Posthuman Anthropology
ข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์
นับตั้งแต่ยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวทางความรู้และปรัชญาตะวันตกได้สนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็นมนุษย์” และเป็นโจทย์สำคัญในการศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่พยายามอธิบายว่ามนุษย์ดำรงอยู่และเปลี่ยนไปอย่างไร (Howard, 2013) ประเด็นเกี่ยวกับ “ความเป็นมนุษย์” ยังเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสภาพแวดล้อม ธรรมชาติและสรรพสิ่งที่มีผลต่อการมีอยู่ของมนุษย์ นำไปสู่การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าการศึกษาของมานุษยวิทยาจะก้าวพ้นไปจากมนุษย์ได้อย่างไร เพื่อให้มองเห็นแนวทางศึกษาและการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆที่สำคัญกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์
สิ่งท้าทายแรกในการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่พ้นไปจากมนุษย์ (more than human anthropology) คือการไม่นำเอา “มนุษย์” มาเป็นศูนย์กลางของการสร้างความรู้ (non-anthropocentric perspective) Heidegger (1977) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการละทิ้งอภิปรัชญาคือจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามไปสู่การละทิ้งมนุษยนิยม (posthumanism) ซึ่งท้าทายการศึกษาตามจารีตนิยมที่มักจะใช้มนุษย์เป็นบรรทัดฐานในฐานะผู้มีสติปัญญาในการเข้าถึงความรู้และความจริงในโลก Crutzen and Steffen (2003) อธิบายว่าโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยร่องรอยของการทำลายล้างและความสูญเสียที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ปัญหานี้กำลังถูกตรวจสอบและสะท้อนให้เห็นกิจกรรมที่มนุษย์ทำลงไปซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสังคมของมนุษย์เอง
นักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มุ่งที่จะศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้การกระทำของมนุษย์ นำไปสู่สมมติฐานเรื่อง Anthropocene ซึ่งบ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไป (Steffen et al. 2011; Zalasiewicz et al., 2010) ปัญหาภาวะโลกร้อน มลพิษ การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยธรรมชาติที่รุนแรง ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป คือตัวอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าเป็นวิกฤตการณ์ของโลก ในการศึกษาทางสังคม Dalby (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิด Anthropocene ที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ มุ่งไปสู่การแสวงหาวิธีที่จะปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกดำรงอยู่และมนุษย์จะมีชีวิตที่มั่นคงต่อไป เป้าหมายนี้ยังคงเห็นความสำคัญของมนุษย์และเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำให้โลกดีขึ้นได้ (good Anthropocene)
Latour (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิด Anthropocene มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ หากแต่เป็นการตอกย้ำ “ตัวตน” ของมนุษย์ให้มีพลัง โดดเด่นและเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจความเป็นมนุษย์แล้ว ยังทำให้มนุษย์มีความสำคัญราวกับวีรบุรุษที่ช่วยสร้าง ฟื้นฟู และกอบกู้โลก การทำให้มนุษย์มีภาระหน้าที่นี้คือการมองมนุษย์ในฐานะเป็น “ผู้กระทำการที่มีเอกภาพ” (unified agency) โดยมองไม่เห็นความแตกต่างในตัวมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมทางสังคมและวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ฐานคิดที่รองรับแนวคิด Anthropocene จึงเป็นการผลิตซ้ำกระบวนทัศน์แบบเฮเกลที่อธิบายการมีตัวตนของมนุษย์บนการใช้สติปัญญาเพื่อคิดแยกแยะเหตุผล (thinking subject) เพื่อค้นหาความจริงในโลก ประเด็นดังกล่าวนี้ Latour วิจารณ์ว่าตัวตนของมนุษย์มิได้เกิดจากการใช้ปัญญา แต่เกิดจากเครือข่ายของสรรพสิ่งที่ตอบโต้กันตลอดเวลา ฉะนั้น แนวคิด Anthropocene จึงไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของสิ่งที่ต่างๆที่ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและส่งผลให้โลกเปลี่ยนรูปโฉมไปตลอดเวลา
