คำศัพท์

Maritime Anthropology

      มานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวทางทะเล (maritime anthropology) หมายถึงการศึกษาวิถีชีวิตและชุมชนชายฝั่งทะเล อธิบายระบบการจับปลา การทำประมงขนาดเล็ก   บทบาทของมนุษย์ที่กระทำกิจกรรมต่างๆในบริเวณท้องทะเล รวมถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์   หรือนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาไปอธิบายสังคมมนุษย์ที่อยู่ในเขตทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น 

      ทฤษฎีเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนรวม หรือ common-property  ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของนักมานุษยวิทยาชื่อ H.S.Gordon (1954) และ G.Hardin(1968)  ทฤษฎีนี้อธิบายว่าหากมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้การควบคุมก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมา  ดังนั้นสมาชิกแต่ละคนจะมีวิธีการควบคุมการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม  นักเศรษฐศาสตร์และนักชีววิทยาไม่สนใจสังคมขนาดเล็กมากนัก แต่สนใจการทำประมงในประเทศที่พัฒนาแล้ว  นักมานุษยวิทยาหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุม และลงไปเก็บข้อมูลภาคสนามในชุมชนประมงขนาดเล็ก และพบว่าชาวประมงจะมีจารีตและบรรทัดฐานของสังคมในการควบคุมพฤติกรรมการจับปลาเพื่อมิให้มีการจับปลามากเกินไป    การศึกษานี้ทำให้เกิดทฤษฎีเรื่องทรัพย์สินส่วนรวม แต่มีคำถามว่าทฤษฎีนี้สามารถอธิบายทุกสังคมได้หรือไม่  

       บอนนี เจ แม็คเคย์ และ เจ อะชีสัน(1987) ศึกษาพฤติกรรมการทำประมงของมนุษย์ในหลายกลุ่มเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกัน  และพบว่าบางสังคมมีกฎที่ใช้ควบคุมการจับปลา แต่บางสังคมก็ไม่มีกฎ   นักมานุษยวิทยาจึงโต้เถียงกันว่าทฤษฎีเรื่องทรัพย์สินส่วนรวมจะใช้ได้จริงหรือไม่   นักมานุษยวิทยายังช่วยพิสูจน์ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการของการทำประมง  ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการหลายแขนงเข้ามาอธิบายพัฒนาการของการประมงขนาดใหญ่ว่าเป็นวิธีการปรับตัวในการยังชีพและเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้เพียงพอกับจำนวนประชากรที่มากขึ้น แต่นักมานุษยวิทยาก็ยังสนใจสังคมประมงขนาดเล็กที่หาปลาเพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียว และสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง  การหาปลาในสังคมขนาดเล็กคือการหาอาหารประเภทโปรตีนให้กับสมาชิกและทำให้สมาชิกมีงานทำ  ต่างไปจากสังคมขนาดใหญ่ นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการทำประมงขนาดย่อมทำให้มนุษย์มีอาหารบริโภคพอเพียงและทุกคนมีงานทำ

          การทำประมงขนาดเล็กต้องคำนึงถึงวิธีการจับปลาที่ได้ผลมากที่สุด  คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มที่ต้องช่วยกันจับปลา มีการสร้างสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมีการจับปลา มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการจับปลา  สมาชิกของกลุ่มจะต้องมีการรวมตัวกัน ช่วยเหลือกันเพื่อให้การจับปลาประสบความสำเร็จ สมาชิกจะได้รับบทบาทหน้าที่ และสถานภาพลดหลั่นกัน และมีการสะสมทรัพย์สินตามตำแหน่งที่สมาชิกแต่ละคนควรจะได้รับ การทำประมงขนาดเล็กต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน การจับปลาต้องมีการวางแผนที่ดี ซึ่งวิธีการของชาวบ้านอาจเป็นแม่แบบให้กับการจัดการประมงในสังคมตะวันตกได้  มีปัจจัยหลายอย่างที่นักมานุษยวิทยาหยิบยกขึ้นมา แต่การศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจวิธีการปรับตัวของมนุษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อพัฒนาการประมง  นักมานุษยวิทยาเริ่มมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบประมงของตะวันตก 

เนื่องจากนักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆในการปรับตัวของมนุษย์ และชี้ให้เห็นว่าวิธีการประมงแบบท้องถิ่นประสบความล้มเหลวอย่างไร ชี้ให้เห็นผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการทำประมง ช่วยออกแบบ วางแผน พัฒนาระบบการจัดการเกี่ยวกับการทำประมงเพื่อทำให้เกิดผลสูงสุดและทำลายสังคมวัฒนธรรมให้น้อยที่สุด  สิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำให้กับการศึกษาเรื่องประมงมีตั้งแต่เรื่องการทำให้สังคมตระหนักถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของการทำประมง ไปจนถึงเรื่องการวางแผนและการจัดการเกี่ยวกับการประมงที่เป็นระบบ

       การศึกษาของเดวิส(1989) ในชุมชนพื้นเมืองชายฝั่งตอนเหนือของออสเตรเลีย พบว่าชาวบ้านมีการรับรู้เรื่องภูมิศาสตร์ท้องทะเลและอาณาเขตของการหาปลา เป็นความรู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะเข้าใจกระแสน้ำขึ้นน้ำลง การก่อตัวของคลื่นในทะเล ความตื้นความลึกของท้องทะเล และเขตพื้นที่บางแห่งก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต้องแสดงความเคารพบูชา พวกเขาจะไม่เข้าไปจับปลาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ท้องทะเลจึงมิใช่แหล่งแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นดินแดนที่มีกฎระเบียบข้อห้ามและตำนานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

      การศึกษาของมานุษยวิทยาด้านท้องทะเลอาจไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการค้า และการประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับจับปลา แต่การศึกษาของนักมานุษยวิทยาสนใจปัญหาจากการท่องเที่ยวและการผักผ่อนในเขตท้องทะเลมากขึ้น  การวิจัยทางมานุษยวิทยาในปัจจุบันกำลังศึกษาเรื่องกิจกรรมที่เกิดขึ้นในท้องทะเล เช่น กีฬา การดำน้ำ การเล่นวินเสิร์ฟ และเรือใบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังสนใจเรื่องการอาบแดด และการแสดงความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อทะเล  นักมานุษยวิทยาเปิดประเด็นในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีผลต่อชนพื้นเมือง และเปรียเทียบการท่องเที่ยวชายฝั่งในแต่ละแห่งว่าเป็นอย่างไร

       การใชท้องทะเลและพื้นที่ชายฝั่งกำลังมีมากขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมระหว่างชาวบ้านกับนโยบายพัฒนาชายฝั่งที่มาจากรัฐ  การศึกษาของ เจ ซี จอห์นสัน และ อาร์ บี พอลแน็ค(1989) ชี้ให้เห็นความขัดแย้งและกระบวนการสังคมของชาวบ้านในการแก้ปัญหาซึ่งรัฐต้องมีความเข้าใจชาวบ้าน   อาจกล่าวได้ว่ามานุษยวิทยาที่ศึกษาทะเล เป็นสาขาที่สนใจศึกษากิจกรรมมนุษย์ในทะเลที่ต้องอาศัยทฤษฎีที่หลากหลายมาอธิบาย ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลในพื้นที่ เข้าไปคลุกคลีและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่  นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอื่นๆที่ช่วยให้เกิดการถกเถียง เช่น การจับปลาที่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้บังคับปัญชาเรือใช่หรือไม่ การคำนึงถึงการอพยพของปลา และการทำประมงที่ต้องมีระบบวางแผนจัดการ ควรจับปลาบหลายชนิดมากกว่าชนิดเดียว ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการวางแผนจับปลามากขึ้น   นักมานุษยวิทยายังต้องแสวงหาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆมาอธิบายกิจกรรมของมนุษย์บริเวณชาวฝั่งทะเลและในท้องทะเลต่อไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Griffith. 1999. The Estuary's Gift: An Atlantic Coast Cultural Biography. Penn State University Press.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.726-728.

M. Estellie Smith (ed.) 1980. Those Who Live from the Sea: Study in Maritime Anthropology. West Publishing Co.

Paul D'Arcy. 2008. The People of the Sea: Environment, Identity and History in Oceania. University of Hawaii Press.

Paul D'Arcy. 2008. Peoples of the Pacific: The History of Oceania to 1870. Variorum.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวทางทะเล