Incest
แนวคิดและการศึกษาความรัก/ประเวณีร่วมสายเลือด
ในทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม Bachofen (1861) อธิบายว่าสังคมมนุษย์ในระยะแรก ความหมายครอบครัวต่างไปจากปัจจุบัน มนุษย์ยังคงอาศัยอยู่เป็นกลุ่มคล้ายกับฝูงสัตว์ที่ชายและหญิงสามารถแสดงพฤติกรรมทางเพศได้อย่างไร้ขอบเขต เสมือนเป็นการสมสู่กับใครก็ได้โดยไม่มีข้อห้าม เมื่อสังคมเริ่มพัฒนาขึ้น ผู้หญิงก็เริ่มวางกฎของการแต่งงานและการสืบทายาททางฝ่ายแม่ ทำให้ต้องมีการห้ามประเวณีระหว่างเครือญาติของฝ่ายแม่ โดยลูกหลานจะต้องมีคู่กับคนที่มิใช่สายเลือดตัวเอง สมมติฐานของ Bachofen มีอิทธิพลต่อการศึกษาระบบเครือญาติของนักมานุษยวิทยา เช่น Lewis Henry Morgan (1871) ซึ่งเชื่อว่าสังคมมนุษย์ในอดีตมีการสืบทายาททางฝ่ายแม่และค่อยๆพัฒนาไปสู่การให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวและสามารถมีภรรยาได้หลายคน เช่นเดียวกับ McLennan (1865) เชื่อว่ามนุษย์ยุคแรกมีเพศสัมพันธ์กันอย่างอิสระและค่อยๆสร้างกฎเกณฑ์การเลือกคู่โดยกำหนดให้ลูกหลานจะต้องแต่งงานกับคนนอกเครือญาติ (exogamy) เพื่อสร้างพันธมิตรกับกลุ่มคนที่มิใช่ญาติพี่น้องและลดการต่อสู้แข่งขัน McLennan เชื่อว่าเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น ผู้ชายจะเข้ามาควบคุมกลุ่มและเป็นผู้นำ ในขณะที่ผู้หญิงจะกลายเป็นผู้บำเรอความสุขทางเพศให้กับผู้ชาย นำไปสู่การแย่งชิงผู้หญิงที่อยู่ต่างเผ่ามาเป็นภรรยา พร้อมๆกับสร้างข้อห้ามมิให้ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงในเผ่าของตัวเอง (Bolin & Whelehan, 2009)
Durkheim (1898) อธิบายว่ากฎของเครือญาติคือบรรทัดฐานสังคมที่ป้องกันมิให้คนที่อยู่ในเผ่าและตระกูลเดียวกันมีการสมสู่และร่วมประเวณีกัน กฎของการแต่งงานกับคนนอกตระกูลคือรากฐานของการสร้างสังคมของมนุษย์และทำให้สังคมขยายตัว ครอบครัวจึงสร้างสัญลักษณ์บรรพบุรุษให้กับคนในตระกูลเดียวกันเพื่อย้ำเตือนมิให้มีเพศสัมพันธ์กับคนในตระกูล และต้องไปหาคนนอกตระกูลมาเป็นสามีและภรรยา ในการศึกษาของ Malinowski (1927) ตั้งข้อสังเกตว่ากฎการแต่งงานกับคนนนอกกลุ่มทำให้การร่วมประเวณีระหว่างญาติพี่น้องเป็นสิ่งต้องห้าม นำไปสู่บรรทัดฐานของครอบครัวที่ไม่ต้องการให้สมาชิกมีความสัมพันธ์ทางเพศ สมาชิกชายหญิงในเครือญาติเดียวกันจำเป็นต้องไปหาคู่ครองกับคนต่างสายเลือด เมื่อครอบครัวเริ่มมีขนาดเล็กลง ยิ่งทำให้พ่อแม่ลูกต้องละเว้นที่จะแสดงความสัมพันธ์ทางกามารมณ์ Malinowski ยังสนับสนุนความคิดของ Sigmund Freud (1913) ที่ระบุว่าความปั่นป่วนวุ่นวายในครอบครัวเป็นผลมาจากการที่คนในครอบครัวลักลอบมีเพศสัมพันธ์กัน ในสังคมตะวันตกจึงมีกฎข้อห้ามที่เคร่งครัดที่จะป้องกันมิให้ลูกถูกล้างเกินทางเพศจากพ่อและแม่ของตน ในทัศนะนี้เชื่อว่าสมาชิกครอบครัวจะต้องควบคุมอารมณ์ทางเพศมิให้เกิดกับญาติพี่น้องของตน
ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Freud อธิบายว่าผู้ที่เป็นใหญ่ในครอบครัวคือผู้ชาย ซึ่งพยายามควบคุมมิให้ลูกชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นคู่รักของพ่อ ลูกชายจึงต้องแสวงหาคู่กับคนอื่นที่มิใช่แม่ ทฤษฎีนี้เชื่อว่าเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเป็นผลมาจากการแข่งขันกันระหว่างผู้ชายที่มีฐานะเป็นพ่อและลูกชายเพื่อที่จะได้ผู้หญิง(แม่) เป็นคู่สำหรับปลดปล่อยความต้องการทางเพศ วิธีการป้องกันมิให้พ่อและลูกชายเกิดความขัดแย้ง ก็คือการสร้างกฎให้ลูกชายออกไปแสวงหาผู้หญิงอื่นมาเป็นภรรยา นอกจากนั้น Freud ยังเชื่อว่าพ่อที่มีความเสน่หาทางเพศกับลูกสาวจะต้องกระวนกระวายใจ เพราะต้องควบคุมอารมณ์ของตนมิให้ล่วงเกินลูกสาว ความคิดนี้มีอิทธิพลต่อสังคมตะวันตกและทำให้ชาวตะวันตกเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวหรือแม่กับลูกชายคือปัญหาใหญ่ที่ทำลายครอบครัว (Ferraro & Andreatta, 2011)
ส่วนการศึกษาของ Lévi-Strauss (1949) เสนอว่าโครงสร้างของครอบของมนุษย์กำหนดให้สมาชิกต้องเลือกคู่และมีเพศสัมพันธ์กับคนนนอกตระกูล นำไปสู่กฎของการแลกเปลี่ยนทางสังคม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนผู้หญิงต่างเผ่าเพื่อให้เป็นคู่ครองกับผู้ชาย การแลกเปลี่ยนนี้ทำให้เกิดเครือข่ายญาติข้างพ่อและญาติข้างแม่ ในความคิดของ Lévi-Strauss การห้ามมีเพศสัมพันธ์กับคนในตระกูลส่งผลดีทำให้เกิดการขยายเครือข่ายครอบครัว ทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรและสร้างความร่วมมือทางสังคม Van Den Berghe (1980) กล่าวว่าในสังคมเกษตรกรรมที่ต้องการแรงานจำนวนมาก การแต่งงานกับคนนอกตระกูลจะช่วยให้เกิดการสร้างแรงงาน ทำให้การเพาะปลูกขยายตัวและได้ผลผลิตมากขึ้น ในขณะที่ Edward Westermarck (1891) มีความคิดที่ต่างออกไป เขาเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างหญิงชายเป็นสิ่งที่สังคมเชิดชูมากกว่าการเปลี่ยนคู่ การแต่งงานกับคนนอกสายเลือดก็มิใช่สาเหตุของการห้ามประเวณีของคนในครอบครัว แต่เกิดจากการที่มนุษย์มีระบบกฎหมาย ประเพณีและความรู้ที่สั่งสอนให้บุคคลรู้จักรับผิดชอบ Westermarck เชื่อว่าลูกหลานที่เติบโตมาในครอบครัวเดียวกันมีความใกล้ชิดสนิทสนมจนไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเสน่หาทางเพศ
ความรัก/ประเวณีร่วมสายเลือดในชนชั้นสูง
ประเวณีร่วมสายเลือด (Incest) หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง คือพฤติกรรมทางเพศที่พบได้ในหลายสังคม เช่น ในสัมยอียิปต์โบราณ กษัตริย์ฟาโรห์สามารถแต่งงานกับญาติที่เป็นหญิง (Bixler, 1982; Hopkins, 1980) ชนชั้นสูงในสมัยกรีกโบราณ พี่น้องร่วมสายเลือดสามารถแต่งงานกันได้ ในสมัยโรมันอนุญาตให้ญาติพี่น้องที่มาจากการแต่งงานสามารถครองคู่เป็นสามีภรรยาได้ จักรพรรดิโรมันเชื่อว่าการนำญาติมาเป็นภรรยาจะช่วยสร้างความมั่นคงในอำนาจ (Hübner, 2007; Middleton, 1962) ในอาณาจักรไบเซนไทน์และออตโตมัน คนในราชวงศ์นิยมแต่งงานกับคนในสายตระกูลและในชนชั้นปกครองเพราะจะทำให้ผู้ปกครองมีเสถียรภาพ และเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างราชวงศ์ (Remijsen & Clarysse, 2008)
ในคัมภีร์ไบเบิลมีการอธิบายว่าหลังจากที่พระเจ้าเผาทำลายเมืองโซดอมแล้ว ครอบครัวของล็อตหนีไปอยู่ถ้ำ ล็อตคือผู้ชายคนเดียวที่รอดชีวิต ซึ่งเขามีลูกสาวสองคน และมีเพศสัมพันธ์กันจนกระทั่งมีบุตร ในศาสนาโซโรแอสเทรียนในอิหร่าน มีความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและพี่น้องเป็นสิ่งที่ดีงาม ในชุมชนของชาวโดนด์และบริตตานี ในปากีสถาน เชื่อว่าการแต่งงานระหว่างพี่น้องจะทำให้สายตระกูลมีความบริสุทธิ์ และยังเป็นการรักษาทรัพย์สมบัติของครอบครัวไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ในราชวงศ์ของไทย ญี่ปุ่น จีน ธิเบต และเกาหลีก็มีธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องที่เป็นญาติ ในสังคมของชาวทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย ก็พบธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งอาผู้ชายสามารถแต่งงานกับหลานสาวได้ ในอาณาจักรอินคาและอาณาจักรในแอฟริกากลางและเหนือ คนในตระกูลกษัตริย์สามารถแต่งงานกับญาติพี่น้องได้ เช่นเดียวกับราชวงศ์ต่างๆในยุโรปก็มีธรรมเนียมการแต่งงานกับญาติพี่น้อง ราชวงศ์ของชาวซูลู, สวาซี และเทมบู ในเขตแอฟริกาตอนใต้จะมีการแต่งงานกันในกลุ่มชนชั้นนำ (Leavitt, 1990; Roscoe, 1996)
Bixler (1982) อธิบายว่าการแต่งงานระหว่างพี่น้องในตระกูลชนชั้นสูงและกัตริย์เป็นธรรมเนียมที่แพร่หลายเพราะเชื่อว่าการแต่งงานในวงศ์ตระกูลจะช่วยรักษาอำนาจให้แข็งแกร่งและยังเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองยังคงดำรงอยู่ถ้ากษัตริย์แต่งงานกับคนในตระกูล ในขณะที่ชนเผ่าหลายแห่งเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับญาติพี่น้องจะนำพลังวิเศษมาให้ ในวัฒนธรรมของชาวโพลีนิเซียนในมหาสมุทรแปซิฟิก มีธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งถือเป็นรูปแบบการแต่งงานที่มีเกียรติและได้รับการยกย่อง
สังคมตะวันตกกับการห้ามความรัก/ประเวณีร่วมสายเลือด
อย่างไรก็ตาม เมื่อคริสจักรมีอำนาจในภูมิภาคตะวันตก เพศสัมพันธ์ของคนร่วมสายเลือดเป็นสิ่งต้องห้ามและถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดบาป ในวัฒนธรรมของชาวคริสต์จึงมีท่าทีหวาดระแวงและวิตกกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของคนในครอบครัว ความกังวลนี้เพิ่มมากขึ้นในยุคอุตสาหกรรม ครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกจะไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์ทางเพศได้และถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายร้ายแรง รากฐานความคิดที่เกิดขึ้นจากยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) และระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ คือส่วนสำคัญที่สร้างบรรทัดฐานและกฎข้อบังคับสำหรับครอบครัวสมัยใหม่ ซึ่งทำให้สมาชิกต้องควบคุมอารมณ์และความรู้สึกทางเพศของตนอย่างเคร่งครัด (Maryanski & Turner, 2018) ความรู้วิทยาศาสตร์ได้สร้างกฎเกณฑ์ของครอบครัวที่ทำให้พ่อแม่ต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมทางเพศกับลูกอย่างเด็ดขาด จากการศึกษาของ Murdock (1949) พบว่าสังคม 250 แห่งล้วนห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของคนร่วมสายเลือดซึ่งดูเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานสากลของมนุษย์ (Lowie, 1920) ในแง่นี้ การหลีกเลี่ยงประเวณีร่วมสายเลือด (Incest avoidance) อาจถือเป็นวิธีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมที่กำหนดให้บุคคลทำหน้าที่และแสดงบทบาทตามที่สังคมคาดหวัง
อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัวอาจเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น คนที่มีอำนาจมากกว่าบีบบังคับเด็กให้มีเพศสัมพันธ์กับตนซึ่งมักจะเป็นการล่วงละเมิด การข่มขืน การล่อลวงและการขู่เข็ญ ผู้ที่ถูกกระทำมักจะหวาดกลัวและไม่กล้าเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ (Fontes & Plummer, 2010; Herman, 1981) กรณีดังกล่าว ผู้ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กจะถูกลงโทษตามกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม มีการตั้งคำถามว่าประเวณีร่วมสายเลือดนำไปสู่อันตรายอย่างไร ทำไมสิ่งนี้จึงถูกนิยามว่าเป็นความผิดในทางกฎหมาย การห้ามประเวณีร่วมสายเลือดเป็นกฎระเบียบที่จรรโลกโครงสร้างครอบครัวสมัยใหม่อย่างไร ทำไมการอธิบายและนิยามการร่วมประเวณีของคนในครอบครัวจึงวางอยู่บนกระบวนทัศน์แบบเหตุผล (Andrade, 2021; Cofnas, 2020)
หากย้อนไปศึกษาคติความเชื่อแบบฮินดูจะพบว่าพระพรหมคือผู้สร้างโลก ได้ให้กำเนิดเพศหญิงจากร่างกายของพระองค์ซึ่งเปรียบเสมือนบุตรสาว พระองค์มีความสัมพันธ์กับบุตรสาวและให้กำเนิดมนุษย์ ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพระพรหมกับบุตรสาวจึงเป็นต้นกำเนิดของโลก (Dwivedi, 2018) เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าในศาสนาคริสต์ที่บอก Abraham ว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์กับน้องสาวเพื่อให้กำเนิดบุตรชายชื่อ Isaac เช่นเดียวกับตำนานของกรีกที่ระบุว่า เทพเจ้า Zeus และเทพธิดา Hera ซึ่งเป็นพี่ชายกับน้องสาวได้แต่งงานกัน และบิดามารดาของทั้งคู่คือ Cronus และ Rhe ก็เป็นญาติร่วมสายเลือดกัน (Ogden, 2010)
Sebo (2006) อธิบายว่าการร่วมประเวณีระหว่างคนร่วมสายเลือดถูกตีตราว่าเป็นสิ่งผิดเพราะเป็นการกระทำที่ข่มเหงรังแกผู้ที่ไร้อำนาจซึ่งนิยามว่าเป็นการข่มขืน มิใช่เป็นเพราะพฤติกรรมทางเพศ เมื่อมีผู้ที่ได้รับความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ถูกผู้ใหญ่ล่วงเกิน สังคมจะตัดสินการกระทำดังกล่าวด้วยระบบศีลธรรมที่แยกระหว่างคนชั่วและคนบริสุทธิ์ ความสัมพันธ์ทางเพศของคนร่วมสายเลือดถูกโยงเข้ากับการจัดระเบียบภายในครอบครัวโดยเฉพาะสังคมอุตสาหกรรมที่ต้องการแยกบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ลูกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์มิใช่สิ่งที่ถูกคาดหวังให้เกิดขึ้นระหว่างพ่อกับลูกสาวและแม่กับลูกชาย เพราะความสัมพันธ์ลักษณะนี้จะทำลายบทบาทหน้าที่ของครอบครัว ประเวณีร่วมสายเลือดจึงถูกระงับเพื่อที่จรรโลงหน้าที่ของพ่อแม่ลูกในสังคมอุตสาหกรรม
ทฤษฎีเกี่ยวกับ Incest ของนักมานุษยวิทยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงวางอยู่บนตรรกะของการธำรงหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ทำให้สังคมมีเอกภาพ ปราศจากความขัดแย้งและดำเนินไปสู่เป้าหมายของความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นฐานคิดแบบเหตุผลนิยมที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมในเวลานั้น ทฤษฎีดังกล่าวนี้ถูกตอกย้ำด้วยแนวคิดแบบสตรีนิยมที่อธิบายว่าในสังคมที่ให้อำนาจผู้ชาย ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศจะกลายเป็นผู้เสียเปรียบ นำไปสู่การต่อต้านพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศระหว่างพ่อกับลูกสาว นักสตรีนิยมจะคัดค้านมิให้ผู้เป็นพ่อใช้อำนาจข่มขู่ ล่อลวง และลวนลามทางเพศกับลูกหลานที่เป็นเพศหญิง สิ่งนี้คือคำอธิบายที่ทำให้ประเวณีร่วมสายเลือดเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย (Bell, 1993) อิทธิพลของแนวคิดสตรีนิยมตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าสังคมให้อำนาจผู้ชายและปิดกั้นบทบาทของผู้หญิง
ในการตรวจสอบกฎหมายที่ลงโทษการร่วมประเวณีของคนร่วมสายเลือด วิธีคิดเรื่องอำนาจของมิเชล ฟูโกต์ ได้เสนอว่ากฎหมายดังกล่าวคือระบอบอำนาจที่สร้างกลไกการควบคุมกิจกรรมทางเพศของมนุษย์ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบวิคตอเรียน (Foucault, 1978; Taylor, 2016) ระบอบอำนาจนี้ได้แผ่ขยายแตกตัวและแทรกเข้าไปอยู่ในสถาบันทางสังคมที่ส่งผลให้ประเวณีร่วมสายเลือดเป็นสิ่งต้องห้าม สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่คือการทำให้กิจกรรมทางเพศบางแบบเป็นเรื่องผิด ดังเช่นการตีตราว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นอาการป่วยทางจิต สิ่งนี้เกิดขึ้นกับกรณีการมีเพศสัมพันธ์ของคนร่วมสายเลือดเช่นกัน ซึ่งสังคมตีตราว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ปัจจุบัน นักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเอาผิดการมีเพศสัมพันธ์ของคนร่วมสายเลือดและเสนอให้มีกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างคนร่วมสายเลือด แนวคิดนี้วางอยู่บนกระบวนทัศน์เสรีนิยมที่เชื่อว่าบุคคลควรมีสิทธิและเสรีภาพที่จะเลือกคู่ครองของตัวเองไม่ว่าคู่ของเขาจะเป็นเพศใดหรืออยู่ในวัยไหน (Parkman, 2008)
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Andrade, G. E. (2021). A libertanian critique of incest laws: Philosophical and anthropological perspectives. Human Affairs, 31(2), 139-148.
Bachofen, J. (1861). Das Mutterrecht [Mother Right]. Stuttgart: Krais & Hoffmann.
Bell, V. (1993). Interrogating incest: Feminism, Foucault, and the law. New York: Taylor & Francis.
Bixler, Ray H. (1982). Comment on the Incidence and Purpose of Royal Sibling Incest. American Ethnologist, 9(3), August, pp. 580–582.
Bixler, Ray H. (1982). ‘Sibling incest in the royal families of Egypt, Peru, and Hawaii’, Journal of Sex Research, 18, 264-281.
Bolin, A., & Whelehan, P. (2009). Human sexuality: Biological, psychological, and cultural perspectives. New York: Routledge.
Cofnas, N. (2020). Are moral norms rooted in instincts? The sibling incest taboo as a case study. Biology & Philosophy, 35(5), 1–20.
Durkheim, E. (1898) 1963. Incest: The Nature and Origins of the Taboo. New York: Lyle Stuart.
Dwivedi A.V. (2018). Adultery (Hinduism). In Long, J.D. et al. (Eds.). Encyclopedia of Indian Religions, Hinduism, and Tribal Religions. Springer Nature.
Ferraro, G., & Andreatta, S. (2011). Cultural anthropology: An applied perspective. New York: Nelson Education.
Fontes, L. A., & Plummer, C. (2010). Cultural issues in disclosures of child sexual abuse. Journal of Child Sexual Abuse, 19(5), 491–518.
Foucault, M. (1978) The history of sexuality. Volume I: An Introduction. New York: Pantheon
Freud, S. (1913). 1950.Totem and Taboo. London: Routledge & Kegan Paul.
Herman, J. (1981). Father–daughter incest. Professional Psychology, 12(1), 76–80.
Hopkins, K. (1980). Brother–Sister Marriage in Ancient Egypt. Comparative Studies in Society and History, 22, 303–54.
Hübner, S. R. (2007). Brother-sister marriage in Roman Egypt: a curiosity of mankind or a widespread family strategy?, Journal of Roman Studies, 97, 21-49
Leavitt, G. C. (1990). Sociobiological explanations of incest avoidance: A critical claim of evidential claims. American Anthropologist, 92, 971–993.
Lowie, R.H. (1920). Primitive Society. New York.
Malinowski, B. (1927). Sex and Repression in Savage Society. London: Routledge & Kegan Paul.
Maryanski, A. & Turner, J. (2018). Incest, Theoretical Perspectives on. In Hilary Callan. (Ed.). The International Encyclopedia of Anthropology. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons, Ltd.
McLennan, J. F. (1865) 1970.Primitive Marriage. Chicago: University of Chicago Press.
Middleton, R. (1962). Brother–Sister and Father–Daughter Marriage in Ancient Egypt. American Sociological Review, 27, 603–11.
Morgan, L. H. (1871) 1997.Systems of Consanguinity and Affinity of the Human Family. Lincoln: University of Nebraska Press.
Murdock, G. P. (1949). Social Structure. New York: Macmillan.
Ogden, D. (2010). A Companion to Greek Religion. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons.
Parkman, A. (2008). Marriage. In R. Hamowy (Ed.). The encyclopedia of libertarianism. (pp. 317–318). New York: Sage Publications.
Roscoe, P. B. (1996). Incest in David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. (Pp.631-634.)
Remijsen, S. & Clarysse, W. (2008). Incest or adoption? Brother-sister marriage in Roman Egypt revisited. Journal of Roman Studies, 98, 53-61.
Lévi-Strauss, C. (1949) 1969.The Elementary Structures of Kinship. Boston: Beacon Press.
Sebo, J. (2006). The ethics of incest. Philosophy in the Contemporary World, 13(1), 48–55.
Taylor, C. (2016). The Routledge guidebook to Foucault’s The history of sexuality. New York: Taylor & Francis.
Tripathi, S. & Kaur, S.P. (2018). Beyond Being Instinctive: An Inquiry into Incest through Media. Global Media Journal, 16(30), 1-6.
Van den Berghe, P.L. (1980). Incest and exogamy: A sociobiological reconsideration. Ethology and Sociobiology, 1(2), 151-162.
Westermarck, E. (1891) 1922.The History of Human Marriage. London: Macmillan.
หัวเรื่องอิสระ: ความรักร่วมสายเลือด, ประเวณีของญาติพี่น้อง, ความรัก, การแต่งงาน, ครอบครัว