คำศัพท์

Band

       ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา สังคมที่มีขนาดเล็กที่สุดคือสังคมแบบกลุ่มญาติ (Band) ซึ่งหมายถึงกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณ 20-100 คน   สมาชิกของกลุ่มจะเป็นญาติพี่น้องกัน (small kin group) หรือมีลักษณะคล้ายกลุ่มครัวเรือนที่ญาติพี่น้องรวมตัวกันอยู่อาศัย ไม่มีการตั้งถิ่นฐานถาวร แต่จะเดินทางเร่ร่อน หาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองโดยการล่าสัตว์ เก็บของป่า มีการสะสมวัตถุบ้างเล็กน้อย มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนกลุ่มอื่นๆ มีผู้นำแบบไม่เป็นทางการซึ่งมักจะเป็นผู้ที่แข็งแรงกล้าหาญ มีความสามารถในการต่อสู้ ไม่มีสถาบันสังคมที่ตายตัว สมาชิกของกลุ่มจะช่วยกันทำงาน ไม่มีใครที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง ไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือฐานะสูงต่ำ แต่ละคนจะมีฐานะเท่าๆกัน   ปัจจุบัน สังคมที่มีลักษณะแบบนี้พบได้ในเขตลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ห่างไกลในเกาะปาปัวนิวกินี ชนเผ่าปิกมี่และบุชแมนในแอฟริกา ชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย ชาวเอสกิโมในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ สังคมขนาดเล็กแบบกลุ่มญาติได้ถูกปกครองด้วยการเมืองของรัฐชาติสมัยใหม่

       ทฤษฎีวิวัฒนาการคือทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายสังคมแบบญาติพี่น้อง โดยเชื่อว่าเมื่อประมาณ 4 หมื่นปีมาแล้ว มนุษย์ทุกกลุ่มมีการสร้างสังคมแบบญาติพี่น้อง  ต่างจากกลุ่มของเผ่า อาณาจักร และรัฐชาติที่มีการจัดลำดับชั้นที่ซับซ้อน  กลุ่มสังคมแบบญาติพี่น้องมีการปรับตัวโดยการหาอาหารเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติเอื้ออำนวยในการยังชีพ เช่น ชาวเอสกิโมจะเคลื่อนย้ายไปหาอาหารบริเวณชายฝั่งในช่วงฤดูหนาว และย้ายเข้าไปหาอาหารในเขตทุ่งหญ้าในช่วงฤดูร้อน  กลุ่มโดบีคุงจะรวมตัวกันหาอาหารบริเวณบ่อน้ำในช่วงหน้าร้อนที่แห้งแล้ง และแยกย้ายไปหาอาหารในเขตทะเลทรายในช่วงฤดูฝน

           กลุ่มสังคมแบบญาติพี่น้อง แตกต่างและมีขนาดเล็กกว่าสังคมแบบชนเผ่า กล่าวคือ สังคมแบบชนเผ่าจะมีการจัดระเบียบสังคมแบบช่วงชั้น มีสถาบันการเมืองการปกครองที่ชัดเจน เช่น มีระบบผู้นำแบบกษัตริย์หรือหัวหน้าเผ่า สังคมเผ่าจะตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ไม่มีการเคลื่อนย้ายเหมือนกับสังคมแบบญาติพี่น้อง ภายในเผ่าอาจจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยๆออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีผู้นำดูแล นักวิชาการเชื่อว่าสังคมแบบเผ่าพัฒนามาจากสังคมแบบญาติพี่น้องหลายๆกลุ่มมารวมตัวกัน จนเกิดเป็นกลุ่มขนาดใหญ่

          นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินของกลุ่มสังคมแบบญาติพี่น้อง เป็นการปรับตัวตามฤดูกาล ซึ่งแต่ละช่วงเวลาจะมีอาหารแตกต่างกัน ในช่วงที่มีอาหารสมบูรณ์ เช่นในฤดูฝน สมาชิกสามารถแยกย้ายกันออกไปหาอาหาร ส่วนในฤดูแล้งที่มีอาหารน้อย สมาชิกในกลุ่มจะกลับมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันหาอาหาร แต่นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่าการรวตัวหรือแยกตัวของกลุ่มญาติพี่น้อง อาจไม่ได้มาจากเหตุผลเรื่องการหาอาหาร แต่อาจมาจากเหตุผลทางสังคม เช่น การติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างครอบครัว เพื่อหาสมาชิกจากการแต่งงาน

          ในปี ค.ศ.1906 มาร์เซล มอสส์ และ เฮนรี บูเชต์ ทำการศึกษาโครงสร้างของกลุ่ม inuit ในฤดูกาลต่างๆ   และชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาวที่มีผลต่อแบบแผนการตั้งบ้านเรือน กฎของกลุ่ม พิธีกรรม และความเชื่อ       ในทศวรรษที่ 1930 จูเลียน สจ๊วต วิเคราะห์การปกครองภายในกลุ่มสังคมแบบญาติพี่น้อง ภายใต้แนวคิดเรื่องนิเวศวัฒนธรรมของกลุ่มชนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่เขามีความเชี่ยวชาญ และอ้างถึงการศึกษาก่อนหน้านั้นของแรดคลิฟฟ์ บราวน์     สจ๊วตอธิบายว่ากลุ่มสังคมที่นับญาติข้างพ่อและมีการแต่งงานออกจากกลุ่ม จะมีการปกครองโดยยึดหลักการทางฝ่ายพ่อ การปกครองแบบนี้พบได้ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์โดยทั่วไป และการปกครองแบบนี้ยังถูกจำลองไปใช้ในการออกล่าสัตว์อีกด้วย

          สจ๊วตยังกล่าวว่ากลุ่มสังคมแบบญาติพี่น้อง ยังอาจมีรูปแบบอื่นๆ เช่น กลุ่มญาติหลายๆกลุ่มรวมตัวกันเพื่อช่วยกันล่าสัตว์ กลุ่มที่มารวมกันนี้อาจไม่มีระบบการแต่งงงานออก แต่มารวมกันเพื่อหาอาหาร หรือช่วยเหลือกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้อง    ตัวอย่างเช่น  ชาวบุชแมน ปิกมี่ และ อะบอริจินส์ ในออสเตรเลียซึ่งมีการปกครองโดยนับญาติข้างพ่อ  และชาวอัลกอนเกี้ยน และอธาบาสกัน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตขั้วโลกเหนือมีการรวมกลุ่มช่วยกันหาอาหาร  เอลแมน เซอร์วิส อธิบายว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่ข้างพ่อ คือกลุ่มที่มีการนับญาติข้างพ่อตามที่สจ๊วตอธิบายไว้   คำอธิบายนี้เป็นการเน้นย้ำบทบาทของที่อยู่อาศัยที่มีผลต่อโครงสร้างของกลุ่ม มากกว่าเป็นการเน้นที่การนับญาติ

          แบบแผนของกลุ่มทางสังคมที่นับญาติและมีการตั้งถิ่นฐานข้างพ่อได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง  การวิจัยในระยะหลังที่เคยเน้นประเด็นเรื่องโครงสร้างแบบยืดหยุ่นของกลุ่ม อธิบายว่าการจัดการภายในกลุ่มสังคมล่าสัตว์มีความลื่นไหลขึ้นอยู่กับลักษณะการปรับตัว มีการควบคุมขนาดของกลุ่มให้เหมาะสมกับทรัพยากร สมาชิกมีความปรองดอง และมีการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการแยกกลุ่มออกไป   แต่การวิจัยในปัจจุบัน ชี้ว่าสังคมที่สจ๊วตอธิบายมีลักษณะเป็นสังคมแบบเร่ร่อนที่มิใช่กลุ่มที่มีการนับญาติข้างพ่อ

          ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา การวิจัยเกี่ยวกับสังคมแบบญาติพี่น้องมีข้อสังเกตดังนี้

1. เชื่อว่าการปรับตัวในการหาอาหารไปตามที่ต่างๆนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก  สังคมแบบญาติพี่น้องจึงอาศัยอยู่บนเงื่อนไขของการเอาชีวิตรอด  การเร่ร่อนหาอาหารต้องการแรงงานที่เพียงพอมากกว่าปริมาณอาหาร   จากหลักฐานการเปลี่ยนแปลงในยุคหินใหม่ ที่มนุษย์เลิกการเก็บของป่าล่าสัตว์ และหันมาทำการเพาะปลูกมิได้หมายถึงการปรับตัวของการหาอาหาร แต่เป็นการปรับเปลี่ยนความซับซ้อนของสังคมและนิเวศวิทยา

2. ทฤษฎีมาร์กซิสต์ อธิบายว่าสังคมเร่ร่อนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มนั้นเป็นวิธีการหาอาหารแบบหนึ่ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนอาหารกับคนกลุ่มอื่นๆ  ไม่เน้นการสะสมหรือจับจองที่ดินและทรัพยากรเป็นของส่วนตัว    อีเลียนอร์ ลีคอกค์ และริชาร์ด ลี อธิบายว่าแบบแผนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนพบได้ในสังคมแบบญาติพี่น้อง เช่นเดียวกับการแบ่งปันที่เท่าเทียมกัน ไม่มีการใช้อำนาจบังคับ เน้นการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกันของคนแต่ละคน และการเป็นสมาชิกในกลุ่มก็มีความยืดหยุ่น คนแต่ละคนจะมีชีวิตเป็นอิสระและพร้อมจะช่วยกัน

3. การศึกษาวิจัยเน้นประเด็นผลกระทบของสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีต่อสังคมแบบญาติพี่น้อง และวิธีการหาอาหารของกลุ่ม   การวิจัยพยายามมองระบบนิเวศทางวัฒนธรรมแบบใหม่โดยการอธิบายรูปแบบของกลุ่มที่คำนวณได้จากการใช้พลังงาน การแบ่งงานกันทำและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Erdal, D. & Whiten, A. 1996. "Egalitarianism and Machiavellian Intelligence in Human Evolution" in Mellars, P. & Gibson, K. (eds) Modelling the Early Human Mind. Cambridge Macdonald Monograph Series

Lee, Richard. 1982. Politics and History in Band Societies. In Leacock, Eleanor (ed.) Cambridge: Cambridge University Press.

Winthrop, Robert H. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.23-25.


หัวเรื่องอิสระ: สังคมแบบกลุ่มญาติ