Anthropology of Ghost
การศึกษาผีในสังคมจารีตประเพณี
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความสนใจของนักมานุษยวิทยาในการศึกษาผี วิญญาณ สิ่งเร้นลับ และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติจะอธิบายสิ่งเหล่านี้ด้วยแนวคิด “วิญญาณนิยม” (Animism) ซึ่งมองผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยโลกทัศน์ที่ชาวตะวันตกพยายามแบ่งลำดับขั้นของความเชื่อทางศาสนาจากยุคสังคมชนเผ่าที่เชื่อในวิญญาณ ภูตผีปีศาจ มาจนถึงสังคมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่มีการนับถือศาสนาและพระเจ้า ตามด้วยความรู้แบบเหตุผลวิทยาศาสตร์ที่อธิบายสิ่งต่างๆในฐานะเป็นธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ นักมานุษยวิทยาเช่น Edward Tylor (1871) อธิบายว่าความเชื่อแบบวิญญาณนิยม คือการที่มนุษย์รับรู้ถึงสิ่งต่างๆในธรรมชาติมีจิตวิญญาณ ซึ่งบ่งบอกว่าการรับรู้ถึงชีวิตของสิ่งอื่นที่มิใช่มนุษย์ทำให้เห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านั้น อันนำไปสู่การแสดงการเคารพบูชาและสักการะเพื่อให้วิญญาณของสิ่งต่างๆปกป้องดูแลชีวิตมนุษย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตราย เช่น การบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาผีและวิญญาณด้วยแนวคิดวิญญาณนิยมได้รับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่าสามารถทำความเข้าใจความซับซ้อนเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาที่มิได้เป็นเส้นตรงแบบวิวัฒนาการได้หรือไม่ (Harvey, 2006; Stringer, 1999) ขณะเดียวกันคำอธิบายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณมักสนใจวิเคราะห์ในเชิงปรากฎการณ์ทางศาสนา มิติสังคม อารมณ์ความรู้สึก ความไม่ลงรอยทางอำนาจ การต่อสู้ทางการเมืองและอิทธิพลของระบบุทนนิยม (Comaroff, 1985; Geschiere, 2013; Taussig, 1980)
Hornborg (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าความเชื่อในวิญญาณและการมีชีวิตจิตใจของสิ่งที่มิใช่มนุษย์ คือวิธีการรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นที่ต่างไปจากระบบเหตุผลวิทยาศาตร์แบบตะวันตก การรับรู้ถึงการมีอยู่ของผี วิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท้าทายตรรกะวัตถุนิยมแบบ Cartesian ที่มีอิทธิพลต่อโลกสมัยใหม่ นักมานุษยวิทยาในระยะหลังจึงพยายามถกเถียงถึงวิธีการรับรู้ถึงการมีอยู่ของโลกแห่งวิญญาณ ซึ่งท้าทายกระบวนการสร้างความรู้และความรู้ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและมักควบคุมการอธิบายสิ่งต่างๆ ในแง่นี้ความเข้าใจเรื่องผีและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติจึงดำรงอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งจัดวางสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม การศึกษาที่เสนอการมองผีและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างออกไป จำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบสิ่งที่ถูกนิยามว่า “การมีอยู่ของความเป็นอื่น” ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ (Boddy, 2013; Jensen, Ishii & Swift, 2016) พร้อมกับการทำลายคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน
การศึกษาผีและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในโลกสมัยใหม่
ตัวอย่างการศึกษาของ Broz (2018) อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับการพบเห็นผีและวิญญาณของคนตายที่ปรากฎตัวให้มนุษย์พบเห็นในหมู่บ้านอูลากัน เขตตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศหนาวจัดตลอดปี คนท้องถิ่นในหมู่บ้านแห่งนี้เรียกตัวเองว่าชาวอัลเตียน (Altaians) ความเชื่อเรื่องวิญญาณที่ชั่วร้าย หรือ körmös (ในภาษาของชาวอัลเตียน รากศัพท์ของคำนี้มีความหมายว่า “สิ่งที่มองไม่เห็น”) มันจะขโมยวิญญาณของคนที่ยังมีชีวิตและทำให้คนๆนั้นถึงแก่ความตาย ใครที่พบเห็นและเผชิญหน้ากับวิญญาณและภูตผี คนๆนั้นจะพบกับความตายในเวลาไม่ช้า ความเชื่อนี้สะท้อนออกมาในเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพบเห็นวิญญาณของคนตาย ซึ่งมีแนวเรื่องที่คล้ายๆกัน นั่นคือ มนุษย์ได้เจอวิญญาณคนตายในสถานที่ที่เปลี่ยวและห่างไกลผู้คน วิญญาณนั้นจะแสดงพลังที่บังคับให้รถยนต์หรือม้าที่มนุษย์กับกำลังขับขี่หยุดโดยกระทันหัน หลังจากนั้นไม่เกิน 1 ปี ผู้ที่เจอวิญญาณจะเสียชีวิต เรื่องเล่าแนวนี้เกิดขึ้นซ้ำๆกันในหมู่บ้านอูลากัน
Broz (2018) ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณของชาวอัลเตียนสะท้อนวิธีคิดที่แยกคู่ตรงข้ามระหว่าง “สิ่งที่ปกติ” (มนุษย์) กับ “สิ่งที่ผิดปกติ” (วิญญาณ) ความเชื่อแบบคู่ตรงข้ามนี้พบเห็นได้ในเขตเอเชียตอนเหนือ (Humphrey, 1996; Pedersen & Willerslev, 2012) ซึ่งแบกแยกโลกของสิ่งที่มองเห็นออกจากโลกที่มองไม่เห็น ในการศึกษาของ Delaplace (2013) เคยอธิบายว่าในวัฒนธรรมของชาวอัลเตียนการรับรู้ถึงสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความสามารถอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ ชาวอัลเตียนจึงสามารถพบเจอภูตผีและวิญญาณของคนตายได้ตลอดเวลา ผู้ที่มีความสามารถดังกล่าวนี้จะถูกขนานนามว่า “neme biler ulus” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งต่างๆ (neme) คนเหล่านี้จะมีดวงตาวิเศษ (kösmökchi) รวมทั้งมีประสาทสัมผัสวิเศษที่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่มองไม่เห็นได้ (Halemba, 2006) การรับรู้ถึงสิ่งต่างๆบางครั้งอาจเกิดขึ้นในความฝัน บางครั้งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีพลังวิเศษหรือสถานที่ที่มีวิญญาณของคนตาย (körmöstü)
การศึกษาของ Delaplace (2009) ชี้ว่าคนพื้นเมืองในเขตมองโกเลียสามารถพบเห็นวิญญาณเป็นบางครั้งบางคราว หมายถึงความสามารถในการรับรู้และสัมผัสถึงสิ่งเร้นลับที่มองไม่เห็นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษ เช่น การรับรู้ถึงกลิ่นและการได้ยินเสียง ในกรณีของชาวอัลเตียนที่สามารถพบเห็นและร่วมทำกิจกรรมกับคนตายเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ Broz (2018) เชื่อว่ามีความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของชาวมองโกเลีย ตัวอย่างเช่น การร่วมดื่มเหล้าและรับประทานอาหารกับคนตายสะท้อนวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนและการแบ่งปันที่พบได้ในสังคมของชาวอัลเตียน ในวัฒนธรรมนี้เชื่อว่าการกินอาหารโดยไม่แบ่งให้ใครเลย อาหารนั้นจะกลายเป็นอุจจาระ แต่ถ้าแบ่งปันอาหารให้กับผู้อื่น อาหารนั้นก็จะกลายเป็นพรคำสรรเสริญ สังคมของชาวอัลเตียนจึงให้ความสำคัญกับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนแปลกหน้าที่มาจากถิ่นอื่นมักจะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นมิตรจากชาวอัลเตียนเสมอ โดยแขกผู้มาเยือนจะได้รับการมอบอาหาร เครื่องดื่มและนม เจ้าบ้านจะเอ่ยคำว่า “ลองดื่มดูสิ” หรือ “ลองรับประทานดูสิ” ถือเป็นการสร้างมิตรภาพที่เจ้าบ้านทุกคนต้องปฏิบัติ อาหารและเครื่องดื่มจึงถือเป็นวัตถุสำหรับการสร้างสังคมที่ดีสำหรับชาวอัลเตียน ซึ่งเป็นวิธีการทำให้เจ้าบ้านสามารถสร้างสายสัมพันธ์ (relata) กับแขกผู้มาเยือนได้อย่างราบรื่น
การแบ่งปันของชาวอัลเตียนยังเกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการต้มน้ำชาบนเตาที่มีไฟพวยพุ่ง ผู้ที่ชงชาจะสลัดน้ำชาหยดลงไปในเตาไฟเพื่อบ่งบอกว่าไฟพร้อมจะดื่มชาเช่นเดียวกับมนุษย์ ในกรณีของการพบเห็นและเผชิญหน้ากับวิญญาณของคนตาย ซึ่งมนุษย์เข้าไปร่วมดื่มกินสังสรรค์กับคนตาย Broz (2018) กล่าวว่าเป็นอีกกรณีหนึ่งของการแบ่งปัน เช่นเดียวกับในพิธีศพ ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะนำอาหารและเครื่องดื่มมาแบ่งปันกัน และร่วมดื่มกินเพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่โลกใหม่ (the other world) ชาวอัลเตียนเชื่อว่าวิญญาณของคนที่เพิ่งตายใหม่ๆ จะรับอาหารจากญาติพี่น้องและเพื่อฝูงและนำไปแบ่งปันและดื่มกินร่วมกับวิญญาณของคนตายที่อยู่อีกโลกหนึ่ง ชาวอัลเตียนยังมีวิธีการหยิบจับอาหารและเครื่องดื่มที่สอดคล้องกับธรรมเนียมของคนเป็นกับคนตาย เช่น ไม่หยิบอาหารที่ตกลงพื้นขึ้นมา เพราะเชื่อว่าอาหารบนพื้นเป็นของสุนัข
การเผชิญหน้ากับวิญญาณของคนตาย เปรียบเสมือนการพบกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ซึ่งมีนัยยะของ “ความเป็นอื่น” Broz (2018) อธิบายว่าในวัฒนธรรมของชาวอัลเตียน ความเชื่อเกี่ยวกับคนตายแสดงออกด้วยการกระทำบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือการต้อนับขับสู้และการแบ่งปัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของคนแปลกหน้าหรือคนต่างถิ่นที่เข้าไปในเขตอาศัยของชาวอัลเตียน ซึ่งพวกเขาเปรียบเสมือน “คนอื่น” สำหรับชาวอัลเตียน ตัวอย่างในปี ค.ศ. 2003 นักโบราณคดีที่เข้าไปทำงานวิจัยในชุมชนของชาวอัลเตียน นักโบราณคดีคือคนแปลกหน้าที่เข้าไปสำรวจและขุดค้นพบมัมมี่ของหญิงสาวซึ่งถูกเรียกว่า “เจ้าหญิงแห่งอูก๊อก” (Ukok princess) หลังจากที่มีการขุดค้นดังกล่าว มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขตอูลากัน และตามมาด้วยแผ่นดินไหวย่อยๆจำนวนมาก ชาวอัลเตียนเชื่อว่าการทำงานของนักโบราณคดีจากภายนอกคือสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ชาวบ้านอูลากันจึงรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียส่งคืนมัมมี่เจ้าหญิงแห่งอูก็อกกลับคืนมา (Halemba, 2008)
ในปี ค.ศ.2004 นาย Leonid Drachevskii ทูตรัสเซียประจำเขตไซบีเรียได้เดินทางไปยังหมู่บ้านอูลากันเพื่อตกลงเรื่องงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ในการเจรจากับชาวบ้าน นาย Leonid Drachevskii ไม่สนใจความเชื่อเรื่องวิญญาณที่มีความสำคัญสำหรับชาวอัลเตียน แต่เขาพยายามทำให้ชาวบ้านสนใจเฉพาะเรื่องค่าชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ พร้อมทั้งยังตอกย้ำว่าความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่สมควรเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์ต้องมีเหตุผล ไม่ควรเป็นคนที่งมงายกับเรื่องเหนือธรรมชาติหรือสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ (Alexeyeva, 2004) ในประเด็นนี้ Broz (2018)อธิบายว่าความไม่ลงรอยระหว่างชาวอัลเตียนและนาย Leonid Drachevskii คือการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างโลกที่ต่างกันสองแบบ นั่นคือโลกของเหตุผลกับโลกของวิญญาณซึ่งมันไม่ได้แยกขาดจากกัน ในยุคที่ความรู้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าและมีอิทธิพลต่อสังคมสมัยใหม่ ยังคงมีความเชื่อเรื่องภูตผี วิญญาณ และสิ่งเหนือธรรมชาติปรากฎอยู่เสมอ
การปฏิเสธความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณในสังคมสมัยใหม่ก็เปรียบเสมือนการทำให้ผีและวิญญาณกลายเป็น “อื่น” การดำรงอยู่ร่วมกันของโลกสองโลกที่ต่างกันอาจสะท้อนว่า “ความไร้เหตุผล” แบบภูตผีวิญญาณมิได้เป็นช่วงเวลาที่แยกขาดหรือหลุดพ้นไปจากช่วงเวลาของ “เหตุผล” ที่เกิดขึ้นจากความรู้วิทยาศาสตร์แต่อย่างใด (Fabian, 1983) ในการศึกษาความเชื่อเรื่องผีของชาวอัลเตียน Broz (2018) เสนอว่าผีและวิญญาณเป็นเรื่องของสิ่งที่มองไม่เห็น ที่ดำรงอยู่ในวิธีคิดและการปฏิบัติในชีวิตของชาวอัลเตียน สิ่งที่มองไม่เห็นคือ “โลกที่จับต้องไม่ได้” ที่นักมานุษยวิทยาไม่ควรเพิกเฉยหรือมองข้ามไป ในฐานะที่มานุษยวิทยาพยายามเป็นศาสตร์ที่อธิบายสิ่งที่จับต้องได้ การมองดูการดำรงอยู่ของผี วิญญาณ และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติอาจทำให้เห็น “โลก” ที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งนี้ไม่ตีความเรื่องผีและวิญญาณเป็นเพียงส่วนประกอบทางวัฒนธรรมและมิติของความเชื่อ แต่ควรทำความเข้าใจ “การดำรงอยู่” ของผี วิญญาณ และสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นสารัตถะในตัวของมันเอง
ภววิทยาของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ
ในการศึกษามานุษยวิทยาเชิงภววิทยา พบว่าการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของโลกที่ต่างไปจากการรับรู้ของมนุษย์ มิใช่การหาวิธีพิสูจน์ “ความจริง” แบบสารัตถนิยม มิใช่การหาหลักฐานหรือสิ่งยืนยันเกี่ยวกับการมีอยู่ของโลกที่ต่างออกไป หากแต่เป็นการมองเห็นความแตกต่างที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Laidlaw & Heywood, 2013; Salmond, 2014) ในแง่นี้ การดำรงอยู่ของผี วิญญาณ และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ สามารถดูได้จากปฏิสัมพันธ์ที่สิ่งเหล่านั้นมีต่อสิ่งต่างๆ Salmond (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านั้นมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ควรทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสิ่งรอบๆตัวมันอย่างไร โดยที่มันไม่จำเป็นต้องคงรูปและมีเสถียรภาพของการดำรงอยู่ แต่ควรมองดูมันในฐานะกระบวนการทางภววิทยาที่เปลี่ยนแปรไปตามสิ่งที่มันมีปฏิสัมพันธ์ Broz (2018) กล่าวว่าการศึกษาผีและสิ่งเหนือธรรมชาติมิใช่การพิสูจน์ว่ามันมีอยู่ในเชิงประจักษ์ แต่เป็นการทำความเข้าใจว่ามันส่งผลกระทบต่อสิ่งต่างๆอย่างไร การดำรงอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติจึงเป็นการมองเห็นพลวัตและความเป็นไปได้ที่มิได้มีคำตอบตายตัว
ตัวอย่างการศึกษาของ Konopásek and Paleček (2011) เกี่ยวกับการถูกผีสิงและพิธีกรรมไล่ผีของนักบวชในคริสต์ศาสนา พบว่าการอธิบายสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้จากประสบการณ์และความรู้ทางศาสนาหรือการอธิบายด้วยทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ซึ่งมักจะระบุว่าคนที่ถูกผีสิงคือผู้ที่มีอาการจิตหลอนหรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ คำอธิบายในแนวนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติได้ ในทางปฏิบัติ ผู้ที่เผชิญหน้ากับผี วิญญาณ และเทพเจ้ามักจะถูกนักบวชนำตัวมาบำบัดและให้คำปรึกษา ซึ่งนักบวชจะตีความสิ่งเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือการพบเห็นวิญญาณของพระมารดาของพระเยซูคริสต์ (Virgin Mary) ในเมืองลิตมาโนว่า ประเทศสโลวาเกีย คนท้องถิ่นจำนวนมากต่างเดินทางไปกราบสักการะและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อขอพรจากพระมารดา หากอธิบายด้วยกรอบความคิดแบบวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือจินตนาการของมนุษย์ที่ศรัทธาต่อพระเจ้า ในทางกลับกัน ความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าวทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคมตามมา ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม การราบไหว้บูชาและการสร้างรูปเคารพ กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์และไม่อาจนิยามว่าพฤติกรรมของชาวบ้านที่แสดงออกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือสภาวะของจิตหลอน
การดำรงอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติในฐานะเป็นภววิทยา สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือการดำรงอยู่ในลักษณะนี้ท้าทายการรับรู้ด้วยปัญญาของมนุษย์ และเป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาทางภววิทยาที่จำเป็นต้องอธิบาย “ตัวตน” หรือ “การมีอยู่” ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งจับต้องไม่ได้ในฐานะเป็น “ความเป็นอื่นที่สุดโต้ง” (radical alterity) (Laidlaw & Heywood, 2013) ซึ่งบ่งบอกว่าการมีอยู่จริงของภูตผี ปีศาจ ซาตาน วิญญาณ เทพเจ้า และสิ่งเหนือธรรมชาติไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานคิดเรื่องความเป็นจริงที่วิทยาศาสตร์กำหนดและตรวจสอบในเชิงวัตถุสสาร หากแต่การมีอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นสภาวะที่อยู่เหนือความคิด ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดแต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก ในแง่นี้ ความจริงและการดำรงอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติจึงไม่เหมือนกับความจริงแบบวัตถุวิสัย (Konopásek & Paleček, 2011) รวมถึงการอธิบายผีและสิ่งเหนือธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขทางวัฒนธรรมก็อาจยังไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น ในการศึกษาของ Broz (2018) เกี่ยวกับการพบเห็นคนตายกลับมายังโลกของคนเป็น สำหรับชาวอัลเตียนสิ่งนี้มีตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น การอธิบายผีให้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นเรื่องยาก การดำรงอยู่ของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติจึงผันแปรไปตามประสบการณ์เกี่ยวกับความจริงของคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Alexeyeva, I. (2014). Mystery behind the Scythian princess. PravdaReport, online edition: http://www.pravdareport.com/science/tech/29-04-2004/5448-mummy-0/
