Ethnoscience
วิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ (Ethnoscience) คือการศึกษาความคิดที่มนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆนำไปจัดระเบียบประสบการณ์ต่างๆ การศึกษานี้พัฒนาขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอาศัยการวิเคราะห์การจัดระเบียบประสบการณ์ของชนพื้นเมือง เช่น เรื่องระบบเครือญาติ ประเภทสี ชนิดของพืช และโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น การศึกษาในแนวนี้อาจเรียกว่าเป็นการศึกษาทางชาติพันธุ์ชนิดใหม่ ซึ่งมีการนำความรู้ทางจิตวิทยา ภาษาศาสตร์ หรือมานุษยวิทยาเชิงความคิดมาอธิบาย การศึกษาวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นการขยายพรมแดนความรู้มานุษยวิทยาไปสู่การทำวิจัยและการสร้างทฤษฎีทางวัฒนธรรม
สก็อตต์ เอแทรน (1991) กล่าวว่าวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์คือการมองวัฒนธรรมด้วยกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องการศึกษาว่ามนุษย์สร้างและจัดระเบียบความคิดและความเชื่อของตนเองขึ้นมาได้อย่างไร การศึกษาวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ มีเป้าหมายที่จะอธิบายวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมาตรฐานของความคิดและการกระทำที่น่าเชื่อและเป็นที่ยอมรับได้สำหรับชาวบ้าน วัฒนธรรมในความหมายนี้ จึงเป็นระบบมาตรฐานของผู้เขียนที่ศึกษาวัฒนธรรมนั้น การศึกษาวัฒนธรรมแบบนี้ เป็นเรื่องของความรู้ มิใช่เรื่องของการกระทำ เป็นการทำความเข้าใจระบบวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังคำอธิบายต่างๆ
การศึกษาวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ต้องการค้นหาวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่อวัฒนธรรมนั้นๆ การศึกษาแนวนี้ได้รับอิทธิพลจากมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การค้นหารหัส มาตรฐาน หรือ วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้พฤติกรรม เป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับการวิจัยภาษาศาสตร์ที่ต้องการค้นหาระบบเสียงและคำที่จัดระเบียบรูปประโยคในคำพูด วิชาภาษาศาสตร์เป็นตัวแทนของวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ต้องการค้นหากฎเกณฑ์ต่างๆที่แสดงออกมา เช่น การเรียกญาติพี่น้องที่อาศัยกฎของการแยกเพศ ช่วงอายุ ความสัมพันธ์ระหว่างญาติ และอื่นๆ
ตัวอย่างในทศวรรษที่ 1840 ลิวอิส เฮนรี มอร์แกนได้บันทึกเรื่องราวของชาว Iroquois ที่มีการแยกประเภทญาติพี่น้อง ใน ปีค.ศ.1903 อีมิล เดอร์ไคม์ และมาร์เซล มอสส์ ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคมกับจักรวาลวิทยา โดยอธิบายความคิดของชาวซูนิในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ซึ่งมีวิธีการแบ่งสังคมเป็น 7 กลุ่มตระกูล แต่ละตระกูลจะมีวิธีการแยกประเภทธรรมชาติของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัตว์ ฤดูกาล วัตถุสิ่งของ และอื่นๆ ชาร์ลส์ แฟรกได้ศึกษาระบบความคิดของชาวซูบานุมในเกาะมินดาเนา ในการแยกประเภทโรคภัยไข้เจ็บ และวิธีการรักษา เบรนท์ เบอร์ลิน, เดนนิส บรีดเลิฟ และปีเตอร์ เรเวน ศึกษาการจัดประเภทพืชของชาว Tzeltal ซึ่งมีการแยกประเภทความแตกต่างของพืชพรรณ วิธีการของชาวบ้านต่างไปจากการจัดประเภททางวิทยาศาสตร์ การวิจัยเรื่องนี้ทำให้เห็นระบบการจัดประเภทพืชต่างกันสองระบบ
วิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ตั้งใจที่จะสร้างแนวคิดทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นหลักการ และเป็นวิธีการศึกษาทางชาติพันธุ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ การศึกษาวัฒนธรรมโดยการแยกแยะระบบที่เป็นรากฐาน หรือเป็นระบบที่รองรับมัน ทำให้เกิดวิธีการศึกษาใหม่ในทางมานุษยวิทยา และก่อให้เกิดวิธีวิทยาที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้โต้แย้ง เช่น โรเจอร์ คีซิ่ง กล่าวว่าข้อสมมุติฐานจากทฤษฎีทางภาษาซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาของวิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นความคิดที่ล้าสมัย เมื่อการศึกษาภาษาศาสตร์มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป เช่น ทฤษฎีภาษาศาสตร์ยุคแรกเชื่อว่าทุกภาษามีโครงสร้างที่แน่นอนตายตัว (ethnoscience เชื่อว่าทุกวัฒนธรรมมีโครงสร้างที่ตายตัว) จึงต้องมีการศึกษาโครงสร้างนั้นๆ แต่ทฤษฎีภาษาศาสตร์สมัยหลังเชื่อว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการแสดงความหมายขึ้นอยู่กับประสบการณ์
คลิฟฟอร์ด เกิร์ต ใช้การตีความมาศึกษาวัฒนธรรม โต้แย้งทฤษฎีโครงสร้างที่อธิบายปรากฏการณ์วัฒนธรรมว่ามาจากโครงสร้างเดียวกัน แต่ภาษามาจากตัวบุคคล ซึ่งย่อมจะสร้างกฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของตัวเอง เกิร์ตกล่าวว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคมและมวลชน วัฒนธรรมไม่ได้ถูกควบคุมด้วยรหัส แต่วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Augé, Marc. 1999. The war of dreams: exercises in ethno-fiction, London: Pluto Press
Meehan, Peter M. 1980. Science, ethnoscience, and agricultural knowledge utilization. In: Warren DM, Brokensha D, Werner O (Eds). Indigenous knowledge systems and development. Lanham, MD, USA: University Press of America. p 383-91.
Perchonock, Norma and Oswald Werner. 1969. Navaho Systems of Classifications: Some Implications for Ethnoscience. Northwestern University. Ethnology, Vol. 8, No. 3 (July.), pp. 229–242.
Robert H. Wintrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.104-106.
Sturtevant, William C. 1964. Studies in Ethnoscience. American Anthropologist 66(3): 99-131.
Uddin, Nasir. 2005. Facts and Fantasy of Knowledge: Retrospective of Ethnography for the Future of Anthropology. Pakistan Journal of Social Science 3(7): 978-85.
หัวเรื่องอิสระ: วิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์