Object-oriented ontology

Object-oriented ontology

แนวการศึกษา Object-oriented ontology

เมื่อกล่าวถึง “วัตถุ” ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “วัตถุ” ถูกนิยามจากอะไร ในการศึกษาปรัชญาตะวันตกความสนใจต่อ “วัตถุ” เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอริสโตเติลซึ่งสนใจการดำรงอยู่ของวัตถุในฐานะวัตถุ ในความคิดของ Husserl มองวัตถุในฐานะเป็น “เจตนา” (intentional objects) ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งที่ปรากฎ แนวคิดภววิทยาวัตถุมีข้อถกเถียงที่ต่างไปจากเดิมโดยปฏิเสธว่าวัตถุที่แท้จริงคือวัตถุที่คงรูปไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและพื้นที่ และเสนอการมองวัตถุที่พ้นไปจากการใช้เหตุผลและสติปัญญาของมนุษย์ โดยเฉพาะการไม่นำเอาประสบการณ์ของมนุษย์เป็นเครื่องมือตัดสินความจริงของวัตถุ กล่าวคือ วัตถุสามารถมีตัวตนของมันเองโดยไม่ต้องอ้างอิงการกระทำที่มนุษย์มีต่อวัตถุ ฉะนั้นความสัมพันธ์ใด ๆ ที่มนุษย์มีต่อวัตถุมิใช่เครื่องตัดสินความจริงของวัตถุ ภววิทยาวัตถุจึงทำลายล้างความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ปรากฏเป็นเพียงการตีความผ่านความรู้สึกที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มิใช่เป็นการบ่งชี้ความจริงเกี่ยวกับวัตถุนั้น

ในการศึกษาทางอภิปรัชญาซึ่งสนใจ “การดำรงอยู่” ของสิ่งต่าง ๆ มีคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุหรือภววิทยาวัตถุ (Object-oriented ontology) ที่ได้รับอิทธิพลความคิดเรื่อง tool-analysis มาจาก Heidegger ซึ่งต่อต้านการมีสิทธิพิเศษของมนุษย์เหนือสรรพสิ่ง (Harman, 2002) และล้มล้างความคิดที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) แนวการศึกษาภววิทยาวัตถุเป็นปรัชญาว่าด้วยความจริง พยายามชี้ว่า “วัตถุ” มีส่วนกำหนดสภาพจิตใจของมนุษย์และทำให้มนุษย์ตระหนักถึงการมีตัวตน (Bryant, 2011) วัตถุดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระและอยู่นอกขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ (human cognition) ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ มีผลต่อการเข้าใจในวัตถุ ตัวอย่างเช่น จิตของมนุษย์ที่เข้าไปรุกล้ำการมีอยู่ของวัตถุ ความสัมพันธ์เหล่านี้มักจะบิดเบือนให้วัตถุกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ หรือเป็นเพียงผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ (Harman, 2005)

การศึกษาภววิทยาวัตถุเกี่ยวข้องกับกระบวนทัศน์ความจริงแบบคาดเดา (speculative realism) ซึ่งเป็นแนวคิดของ Ray Brassier (2014) ที่พยายามรื้อถอนตรรกะแบบลดทอน (Reduction) ที่เชื่อว่าสิ่งที่ซับซ้อนสามารถอธิบายได้จากส่วนประกอบย่อย ๆ ที่รวมตัวกันขึ้นมา ตรรกะนี้ทำให้เกิดการคู่ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับวัตถุภายใต้กระบวนทัศน์สหสัมพันธ์นิยม (Correlationism) ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความจริงเกี่ยวกับโลกที่ถูกตีความจากความคิดของมนุษย์เท่านั้น แต่มิได้มองเห็นความจริงที่อยู่นอกเหนือความคิดของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความจริงในโลกมักจะถูกตัดสินจากสติปัญญาของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว (Meillassoux, 2008) กระบวนทัศน์สหสัมพันธ์นิยมปรากฏอยู่ในการแสวงหาความรู้แบบ “ความจริงเชิงญาณวิทยา” (Epistemological Realism) ซึ่งอธิบายว่าการเข้าถึงความจริงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับวัตถุที่มนุษย์คิดอย่างไตร่ตรอง ในทางตรงกันข้าม ความจริงเชิงภววิทยา (Ontological Realism) อธิบายว่าการดำรงอยู่ของวัตถุไม่ผันแปรไปตามวัตถุชนิดอื่น วัตถุทุกชนิดต่างดำรงอยู่อย่างนั้นไม่แปรเปลี่ยน

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับภววิทยาวัตถุ สนใจธรรมชาติและความเท่าเทียมกันของวัตถุ ซึ่งนักปรัชญาชาวอเมริกัน Graham Harman ได้เสนอแนวคิดการดำรงอยู่ของวัตถุ หรือ ปรัชญาแห่งวัตถุไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเรื่อง Tool-Being: Elements in a Theory of Objects (ปี 1999) และต่อมาในปี 2009 Levi Bryant ได้ปรับปรุงแนวคิดของ Harman โดยใช้คำว่า Object-oriented ontology จนกลายเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน ข้อถกเถียงที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาการมีอยู่ของความจริงจากแนวคิดภววิทยาวัตถุก็คือ การละทิ้งตรรกะแบบสหสัมพันธ์นิยมที่มองโลกผ่านความคิดของมนุษย์เป็นสำคัญ ในทัศนะของ Harman (2002) เชื่อว่า “ความจริง” ยังดำรงอยู่นอกเหนือความคิดและการกระทำของมนุษย์ พร้อมกับพยายามโต้เถียงว่าการทำความเข้าใจ “วัตถุ” มิใช่การมองดูความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อสิ่งต่าง ๆ และสรุปว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นคือ “ความจริง” ในแบบที่ปรากฏ หากแต่วัตถุแต่ละชนิดมีโลกของมันโดยไม่จำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกับวัตถุชนิดอื่น

ภววิทยาวัตถุสวนทางกับปรัชญาแบบ Immanuel Kant

Immanuel Kant คือนักปรัชญาที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบเหตุผลนิยมที่พยายามลดทอนอารมณืความรู้สึกส่วนตัวออกไปจากการแสวงหาความจริงในโลก โดยวิจารณ์ว่าอารมณ์ของมนุษย์เจือปนด้วยอคติและไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่จะค้นหากฎเกณฑ์ของความจริงในธรรมชาติได้ วิธีการที่จะเข้าถึงกฎเกณฑ์ในธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยวิธีคิดแบบเหตุผล ต้องแยกแยะเหตุกับผลออกจากกันและพิสูจน์ให้เห็นธรรมชาติก่อตัวขึ้นและดำรงอยู่ด้วยกฎเกณฑ์อย่างไร วิธีคิดนี้นำไปสู่การยกย่องปัญญาของมนุษย์ให้เหนือกว่าสิ่งอื่น (transcendent anthropocentrism) ซึ่ง Harman ปฏิเสธความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน การศึกษาภววิทยาวัตถุให้ความสนใจกับ “สภาวะสิ้นสุด” (finitude) หมายถึง การดำรงอยู่ของวัตถุมิได้ตัดสินจาก ความสัมพันธ์ที่วัตถุต่าง ๆ มีต่อกัน ปฏิสัมพันธ์ของวัตถุต่าง ๆ มิใช่ภาพแทนของการมีอยู่ของวัตถุเหล่านั้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความวัตถุจากความคิดของมนุษย์มิใช่สิ่งพิสูจน์ความจริงของวัตถุนั้น

Harman (2002) กล่าวว่าการดำรงอยู่ของวัตถุมี 2 รูปแบบ คือ วัตถุที่เป็นจริง กับ วัตถุทางความรู้สึก (real objects and sensual objects) วัตถุที่เป็นจริงหมายถึงวัตถุที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ ส่วนวัตถุทางความรู้สึกเกิดขึ้นจากประสบการณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ Harman อธิบายการดำรงอยู่ของวัตถุวางอยู่บนจุดที่ทำให้เกิดความต่าง (axis of distinction) ระหว่างตัววัตถุกับคุณสมบัติของวัตถุ (objects and qualities) เช่น แอปเปิ้ลและลักษณะสีแดงของมัน จุดที่ทำให้เกิดความต่างนี้นำไปสู่การแยกคุณสมบัติของวัตถุที่ต่างกันสองแบบคือ คุณสมบัติทางความรู้สึก (sensual qualities) กับคุณสมบัติที่เป็นจริง (real qualities) วัตถุทุกชนิดมีคุณลักษณะที่มากกว่าหนึ่งและดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศต่อวัตถุชนิดอื่น ในแง่นี้ วัตถุจึงมีมิติที่ลึก (depths) มากกว่าจะถูกตีความจากสติปัญญาของมนุษย์ มิติที่ลึกดังกล่าวคือศักยภาพที่ถูกกระทำมิได้ (unactualised potential) ซึ่ง Bryant (2011) เรียกศักยภาพนี้ว่า “การดำรงอยู่อย่างแท้จริง” (virtual proper being)

การทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของ “วัตถุ” จำเป็นต้องแยก “วัตถุ” ออกจากสิ่งต่าง ๆ (Withdrawal) ทั้งการอธิบายด้วยทฤษฎีและปฏิบัติการ กล่าวคือ วัตถุทางความรู้สึกต้องถูกแยกออกจากวัตถุที่เป็นจริง การทำความเข้าใจวัตถุสองแบบนี้อาจพิจารณาได้จากการให้เหตุผลแบบทดแทน (vicarious causation) ซึ่งหมายถึงการดำรงอยู่ของสิ่งสองสิ่งที่ถูกทดแทนด้วยเปลือกหุ้มซึ่งปิดกั้นมิให้วัตถุสองสิ่งเข้าถึงแก่นแท้ของกันและกัน แต่ปล่อยให้วัตถุหลงติดอยู่กับเปลือกภายนอก วัตถุที่มีเปลือกหุ้มจึงเป็นวัตถุทางความรู้สึกที่บดบังวัตถุที่เป็นจริง เพราะความรู้สึกที่เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มอง “วัตถุ” แค่เปลือกของมัน การให้เหตุผลต่อการดำรงอยู่ของ “วัตถุ” เปรียบเสมือนการสร้างสิ่งทดแทนหรือมีสิ่งห่อหุ้มซึ่งมิได้ทำลายเนื้อแท้ของวัตถุเหล่านั้น Harman ได้แบ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับวัตถุเป็น 5 ประเภท คือ (1) ความสัมพันธ์แบบเก็บรักษา (Containment) หมายถึงความมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดวัตถุที่เป็นจริงและวัตถุทางความรู้สึก (2) ความสัมพันธ์แบบประชิดติดกัน (Contiguity) หมายถึงวัตถุทางความรู้สึกที่ดำรงอยู่คู่กันแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อกัน (3) ความสัมพันธ์แบบซื่อตรง (Sincerity) หมายถึงวัตถุทางอารมณ์ที่นำเอาวัตถุที่เป็นจริงมารวมเข้าด้วยกันและไม่ล้วงล้ำเข้าไปในวัตถุนั้น (4) ความสัมพันธ์แบบเกี่ยวดอง (Connection) หมายถึงวัตถุที่เป็นจริงเผชิญหน้ากับวัตถุที่เป็นจริงชนิดอื่น (5) ความสัมพันธ์แบบไม่มีความสัมพันธ์ (no relation) หมายถึงสภาวะความจริงที่วัตถุดำรงอยู่ท่ามกลางวัตถุอื่น ๆ อย่างเป็นอิสระต่อกัน

ในการศึกษาของ Bryant (2011) เสนอแนวคิดที่เรียกว่า Onticology เพื่ออธิบายการดำรงอยู่ของวัตถุด้วยหลักการ 3 ประเภท คือ (1) หลักของความจริง (Ontic Principle) หมายถึงไม่มีความแตกต่างอะไรที่ไม่สร้างความแตกต่าง จากสมมติฐานที่ว่า “ความแตกต่าง” ดำรงอยู่ก่อนที่จะมีความรู้เกี่ยวกับความแตกต่าง หลักการนี้มองว่า “ความรู้” มิใช่สิ่งที่กำหนดสิ่งที่มีอยู่ก่อนความรู้ เช่น ความแตกต่างมีอยู่ได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องใช้ความรู้ไปอธิบายมัน (2) หลักของความไม่เป็นมนุษย์ (Principle of the Inhuman) หมายถึงความคิดเรื่องความแตกต่างสามารถดำรงอยู่นอกเหนือความรู้ของมนุษย์และเกิดขึ้นกับวัตถุอะไรก็ได้ ทุกสิ่งล้วนมีความแตกต่างในแบบของตัวเองเช่นเดียวกับที่มนุษย์มีความคิดเรื่องความแตกต่าง (difference-making beings) (3) หลักการดำรงอยู่ (Ontological Principle) หมายถึงการสร้างความแตกต่างเป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ หรือกล่าวได้ว่าเมื่อมีความแตกต่างเท่ากับมีการดำรงอยู่ เมื่อสิ่งต่าง ๆ มีความแตกต่าง ทำให้การดำรงอยู่มีลักษณะเป็นความจริงที่เชื่อมโยงกัน (inter-ontic) และเป็นความจริงที่มีอยู่ในการดำรงอยู่ (intra-ontic)

แนวคิด Onticology เสนอการมองวัตถุเป็น 4 รูปแบบ คือ (1) วัตถุที่มีความเจิดจ้า (bright objects) ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์สมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพลต่อการมีอยู่ของวัตถุอื่น (2) วัตถุที่มีความมัว (dim objects) หมายถึงวัตถุที่ซ่อนตัวปะปนอยู่กับวัตถุชนิดอื่นหรือปรากฏเป็นรูปร่างร่วมกับสิ่งอื่น (3) วัตถุที่มีความมืด (dark objects) หมายถึงวัตถุที่ย้ายตัวเองออกไปจากการดำรงอยู่ และ (4) วัตถุที่ลวงตา (rogue objects) หมายถึงวัตถุที่เปลี่ยนการดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ คล้ายกับการเร่ร่อนเปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปตลอดเวลา นอกจากนั้น Bryant ยังเสนอแนวคิดภววิทยาแบบพื้นที่รกร้าง (wilderness ontology) ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายของผู้กระทำการ (pluralization of agency) ที่มิได้มีเพียงมนุษย์

Morton(2010) เขียนหนังสือเรื่อง The Ecological Thought พร้อมกับเสนอแนวคิดเรื่อง Hyperobjects ซึ่งหมายถึงวัตถุที่เคลื่อนตัวกระจายไปอย่างหนาแน่นซับซ้อนและยุ่งเหยิงไปในเวลาและพื้นที่โดยไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด เพื่อก้าวข้ามความจำเพาะเชิงพื้นที่ เช่น ภูมิอากาศ, ความร้อน, อุณหภูมิ, กัมมันตภาพรังสี ทั้งนี้เขาได้แบ่งคุณลักษณะของ Hyperobjects เป็น 5 ลักษณะ คือ (1) ความหนืด (Viscous) Hyperobjects ยึดติดกับวัตถุอื่น ๆ ที่พวกมันสัมผัส ไม่ว่าวัตถุจะพยายามต้านทานแรงเพียงใด ด้วยวิธีนี้ Hyperobjects จะแทนที่ระยะห่าง หมายความว่ายิ่งวัตถุพยายามต้านทาน Hyperobjects มากเท่าใด วัตถุนั้นก็จะยิ่งเกาะติดมากขึ้นเท่านั้น (2) การหลอมละลาย (Molten) หมายถึง Hyperobjects ที่มีขนาดใหญ่มากจนหักล้างแนวคิดที่ว่ากาลอวกาศนั้นคงที่ เป็นรูปธรรม และสม่ำเสมอ (3) การไม่มีที่อยู่ (Nonlocal) หมายถึง Hyperobjects มีการกระจายอย่างหนาแน่นในเวลาและพื้นที่ในขอบเขตที่จำนวนรวมของพวกมันไม่สามารถรับรู้ได้ในการปรากฎเฉพาะใด ๆ เช่น สภาวะโลกร้อน พายุทอร์นาโด เป็นต้น ตามความคิดของ Morton วัตถุจะไม่รู้สึกถึงความร้อน แต่มันรับรู้ถึงการมีความร้อนผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หิมะขั้วโลกละลาย การไม่มีที่อยู่สะท้อนให้เห็นว่า Hyperobjects มีขอบเขตกว้างใหญ่เกินกว่าการปรากฏอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง (4) การมีขั้นตอน (Phase) หมายถึง Hyperobjects ใช้พื้นที่สามมิติมากกว่าวัตถุอื่น ๆ จะรับรู้ได้ตามปกติ ซึ่งดูแตกต่างไปจากผู้สังเกตการณ์ที่มีมุมมองหลายมิติที่สูงกว่า (5) การมีเป้าหมายร่วมกัน (Interobjective) หมายถึง Hyperobjects เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุมากกว่าหนึ่งชิ้น เช่น ภาวะโลกร้อนเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ เชื้อเพลิงฟอสซิล และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงวัตถุอื่น ๆ