Weber (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิด Anthropocene คือคำที่บ่งบอกถึงโลกาภิวัตน์ในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งเชื่อว่าโลกที่เคลื่อนไปเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ความเชื่อนี้วางอยู่บนฐานคิดแบบตะวันตกที่มองมนุษย์เป็นผู้สร้างโลกด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปตลอดเวลา ความคิดนี้คือการยกมนุษย์ให้เหนือกว่าสิ่งอื่น (Hamilton, 2013) ซึ่งเป็นการตอกย้ำกระบวนทัศน์มนุษยนิยมที่ปรากฏมาตั้งแต่ยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) การก้าวพ้นมนุษย์จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการศึกษาความเป็นไปของโลก ซึ่งไม่ควรผลิตซ้ำคู่ตรงข้ามระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” หรือ “มนุษย์” กับ “สิ่งที่มิใช่มนุษย์” Howard (2013) อธิบายว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาควรวิพากษ์ความเป็นเอกภาพของมนุษย์ โดยมองดูสิ่งอื่นๆที่สร้างมนุษย์ให้เป็นส่วนหนึ่งของมัน
กระบวนทัศน์การพ้นมนุษย์
จุดท้าทายเริ่มแรกของการก้าวข้ามความเป็นมนุษย์ คือการรื้อทำลายมายาคติความเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือสรรพสิ่ง Kopnina (2012a, 2012b) เสนอว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์โดยมองไปที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีส่วนทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กระบวนทัศน์การพ้นมนุษย์จึงเป็นการล้มล้างและท้าทายความคิดตะวันตกที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) ซึ่งหยั่งรากลึกมาตั้งแต่ปรัชญาของเพลโต และพยายามคิดนอกกรอบคู่ตรงข้ามที่ทำให้มนุษย์อยู่ในด้านที่เหนือกว่าสิ่งอื่น (Rae, 2014) ตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ยังคงเป็นผู้ควบคุมและจัดการสิ่งต่างๆเพื่อตอบสนองการมีอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งยังเป็นการแยกพรมแดนมนุษย์ออกจากธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์คิดว่าโลกธรรมชาติจะยังคงอยู่ได้เมื่อมนุษย์เข้าไปดูแลรักษาและอนุรักษ์ (Abram, 2010; Agamben, 2003)
Latour (2011) ตั้งข้อสังเกตว่าการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลก ส่วนที่เหลือจะถูกมองเป็นเพียง “วัตถุ” ที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์เท่านั้น กล่าวคือ สิ่งอื่นจะไม่มีตัวตน เป็นแค่เพียงสิ่งของ Barad(2003) อธิบายว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น เกิดขึ้นบนวิธีคิดที่ “สิ่งอื่น”เป็นผู้ถูกกระทำ การคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการแยก “ธรรมชาติ” ออกจาก “วัฒนธรรม” การข้ามพ้นวิธีคิดดังกล่าวจำเป็นต้องมองเห็นปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์และสิ่งอื่นกระทำต่อกันโดยไม่ยกให้มนุษย์เหนือกว่า (Serres, 2003) ปฏิสัมพันธ์นี้คือระบบของความซับซ้อน (complex systems) ที่สรรพสิ่งในโลกล้วนพึ่งพากัน (Lingis, 2000; Urry, 2005)
