คำศัพท์

Reflexive Anthropology

       กระบวนการสะท้อนตัวตนในทางมานุษยวิทยา หมายถึง  การทบทวนตรวจสอบและตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานและการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ของนักมานุษยวิทยา การตรวจสอบนี้นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิชามานุษยวิทยาในตะวันตกซึ่งปรากฎขึ้นในยุคที่ความรู้วิทยาศาสตร์กำลังมีอำนาจทางสังคม วิธีการที่นักมานุษยวิทยาใช้ทำงานภาคสนาม คือ การพูดคุยสัมภาษณ์ชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ได้ข้อมูลชีวิตของคนในสังคม และเมื่อนักมานุษยวิทยานำข้อมูลที่ได้มาไปเขียนเป็นเรื่องราวก็จะนำไปสู่การสร้างความรู้และความจริง ดังนั้น ภาษาเขียนของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นประเด็นที่ได้รับการตรวจสอบ

          นักมานุษยวิทยาจะมีบทบาทเป็นนักวิจัยที่มีโลกส่วนตัว ได้รับการฝึกหัดมา มีความคิด และวัฒนธรรมแบบนักมานุษยวิทยาซึ่งพร้อมที่จะบิดเบือนสิ่งที่มองเห็นได้ องค์ประกอบนี้พบเห็นได้ในการทำวิจัยภาคสนาม  การเขียนเรื่องราวของชาวบ้านอาจผิดเพี้ยนไปจนกว่าผู้ศึกษาจะตั้งข้อสังเกต หรือมีข้อน่าสงสัยเกิดขึ้น  สถานการณ์ในภาคสนามคือสถานการณ์ที่นักวิจัยคือสมาชิกอีกคนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการตรวจสอบในเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดจากทัศนะคติบางอย่าง เช่น ชนชั้น สิทธิ เฟมินิสต์ เป็นต้น    ฉะนั้น ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมจึงถูกตีความด้วยความสนใจส่วนตัวของนักวิจัยเองซึ่งจะพูดถึงคนที่เขาคลุกคลี  หรือแม้แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยมิได้เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ถูกศึกษา 

      กระบวนการทบทวนและตรวจสอบการรับรู้และการผลิตความรู้ของผู้วิจัยและของคนที่ถูกศึกษา  กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการที่คนๆหนึ่งเข้าไปอยู่ในสถานการณ์วิจัยภาคสนาม และตระหนักว่าอะไรคือคนที่ถูกศึกษา    การตรวจสอบนี้ทำให้เกิดการทบทวนตนเอง ซึ่งต่อมารู้จักในนามการศึกษาทางชาติพันธุ์แนวใหม่  มีการยอมรับความเป็นตัวตนของนักมานุษยวิทยาและตัวตนของผู้ที่ถูกศึกษาไปพร้อมกัน   นักมานุษยวิทยาจึงไม่อาจเขียนรายงานการวิเคราะห์ตามความคิดของตัวเองได้อย่างง่ายๆ หรือจะใช้เพียงแค่การแยกความแตกต่างว่าพวกเขากับพวกเราไม่ได้อีกแล้ว 

       สแตนลีย์ ไดมอนด์พยายามเปลี่ยนวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบเดิมๆ  โดยทบทวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอัตวิสัยและวัตถุวิสัย ระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนอื่น  เป็นการรื้อสร้างตัวตนของนักมานุษยวิทยาในฐานะผู้สังเกตเพื่อที่จะเข้าใจความคิดของนักมานุษยวิทยา  วัตถุที่ถูกศึกษาต้องถูกตรวจสอบใหม่เพื่อที่จะเกิดความเคารพต่อวัฒนธรรมของผู้อื่น  วิธีการศึกษาดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบคู่ขนาดระหว่างอัตวิสัยและวัตถุวิสัยที่ถูกสร้างขึ้น  วิธีนี้เป็นการค้นหาวิธีการตรวจสอบตัวตนของนักมานุษยวิทยา


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Geertz, Clifford. 1990. Works and Lives: The Anthropologist as Author. Stanford, Calif.: Stanford University Press

Ian Prattis ใน David Levinson and Melvin Ember 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1072-1075.

Maja Nazaruk. 2011. Reflexivity in anthropological discourse analysis. Anthropological Notebooks. 17 (1), 73-83.

Myerhoff, Barbara, and Jay Ruby, eds.1982.  The Cracked Mirror: Reflexive Perspectives in Anthropology. Philadelphia: University of Pennsylvania Press

Scholte, Bob. 1999. "Toward a Reflexive and Critical Anthropology." In Reinventing Anthropology, edited by Dell Hymes. Ann Arbor: University of Michigan Press


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาสะท้อนตัวตน