ในความคิดของ Morton (2013a, 2013b) hyperobjects ไม่เพียงแต่จะมองเห็นได้ในช่วงวิกฤตทางนิเวศวิทยาเท่านั้น แต่ยังเตือนมนุษย์ถึงปัญหาทางนิเวศวิทยาที่กำหนดอายุที่พวกเขาอาศัยอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถในการดำรงอยู่ของ hyperobjects จะอยู่ได้นานกว่าคุณค่าทางวัฒนธรรมเชิงวัตถุที่ลดน้อยลง ประกอบกับการคุกคามของวัตถุจำนวนมากต่ออินทรียวัตถุ ทำให้พวกมันมีคุณภาพทางจิตวิญญาณที่ซ่อนเร้น ในการศึกษาของ Ian Bogost (2012) ที่นำแนวคิดภววิทยาไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์ “ปรากฎการณ์มนุษย์ต่างดาว” โดยอธิบายว่า “มนุษย์ต่างดาว” บ่งบอกถึงการถอนตัวออกจากการละเมิดมิได้ของประสบการณ์เชิงวัตถุ วัตถุชนิดหนึ่งอาจไม่รู้จักประสบการณ์ของวัตถุอื่นเพราะวัตถุมีความสัมพันธ์กันโดยใช้อุปมาอุปมัยของการมีตัวตน ปรากฎการณ์มนุษย์ต่างด้าวบ่งชี้ถึงวิธีปฏิบัติ 3 แบบ คือ (1) Ontography คือการกระทำที่เปิดเผยการมีอยู่และความสัมพันธ์ของวัตถุ (2) Metaphorism คือการกระทำที่คาดเดาเกี่ยวกับ "ชีวิตภายใน" ของวัตถุรวมถึงวิธีที่วัตถุแปลประสบการณ์ของวัตถุอื่น ๆ เป็นเงื่อนไขของตัวเอง (3) Carpentry คือการกระทำที่สร้างวัตถุที่แสดงมุมมองของวัตถุ หรือวิธีการที่วัตถุสร้างโลกของมันเอง

จากคำอธิบายของ Harman, Bryant, และ Morton ทำให้เข้าใจวิธีคิดแบบภววิทยาวัตถุว่าเป็นการหลีกหนีไปจากกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพ (relationality) ไปสู่การเทิดทูนการแยกกันอยู่อย่างเอกเทศ เป็นอิสระ เท่าเทียม และตัดขาดจากกัน (discreteness) วิธีคิดนี้สวนทางกับคำอธิบายของนักคิดแนววภววิทยาก่อนหน้านี้ซึ่งมักจะสนใจ “ความสัมพันธ์” และ “พลวัต” ของวัตถุที่ยึดโยงเข้าหากันและเปลี่ยนสภาพไปตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม ภววิทยาวัตถุแบบ Harman, Bryant, และ Morton สนใจการดำรงอยู่ของวัตถุที่แยกออกจากกันและเป็นความจริงแท้ที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่ (Shaviro, 2011) วิธีคิดดังกล่าวนี้มองเห็นทุกสิ่งเป็น “วัตถุ” ในแบบเดียวกัน ไม่มีวัตถุใดพิเศษหรือเหนือกว่ากัน และไม่มีวัตถุใดจะล่วงรู้และเข้าใจวัตถุอื่น (Wolfendale, 2014) สิ่งนี้คือการเสนอว่า “ความจริง” ทุกชนิดดำรงอยู่ในระนาบเดียวกัน (Wilde, 2020)

