Anthropology of Dog
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัข
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขมีพัฒนาการมายาวนานและเป็นประวัติศาสตร์ทางสังคมที่บ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์นี้ปรับตัวเข้าหากันได้อย่างน่าสนใจ (Din, 2013; Haraway, 2003; Schleidt & Shalter, 2003) จากการศึกษาทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของมนุษย์รู้จักนำสุนัขป่ามาเลี้ยงและใช้งานเมื่อประมาณ 15,000 ปีก่อน (Coppinger & Coppinger, 2001) นักวิชาการเชื่อว่าวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกับการที่มนุษย์รู้จักเลี้ยงสุนัขเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงาน โดยเฉพาะในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้สุนัขช่วยต้อนฝูงสัตว์และเก็บซากสัตว์ที่ถูกล่า นำไปสู่การสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการร่วม (Co-Evolution) (Coren, 2008) ตัวอย่างการใช้งานสุนัขของชาวซามี่ในเขตตอนเหนือของทวีปยุโรป สุนัขจะถูกฝึกให้ต้อนฝูงกวางเรนเดียร์ สุนัขจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของชาวซามี่ที่ต้องเดินรอนแรมไปในภูมิประเทศที่หนาวเย็นและใช้กวางเรนเดียร์เป็นแหล่งอาหาร ชาวซามี่จะมีวิธีการเลี้ยงสุนัขแต่ละตัวโดยที่มันจะมีเอกลักษณ์ต่างกัน จนทำให้พวกมันกลายเป็นบุคคล เหสมือนเป็นญาติของมนุษย์ ความผูกพันธ์ระหว่างชาวซามี่และสุนัขของพวกเขาสะท้อนว่าสุนัขมีสังคมร่วมกับมนุษย์ (Anderson, 1986) ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่าสุนัขเป็นสัตว์สังคมที่มีความสามารถเรียนรู้และสัมผัสกับความรู้สึกที่มนุษย์ฝึกและถ่ายทอดออกไป Coren(2008) กล่าวว่าการมีชีวิตรอดของมนุษย์มาจากความช่วยเหลือของสุนัข มนุษย์สายพันธุ์ Homo Sapiens จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้กับการใช้งานจากสุนัข
หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามนุษย์นำสุนัขมาเลี้ยงเมื่อประมาณ 13,500 ปี ตัวอย่างหลุมศพในประเทศอิสราเอล พบโครงกระดูกของผู้หญิงฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกของลูกสุนัขซึ่งมีอายุประมาณ 5-6 เดือน แหล่งโบราณคดีที่มีอายุประมาณ 10,000 ปีก่อนในทวีปอเมริกาเหนือก็พบโครงกระดูกของสุนัขเช่นกัน ภาพเขียนสีในถ้ำในทวีปเอเชียหลายแห่งก็เริ่มพบการวาดภาพสุนัขในช่วง 5,000-6,000 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม การค้นพบทางโบราณคดีของ Danielle Shreve จาก University College London เชื่อว่ามนุษย์นำสุนัขมาเลี้ยงเมื่อประมาณ 100,000 ปีก่อน เช่นเดียวกับการศึกษาของ David Paxton จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เชื่อว่ามนุษย์นำสุนัขป่ามาเลี้ยงเพื่อใช้งานเมื่อประมาณ 1 แสนปีก่อน (Tacon & Pardoe, 2002) การนำสุนัขมาใช้งานในสังคมของมนุษย์ในระยะแรกๆ นักวิชาการเชื่อว่าช่วยทำให้มนุษย์มีสุขภาพอนามัยที่ดี เพราะสุนัขช่วยกำจัดสิ่งเน่าเหม็นและของสกปรก รวมทั้งช่วยทำให้สังคมมีความปลอดภัย เพราะสุนัขช่วยทำหน้าเป็นผู้คุ้มครอง เป็นยามคอยเตือนภัยและป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายที่จะเข้าทำร้ายมนุษย์ ในการศึกษาของ Groves(1999) เชื่อว่านีแอนเดิธัลสูญพันธุ์ไปเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้และไม่มีสุนัขไว้คอยช่วยเหลือเหมือนมนุษย์โฮโมเซเปียน
Schleidt and Shalter (2003) อธิบายว่าสุนัขไม่เพียงแต่เป็นสัตว์ที่ช่วยทำงานให้มนุษย์ แต่มันยังขัดเกลาให้มนุษย์รู้จักการสร้างสังคมและทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย การอยู่กันเป็นกลุ่มทางสังคมของมนุษย์ (cohesive groups) คือรากฐานของการพึ่งพาอาศัยและการสร้างขนบธรรมเนียมประเพณี จากการที่มนุษย์นำสุนัขมาใช้งาน ทำให้มนุษย์เห็นบทบาทหน้าที่ว่าสมาชิกในครัวเรือนแต่ละคนควรต้องทำอะไร ความสัมพันธ์และการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และสุนัขยังทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่าสุนัขมีอิทธิพลต่อการสร้างสังคมของมนุษย์หรือมนุษย์มีอิทธิพลและอำนาจในการควบคุมสุนัข ข้อสงสัยนี้ยังคงดำรงอยู่และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาจากสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ มาสู่สังคมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สุนัขก็ยังคงถูกนำมาใช้งานในด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นงานเพื่อยังชีพไปจนถึงงานอดิเรกและการพักผ่อนหย่อนใจ บริบททางสังคมและสภาพชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ ความสามารถและความหมายของสุนัขที่มีต่อมนุษย์ไม่เหมือนเดิม เช่น สุนัขที่ฝึกเพื่อกู้ระเบิด สุนัขดมกลิ่นยาเสพติด สุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง สุนัขที่ฝึกให้แสดง สุนัขที่ฝึกให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น (Behan, 2011; Goodavage, 2012; Sanders, 1999; Shir-Vertesh, 2012)
ตัวตน อารมณ์ และความคิดของสุนัข
ในหลายวัฒนธรรม สุนัขจะมีนัยยะที่ต่างกัน เช่น ในชนเผ่าแบ็งในประเทศไอวอรีโคสต์เชื่อว่าสุนัขเป็นทั้งสัตว์ที่มีความฉลาดและสัตว์ที่เห็นแก่ตัว (Gottlieb, 1986) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ความเชื่อที่มีต่อสุนัขเกี่ยวข้องกับการนิยามบทบาทหน้าที่ของสุนัขในฐานะเป็นบุคคล Haraway (2003) อธิบายว่ามนุษย์พยายามทำให้สุนัขเป็นเหมือนคน (anthropomorphism of dogs) และพยายามทำให้สุนัขตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก คำอธิบายดังกล่าวอาจทำให้เห็นว่ามนุษย์พยายามเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งโดยใช้สุนัขเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ สุนัขจึงตกอยู่ในสภาพรองรับความปรารถนา ถ้าสุนัขทำในสิ่งที่มนุษยืต้องการได้ สุนัขก็จะได้รับการชื่นชม แต่ถ้ามันไม่สามารถตอบสนองมนุษย์ได้ มันก็จะถูกกำจัดทิ้งไป Haraway ยังตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสุนัข มนุษย์เอามาตรฐานความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อมนุษย์มาใช้ สิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจก็คือ ความสัมพันธ์ที่สุนัขมีกับมนุษย์มิได้ดำเนินไปเหมือนกับที่มนุษย์มีต่อกัน ในแง่นี้ การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขอาจมองสุนัขในฐานะเป็นตัวตนอีกแบบหนึ่งที่ต่างไป เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างสัมพันธ์แบบใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์ไม่ควรใช้มาตรฐานความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกของมนุษย์ไปใช้กับการอยู่ร่วมกับสุนัขซึ่งพวกมันมีโลกของตัวมันเอง
Sanders (1999) อธิบายว่ามนุษย์มักจะคาดหวังให้สุนัขมีตัวตนหรือแสดงการตอบสนองภายในวิธีคิดและการมองโลกในแบบที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง สุนัขจึงถูกใช้ประโยชน์ภายใต้บริบทที่มนุษย์ควบคุมและคาดหวัง เช่น ใช้เป็นเพื่อนแก้เหงา ใช้เป็นเครื่องตรวจสอบและค้นหาอาชญากร ใช้เป็นเครื่องบำบัดความทุกข์ ใช้เป็นของเล่นเพื่อความสนุกสนานบันเทิง เป็นต้น การใช้ประโยชน์เหล่านี้ล้วนตัดสินบนความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก ในการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจสถานะของสุนัขที่ดำรงอยู่ในโลกของมนุษย์นำไปสู่คำอธิบายที่ว่าสุนัขกลายเป็น “วัตถุที่ถูกใช้ประโยชน์” รวมทั้งเป็นสิ่งที่รองรับอารมณ์และความปรารถนาของมนุษย์เป็นสำคัญ ในทางตรงกันข้าม ยังไม่มีการศึกษาที่ทำความเข้าใจว่าสุนัขมีโลกของมันอย่างไร สิ่งที่สุนัขคิดและปฏิบัติเป็นเรื่องที่มนุษย์เข้าใจมากน้อยเพียงใด ในการศึกษาทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์พยายามอธิบายว่ามนุษย์ปฏิบัติต่อสุนัขภายใต้เงื่อนไขของการให้สิ่งตอบแทน (operant conditioning) มนุษย์จะฝึกสุนัขให้ทำสิ่งต่างๆตามที่มนุษย์ต้องการ เมื่อสุนัขทำตามอย่างถูกต้อง มันก็จะได้รับการชื่นชมและได้รางวัลเป็นสิ่งตอบแทน เมื่อสุนัขทำสิ่งนั้นบ่อยๆจนเคยชิน มันก็จะรู้ว่ามนุษย์จะให้รางวัลมันอยู่เสมอ แนวคิดนี้พยายามทำความเข้าใจว่าสุนัขกำลังเรียนรู้ที่จะอยู่กับมนุษย์ด้วยการทำบางอย่างเพื่อให้มนุษย์ให้สิ่งตอบแทนคืนมา (Nolen-Hoeksema, 2010)
Behan (2011) อธิบายว่าสิ่งที่สุนัขกระทำในการอยู่ร่วมกับมนุษย์ สุนัขมองดูมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่ให้ในสิ่งที่มันต้องการ สุนัขจึงทำสิ่งที่มันจะได้รับรางวัล เช่น อาหาร พฤติกรรมที่สุนัขแสดงออกจึงเกิดขึ้นบนปฏิสัมพันธ์ที่มีการให้และการรับ รวมทั้งมีสิ่งกระตุ้นเร้าให้สุนัขทำตามที่มนุษย์ต้องการเพื่อมันจะได้บางสิ่งกลับคืนมา Behan เชื่อว่าปฏิสัมพันธ์นี้ทำให้เกิดความผูกพันทางอารมณ์ สุนัขจึงเรียนรู้อารมณ์ของมนุษย์และตอบสนองกับอารมณ์ต่างๆที่ทำให้มันได้รับการเอาใจใส่ดูแล เช่นเดียวกับ Sanders (1999) อธิบายว่าสุนัขแสดงออกบนพื้นฐานทางอารมณ์ที่ปรากฎอยู่ในแววตา คำอธิบายนี้วางอยู่บนทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับปฏิริยาตอบสนองจากสิ่งกระตุ้นเร้า ซึ่งมิได้มองสุนัขในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดของตัวเอง ในขณะที่ Hare and Tomasello (1999, 2005) เสนอว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่มีความฉลาด พวกมันสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์สื่อสารกับมันได้ดีกว่าสัตว์ในตระกูลลิง เช่น มันสามารถเข้าใจการสื่อสารแบบอวัจนภาษา เมื่อมนุษย์แสดงท่าทางต่างๆ สุนัขสามารถรับรู้ว่าหมายถึงอะไร การรับรู้ของสุนัขคือทักษะทางสังคมที่ทำให้มันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างการศึกษาทักษะทางสังคมของสุนัข เช่น การทำให้คนชรามีความสุข ปราศจากความเครียด เป็นเพื่อนคลายเงหา (Crowley-Robinson, Fenwick, & Blackshaw, 1996) สุนัขสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข จะพบว่าเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับสุนัข เด็กเหล่านี้จะเข้าใจว่าวิธีการแสดงความห่วงใยและใส่ใจผู้อื่นเป็นอย่างไร ทำให้เด็กสามารถเข้าใจการอยู่ในสังคมและรู้จักคุณค่าในตัวเอง (Coren, 2008) ในการศึกษาของ Din (2013) พบว่าสุนัขในสังคมอเมริกันช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง สุนัขสอนให้มนุษย์รู้จักการแสดงความรักและความห่วงใย พร้อมๆกับทำให้มนุษย์มีที่พึงในการแสดงความรู้สึกต่างๆ สุนัขจึงเป็นเหมือนผู้บรรเทาความทุกข์และสร้างความสุขทางใจ
ในการศึกษาของ Holland (2018) พบว่าในการฝึกสุนัขให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้ฝึกจะมีแบบแผนและเทคนิคที่ชัดเจนว่าสุนัขต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร สุนัขจะเรียนรู้ผ่านสัญลักษณ์ การแสดงท่าทาง การออกคำสั่ง การฟังเสียงและการได้กลิ่น แต่สุนัขแต่ละตัวจะตอบสนองต่อคำสั่งไม่เหมือนกัน ผู้ฝึกสุนัขจะต้องมีทักษะที่จะแสดงสัญลักษณ์ต่างๆให้สุนัขเข้าใจพร้อมกับต้องเรียนรู้ว่าสุนัขตอบสนองต่อสัญลักษณ์เหล่านั้นอย่างไร ผู้ฝึกสุนัขจึงต้องมีความคุ้นเคยกับสุนัขเพื่อที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่สุนัขกระทำบ่งบอกถึงอะไร วิธีการตอบสนองต่อสัญญาณและเครื่องหมายต่างๆ อาจถือเป็นวิธีการที่สุนัขจะแสดงตัวตนของมัน ขณะที่ความคุ้นเคยที่ผู้ฝึกมีต่อสุนัขคือสิ่งที่ช่วยให้ผู้ฝึกเข้าใจพฤติกรรมของสุนัขได้ดีขึ้น การตีความสิ่งที่สุนัขกระทำผ่านประสบการณ์ของผู้ฝึกอาจสะท้อนว่ามนุษย์พยายามมองการกระทำของสุนัขผ่านปฏิริยาทางร่างกาย เช่น การใช้จมูกดมกลิ่น การฟังเสียง การใช้สายตา การกระทำเหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้สิ่งที่สุนัขแสดงออกซึ่งเป็นการตัดสินจากพฤติกรรมทางร่างกาย มากกว่าจะเป็นการมองว่าสุนัขกำลังคิดและรู้สึกอย่างไร ในแง่นี้การมีตัวตนของสุนัขจึงถูกตีความผ่านเรื่องทางกายภาพและการใช้อวัยวะบ่งบอกถึงการกระทำต่างๆที่สุนัขตอบสนองต่อสิ่งเร้าและเครื่องหมายที่มนุษย์กำหนดขึ้น
Haraway (2008) อธิบายว่าประสบการณ์ที่สุนัขมีต่อโลกภายนอกถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การปฏิบัติตามคำสั่งและสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งบ่มเพาะให้สุนัขเรียนรู้ที่จะกระทำสิ่งต่างๆผ่านการกระตุ้นจากคำสั่งและท่าทางที่มนุษย์มีต่อมัน กระบวนการเรียนรู้สัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับสุนัขอาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการสร้างตัวตน (interspecies intersubjectivity) กล่าวคือ มนุษย์จะใช้ประสบการณ์ที่คุ้นเคยกับสุนัขเพื่อที่จะรู้ว่าสุนัขแสดงการตอบสนองจากสิ่งเร้าอย่างไร ในขณะที่สุนัขจะตอบสนองต่อการกระทำของมนุษย์ผ่านการจดจำคำสั่งและสัญญาณที่ทำให้มันได้รับรางวัลตอบแทน ในการศึกษาของ Lynch (1988) และ Dennis(2013) ตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ระบบคิดวิทยาศาสตร์ สัตว์จะถูกตีความเป็นวัตถุทางธรรมชาติที่มนุษย์จะเข้าไปจัดการและควบคุมให้อยู่ในกฎระเบียบที่มนุษย์สร้างไว้ ตัวอย่างเช่นการนำสัตว์มาทดลองในห้องแล็ปเพื่อที่จะทดสอบพฤติกรรมและปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเร้าชนิดต่างๆ สัตว์จึงดำรงอยู่ในฐานะเป็น “วัตถุที่ถูกควบคุม” สุนัขที่ถูกฝึกในโรงเรียนฝึกสุนัขก็มีสภาพเช่นเดียวกับสัตว์ที่ถูกนำมาทดลองในห้องแล็ป
อย่างไรก็ตาม การฝึกสุนัขให้มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆได้ตามที่มนุษย์คาดหวัง ยังเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนที่เกิดขึ้นทั้งมนุษย์และสุนัข ในขณะที่สุนัขพยายามตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเร้าและสัญญาณต่างๆ สุนัขก็กำลังเรียนรู้ที่จะกระทำการในแบบที่มันจะได้รับการตอบสนองที่ดีจากมนุษย์ เช่นเดียวกัน มนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจการกระทำของสุนัขซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามความคาดหมายที่มนุษย์ต้องการเสมอไป กระบวนการเรียนรู้ระหว่างกันนี้จำเป็นต้องมีการอ้างอิงเนื้อตัวร่างกายของสุนัข โดยเฉพาะอวัยวะที่ใช้ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ร่างกายของสุนัขจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการมีตัวตนของมัน ท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ฝึกสุนัขและสุนัข ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างมีตัวตนหลายรูปแบบซึ่งมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของความสัมพันธ์ สุนัขจึงเป็นพรมแดนของการสร้างตัวตนที่ไม่หยุดนิ่งที่มีปฏิบัติการของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง Crist (1999) ตั้งข้อสังเกตว่านักวิทยาศาสตร์มักจะอธิบายการมีตัวตนของสัตว์ด้วยทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ที่ใช้มาตรฐานของมนุษย์เป็นตัวชี้วัด แต่ในช่วงปัจจุบัน คำอธิบายอื่นๆที่มองสัตว์มีอารมณ์ความรู้สึกช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของสัตว์มากขึ้น
Pregowski (2015) ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขมีความซับซ้อนมาก เราไม่สามารถใช้พฤติกรรมและการแสดงออกทางกายภาพมาเป็นตัวตัดสินตัวตนของสุนัขได้เสมอไป ความคาดหวังของมนุษย์ที่มีต่อสุนัขมิใช่เครื่องบ่งชี้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเท่ากับตัวตนของสุนัข รวมทั้งไม่สามารถนำเอาแบบแผนการเป็นบุคคลไปใช้อธิบายสิ่งที่สุนัขกระทำตอบโต้กับมนุษย์ เพราะสุนัขไม่ได้มีตัวตนแบบที่มนุษย์เป็น ในทางตรงกันข้าม การกระทำต่างๆของสุนัขดำรงอยู่ภายใต้ประสบการณ์ที่สุนัขมี สิ่งนั้นเกิดจากกลไกการเรียนรู้และการคิดที่สุนัขสร้างขึ้นมาจนทำให้มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกต่อสิ่งเร้าต่างๆ (sentient being) ประสบการณ์ของมนุษย์และสุนัขยังคงเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและเปิดกว้างต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ตัวตนของสุนัขจึงมิได้แยกขาดจากการมีอยู่ของมนุษย์ และการสร้างตัวตนของมนุษย์ก็ยังนำเอาการกระทำของสุนัขมาเป็นประสบการณ์ โลกของมนุษย์และสุนัขจึงทับซ้อนกันและดำเนินไปพร้อมกัน ทำให้เกิดสภาวะสังคมของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ (interspecies socialities) (Latimer, 2013) และภายใต้สังคมดังกล่าว เราต้องไม่ลืมว่ายังคงมีความไม่เท่าเทียมของอำนาจและการควบคุมเกิดขึ้นเสมอ (Charles, 2016)
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Anderson, M. (1986). From Predator to Pet: Social Relationships of the Saami Reindeer Herding Dog. Central Issues in Anthropology 6 HealthDay. (1986): 3-11.
Behan, K. (2011). Your dog Is Your Mirror: The Emotional Capacity of Our Dog and Ourselves. Novato, CA: New World Library.
Charles, N. (2016). Post-human families? Dog-human relations in the domestic sphere. Sociological Research Online, 21(3), 8.
Coppinger, L., & Coppinger, R. (2001). Dogs: A New Understanding of Canine Origin, Behavior and Evolution. Chicago, IL: University of Chicago Press.
Coren, S. (2008). The Modern Dog: How Dogs Haye Changed People and Society and Improves Our Lives. New York, NY: Free Press.
Crist, E. (1999). Images of animals: Anthropomorphism and animal mind. Philadelphia: Temple University Press.
Crowley-Robinson, P., Fenwick, D.C., & Blackshaw, J.K. (1996). A long-term study of elderly people in nursing homes with visiting and resident dogs. Applied Animal Behaviour Science, 47(1-2), 137-148.
Dennis, S. (2013). Ambiguous mice, speaking rats: crossing and affirming the great divides in scientific practice. Anthrozöos, 26(4), 505–517.
Din, M. (2013). Practically Emotional: An Anthropological Investigation of the Relationship between Humans and Dogs. Thesis, Sociology & Anthropology, Swarthmore College. Retrieved from https://scholarship.tricolib.brynmawr.edu/bitstream/handle/10066/ 11564/Din_thesis 2013.pdf?sequence=1&isAllowed=y
Goodavage, M. (2012). Soldier Dogs: The Untold Story of America's Canine Heroes. New York, NY: Penguin Group Inc.
Gottlieb, A. (1986). Dog: Ally or Traitor? Mythology, Cosmology, and Society among the Beng of Ivory Coast. American Ethnologist, 13.3 (1986): 477-88.
Groves, C. (1999). The Advantages and Disadvantages of being domesticated. Perspectives in Human Biology, 4, 1-12.
Haraway, D. (2003). Emergent Naturecultures. The Companion Species Manifesto: Dogs, People, and Significant Otherness. Chicago: Prickly Paradigm P, LLC.
Haraway, D. (2008). When Species Meet. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Hare, B., & Tomasello, M. (1999). Domestic Dogs (Canis Familiaris) Use Human and Conspecific Social Cues to Locate Hidden Food. Journal of Comparative Psychology, 113(2), 173- 177.
Hare, B., & Tomasello, M. (2005). "Human-like Social Skills in Dogs? Trends in Cognitive Sciences 9, 439-44.
Holland, K. (2018). ‘Biosensors in Fluffy Coats’: Interspecies Relationships and Knowledge Production at the Nexus of Dog-Training and Scientific Research. Thesis, University College London.
Latimer, J. (2013). Being alongside: rethinking relations amongst different kinds. Theory, Culture and Society, 30(7/8), 77-104.
Lynch, M. (1988). Sacrifice and the transformation of the animal body into a scientific object: laboratory culture and ritual practice in the neurosciences. Social Studies of Science 18, 265–89.
Pregowski, M. (2015). Your dog is your teacher. Society and Animals, 23, 525–543.
Nolen-Hoeksema, S. (2010). Abnormal Psychology. New York: McGraw-Hill Higher Education.
Sanders, C. (1999). Understanding Dogs: Living and Working with Canine Companions. Philadelphia, PA: Temple University Press.
Shir-Vertesh, D. (2012). Flexible Personhood: Loving Animals as Family Members in Israel. American Anthropologist, 114 (2012), 420-432.
Tacon, P. & Pardoe, C. (2002). Dogs make us human. Nature Australia, Autumn 2002. (pp.53- 61).
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, สุนัข, สังคม, การเรียนรู้