Public Anthropology
มานุษยวิทยาสาธารณะ สำคัญอย่างไร
วิชามานุษยวิทยาไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมและนั่งชื่นชมความงดงามและหลากหลายในขนบธรรมเนียมประเพณีที่มนุษย์แสดงออก แต่มานุษยวิทยาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ที่เผชิญกับปัญหาต่างๆที่มีผลทำให้มนุษย์บางกลุ่มขาดโอกาส ถูกกีดกัน เสียเปรียบ และมีชีวิตที่ขาดแคลน โดยที่นักมานุษยวิทยาพยายามศึกษาเงื่อนไขของปัญหาที่ซับซ้อนที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ระดับชุมชนขนาดเล็กไปจนถึงสังคมโลกที่มีเชื่อมข้ามหากัน McGranahan (2006) เคยเสนอว่าหากวิชามานุษยวิทยาไม่ได้แยกตัวออกจากสังคม แต่เป็นวิชาที่พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ ฉะนั้น นักมานุษยวิทยาก็จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิธีการที่นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมในมิติต่างๆคือจุดเริ่มต้นของการนำความรู้ออกไปสู่สาธารณะ Peacock (1997) เคยกล่าวว่าทิศทางการศึกษามานุษยวิทยาในอนาคตจำเป็นต้องมุ่งมั่นและพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องเชิงรุกกับสังคม (socially-active endeavor)
คำถามต่อมาคือ เหตุใดมานุษยวิทยาสาธารณะจึงควรค่าแก่การขับเคลื่อนและผลักดันในเวลาปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมที่ยังเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ หากย้อนมองขอบเขตของมานุษยวิทยาที่ทำงานกับสังคม จะพบว่าไม่มีแนวคิดทฤษฎีใดที่สามารถใช้บ่งชี้ถึงความเป็นมานุษยวิทยาสาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากนักมานุษยวิทยาที่ทำงานกับสังคมจะใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญที่ตนเองถนัดแตกต่างกันไป ฉะนั้น มานุษยวิทยาสาธารณะจึงมีขอบเขตที่กว้างขวาง ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อนักมานุษยวิทยานำความรู้ของตนเองไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมและช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อน เรามักจะเรียกแนวทางนี้ว่ามานุษยวิทยาประยุกต์ (Lamphere, 2004; Willigen, 2002) ซึ่งหมายถึงการนำความรู้มานุษยวิทยาไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ มีความรุนแรง ซับซ้อน และขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบัน บทบาทการทำงานเพื่อสังคมของนักมานุษยวิทยาจึงอาจมิได้เป็นแค่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ แต่อาจรวมถึงการเข้าไปมีส่วนแก้ไขและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ความเป็นสาธารณะของวิชามานุษยวิทยามีวิธีปฏิบัติที่หลากหลาย เช่น การเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ ปัญหาสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา และเพศสภาพของมนุษย์ (Lassiter, 2005)
เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนสะท้อน วิจารณ์ เสนอแนะความคิด และแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ การนำแนวคิดทฤษฎี กระบวนทัศน์ที่เป็นประโยชน์มาเป็นกรอบในการทำงานร่วมกับหน่วยงานและกลุ่มคนที่กำลังเผชิญกับปัญหา เช่น ทำงานร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มนายทุน และเครือข่ายของภาคประชาสังคม Purcell (2000) อธิบายว่าสิ่งสำคัญของมานุษยวิทยาสาธารณะคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และต้องชี้ให้สังคมเห็นรากเหง้าของปัญหาเหล่านั้น นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ควรมีเป้าหมายและความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่การแสวงหาความสำเร็จและความก้าวหน้าทางวิชาการเพียงอย่าง เดียว Sundar (2004) กล่าวว่าบทบาทของนักมานุษยวิทยาในโลกปัจจุบันควรจะผลักดันให้สาธารณะมีความเข้าใจว่าชีวิตของมนุษย์มีคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างไร McGilvray (2006) เสนอว่านักมานุษยวิทยาควรมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าเพื่อที่จะสร้างทั้งองค์ความรู้ใหม่พร้อมกับเข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาสังคมและช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
มานุษยวิทยาสาธารณะ กระจกสะท้อนโลกวิชาการ
Borofsky and Lauri (2019) อธิบายว่ามานุษยวิทยาสาธารณะบ่งชี้ถึงความสามารถของความรู้มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความกระจ่างในประเด็นทางสังคมที่กว้างขวางในโลกปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการสนทนากับสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังสะท้อนว่าในโลกวิชาการที่นักมานุษยวิทยากำลังพัวพันอยู่ในปัจจุบันล้วนเต็มไปด้วยการประเมินและสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จในตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งสร้างวัฒนธรรมแบบแข่งขันบนหอคอยงาช้างที่นับวันระบบเหล่านี้จะบั่นทอนให้นักมานุษยวิทยาถอยห่างจากสังคมไปเรื่อยๆ ดังนั้น นักมานุษยวิทยาควรจะนำความรู้ที่สร้างไว้มาใช้ประโยชน์และเข้าไปร่วมทำงานทางสังคม McGranahan (2006) กล่าวว่ามานุษยวิทยาสาธารณะมิใช่การใช้เวลาว่างของนักมานุษยวิทยาไปทำงานช่วยสังคมแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการปฏิบัติแบบยั่งรากลึกและต่อเนื่องโดยมุ่งหวังจะทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งถือเป็นแบบแผนการปฏิบัติทางจริยธรรมที่ต่างไปจากการทำงานวิชาการแบบเดิมๆ
Kuper (2009) ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนมักจะตัดสินจากความสละสลวยของภาษาและสำนวนโวหารทางวิชาการที่บ่งบอกว่าผู้เขียนทำการค้นคว้ามาอย่างเข้มงวด ซึ่งอาจจะมิได้บ่งบอกว่าข้อเสนอเหล่านั้นจะนำไปใช้แก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร แหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัยคาดหวังเพียงการได้รายงานวิจัยที่เสร็จตามเวลา Borofsky and Lauri (2019) อธิบายว่าโลกวิชาการปัจจุบันสนใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผลงานวิชาการ ตำรา หนังสือ และบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารจึงเป็นเครื่องมือของการสร้างตำแหน่งและความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งสังคมอาจจะมิได้ประโยชน์ใดๆจากข้อเขียนทางวิชาการเหล่านั้น Colson (1992) เคยวิจารณ์นักวิชาการรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นจากการเรียนในมหาวิทยาลัย พวกเขาเพียงแค่อ่านหนังสือและบทความจำนวนมากเพื่อที่จะค้นหาข้อถกเถียงทางแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ต่างจากเดิม ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนทางวชาการที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการถกเถียงและแข่งขันทางความคิด เส้นทางของโลกวิชาการในทำนองนี้คือการผลิตซ้ำอาณาจักรของทฤษฎีที่รอการรื้อและสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ
Strathern (2000) Shore and Wright (2015) กล่าวว่าโลกวิชาการสนใจจำนวนการตีพิมพ์ผลงานวิชาการและจำนวนการอ้างอิงที่นักวิชาการคนหนึ่งนำไปใส่ไว้ในข้อเขียนทางวิชาการของเขา สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่างานวิชาการที่ถูกอ้างถึงมากจะถูกทำให้เป็นตัวแทนของความสำเร็จ ซึ่งนับวันโลกวิชาการกำลังกลายสภาพไปเป็นบริษัททางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสถิติและตัวเลข สภาวะดังกล่าวได้เปลี่ยนคุณค่าของความรู้วิชาการไปเป็นการจัดช่วงชั้นจากสถิติการอ้างอิง ยิ่งมีการอ้างอิงมากก็ยิ่งมีค่ามาก Merry (2011) ตั้งข้อสังเกตว่าการประเมินความสำเร็จจากจำนวนตัวเลขสะท้อนการตกอยู่ใต้ระบอบการควบคุมแบบใหม่ซึ่งองค์กรทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มีอิทธิพลต่อวิธีการประเมินและการสร้างตัวชี้วัดเชิงสถิติ และวิธีการนี้ก็แทรกตัวเข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาและองค์กรทางสังคมอื่นๆ นอกจากนั้น ระบอบอำนาจนี้ได้ทำให้กลุ่มคนที่เป็นนักสร้างตัวชี้วัดและการประเมินผลเป็นผู้ตัดสินความถูกต้อง Merry ยังกล่าวว่าตัวชี้วัดทางสถิติยังเป็นกลไกของอำนาจที่เข้ามาควบคุม ตรวจสอบ และตัดสินว่าอะไรคือความสำเร็จและความล้มเหลว
เมื่อความรู้ทางมานุษยวิทยาถูกจัดการด้วยตัวชี้วัดเชิงตัวเลข เนื้อหาในความรู้จะถูกลดทอนให้เหลือเพียงชื่อที่ถูกอ้างอิงในหนังสือและบทความต่างๆ นักมานุษยวิทยาที่มีผลงานถูกอ้างอิงจำนวนมากจึงได้เปรียบแหล่งทุนจะให้ความสนใจและเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้รับทุนวิจัย (Borofsky & Lauri, 2019) ในขณะเดียวกันทิศทางการสันบสนุนงานวิจัยก็มุ่งที่จะให้นักวิจัยสร้างเครื่องมือหรือกลไกที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะทำให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินค้าและบริการ ความรู้แบบสังคมศาสตร์จึงถูกควบคุมให้ตอบสนองทิศทางเหล่านี้และต้องถูกตรวจสอบได้ในเชิงตัวเลข (quantifiable accountability) (Chubb & Watermeyer, 2017; Collini, 2018) นักมานุษยวิทยาที่ต้องการทุนวิจัยจึงตกอยู่ในสภาวะจำยอม กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงจำเป็นต้องรับวิธีคิดดังกล่าวมาใช้อย่างเลี่ยงมิได้ Borofsky & Lauri (2019) กล่าวว่านักมานุษยวิทยารุ่นใหม่พยายามดิ้นรนเพื่อหาสมดุลระหว่างงานที่มั่นคง การระดมทุนสำหรับการวิจัย ความจำเป็นที่ต้องเร่งผลิตงานวิชาการเพื่อเผยแพร่อย่างรวดเร็ว และการไขว่คว้าตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น สถานการณ์นี้ส่งผลต่อทิศทางแห่งความรู้ที่นักมานุษยวิทยาจะหยิบยื่นให้สังคม คำถามคือนักมานุษยวิทยาจะทำอย่างไรเพื่อนำตัวเองออกจากวังวนของโลกวิชาการที่ถูกควบคุมด้วยตัวชี้วัดทางสถิติและก้าวไปสู่การสะท้อนปัญหาทางสังคมที่เป็นจริง
แนวทางของมานุษยวิทยาสาธารณะ
เพื่อที่จะทำให้นักมานุษยวิทยาไม่ล้อมกรอบตัวเองให้อยู่ในแวดวงวิชาการที่ตัดขาดจากสังคม Borofsky & Lauri (2019) ได้เสนอทางออก 5 ประการ คือ ประการแรก การให้ความสำคัญกับข้อมูลภาคสนามและมีมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อปัญหาสังคม (ethnographical-critical approach) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ นักมานุษยวิทยาต้องใช้จุดแข็งในการศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ในระดับที่เล็กที่สุดเพื่อสะท้อนระบอบอำนาจที่กระทำต่อคนที่เสียเปรียบ และนำความรู้เกี่ยวกับคนตัวเล็กตัวน้อยมาตีแผ่ให้สาธารณะมองเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ประการที่สอง นักมานุษยวิทยาไม่ควรเก็บตัวอยู่แต่ในอาณาจักรทางวิชาการ แต่ควรแสวงหาวิธีการที่จะเข้าไปเกาะเกี่ยวกับปัญหาของมนุษย์ เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาชุมชนและชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ศึกษา นักมานุษยวิทยาไม่ควรจะนิ่งดูดายหรือปล่อยให้คนที่ตนกำลังศึกษาเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง สิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำได้คือการเข้าไปรับฟังปัญหาเหล่านั้น และแสวงหาวิธีต่างๆที่จะเผยแพร่ปัญหาของชาวบ้านให้สังคมรับรู้ เพื่อให้ปัญหาของพวกเขาไม่ถูกปกปิดเอาไว้
ประการที่สาม นักมานุษยวิทยาต้องนำความรู้จากการศึกษามาวิเคราะห์และทำให้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในเชิงสาธารณะ (public debates) ดังที่ Eriksen (2006) เสนอว่าการนำความรู้จากงานวิจัยมาเปิดเผยต่อสังคมพร้อมกับให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พบ สิ่งสำคัญคือ นักมานุษยวิทยาต้องตระหนักว่าความต้องการของชาวบ้านไม่ควรถูกบดบังด้วยเงื่อนไขและข้อบังคับจากแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัย ถึงแม้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการอาจจะต่างไปจากเป้าหมายของแหล่งทุน แต่นักมานุษยวิทยาควรนำเรื่องราวของชาวบ้านมาสื่อสารกับสังคมให้ครบถ้วน ประการที่สี่ ต้องตระหนักรู้ว่าการทำงานวิจัยของตนเองมีเงื่อนไขอย่างไรและเกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจแบบไหน การสร้างและเผยแพร่ผลงานวิชาการต่อสาธารณะอาจมีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องตีพิมพ์บทความในวารสารเพียงอย่างเดียว ช่องทางเผยแพร่ความรู้ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายอาจมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะช่องทางสื่อออนไลน์ นักมานุษยวิทยาสามารถเลือกช่องทางที่เหมาะสมที่ส่งเสริมให้สาธารณะตระหนักรู้และถกเถียงเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ประการที่ห้า รูปแบบการเขียนความรู้มานุษยวิทยาไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร แต่ควรสร้างสรรค์งานเขียนที่แตกต่างหลากหลายที่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาสังคมได้ง่ายและกว้างขวาง
Borofsky & Lauri (2019) กล่าวว่าการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกาะเกี่ยวและมีส่วนร่วมกับปัญหาสังคม คือการส่งเสริมคุณค่าของความรู้มานุษยวิทยาพร้อมๆกับการทำให้สังคมมีค่ามากขึ้น การทำงานเคียงข้างสังคมยังทำให้เกิดการสร้างโจทย์วิจัยและวิธีการศึกษาแบบใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือ การส่งเสริมให้สาธารณะมองเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมและนำปัญหานั้นมาถกเถียงอย่างตรงไปตรงมา อาจกล่าวได้มามานุษยวิทยาสาธารณะคือการสร้างพื้นที่ความรู้ที่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มานุษยวิทยาสาธารณะจึงเป็นทั้งการทำงานเชิงการเมืองที่นำความรู้ไปผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาและเป็นการปฏิบัติทางจริยธรรมที่มุ่งหวังให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีและเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ ย่อมจะพบกับอุปสรรคและสิ่งที่มาขัดขวางหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพูดความจริงที่ท้าทายต่อระบอบอำนาจและกฎเกณฑ์ที่ครอบงำสังคม ผู้อำนาจอาจไม่ยินดีที่จะให้กฎระเบียบและบรรทัดฐานบางอย่างถูกทำลาย แม้ว่ามันจะเป็นต้นเหตุของปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม Fassin (2013, 2017) กล่าวว่าการพูดความจริงที่ทำให้ผู้อำนาจสูญเสียความชอบธรรม อาจทำให้นักมานุษยวิทยาคนนั้นถูกคุกคามหรือถูกห้ามมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่กำลังได้รับการเปิดเผย เช่นมิให้เข้าไปเป็นพยานในการไต่สวนในคดีพิพาทเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสาธารณะ มิให้ออกสื่อและให้ข่าวที่สวนทางกับนโยบายของรัฐ หรือถูกปิดกั้นมิให้นำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นการศึกษาของ Hamdy (2010) ที่เปิดเผยให้เห็นธุรกิจการค้าอวัยวะมนุษย์ในประเทศอียิปต์ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในระบบการแพทย์และสุขภาพ เนื่องจากคนรวยที่มีร่างกายอ่อนแอสามารถซื้ออวัยวะจากคนจนที่ตัดสินใจขายอวัยวะของตนเพื่อแลกกับเงินจำนวนหนึ่ง แต่ผลที่ตามมาก็คือคนจนที่ขายอวัยวะของตัวเองต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากและกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต การเปิดเผยความจริงในเรื่องนี้ทำให้ Hamday ถูกรัฐบาลอียิปต์ขัดขวางมิให้ทำงานวิจัย สถานการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าไปท้าทายผู้มีอำนาจ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Borofsky, R. & Lauri, A. D. (2019). Public Anthropology in Changing Times. Public Anthropologist, 1, 3-19.
Chubb, J., Watermeyer, R. (2017). Artifice or Integrity in the Marketization of Research Impact? Investigating the Moral Economy of (Pathways to) Impact Statements within Research Funding Proposals in the UK and Australia. Studies in Higher Education, 42(12), 2360– 2372.
Collini, S. (2018). Speaking of Universities. London: Verso Books. Colson, E. (1992). Social/Cultural Anthropology. Wenner-Gren Foundation Report for 1990 and 1991. New York: Wenner-Gren Foundation.
Eriksen, T. (2006). Engaging Anthropology. The Case for a Public Presence. London: Bloomsbury.
Fassin, D. (2013). Why ethnography matters: On anthropology and its publics. Cultural Anthropology, 28(4), 621-646.
Fassin, D. (2017). Introduction: When Ethnography Goes Public. In D. Fassin, (Ed.), If Truth Be Told. The Politics of Public Ethnography. Durham: Duke University Press.
Hamdy, S. (2010). The Organ Transplant Debate in Egypt: a Social Anthropological Analysis. Droit et Cultures, 59, 357-365.
Kuper, A. (2009). Great Grants. Times Literary Supplement, September 18.
Lamphere, L. (2004). The Convergence of Applied, Practicing, and Public Anthropology in the 21st Century. Human Organization, 63(4), 431–43.
Lassiter, L.E. (2005). Collaborative Ethnography and Public Anthropology. Current Anthropology, 46(1), 83–106
McGilvray, D.B. (2006). Tsunami and Civil War in Sri Lanka: An Anthropologist Confronts the Real World. India Review, 5, 372-373.
McGranahan, C. (2006). Introduction: Public Anthropology. India Review, 5(3-4), 255-267.
Merry, S.E. (2011). Measuring the World: Indicators, Human Rights and Global Governance. Current Anthropology, 52(3), S83–95.
Peacock, J. L. (1997). The Future of Anthropology. American Anthropologist, 99(1), 9-29.
Purcell, T.W. (2000). Public Anthropology: An Idea Searching for a Reality. Transforming Anthropology, 9(2), 30–33.
Shore, C. & Wright, S. (2015). Audit Culture Revisited: Rankings, Ratings, and the Reassembling of Society. Current Anthropology, 56(3), 421–44.
Strathern, M. (Ed). (2000). Audit Cultures: Anthropological Studies in Accountability, Ethics and the Academy. Abingdon: Routledge.
Sundar, N. (2004). Toward an Anthropology of Culpability. American Ethnologist, 31(2), 145– 63.
Willigen, J. V. (2002). Applied Anthropology: An Introduction, 3rd edition. Westport, CT: Bergin and Garvey.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, สาธารณะ, ปัญหาสังคม, การมีส่วนร่วม