ข้อสังเกตต่อภววิทยาวัตถุ

Segall (2011) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดภววิทยาวัตถุลดทอนคุณค่าของระบบความหมายและทำให้มนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นแค่วัตถุที่ไร้ซึ่งความแตกต่าง นักวิชาการที่สนใจภววิทยาวัตถุควรหันกลับมาตรวจสอบและทบทวนว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุมีนัยยะอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์ให้ความหมาย มิควรละทิ้งและละเลยความหมายที่วัตถุเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากแนวโน้มของแนวคิดภววิทยาวัตถุจะด้อยค่าระบบความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น จนความหมายต่าง ๆ กลายเป็นเพียงฝุ่นผงที่ไร้ค่า นอกจากนั้น Galloway (2012) วิจารณ์ว่าฐานคิดของภววิทยาวัตถุเกิดขึ้นในช่วงที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กำลังเติบโตและมีบทบาทต่อสังคม ทำให้นักวิชาการอย่าง Harman นำกระบวนทัศน์และวาทกรรมที่เกิดจากศาสตร์คอมพิวเตอร์มาใช้เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุ ในขณะที่ Simon (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าการแพร่หลายของทฤษฎีศิลปะร่วมสมัยซึ่งสนใจการหลงใหลในวัตถุที่เป็นสินค้า (commodity fetishism) มีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของวัตถุในวัฒนธรรมบริโภคและตลาดงานศิลปะ ซึ่งแนวคิดภววิทยาวัตถุก็พยายามจะศึกษา “วัตถุ” ในฐานะเป็นการดำรงอยู่ของความจริงในสังคมบริโภค รวมทั้ง Shaviro (2011) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าแนวคิดภววิทยาวัตถุเป็นเพียงจินตนาการและความเพ้อฝันของนักปรัชญาบางคนที่สนใจกระบวนทัศน์แบบแสวงหาความจริงแท้ที่บริสุทธิ์ ซึ่งสวนทางกับกระบวนทัศน์ที่สนใจกระบวนการเปลี่ยนผ่าน

Wilde (2020) ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีคิดภววิทยาวัตถุ ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ ซึ่งหมายถึงการมีพื้นที่บางอย่างให้วัตถุก่อเกิดขึ้นมา “พื้นที่” จึงเป็นแก่นความคิดที่ซ่อนอยู่ในแนวคิดภววิทยาวัตถุ จะเห็นได้ว่าข้อโต้แย้งของนักคิดแนวภววิทยาวัตถุพยายามยกประเด็นสหสัมพันธ์ขึ้นมาเป็นโจทย์และพยายามจะละทิ้งการเชื่อมโยงเข้าหากันของวัตถุ การตั้งโจทย์นี้จึงเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่อง “พื้นที่” ที่วัตถุดำรงอยู่ซึ่งเสี่ยงต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ตลอดเวลา ไม่ว่าปฏิสัมพันธ์นั้นจะเป็นการยึดโยงเข้าหากันแบบ Interdependency หรือถอยห่างออกจากกันแบบ independency ล้วนบ่งบอกระยะทางใกล้และไกลที่สะท้อนพื้นที่ของการดำรงอยู่ของวัตถุทั้งสิ้น ข้อสังเกตของ Harman ที่กล่าวว่า “วัตถุมีความเท่าเทียมกันในการดำรงอยู่” (objects equally exist) กับ “วัตถุไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเท่าเทียม” (objects do not exist equally) คำอธิบายนี้บ่งชี้ถึง “ข้อจำกัด” ในการดำรงอยู่ของวัตถุซึ่งเผชิญหน้ากับความสัมพนธ์ที่ไม่นิ่ง (interchanging relations) และบ่งบอกให้ทราบสภาวะของ “พื้นที่” ที่วัตถุต่าง ๆ ดำรงอยู่อย่างไม่เท่าเทียม ความจริงของวัตถุจึงเกี่ยวข้องกับขอบเขตและอาณาริเวณที่วัตถุนั้นปรากฎ Wilde (2020) กล่าวว่าวัตถุกับพื้นที่จึงแยกขาดจากกันมิได้ Garcia (2014) อธิบายว่า “พื้นที่” คือ “วัตถุ” เมื่อเอ่ยถึงการดำรงอยู่ของวัตถุ การปรากฎของพื้นที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเสมอ สองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งเดียวกัน ในการศึกษาของ Harman (2010) เรื่อง Time, space, essence and eidos: a new theory of causation, cosmos and history เขาจึงนำเรื่อง “พื้นที่” มาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อชี้ว่ามันคือศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นการเชื่อมโยงเข้าหากันและถอยห่างจากกัน

ประเด็นความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน คือสิ่งที่ภววิทยาวัตถุพยายามอธิบายในฐานะเป็น “สภาพแวดล้อม” (elements) ซึ่งหมายถึงการสร้างขอบเขตให้วัตถุมีตัวตน และเป็นกิจกรรมที่ทำให้วัตถุเชื่อมเข้าหากัน โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ (1) ความสัมพันธ์เชิงกายภาพ คือคุณสมบัติที่วัตถุมีต่างกัน (2) ความสัมพันธ์ทางความรู้สึก คือการรับรู้การดำรงอยู่ของวัตถุที่ต่างกัน และ (3) ความสัมพันธ์แบบเหตุและผล คือการตอบโต้กันของวัตถุที่แยกกันอยู่ (Harman, 2005) ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมองเห็นได้และไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตที่ตายตัว Wilde (2020) กล่าวว่าคำอธิบายเรื่อง “ความสัมพันธ์” ไม่ว่ามันจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นคือการบ่งบอกถึง “พื้นที่” ที่วัตถุดำรงอยู่ ในแง่นี้ ความจริงเกี่ยวกับวัตถุอาจเป็นเรื่องการทำความเข้าใจลักษณะของพื้นที่ที่สร้างความสัมพันธ์ ในขณะที่ Harman สนใจการดำรงอยู่อย่างมีแก่นแท้ถาวรของวัตถุ แต่ Wilde พยายามคิดต่างไปว่า “วัตถุ” สามารถเข้าใจได้จากสภาวะพื้นที่ที่วัตถุดำรงอยู่ (topology) กระบวนทัศน์ทั้งสองแบบนี้มีนัยยะต่อการถกเถียงเรื่องภววิทยาวัตถุอย่างเลี่ยงไม่ได้

Bogost, I. (2012). Alien Phenomenology. Ann Arbor, MI: Open Humanities Press.

Brassier, R. (2014). Speculative Autopsy. In Wolfendale, P. Object Oriented Philosophy: the Noumenon’s New Clothes. Falmouth: Urbanomic.

Bryant, L.R. (2011). The Democracy of Objects. Open Humanities Press. http://openhumanitiespress.org/books/download/Bryant_2011_Democracy-of- Objects.pdf

Bryant, L. R., Harman, G., Srnicek, N. (2011). The Speculative Turn: Continental Materialism and Realism. Melbourne, Australia: re.press.

Galloway, A. (2012). A response to Graham Harman’s “Marginalia on Radical Thinking” Retrieved from https://itself.blog/2012/06/03/a-response-to-graham-harmans- marginalia-on-radical-thinking/

Garcia, T. (2014). Form and object—a treatise on things. Edinburgh: Edinburgh University Press.

Harman, G. (2002). Tool-Being: Heidegger and the Metaphysics of Objects. Chicago: Open Court.

Harman, G. (2005). Guerrilla Metaphysics: Phenomenology and the Carpentry of Things. Chicago: Open Court.

Harman, G. (2010). Time, space, essence and eidos: a new theory of causation. cosmos and history. The Journal of Natural and Social Philosophy, 6(1), 1–17.

Meillassoux, Q. (2008). After Finitude. New York, New York: Continuum. Morton, T. (2010). The Ecological Thought. Cambridge, MA: Harvard University Press.

Morton, T. (2013a). Hyperobjects: Philosophy and Ecology After the End of the World. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Morton, T. (2013b). Realist Magic: Objects, Ontology, Causality. London: Open Humanities Press.

Segall, M.D. (2011). Cosmos, Anthropos, and Theos in Harman, Teilhard, and Whitehead. Retrieved from https://footnotes2plato.com/2011/07/12/cosmos-anthropos-and- theos-in-harman-teilhard-and-whitehead/

Shivaro, S. (2011). Processes and Powers. Retrieved from http://www.shaviro.com/Blog/?p=995

Simon, J. (2013). Neomaterialism. Berlin: Sternberg Press.

Wilde, N. (2020). Burning Bridges: The problem of relations in object-oriented ontology—a topological approach. Palgrave Commun, 6(29). https://doi.org/10.1057/s41599-020- 0406-7

Wolfendale, P. (2014). Object Oriented Philosophy: the Noumenon’s New Clothes. Falmouth: Urbanomic.