Smart & Smart (2017) อธิบายว่าการศึกษามานุษยวิทยาที่ไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (non-anthropocentric anthropology) คือการไม่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น และนำเอามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลายระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ระหว่างรูปธรรมและนามธรรม ระหว่างวิธีปฏิบัติกับจินตนาการ สิ่งต่างๆเหล่านี้เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน แนวการศึกษาที่ไม่เอามนุษย์เป็นเจ้านายอาจย้อนกลับไปหาการศึกษาแบบองค์รวม (holism) ที่เป็นรากฐานในวิชามานุษยวิทยา ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดการข้ามพ้น “ตัวตน” ของมนุษย์ที่มิได้อ้างอิงอยู่กับร่างทางชีววิทยา แต่ยังมีสิ่งอื่นๆที่เข้ามาประกอบในความมีตัวตน (Whitehead, 2009) สิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ มิได้ทำให้มนุษย์สำคัญมากขึ้น แต่ทำให้ความเป็นมนุษย์ผนวกรวมอยู่กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (hybridization of human beings) (Valera, 2014) รวมทั้งทำให้พรมแดนของความเป็นมนุษย์ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวและเคลื่อนและคลี่คลายไปตลอดเวลา
การพ้นมนุษย์คือการแสวงหาสิ่งที่เป็นรอยต่อของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน (Heidegger, 1996) เท่าที่ผ่านมาความรู้ตะวันตกไม่สนใจรอยต่อนี้แต่พยายามแยกมนุษย์ให้เป็น “เจ้านาย” เหนือสิ่งอื่น ในแง่นี้สิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรให้ความสนใจคือกระบวนการที่สรรพสิ่งเคลื่อนตัวไปโดยอาศัยซึ่งกันและกัน (interdependent processes) Waldenfels (2011) อธิบายว่าทุกสิ่งในโลกต่างอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อที่จะสร้างการมีตัวตน (co-original extensions of self) กล่าวคือ การมีอยู่ของมนุษย์มิได้มาจากสติปัญญาที่หลักแหลมหรือความสามารถที่มนุษย์มี แต่มนุษย์เป็นส่วนผสมของทุกสิ่งที่เคลื่อนตัวไปบนปฏิสัมพันธ์ที่ไม่สิ้นสุด ปัญหาคือ ความเข้าใจในความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตก มนุษย์กลับถูกมองเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่มีสติปัญญาหยั่งรู้ว่าตนเองเป็นใคร การคิดเช่นนี้คือความแปลกประหลาดที่ทำให้สิ่งที่มิใช่มนุษย์ไม่ถูกมองว่าคิดเป็น
Plessner (2019) ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นก็คือ วิธีการจัดวางความสัมพันธ์ของตัวเองกับสภาพแวดล้อม มนุษย์จะสนใจกิจกรรมของตนเองเหนือกว่ากิจกรรมของสิ่งอื่น ซึ่งความสนใจในสิ่งที่ตนเองทำได้สร้างตำแหน่งที่แปลกประหลาด (eccentric position) ให้กับมนุษย์ กล่าวคือ สิ่งที่อยู่รายรอบมนุษย์จะเป็นเพียงส่วนประกอบ ในขณะที่สิ่งที่มนุษย์ทำจะกลายเป็นศูนย์กลาง ตำแหน่งแห่งที่ที่มนุษย์ได้จัดวางตัวเองให้เด่นกว่าสิ่งอื่น สิ่งนี้คือการทำให้ตัวมนุษย์แยกไปอยู่โดดเดี่ยวเพื่อให้มนุษย์มองเห็น “ตัวเอง” ในฐานะเป็น “การดำรงอยู่ทางกายภาพ” (physical existence) หรือเป็นตัวตนทางวัตถุที่มีพรมแดนตัดขาดจากสิ่งอื่นอย่างชัดเจน ตำแหน่งแห่งที่ของความเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “คุณลักษณะเชิงซ้อน” (double aspectivity) อันประกอบด้วย ส่วนที่หนึ่งคือการทำให้มนุษย์มีร่างที่ชาญฉลาด (สติปัญญา-เหตุผล) และส่วนที่สองคือการทำให้ร่างกายของตัวเองตัดขาดจากร่างของสิ่งอื่น
คุณลักษณะเชิงซ้อนนี้ได้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ปรารถนาที่จะอยู่เหนือสิ่งอื่นแต่ในเวลาเดียวกันมนุษย์ก็ยังคงสัมพันธ์กับสิ่งอื่น(Mul, 2014) ดังนั้น การทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ในอุดมคติที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นจะช่วยให้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ที่ถูกแยกไว้ตามลำพัง ซึ่งตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าวคือฐานคิดของการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง Rapport(2010) อธิบายว่าตำแหน่งแห่งที่ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็น “มนุษย์” คือการปิดกั้นมิให้มนุษย์มองตัวเองเป็นอย่างอื่น ถ้าต้องการศึกษาการเคลื่อนตัวไปของความเป็นมนุษย์ เราควรละทิ้งตำแหน่งแห่งที่แบบนั้นและหันมาสนใจความเป็นสิ่งที่มิใช่มนุษย์ที่เกิดขึ้นในตัวเราด้วย
การพ้นมนุษย์มิใช่การค้นหามนุษย์แบบใหม่ (Transhuman)
ความเข้าใจและข้อถกเถียงเชิงกระทบวนทัศน์ของการพ้นมนุษย์ มิใช่การล้มล้างหรือต่อต้านความคิดจารีตนิยมที่ยึดมั่นในตัวตนและปัญญาของมนุษย์ แต่เป็นการขยายความเข้าใจต่อ “ความเป็นมนุษย์” ที่ไม่เคยมั่นคงและมีเอกภาพ (Braidotti, 2013) แนวคิดเรื่องการพ้นมนุษย์ ต่างไปจากการแสวงหาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้มนุษย์มีความก้าวหน้าและสมบูรณ์มากขึ้น เช่นการเชื่อมต่อเครื่องมือดิจิทัลกับร่างกายมนุษย์ การแสวงหาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นรู้จักในนามกระบวนการเคลื่อนไหว Transhumanism ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้มนุษย์แข็งแกร่งกว่าเดิม (Benko, 2005; Birnbacher, 2008)
ฐานคิดทางปรัชญาที่รองรับแนวคิดการพ้นมนุษย์ (Posthuman) คือการรื้อทิ้งอัตลักษณ์และตัวตนของมนุษย์ที่มีปัญญา โดยทำความเข้าใจการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสิ่งอื่น พร้อมทั้งมองดูมนุษย์ในฐานะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ฉลาดและก้าวหน้ากว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (Pepperell, 2005) มนุษย์เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ดิ้นรนเอาชีวิตรอดท่ามกลางระบบนิเวศน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล และการดิ้นรนดังกล่าววางอยู่บนเส้นทางที่ไม่มีจุดสุดท้ายหรือความสมบูรณ์แบบ (model of Perfection) หากแต่เป็นการเผชิญกับความไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดการพ้นมนุษย์ละทิ้งการสร้างความสมบูรณ์และระเบียบที่ตายตัวให้กับมนุษย์ ไม่ได้มองมนุษย์ว่ามีความสามารถในการอยู่ได้ด้วยตัวเอง (autonomous agent) (Roden, 2010) ในทางกลับกันต้องการเห็นความไร้เบียบและความไม่สมบูรณ์ที่เข้ามาขับเคลื่อนมนุษย์ให้เดินไปพร้อมกับสิ่งอื่น Valera (2014) อธิบายว่าการพ้นมนุษย์คือการทำความเข้าใจสรรพสิ่งที่เข้ามาพัวพันในกิจกรรมต่างๆที่มนุษย์ลงมือทำ
สิ่งต่างๆที่ดำรงอยู่ในโลก มิใช่เป็นสิ่งที่อยู่นอกพรมแดนมนุษย์ หรือเป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายและเป็นสุข สิ่งต่างๆ มิใช่เป็นวัตถุที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของการพึ่งพาอาศัยกัน Wolfe (2009) ตั้งข้อสังเกตว่าการพ้นมนุษย์มิใช่การศึกษาที่ละทิ้งความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ หากแต่ยังเป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์ที่เคยให้มนุษย์สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่น
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Abram, D. (2010) Becoming Animal: an earthly cosmology. New York: Vintage Books.
Agamben, G. (2003). The Open: Man and Animal. Stanford, CA: Stanford University Press.
Barad, K. (2003), Posthumanist Performativity: Toward an Understanding of How Matter Comes to Matter. Signs: Journal of Women in Culture and Society, 28 (3), 801-31.
Benko, S. (2005). Ethics, Technology, and Posthuman Communities. Essays in Philosophy, 6/1, 1-17.
Birnbacher, D. (2008). Posthumanity, Transhumanism and Human Nature, in Gordijn, B. Chadwick, R. Medical enhancement and Posthumanity, (pp.95-106). New York, Springer.
Braidotti, R. (2013). The Posthuman. Cambridge: Polity Press.
Crutzen, P. & Steffen, W. (2003). How Long Have We Been in the Anthropocene Era? Climatic Change, 61(3), 251-57.
