทยาปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เป็นช่วงสั้นๆ เช่น พี่น้องตระกูล Pathe ทำงานร่วมกับภาควิชามานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง People and Customs of the World ในปี ค.ศ.1928
ภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงในยุคแรกๆพยายามเสนอเรื่องราวชีวิตของคนพื้นเมือง ภาพยนตร์ของเอ็ดเวิร์ด เคอร์ติส เรื่อง In the Land of the Head Hunters(1914) นำเสนอเรื่องราวของชนเผ่า Kwakiutl ในบริติช โคลัมเบีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เมื่ออกฉาย ภาพยนตร์ของโรเบิร์ต เฟลเฮอร์ตี้ เรื่อง Nanook of the North(1922) นำเสนอเรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติที่โหดร้ายของชาวเอสกิโม Inuit ในอ่าวฮัดสัน ในประเทศแคนาดา ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จในด้านรายได้ในต่างประเทศ และทำให้บริษัทพาราเม้าท์ สนับสนุนทุนแก่เฟลเฮอร์ตี้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องที่สอง คือ Moanaในปีค.ศ.1926 พาราเม้าท์ยังลงทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง Grass เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอพยพของชนเผ่า Bakhtari ในอิหร่าน ผู้สร้างคือ มิเรียม คูเปอร์ และเออร์เนส เชียดแซ็ค
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจะไม่มีคุณค่าในเชิงวิชาการ ฮอลลีวู้ดก็เห็นว่าเป็นภาพยนตร์ที่เสนอเรื่องราวของผู้คนและสถานที่แปลกๆ ประสบความสำเร็จในการตลาด การทำงานในบริษัทภาพยนตร์แตกต่างไปจากการทำวิจัย เมื่อครั้งที่คูเปอร์และเชียดแซ็ค เดินทางไปประเทศไทยเพื่อถ่ายทำเรื่องช้าง พวกเขามีบทภาพยนตร์ที่พร้อมจะถ่ายทำและทำให้ภาพชีวิตของคนพื้นเมืองเป็นเรื่องประหลาดในสายตาตะวันตก ฮอลลีวู้ดพยายามสร้างภาพยนตร์ผจญภัยเกี่ยวกับชีวิตของคนในทวีปเอเชีย แอฟริกา และหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของนักมานุษยวิทยามากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพยนตร์ของคาร์เวอร์ เรื่อง The Silent Enemy : An Epic of the American Indian (1930) เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักรบเผ่า Ojibway ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยชีวิตของหัวหน้าเผ่าแต่งกายในชุดที่สวยงาม จ้องมองมาที่กล้องและเล่าเรื่องราวของเผ่ากับผู้ชม เขาพูดว่า “นี่คือเรื่องราวของพลเมืองในเผ่าของฉัน ทุกๆอย่างที่ท่านจะได้เห็นเป็นเรื่องจริง เมื่อคุณเห็นภาพต่างๆที่ปรากฏขึ้น มิใช่ภาพที่แต่งขึ้น เราคือชาวอินเดียนที่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนอดีต” ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆเพราะถูกทำให้ดูเหมือนจริง ก่อนถึงทศวรรษที่ 1970 การถ่ายทำภาพยนตร์ใช้สตูดิโอเป็นฉาก แทนการออกไปถ่ายทำในสถานที่จริง ตลอดเวลา 40 ปี ผู้ชมจะรู้จักคนและสถานที่แปลกๆ ผ่านภาพยนตร์แนวทาซาน ซึ่งมีคนผิวดำเป็นตัวแทนคนพื้นเมือง ในหนังคาวบอยใช้ชาวเม็กซิโกเป็นคนพื้นเมือง ภาพยนตร์แนวนี้ได้รับความนิยมมาก ในขณะที่ภาพยนตร์แนวมานุษยวิทยายังคงพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่พบเห็นในหนังที่เสนอวัฒนธรรมของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกินเนื้อคน การล่าหัวคน และความป่าเถื่อน