Boddy, J. (2013). Spirits and selves revisited: Zār and Islam in northern Sudan. In Janice Boddy and Michael Lambek, (Eds.), A companion to the anthropology of religion (pp.444–69). Malden, MA: Wiley-Blackwell.
Broz, L. (2018). Ghost and the other Dangerous commensalities and twisted becomings. Retrieved from https://journals.openedition.org/terrain/16623
Comaroff, J. (1985). Body of power, spirit of resistance: The culture and history of a South African people. Chicago: University of Chicago Press.
Delaplace, G. (2013). What the Invisible Looks Like: Ghosts, Perceptual Faith, and Mongolian Regimes of Communication. In Ruy Blanes & Diana E. Santo (eds.), The Social Life of Spirits, (pp.52–68). Chicago: University of Chicago Press.
Fabian, J. (1983). Time and the Other: How Anthropology Makes its Object. New York: Columbia University Press.
Geschiere, P. (2013). Witchcraft, intimacy and trust: Africa in comparison. Chicago: University of Chicago Press.
Halemba, A. (2006). The Telengits of Southern Siberia: Landscape, Religion and Knowledge in Motion. London: Routledge.
Halemba, A. (2008). What does it feel like when your religion moves under your feet? Religion, Earthquakes and National Unity in the Republic of Altai, Russian Federation. Zeitschrift fur Ethnologie, 133, 283–299.
Harvey, G. (2006). Animism: Respecting the Living World. New York: Columbia University Press.
Hornborg, A. (2006). Animism, fetishism, and objectivism as strategies for knowing (or not knowing) the world. Ethnos: Journal of Anthropology. 71 (1): 21–32.
Humphrey, C. (1996). Shamans and Elders: Experience, Knowledge and Power among the Daur Mongols. Oxford, Clarendon Press.
Jensen, C., Ishii, M., & Swift, P. (2016). Attuning to the webs of en: Ontography, Japanese spirit worlds and the ‘tact’ of Minakata Kumagusu. HAU: Journal of Ethnographic Theory, 6, 149–172.
Konopásek, Z., & Paleček, J. (2011) The Principle of Symmetry from the Respondents’ Perspective: Possessions, Apparitions and Mental Illnesses. In Research Interviews with Clerics, Forum Qualitative Sozialforschung/Forum: Qualitative Social Research, 12, Art. 12.
Laidlaw, J., & Heywood, P. (2013). One more turn and you’re there. Anthropology of This Century, 7, online edition: http://aotcpress.com/articles/turn/
Pedersen, M.A. & Willerslev, R. (2012) The Soul of the Soul Is the Body: Rethinking the Concept of Soul through North Asian Ethnography. Common Knowledge, 18(3), 464–486.
Salmond, A. J. M. (2014). Transforming translations (part 2): Addressing ontological alterity. HAU: Journal of Ethnographic Theory, 4(1), 155–187.
Stringer, M. D. (1999). Rethinking Animism: Thoughts from the Infancy of our Discipline. Journal of the Royal Anthropological Institute. 5 (4): 541–56.
Taussig, M. T. (1980). The Devil and commodity fetishism in South America. Chapel Hill: University of North Carolina Press.
Tylor, E. B. (1871). Primitive Culture. London: John Murray.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, ผี, วิญญาณ, ภววิทยา, เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