Biocultural Anthropology
มานุษยวิทยาชีววัฒนธรรม เป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับลักษณะทางชีววิทยาของมนุษย์ ซึ่งนักมานุษยวิทยากายภาพมักจะศึกษาในมิติดังกล่าว โดยเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ต่างกันส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเรื่องเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็ถูกตั้งคำถามในเวลาต่อมาว่าเป็นทัศนะคติแบบตะวันตกที่พยายามแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันตามสีผิวและความเจริญทางสังคม การศึกษามานุษยวิทยาชีววัฒนธรรมในระยะหลังจึงหันไปศึกษามิติวัฒนธรรมมากขึ้น โดยมองว่าวัฒนธรรมคือเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศวิทยา วัฒนธรรมทำให้มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น มีความคิดต่อตนเองและคนอื่น มีการแสดงออกทางพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึก
ทฤษฎีการปรับตัว อธิบายว่ามนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งในส่วนของร่างกายและพฤติกรรมทางสังคม แต่การปรับตัวหมายถึงอะไร นักวิชาการบางคนเชื่อว่าการปรับตัวทำให้มนุษย์อยู่รอด แต่บางคนโต้แย้งว่าการปรับตัวไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในแง่บวกเสมอไป เพราะพฤติกรรม หรือสภาพร่างกายของมนุษย์ขึ้นอยู่กับโครงสร้างหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ พฤติกรรมจึงเป็นเรื่องของบุคคล ซึ่งอาจอธิบายได้ตามทฤษฎีของดาร์วินเท่านั้น นอกจากนั้นทฤษฎีการปรับตัวยังเชื่อมั่นในความสมดุลและสอดคล้อง เพื่ออธิบายว่ามนุษย์กับธรรมชาติดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
นักมานุษยวิทยาบางคนไม่เชื่อสภาพความสมดุลดังกล่าว และตั้งคำถามว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีนั้นคืออะไร พวกที่โต้แย้งนี้เชื่อว่าการปรับตัวเป็นเรื่องของวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมที่มีความขัดแย้ง หรือมีพวกที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นการอธิบายด้วยกรอบนิเวศวิทยาแบบดาร์วินอาจมิใช่คำตอบเดียว เพราะสภาพแวดล้อมมิได้หมายถึงธรรมชาติเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ การศึกษาชีววิทยาทางวัฒนธรรมจึงควรเป็นการศึกษาจากสภาพแวดล้อมทุกประเภท ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน วัฒนธรรมกับชีววิทยาจึงแยกจากกันไม่ได้
ตัวอย่างการศึกษาของแคธรีน เอ เด็ทไวเลอร์ ศึกษาชาวมาลีในแอฟริกาตะวันตก อธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมในมาลีมีผลต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เด็ทไวเลอร์ใช้กรอบความคิดของมานุษยวิทยาการแพทย์อธิบายสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์ พร้อมๆกับใช้ข้อมูลสถิติทางชีววิทยา เช่น การวัดขนาดร่างกาย การตาย อาการของโรค เป็นต้น เธออธิบายเงื่อนไขของความเชื่อทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก ข้อค้นพบของเด็ทไวเลอร์คือลักษณะทางร่างกายและสุขภาพของเด็กในมาลีไม่ได้เป็นผลมาจากความยากจน เพราะเด็กที่ยากจนบางคนมีร่างกายที่แข็งแรง แต่เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยบางคนกลับมีร่างกายที่อ่อนแอ เธอเชื่อว่าการเลี้ยงดูเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการทั้งปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และชีววิทยา
การศึกษาของเด็ทไวเลอร์ใช้ข้อมูลทางสถิติ ชีววิทยา และสังคมวัฒนธรรม ประกอบกัน และทำให้เข้าใจว่าสภาพชีวิตของเด็กในมาลีมีลักษณะที่แตกต่างกัน และเงื่อนไขของความยากจนก็มิใช่คำตอบ หากแต่ยังมีเรื่องอื่นๆที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ประเภทของอาหาร การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว เป็นต้น เด็ทไวเลอร์เสนอว่าปัญหาสุขภาพและโภชนาการในประเทศมาลีนั้นซับซ้อน แต่การอธิบายปัญหาเหล่านี้ไม่ควรให้คำตอบเดียว
ในกรณีการศึกษาของโทมัสและลีเธอร์แมน เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับครัวเรือน โดยสังเกตการปรับพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามค่านิยมของสังคม โทมัสกล่าวว่าปัญหาต่างๆในประเทศกำลังพัฒนาควรจะมีการศึกษาและเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับครัวเรือนและบุคคล เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าครัวเรือนและบุคคลตอบสนองต่อสังคมระดับชาติอย่างไร โทมัสศึกษาอาการเจ็บป่วยของชาวนูโน และดูผลกระทบต่อฐานะสังคม เศรษฐกิจ คำถามสำคัญคือ การเจ็บป่วยมีผลกระทบต่อครอบครัวหรือไม่ และ คนป่วยจะได้รับการปฏิเสธจากสังคมหรือไม่ หรือ คนป่วยจะยอมแพ้สังคมหรือไม่ โทมัสเก็บข้อมูลในตลาดซึ่งมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่จำเป็น การจัดการทรัพยากรเหล่านี้ก่อให้เกิดเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งรวบรวมสมาชิกจากครอบครัวต่างๆมาไว้ด้วยกัน โทมัสอธิบายว่าในสังคมของนูโน หากมีสมาชิกเจ็บป่วยก็จะทำให้เครือข่ายนี้อ่อนแอ และทำให้ครอบครัวขาดกำลังแรงงาน โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจน เมื่อคนในครอบครัวป่วย การทำงานก็หยุดชะงัก การหาทรัพยากรมาเลี้ยงครอบครัวก็ทำไม่ได้
ในกรณีการศึกษาของลาร์เซ็นและคณะในชนเผ่าพื้นเมือง บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมริกา เป็นการศึกษาการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยใช้กรอบทฤษฎีทางชีววิทยา ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และโบราณคดีมาอธิบายปรากฏการณ์ คำถามสำคัญคือ การเข้ามาของชาวยุโรปส่งผลกระทบต่อชาวพื้นเมืองในเรื่องชีววิทยา สังคม และวัฒนธรรมอย่างไร ลาร์เซ็นได้ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการเพาะปลูก โดยเปรียบเทียบโครงกระดูกมนุษย์ในช่วงก่อนการเข้ามาของชาวยุโรปกับช่วงที่ชาวยุโรปเข้ามาแล้ว พบว่าคนพื้นเมืองมีการปรับตัวและวิธีการเพาะปลูกตามความคิดของชาวยุโรป เช่น ในเขตซานต้า แคทาลีน่า ชาวพื้นเมืองมีการเพาะปลูกที่ก้าวหน้ากว่า และฐานะดีกว่าเขตอื่นๆ นอกจากนั้น ชาวยุโรปยังทำให้ชาวพื้นเมืองปรับเปลี่ยนวิธีการตั้งถิ่นฐาน การทำมาหากิน การทำงาน และการบริโภค
ชาวสเปน ทำให้ชาวพื้นเมืองพบกับความเดือดร้อน เพราะตกเป็นแรงงานทาส ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกเชื้อโรคชนิดใหม่คุกคาม การทำให้ชาวพื้นเมืองเหล่านี้รู้จักความเจริญแบบตะวันตกจึงเป็นการทำลาย ลาร์เซ็นกล่าวว่ากระบวนการปรับตัวและติดต่อสัมพันธ์ในหมู่ชาวพื้นเมืองกับคนนอก เกิดขึ้นในช่วงคน 6 รุ่น การปรับตัวบางอย่างอาจประสบความสำเร็จ บางอย่างอาจล้มเหลว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
อาจกล่าวได้ว่า มานุษยวิทยาชีววัฒนธรรมอาศัยความรู้แบบสหสาขาวิชา โดยเฉพาะการทำความเข้าในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ถ้าใช้ความรู้ทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียว อาจทำให้มองไม่เห็นเงื่อนไขส่วนบุคคล และอาจไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกาย และการเจ็บป่วยอย่างไร อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อถกเถียงและความขัดแย้งระหว่างการศึกษาเชิงวัฒนธรรมกับเชิงชีววิทยา ซึ่งนักมานุษยวิทยาสายวัฒนธรรมมองว่าความรู้วิทยาศาสตร์ไม่เหมาะสมที่จะนำมาศึกษามนุษย์ ทำให้เกิดการแยกความรู้แบบวิทยาศาสตร์และความรู้วัฒนธรรมออกจากกัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Bindon, James R. 2007. "Biocultural linkages — cultural consensus, cultural consonance, and human biological research". Collegium Antropologicum 31 (1): 3–10.
Crooks, Deborah L. 1996. “Biocultural Anthropology” in Daivd Levinson and Melvin Ember (ed.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.130-133
Goodman, Alan H.; Thomas L. Leatherman (eds.) 1998. Building A New Biocultural Synthesis. Chicago: University of Michigan Press.
Hruschka, Daniel J.; Lende, Daniel H.; Worthman, Carol M. 2005. "Biocultural dialogues: Biology and culture in Psychological Anthropology". Ethos 33: 1–19.
Khongsdier, R. 2007. "Biocultural approach: The essence of anthropological study in the 21st century". Anthropologist (Special Volume) 3: 39–50.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาชีววัฒนธรรม