คำศัพท์

Trust

ความไว้วางใจ (Trust) เป็นคำหรือแนวคิดที่ถูกศึกษาวิจัยในวงกว้างในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา รัฐศาสตร์ จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ การบริหาร ปรัชญา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญหรือสร้างความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต เช่น สงครามกลางเมือง เหตุการณณ์ 9/11 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ โดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งมีข้อเสนอในทำนองว่า สังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความไว้วางใจต่อกันนั้นจะเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ มากกว่าสังคมที่ไม่มีความไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจจะเป็นตัวบรรเทาความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตทางสังคม อีกทั้ง ความไว้วางใจจะก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างความผ่อนคลายในปฏิสัมพันธ์ของชีวิตทางสังคม ในที่นี้ ความไว้วางใจจึงถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทุนทางสังคม (social capital) (McKnight & Chervany, 2001; Taddeo, 2011; Bauer, 2013; Pedersen & Liisberg, 2015; Robbins, 2016)

Niklas Luhmann (1979) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้วิเคราะห์หน้าที่ของความไว้วางใจและกลไกทางสังคมที่สร้างความไว้วางใจขึ้นมา เขาเสนอว่าเหตุผลที่สังคมโดยทั่วไปต้องการความไว้วางใจ นั่นเพราะความไว้วางใจเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม สำหรับเขาความไว้วางใจเป็นผลมาจากกระบวนการตัดสินใจ กล่าวคือ ความไว้วางใจคือการตัดสินใจของผู้ถือ/ให้ความไว้วางใจ (the trustor) บนพื้นฐานของความคุ้นเคย (familiarity) ความคาดหวัง (expectation) และความเสี่ยง (risk)

ขณะที่ Diego Gambetta (1988) นักสังคมศาสตร์ชาวอิตาลี ได้ให้ความสนใจไปที่กระบวนการตัดสินใจที่เป็นเบื้องหลังของความไว้วางใจ สำหรับเขาความไว้วางใจมักถูกเข้าใจว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือความไว้วางใจ (the trustor) กับผู้จัดการผลประโยชน์ (the trustee) โดยที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวควรมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อของผู้ถือความไว้วางใจในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและความสามารถของผู้จัดการผลประโยชน์และที่เกี่ยวกับบริบทของความสัมพันธ์อันเกิดขึ้น อีกทั้งเขามองว่าความไว้วางใจซึ่งกันและกันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันได้ (แม้ว่าความไว้วางใจและความร่วมมือจะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน) ทั้งนี้ ความไว้วางใจรวมทั้งความไม่ไว้วางใจ สามารถพิจารณาได้เป็นระดับ (level) ของความน่าจะเป็นเชิงอัตวิสัย (the subjective probability) ที่ผู้หนึ่งได้ประเมินอีกคนหนึ่ง (กลุ่มหนึ่ง) ในการจะดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ

ในส่วนของ D. Harrison McKnight และ Norman L. Chervany (2001) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการจัดการ ได้เขียนบทความเรื่อง Trust and Distrust Definitions: One Bite at a Time ซึ่งได้รวบรวมคำจำกัดความของความไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจในหลายสาขาวิชา โดยมีการจัดประเภทของแนวคิดเรื่องความไว้วางใจที่มีตั้งแต่ในระดับการสร้างบุคลิกภาพส่วนตน (a personality construct) ไปยังเรื่องการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (a rational choice) ไปยังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (an interpersonal relationship) และเรื่องการประกอบสร้างทางสังคม (a social structure construct) ทั้งนี้ พวกเขาได้วิเคราะห์และเสนอว่าลักษณะของความไว้วางใจ 4 มีองค์ประกอบ ได้แก่ 1. การมีความเมตตากรุณา/ปรารถนาดี (benevolence) หมายถึง มีความเอาใจใส่และจูงใจให้กระทำการเพื่อผลประโยชน์มากกว่าจะเป็นการกระทำโดยฉวยโอกาส อันหมายรวมถึงการมีความรับผิดชอบและความห่วงใย 2. การมีความซื่อสัตย์ (integrity) หมายถึง การทำข้อตกลงโดยสุจริต การพูดความจริง และการปฏิบัติตามคำสัญญา อันหมายรวมถึงการมีความเที่ยงตรงและคุณธรรม 3.การมีสมรรถนะ (competence) หมายถึง การมีความสามารถหรืออำนาจที่จะกระทำเพื่อสิ่งที่ตนต้องการ และ 4. การคาดการณ์ได้ (predictability) หมายถึง การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง (ทั้งที่ดีและไม่ดี) จะมีความสม่ำเสมอเพียงพอในการที่จะคาดการณ์ได้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ

โดยที่แนวโน้มของความไว้วางใจ (disposition to trust) หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งแสดงแนวโน้มที่จะพึ่งพาบุคคลทั่ว ๆ ไปได้โดยง่ายในสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป หรือกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องนิสัยส่วนบุคคล (a person’s trait) ซึ่งแนวโน้มของความไว้วางใจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้จากประสบการณ์ในชีวิต ขณะที่ความไว้วางใจเชิงสถาบัน (institution-based trust) หมายถึง ความเชื่อที่ว่ามีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย (favorable conditions) ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จตามสถานการณ์หนึ่ง ๆ ด้วยความพยายามบนความเสี่ยง และการที่ผู้คนสามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ก็เนื่องจากมีโครงสร้าง สถานการณ์ หรือบทบาทที่รับประกันได้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะผ่านไปด้วยดี หรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้คนมีการประเมินสถานการณ์และโครงสร้างในขณะนั้นว่าจะสามารถมีความไว้วางใจต่อผู้อื่นหรือคนคนหนึ่งได้หรือไม่ และความไว้วางใจเชิงสถาบันก็แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภทคือ Structural Assurance (เชื่อว่ามีโครงสร้างทางสังคม กฎหมาย ที่อำนวยต่อการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์หนึ่ง) และ Situational Normality (เชื่อว่าสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเป็นสิ่งปกติหรืออำนวยต่อการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์หนึ่ง)

อีกทั้ง ยังมีในส่วนของความเชื่อของความไว้วางใจ (trusting beliefs) หมายถึง ขอบเขตที่คนหนึ่งเชื่อมั่นว่าคน ๆ หนึ่งจะมีลักษณะที่เป็นประโยชน์และจึงตัดสินมอบความไว้วางใจให้แก่เขา โดยเชื่อว่าเขาจะมีความเต็มใจและสามารถกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของคนที่มอบความไว้วางใจได้ ขณะที่เจตจำนงของความไว้วางใจ (trusting intentions) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งเต็มใจที่จะพึ่งพาหรือตั้งใจที่จะพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะขาดการควบคุมเหนือฝ่ายนั้น และถึงแม้จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบตามมาก็ตาม ในส่วนของพฤติกรรมของความไว้วางใจ (trust-related behavior) ก็หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งมอบภาระหน้าที่ความไว้วางใจแก่บุคคลอื่น โดยที่บุคคลนั้นอาจจะมีการกระทำที่หักหลังเขาได้ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการยอมรับความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ พฤติกรรมของความไว้วางใจมีหลายระดับได้แก่ การสร้างความร่วมมือ (cooperation) การให้ข้อมูล (information sharing) การทำข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการ (informal agreements) การลดการควบคุม (decreasing controls) การยอมรับในอิทธิพล (accepting influence) การให้อำนาจในการตัดสินใจ (granting autonomy) และ การสร้างธุรกรรมทางธุรกิจ (transacting business) ซึ่งล้วนเกิดขึ้นภายใต้ความเสี่ยงและการไร้ความสามารถในการควบคุมผู้จัดการผลประโยชน์

ขณะที่ Esther Oluffa Pedersen (2015) ได้เขียนบทความ An outline of interpersonal trust and distrust ซึ่งเสนอว่าแนวคิดหลักเบื้องหลังการตีความความไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจระหว่างบุคคล ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นจำเป็นต้องให้ความสนใจกับลักษณะสามประการ คือ 1. เราจะมีแนวโน้มที่จะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจคนส่วนใหญ่หรือเราจะมีความน่าไว้วางใจในสายตาคนอื่นหรือไม่นั้น ก็เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม ประสบการณ์ในอดีตและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น 2. ความไว้วางใจหรือความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้กระทำการมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความคาดหวังระหว่างกันที่เปลี่ยนแปลงได้ 3. ความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้นั้นฝังลึกทั้งในทางสังคมและทางวัฒนธรรม ในแง่ที่ว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้กระทำการมีความร่วมมือทางสังคมที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ทั้งนี้ การประเมินความไว้วางใจทางสังคม (สูงหรือต่ำ) แสดงให้เห็นว่าความไว้วางใจระหว่างผู้คนจะเกิดขึ้นเมื่อมีความมั่นคงทางสังคมและความสามารถในการคาดการณ์

ความไว้วางใจในงานด้านมานุษยวิทยา

ในหนังสือเรื่อง Anthropology & Philosophy: Dialogues on Trust and Hope ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความไว้วางใจและความหวังจากมุมมองของนักมานุษยวิทยาและนักปรัชญา รวมทั้งมีการพยายามทำความเข้าใจความไว้วางใจผ่านบริบททางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ Lotte Meinert (2015) (นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์ก) ได้เขียนบทความเรื่อง Tricky Trust: Distrust as a Point of Departure and Trust as a Social Achievement in Uganda เขาได้สำรวจการพึ่งพากันบนความไม่ไว้วางใจ(ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนทางตอนเหนือของยูกันดา (ในช่วงปี 2008-2011) ซึ่งยังคงมีการปะทะกันทางทหารอยู่เป็นระยะ โดยเขาได้พิจารณาว่าในยูกันดาตอนเหนือนั้น ความไว้วางใจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนเป็นเรื่องของเจตจำนงหรือความตั้งใจมากกว่าเป็นเรื่องที่มีมาโดยธรรมชาติ โดยความไว้วางใจที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการบรรลุผลทางสังคมอันมีเล่ห์เหลี่ยม (a tricky social achievement) แม้จะตระหนักดีว่ามันมีความไม่มั่นคงและคาดเดาได้ยากว่าใครและสิ่งใดสามารถเชื่อถือได้จริง ทั้งนี้ ผู้คนมักจะมองข้ามความไม่น่าไว้วางใจ และมองว่าความไว้วางใจคือการตะเกียกตะกาย การคาดหวังว่าจะได้รับการบอกความจริงนั้นไร้เดียงสา

ขณะที่ Vigdis Broch-Due และ Margit Ystanes (2016) นักมานุษยวิทยาสังคมทั้งสองคน ได้เขียนบทนำไว้ในหนังสือเรื่อง Trusting and its tribulations : Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust โดยระบุว่า แม้ว่ามานุษยวิทยาจะศึกษาสังคมที่มีการเผชิญหน้ากับความแตกต่างมาอย่างยาวนาน และแม้วิธีการศึกษาชาติพันธุ์วรรณาแบบดั้งเดิมมักถูกนำไปใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นทางสังคมโดยเฉพาะในสังคมขนาดเล็ก ทว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาความไว้วางใจ (trust studies) นั้นมานุษยวิทยาก็ยังไม่มีบทบาทมากนักในการถกเถียงเกี่ยวกับความไว้วางใจ โดยเขาได้กล่าวถึงชาติพันธุ์นิพนธ์ของความไว้วางใจ (ethnographies of trusting) ไว้ว่า ในปัจจุบันความไว้วางใจเป็นเหมือนกาวที่ยึดเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นภายในครอบครัว ไปสู่เครือข่ายของความไว้วางใจที่ขยายออกไปยังพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่การร่วมมือกันทำงานในชุมชน การทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการรับบริการ ไปจนถึงความไว้วางใจในการเลือกตั้งและจ่ายภาษี การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้ง ความไว้วางใจคือการปรับตัวทางสังคมไปสู่การฟูมฟักอนาคตด้วยการสั่งสมประสบการณ์เชิงบวกทีละเล็กละน้อย รวมถึงการเปิดเผยถึงก้าวกระโดดแห่งศรัทธา (การไว้วางใจโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์)

ทั้งนี้ ความไว้วางใจถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ประกอบขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยที่เครือข่ายความไว้วางใจสามารถพังทลายลงได้และพื้นที่ของความไว้วางใจที่สร้างขึ้นมานั้นก็มีขนาดที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนขึ้นอยู่กับสถานที่ทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นเราจึงต้องสำรวจเงื่อนไขของความไว้วางใจและไม่ไว้วางใจในแต่ละระเบียบทางสังคม และต้องพิจารณาว่าตัวตนของเรา ตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคน และความเป็นสังคมนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร เราไม่ควรมองแนวคิดเรื่องความไว้วางจากสังคมหนึ่งในการศึกษาสังคมอื่น ๆ หรือกล่าวได้ว่าไม่ควรมองแนวคิดเรื่องความไว้วางใจแบบสากลนิยม (universalism) อีกทั้งเขายังมองว่าการศึกษาความไว้วางใจของชาวยุโรปและอเมริกานั้นมักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความเสี่ยง (risk-oriented conception) และให้ความสำคัญกับการคำนวณความน่าไว้วางใจของผู้อื่น ซึ่งไม่อาจจะใช้ศึกษาพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างแนบสนิท โดยเขาได้ยกตัวอย่างงานของ Paula Haas (2016) ที่ศึกษาสังคมของชาวบาร์ก้ามองโกล (the Barga Mongol) ซึ่งเชื่อว่าความไว้วางใจเกิดจาก ‘การไม่คิดร้ายต่อใครเลย’ การให้ความไว้วางใจต่อผู้อื่นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทางศีลธรรม และหากมองในมุมมองของนักวิชาการตะวันตกอาจมองได้ว่าความไว้วางใจของชาวบาร์ก้ามองโกลนั้นดูเหมือนจะทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ตั้งอยู่บนฐานของการฉ้อฉล และอาจจะผิดคุณธรรมในแบบตะวันตก

ในหนังสือเล่มดังกล่าว Vigdis Broch-Due (2016) ซึ่งได้ศึกษาชาว Turkana ในเคนยา ก็ได้เสนอว่าการศึกษาความไว้วางใจในสังคมต้องพิจารณาแบบข้ามสายพันธุ์ (a cross-species affair) ด้วยเช่นกัน ดังเช่นกรณีของชาว Turkana ที่ปฏิบัติต่อปศุสัตว์ของพวกเขาเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม ซึ่งได้หล่อเลี้ยงเลือดเนื้อของชาว Turkana และปศุสัตว์เหล่านี้ก็เป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ ผ่านการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนม เนื้อสัตว์ และปศุสัตว์ที่ยังมีชีวิต ทั้งนี้ Vigdis Broch-Due พบว่า ชาว Turkana มีแนวคิดที่ซับซ้อนเกี่ยวกับศีลธรรม ความไว้วางใจ และอารมณ์ โดยสิ่งเหล่านี้ตีความได้จากการแสดงออกมาผ่าน ‘สี’ จากทั้งของเหลวและของแข็งที่ออกมาจากร่างกายของสัตว์ซึ่งเกิดจากการกินอาหารและการย่อยอาหารของมัน อีกทั้งเขาได้เล่าถึงปัญหาในสังคม Turkana เมื่อมีคนนำปศุสัตว์ที่ไม่สามารถครอบครองได้ตามจารีต ไปขายสู่ตลาด กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งนั่นถือเป็นการละเมิดศีลธรรมทางเศรษฐกิจของชาว Turkana จนทำให้เกิดการปรากฏของแม่มดสัตว์ (animal witches) ท่ามกลางปศุสัตว์ของพวกเขา เช่น ในครอบครัวหนึ่งที่เกิดความแตกร้าวขัดแย้งกันก็ได้มีการอธิบายว่าเป็นเพราะวัวดำที่ซื้อมาจากตลาด มันเป็นแม่มดหรือสิ่งชั่วร้ายในบ้าน Vigdis Broch-Due กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการปรับรูปแบบของความคุ้นเคยใกล้ชิดขึ้นมาใหม่ (reconfiguration of intimacy) รวมทั้งในเรื่องของความไว้วางใจและความเป็นสังคม กล่าวคือ การนำสัตว์ออกจากขอบเขตดั้งเดิมของพวกมันไปสู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจจะทำให้เกิดปัญหาสำคัญในเรื่องขอบเขตของการสร้างความไว้วางใจต่อกัน หรือกล่าวได้ว่าการทำให้เป็นสินค้าและการค้าขายได้ตัดขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างความสนิทสนมคุ้มเคยออกจากสังคมในวงกว้าง โดยที่แนวจริตเรื่องความไว้วางใจของชาว Turkana (the Turkana habitus of trust) นั้นได้ยึดโยงผู้คนและสัตว์เอาไว้อย่างแน่นหนา

นอกจากนี้ งานศึกษาของ Kali Rubaii (2020) เรื่อง Trust Without Confidence: Moving Medicine with Dirty Hands ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำความเข้าใจเครือข่ายของความไว้วางใจที่เกิดขึ้นในสถานการณ์สงคราม โดยในกรณีนี้คือเหตุการณ์หลังปี ค.ศ. 2014 จากการปะทะกันของกลุ่ม ISIS และกองทัพอิรักที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองโมซุลได้ถูกปิดล้อม (ตอนเหนือของอิรัค) โดยพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายญาติพี่น้องและเครือข่ายชุมชนนอกเมืองในการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค โดยที่การจัดส่งสิ่งเหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบการลักลอบขนส่งสินค้าหรือมีการซ่อนสินค้าจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ

ทั้งนี้ Kali Rubaii เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่พยายามส่งยาจากร้านขายยาในอัมมาน (จอร์แดน) ไปยังแผนกกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลสามแห่งในเมืองโมซุล โดยเขาได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากบรรดาผู้กระทำการที่ไม่รู้จักกัน ภายใต้เครือข่ายเล็ก ๆ ที่มีความไว้วางใจ (a small trust network) ซึ่งเริ่มต้นจากการรวบรวมเงินในหมู่เพื่อนและครอบครัว มีการกรอกใบสั่งยา และปลอมแปลงยาในกล่องซีเรียล ก่อนที่พวกเขาจะส่งมันไปยังเมืองโมซูลด้วยรถยนต์เป็นเวลา 14 ชั่วโมงโดยอาศัยคนขับที่ไม่เคยรู้จักกันและพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้รถยนต์ดังกล่าวจะต้องถูกตรวจค้นในจุดตรวจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการประมาณ 20 จุด ซึ่งยาอาจถูกขโมยไปตลอดทางด้วยกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ และอาจจะถูกนำไปจำหน่ายในตลาดมืดด้วยราคาที่สูง

ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนนั้น เขาพบว่า ความไว้วางใจและวิกฤตในสังคมไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอไป โดยที่เครือข่ายของความไว้วางใจในการลักลอบขนส่งยารักษาโรคนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยพบกัน เครือข่ายดังกล่าวมีอยู่แบบหละหลวม สลายไปอย่างรวดเร็ว ผู้กระทำการในเครือข่ายของความไว้วางใจนี้ทำไปด้วยความศรัทธาที่แรงกล้า ทั้งนี้ KALI RUBAII มองว่าการทำลายเครือข่ายของความไว้วางใจคือการพูดถึงความไม่ไว้วางใจหรือตั้งคำถามที่มากเกินไปต่อคนในเครือข่าย นอกจากนี้เขายังเผยว่าการเคลื่อนย้ายยารักษาโรคโดยเครือข่ายของคนที่ไม่รู้จักกันนี้ก็ยังคงมีเรื่องของการปะทะกันระหว่างแรงจูงใจในการกระทำของแต่ละคน รวมทั้งการประกันของศีลธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างกองทหารอาสาสมัคร แพทย์ คนขับรถ เภสัชกร และนักมานุษยวิทยา โดยในเครือข่ายของความไว้วางใจลักษณะนี้นั้น พวกเขาไม่ได้แสวงหาการประนีประนอมทางศีลธรรมและไม่ได้แสวงหาการสะสมความเชื่อมั่น (ไว้ใจโดยไม่ต้องเชื่อมั่น) ทว่าพวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกันผ่านความหลากหลายที่มิอาจจินตนาการได้

ขณะเดียวกัน Sarah Pink (2021) นักมานุษยวิทยาผู้สนใจเรื่องการออกแบบ (design anthropology) และมานุษยวิทยาอนาคต (futures anthropology) ก็ได้ชี้ชวนให้มีการศึกษาความไว้วางใจ ทั้งในฐานะที่เป็นการกระทำในปัจจุบันและในฐานะที่เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคต ภายใต้แนวทางชาติพันธุ์นิพนธ์เชิงผัสสะ (sensory ethnography) และแนวคิด anticipatory feeling (ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์อนาคต) โดยเขามองว่าความไว้วางใจคือประสบการณ์เชิงผัสสะของความรู้สึกหรืออารมณ์ต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือเป็นวิถีของการรับรู้และจินตนาการเชิงผัสสะ อันแสดงให้เห็นว่าการศึกษาความไว้วางใจยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวคิดที่ท้าทายในหลายแวดวงสาขาวิชา


ผู้เขียน: สัมพันธ์ วารี

เอกสารอ้างอิง:

Bauer, P. (2013). Conceptualizing Trust and Trustworthiness. Political Concepts Working Paper Series, No. 61.

Breaking Cooperative Relations, Oxford: Basil Blackwell, 213-237.

Broch-Due, V. (2016). The Puzzle of the Animal Witch: Intimacy, Trust and Sociality among Pastoral Turkana. In V. Broch-Due & M. Ystanes (Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 105–130). Oxford: Berghahn Books.

Broch-Due, V., & Ystanes, M. (2016). Introduction: Introducing Ethnographies of Trusting. In V. Broch-Due & M. Ystanes (Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 1–36). Oxford: Berghahn Books.

Gambetta, D. (1988). Can We Trust Trust?. In D. Gambetta (ed.), Trust: Making and Breaking Cooperative Relations (pp. 213-38). Oxford: Basil Blackwell Ltd.

Haas, P. (2016). Trusting the Untrustworthy: A Mongolian Challenge to Western Notions of Trust. In V. Broch-Due & M. Ystanes (Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 84–104). Oxford: Berghahn Books.

Kali, R. (2020). Trust without Confidence: Moving Medicine with Dirty Hands. Cultural Anthropology, 35(2), 211–217.

Luhmann, N. (1979). Trust and power: Two works. Chichester: Wiley.

McKnight, H. D., Chervany, N. L. (2001). Trust and Distrust Definitions: One Bite at a Time. In R. Falcone, M. Singh, YH. Tan (Eds.), Trust in Cyber-societies. Lecture Notes in Computer Science, vol 2246. Springer, Berlin, Heidelberg.

Meinert, L. (2015). Tricky Trust: Distrust as a Point of Departure and Trust as a Social Achievement in Uganda. In S. Liisberg, E. O. Pedersen, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 118–133). Oxford: Berghahn Books.

Pedersen, E. O. (2015). An Outline of Interpersonal Trust and Distrust. In E. O. Pedersen, S. Liisberg, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 104–117). Oxford: Berghahn Books.

Pedersen, E. O., & Liisberg, S. (2015). Introduction.: Trust and Hope. In E. O. Pedersen, S. Liisberg, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 1–20). Oxford: Berghahn Books.

Pink, S. (2021). Sensuous futures: re-thinking the concept of trust in design anthropology. Senses and Society, 16(2), 193-202.

Robbins, B. G. (2016). What is Trust? A Multidisciplinary Review, Critique, and Synthesis. Sociology Compass, 10, 972– 986.

Taddeo, M. (2011). Defining Trust and E-Trust: From Old Theories to New Problems. In A. Mesquita (Eds.), Sociological and Philosophical Aspects of Human Interaction with Technology: Advancing Concepts (pp. 24-36). IGI Global.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, ความไว้างใจ, การเอาใจใส่, การพึ่งพา