Ranked Societies
สังคมที่มีช่วงชั้น หมายถึง สังคมที่มีการจัดระเบียบสถานะของบุคคลให้มีลำดับชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน ซึ่งเงื่อนไขในการจัดระดับฐานะของแต่ละสังคมก็อาจมีแตกต่างกัน เมื่อบุคคลถูกจัดให้อยู่ในลำดับชั้นใดแล้ว บุคคลนั้นก็จะมีบทบาทหน้าที่และสิทธิบางอย่าง คนที่อยู่ต่างลำดับชั้นกันจะมีสิทธิที่ไม่เท่ากัน สังคมที่มีลำดับชั้นมักจะใช้อธิบายสังคมที่มีหัวหน้ากลุ่ม อย่างไรก็ตามคำว่าสังคมลำดับชั้น กับการมีผู้นำมีความหมายที่ต่างกัน กล่าวคือคำว่า “ลำดับชั้น” จะใช้อธิบายลักษณะสังคมที่ประกอบด้วยตำแหน่งสูงต่ำ ส่วนคำว่า “ผู้นำ” จะใช้อธิบายสังคมที่มีการให้อำนาจการเมืองแก่คนๆเดียว
ตัวอย่าง ชนเผ่าฮูรอนในเขตตอนใต้ของออนทาริโอ ประเทศแคนาดา เป็นสังคมที่มีหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งมีการสืบทอดตำแหน่งผ่านลูกหลานในตระกูล แต่ละตระกูลจะมีหัวหน้าของตัวเอง หัวหน้าแต่ละตระกูลจะมารวมตัวกันจัดตั้งเป็นสภาเพื่อทำหน้าที่ตัดสินปัญหาต่างๆของเผ่า หัวหน้าของแต่ละตระกูลต้องทำให้สมาชิกในกล่มปฏิบัติตามคำตัดสินของสภาหัวหน้า แต่หัวหน้าไม่มีสิทธิบังคับให้คนทำตามเพราะไม่มีอำนาจทางการเมือง ในยามปกติ หัวหน้าประจำตระกูลมีฐานะและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป
ชนเผ่าทิโคเปีย ในเขตมีลานีเซียตะวันออก ประวัติศาสตร์ของชาวทิโคเปียเล่าวว่าลูกชายคนแรกของครอบครัวจะมีฐานะพิเศษ แต่ไม่มีอำนาจการเมือง สมาชิกของตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดจะมีฐานะสูงกว่าสมาชิกตระกูลอื่นๆ ผู้ชายที่อาวุโสที่สุดในแต่ละตระกูลจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าประจำตระกูล และหัวหน้าในตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดก็จะได้รับตำแหน่งสูงสุดประจำเผ่า อย่างไรก็ตามหัวหน้าเผ่าของชาวทิโคเปียไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรม และดูแลกฎระเบียบต่างๆ ร่างกายของหัวหน้าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และห้ามผู้ใดแตะเนื้อต้องตัว คนในหมู่บ้านต้องเคารพหัวหน้า ในชีวิตประจำวัน หัวหน้ายังคงทำงานเหมือนคนทั่วไป เช่น ปลูกผัก ทำงานบ้าน ฯลฯ
จะเห็นว่าสังคมที่มีลำดับชั้น แตกต่างจากการมีผู้นำทางการเมือง สังคมลำดับชั้นต่างจากสังคมที่มีความเท่าเทียมซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเท่าเทียมกัน คริสโตเฟอร์ พีเบิลส์ และซูซาน คุส (1977) อธิบายว่าสังคมที่มีลำดับชั้นจะมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับศพแตกต่างกันตามฐานะของบุคคล มีการจัดลำดับความสำคัญของการตั้งบ้าน จัดประเภทกิจกรรมในครัวเรือนและเศรษฐกิจ และมีมาตรการที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม
การมีฐานะสูงต่ำทางสังคมไม่เกี่ยวข้องกับระบบเครือญาติ บุคคลที่มีฐานะสูงจะได้รับอำนาจทางการเมืองและควบคุมทรัพยากรต่างๆ สังคมที่มีลำดับชั้นเป็นสังคมระหว่างที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่สังคมชนชั้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังคงมีความเท่าเทียมกัน ฐานะของบุคคลที่บ่งบอกลำดับขั้นทางสังคมจะทำให้เกิดโครงสร้างที่ทำให้คนแต่ละคนมีอำนาจการเมืองและการใช้ทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีฐานะสูงกว่าจะได้อำนาจมากกว่า
นักมานุษยวิทยาหลายคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมมีชนชั้นเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปพบได้ทุกแห่ง วิธีที่จะเข้าใจการดำรงอยู่ของลำดับชั้นทางสังคม ต้องเข้าใจในฐานะเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมโดยผู้ที่มีอำนาจ เพราะลำดับชั้นเป็นที่บ่มเพาะระบบชนชั้น ชนชั้นผู้ปกครองจะมีอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ การศึกษาของเจนนิเฟอร์ อเล็กซานเดอร์(1992) อธิบายว่าสังคมของชาวลาฮานัน ในเกาะบอร์เนียวจะมีการแต่งงาน หรือรับลูกของหมู่บ้านชาวคายันมาเลี้ยงดู เพราะชาวคายันมีอำนาจมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งช่วยให้สังคมของชาวลาฮานันมีลำดับชั้น การมีลำดับชั้นจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างมิตรกับสังคมที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยมีระบบเครือญาติเป็นพื้นฐาน
การศึกษาของ ลิน โพเยอร์(1991) อธิบายให้เห็นมาตรการของชาวบ้านในสังคมของแซปวูฟิค อะโทล ในไมโครนีเซีย มาตรการแรกคือการให้อำนาจชาวบ้านแต่ละคนมีสิทธิใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดิน ในหมู่บ้านจะมีทรัพยากรร่วมกัน แต่ละคนจะไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว มาตรการที่สอง คือ กระจายอำนาจตัดสินใจให้กับสมาชิกทุกคน ทุกคนจะมาร่วมประชุมและตัดสินปัญหาต่างๆ มาตรการทั้งสองแบบนี้ทำให้ระบบลำดับชั้นดำรงอยู่ได้โดยไม่นำไปสู่การแบ่งชนชั้น
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1057-1059.
Robert M. Rosenswig 2000. Some Political Processes of Ranked Societies. Journal of Anthropological Archaeology 19, 413–460.
หัวเรื่องอิสระ: สังคมที่มีช่วงชั้น