Dalby, L. (2015). Framing the Anthropocene: The good, the bad and the ugly. The Anthropological Review, 3(1), 33-51.
Hamilton, C. (2013) Earthmasters: Playing God with the Climate. Crows Nest NSW: Allen & Unwin
Heidegger, M. (1977). The Question Concerning Technology, The Question Concerning Technology and Other Essays. New York: Harper and Row.
Heidegger, M. (1996). Being and Time. trans. Joan Stambaugh and Dennis J. Schmidt. New York: State University of New York Press.
Howard, C.A. (2013). Posthuman anthropology? Facing up to planetary conviviality in the Anthropocene. Paper given at the University of Sydney Anthropology Department Annual Symposium, ‘A Post-Human World? Rethinking Anthropology and the Human Condition’, June 14-15, 2013. Available from: https://www.researchgate.net/publicatio/303692656_Posthuman_Anthropology_Facing_up_to_planetary_convivia lity_in_the_Anthropocene
Kopnina, H. (2012a) Toward conservational anthropology: addressing anthropocentric bias in anthropology. Dialectical Anthropology, 36 (1-2), 127-46.
Kopnina, H. (2012b), The Lorax complex: deep ecology, ecocentrism and exclusion. Journal of Integrative Environmental Sciences, 9 (4), 235-54
Latour, B. (2011). A Cautious Promethius? A few steps toward a philosophy of design with special attention to Peter Sloterdijk', in Willem Schinkel and Liesbeth Noordegraaf- Eelens (eds.), Media Res: Peter Sloterdijk's Sphereological Poetics of Being. Amsterdam: University of Amsterdam Press.
Latour, B. (2013). Waiting for Gaia: Six lectures on the political theology of nature. Being the Gifford Lectures on Natural Religion Edinburgh, 18th-28th of February 2013. Available at https://eportfolios.macaulay.cuny.edu/wakefield15/files/2015/01/LATOUR- GIFFORD-SIX-LECTURES_1.pdf
Lingis, A. (2000). Dangerous Emotions. Berkeley: University of California Press.
Mul, Jos de (ed.), (2014). Plessner's Philosophical Anthropology: perspectives and prospects. Amsterdam: University of Amsterdam Press.
Pepperell, R. (2005). Posthumans and Extended Experience. Journal of Evolution and Technology, 14, 27-41.
Plessner, H (2019). The Levels of Organic Life and the Human: Introduction to Philosophical Anthropology. New York: Fordham University Press.
Rapport, N. (ed.), (2010). Human nature a capacity: transcending discourse and classification. New York: Berghahn Books.
Rae, G. (2014). Heidegger’s influence on posthumanism: The destruction of metaphysics, technology and the overcoming of anthropocentrism. History of the Human Sciences, 27 (1), 51-69.
Roden, D. (2010). Deconstruction and excision in philosophical posthumanism. The Journal of Evolution & Technology, 21(1), 27-36.
Serres, M. (2003). The science of relations: an interview', Angelaki, 8 (2), 227-38.
Smart, A. & Smart, J. (2017). Posthumanism: Anthropological Insights. Toronto: University of Toronto Press
Steffen, W. et al. (2011), The Anthropocene: From Global Change to Planetary Stewardship. AMBIO, 40 (7), 739-61.
Urry, J. (2005). The Complexity Turn. Theory, Culture & Society, 22 (5), 1-14.
Valera, L. (2014). Posthumanism: Beyond humanism? Cuadernos de Bioética XXV, 481-491.
Waldenfels, B. (2011), Phenomenology of the Alien: basic concepts. Evanston, IL: Northwestern University Press.
Weber, A. (2013). Enlivenment: Towards a fundamental shift in the concepts of nature, culture and politics. Berlin: Heinrich Böll Stiftung.
Whitehead, N. L. (2009). Post-Human Anthropology. Identities: Global Studies in Culture and Power, 16, 1–32.
Wolfe, C. (2009). What is Posthumanism? Minneapolis: University of Minnesota Press.
Zalasiewicz, J. et al. (2010). The New World of the Anthropocene. Environmental Science & Technology, 44 (7), 2228-31.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, การพ้นมนุษย์, สิ่งที่มิใช่มนุษย์