ในช่วงทศวรรษที่ 1920-30 มีภาพยนตร์ที่สร้างโดยนักมานุษยวิทยาน้อยมาก การหายไปอย่างรวดเร็วของชนพื้นเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆของชาวตะวันตกในชนบท ก่อให้เกิดการสร้างภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นมูลนิธิเฮย์ ให้การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชนพื้นเมืองในอเมริกาในช่วงปี ค.ศ.1912-1927 ผู้สร้างภาพยนตร์คือ โอเว่น แค็ทเทล และเฟรเดอริค ฮอดจ์ นอกจากนั้นยังมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมพื้นบ้านของชาวยุโรปที่เชิดชูความเป็นชาตินิยมมากกว่าจะเป็นการศึกษาในทางมานุษยวิทยา ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปกลางและตะวันออกมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับคติชนวิทยา และมีการถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้จำนวนมาก ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเต้นรำของชาวนาในชุดที่สวยงาม ประเทศในการปกครองอาณานิคมจำนวนมาก เช่น อินเดีย มีการสำรวจทางมานุษยวิทยา มีการถ่ายภาพยนตร์ และการออกรายการโทรทัศน์ ที่เสนอภาพสังคมชนเผ่าต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัย เผยแพร่สาธารณะ เพื่อการพัฒนา และสร้างชาติ
ภาพยนตร์ทางด้านชาติพันธุ์ที่น่าประทับใจหลายเรื่องเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950-60 สร้างจากสถาบันหลายแห่งในสหรัฐ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และเผยแพร่ต่อวงการภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์เรื่อง The Hunters ในปี ค.ศ.1958 คือภาพยนตร์ชาติพันธุ์ของอเมริกาเหนือเรื่องแรกที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ต่อมาเกิดการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Nanook เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนพื้นเมืองที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ภาพยนตร์บางเรื่องเสนอชีวิตคนพื้นเมืองในทะเลทรายกาลาฮารี ภาพยนตร์ของจอห์น มาร์แชล ใช้เวลานาน 30 ปีในการถ่ายทำชีวิตของชนเผ่า San ในแอฟริกาใต้ มาร์แชลยังสร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในเขตแอฟริกาและอเมริกาเหนือ รวมทั้งเรื่อง N’ai ในปี ค.ศ.1980 เป็นเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงชาวซาน และเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในอเมริกา
ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา มาร์แชลก็ทำงานเสมือนนักสร้างภาพยนตร์ และช่วยเหลือชนเผ่าซานในการรักษาวัฒนธรรมของตัวเอง ในปี ค.ศ.1964 โรเบิร์ต การ์ดเนอร์ ผู้ช่วยมาร์แชลที่ศูนย์ศึกษาภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Dead Birds เป็นเรื่องพิธีการทำสงครามของชนเผ่าดานีในนิวกินี เมื่อภาพยนตร์ชาติพันธุ์พัฒนาขึ้น ทำให้นักมานุษยวิทยา นักเขียนและนักสร้างภาพยนตร์ทำงานร่วมกัน การ์ดเนอร์สร้างภาพยนตร์ต่อมาในเขตแอฟริกาตะวันออก อินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งทำให้เขาก่อตั้งโครงการผลิตภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์ ปัจจุบันรู้จักในนามสมาคมมานุษยวิทยาทัศนา (Society of Visual Anthropology)
ทิโมธี แอช ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาทัศนาแห่งมาหวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ทำงานร่วมกับนโปเลียน แช็กนอน สร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักเกี่ยวกับชนเผ่ายาโนมามี ในเวเนซุเอล่า รวมทั้งภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ได้แก่ The Feast(1968) Ax Fight (1971) A Man Called Bee(1972) ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการวิจัยทางชาติพันธุ์ คือบทเรียนที่ใช้สอนในห้องเรียนทางมานุษยวิทยา แอชทำงานร่วมกับภรรยาของเขา คือแพ็ตตี้ ในประเทศอินโดนีเซีย และทีมงานชื่อ เจมส์ ฟ็อกซ์ ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Water of Words(1983) ทำงานร่วมกับลินดา คอนเนอร์ ในบาหลี เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง Releasing the Spirits(1990)
นักสร้างภาพยนตร์และนักมานุษยวิทยาที่ทำงานบุกเบิก ชื่อ จีน รูช ได้นำความรู้ใหม่มาสู่ยุโรป เป็นการใช้ความรู้วิชาการผสมผสานกับการสร้างภาพยนตร์ ต้นทศวรรษที่ 1960 เมื่อเทคนิคพัฒนาขึ้น ทำให้การสร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มใช้คนไม่มากนัก อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นทำให้นักสร้างภาพยนตร์ทำงานสะดวก และถ่ายทำเหตุการณ์ต่างๆได้ดี การบันทึกเหตุการณ์จึงตรงไปตรงมา รูชคิดว่าภาพยนตร์คือการบันทึกวัฒนธรรม รูชใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ชีวิตท้องถนนในปารีส โดยไม่มีบทเตรียมไว้ก่อน นักสร้างภาพยนตร์และอุปกรณ์ต่างๆจะถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์เช่นกัน ภาพยนตร์แนวนี้กลายเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาเทคนิคและทฤษฎีภาพยนตร์ รูชต้องการสร้างภาพยนตร์ร่วมกับนักมานุษยวิทยา เขาเรียกภาพยนตร์แนวนี้ว่า ภาพยนตร์ที่แต่งขึ้นให้มีเรื่องราวแบบชาติพันธุ์ (ethnographic science-fiction films) ได้แก่เรื่อง Jaguar(1965) Petit a Petit(1968) Madame L’eau(1992) ความพยายามของรูชสะท้อนออกมาในผลงานชุดมรดกของชาวอลาสก้า
ความปรารถนาของรูชทำให้เราพบกับโลกในสายตาของชนพื้นเมือง ในโครงการสร้างภาพยนตร์ร่วมกับโซล เวิร์ธ และจอห์น เอแดร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนาวาโฮ ภาพยนตร์ชุดนี้ถ่ายทำโดยชนพื้นเมืองที่ถูกฝึกให้รู้จักการถ่ายทำ และปราศจากความคิดของชาวตะวันตกที่ไปครอบงำ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1960-70 ที่ต้องการขยายการผลิตภาพยนตร์ไปสู่มือชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเรื่องราว แนวคิดเกี่ยวกับการสะท้อนความเป็นชาติพันธุ์ นำไปสู่การค้นหาความร่วมมือจากชาวบ้านที่ถูกศึกษา และเปิดพรมแดนความรู้ให้เห็นบทบาทของนักวิชาการที่สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม สิ่งนี้นำไปสู่การคำนึงถึงเสียงพูดของนักมานุษยวิทยาและนักสร้างภาพยนตร์ซึ่งต้องมีจริยธรรม และการใช้อำนาจเพื่อสร้างภาพยนตร์ที่ถูกต้อง
ในผลงานเรื่อง Man : A Course of Study เป็นภาพยนตร์ที่ใช้สื่อผสม สร้างโดยสมาพันธ์พัฒนาการศึกษาแห่งนิวตัน รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ และมีผู้ให้คำแนะนำคือนักมานุษยวิทยา เอเซ่น บาลิคซีและคณะ ภาพยนตร์เกี่ยวกับชนเผ่า Netisilik ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนในสถาบันการศึกษา เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงทางโทรทัศน์ และเป็นแบบเรียนสำหรับเด็กในประเทศแคนาดา ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างด้วยความตั้งใจในมิติชาติพันธุ์ แต่นักสื่อสารมวลชนและนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมในอเมริกาก็ไม่ชอบ เพราะมันทำลายภาพชีวิตแบบอเมริกัน ในขณะที่สะท้อนความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Banks, Marcus; Morphy, Howard 1999. Rethinking Visual Anthropology. New Haven: Yale University Press
Collier, Malcolm. 1986. Visual Anthropology. Photography As a Research Method. University of Mexico
Engelbrecht, Beate (ed.). 2007. Memories of the Origins of Ethnographic Film. Frankfurt am Main et al.: Peter Lang Verlag.
Morton, Chris and Elizabeth Edwards (eds.) 2009. Photography, Anthropology and History: Expanding the Frame. Farnham: Ashgate Publishing.
Pink, Sarah. 2006. Doing Visual Ethnography: Images, Media and Representation in Research. London: Sage Publications.
Ruby, Jay ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropolgy. Henry Holt and Company, New York. Pp.1345-1351.
Ruby, Jay. 2000. Picturing Culture: Essays on Film and Anthropology. Chicago: University of Chicago Press.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาทัศนา