Adolescence
วัยรุ่นคือช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอยู่ในรอยต่อระหว่างการเป็นเด็กกับการเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งในด้านร่างกาย สรีระ อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และสังคม ทำให้ช่วงวัยรุ่นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของบุคลิกภาพ โดยทั่วไปวัยรุ่นจะมีอายุอยู่ในช่วง 10-20 ปี สังคมแต่ละแห่งจะกำหนดช่วงอายุของวัยรุ่นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเชื่อประเพณีและวัฒนธรรม บางสังคมช่วงวัยรุ่นอาจเป็นช่วงสั้นๆ บางสังคม วัยรุ่นอาจมีช่วงระยะเวลายาวนาน
ในสังคมตะวันตก การศึกษาวัยรุ่นมักจะมาจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์ และสนใจพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์เป็นสำคัญ นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจะศึกษาวัยรุ่นในฐานะเป็นวัยเจริญพันธุ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศในร่างกาย เช่น ศึกษาการเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของเสียง กล้ามเนื้อ รูปร่าง การมีขนตามร่างกาย และการสร้างเซลสืบพันธุ์ของหญิงและชาย การศึกษาในมิตินี้ จะนำความรู้ชีววิทยามาอธิบายเพื่อที่จะชี้ว่าวัยรุ่นจะต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างไร และจะดูแลปรับตัวกับอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
การศึกษาในมิติสังคมวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาสนใจแบบแผนทางสังคมในการจัดระเบียบชีวิตของวัยรุ่น ซึ่งเป็นการศึกษากระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของวัยรุ่น เช่น มาร์กาเร็ต มี้ด (1928) เขียนหนังสือเรื่อง Coming of Age in Samoa อธิบายว่าวัยรุ่นในสังคมชนเผ่าในซามัว มีชีวิตที่สนุกร่าเริง การศึกษาวัยรุ่นในเผ่ามูเรียในประเทศอินเดียของเวอร์เรียร์ เอลวิน(1947) เป็นการศึกษาเด็กหญิงและชายที่สามารถนอนด้วยกันได้ในเรือนพัก นอกจากนั้นยังมีการศึกษาทางชาติพันธุ์หลายแห่ง เช่น ชนเผ่าอินูอิตในอลาสก้า ชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย และในโมร็อคคโค การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ในชนเผ่าอินูอิต วัยรุ่นมีการใช้เวลาว่างกับกลุ่มเพื่อนที่เปลี่ยนไป
ในบางสังคม พิธีกรรมเพื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือ Rite of Initiation สะท้อนให้เห็นการรับรู้ของส่วนรวมที่มีต่อวัยรุ่นคนนั้น การศึกษาของอลิซ ชเลเกล และเฮอร์เบิร์ต บาร์รี เรื่อง Adolescence: An Anthropological Inquiry (1991) ได้สำรวจสังคม 173 แห่งเพื่อศึกษาวัยรุ่นชาย สำรวจสังคม 175 แห่งเพื่อศึกษาวัยรุ่นหญิง พบว่าช่วงของการเป็นวัยรุ่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ถือปฏิบัติอย่างเป็นสากล วัยรุ่นจะค่อยๆเรียนรู้พฤติกรรม นิสัยและความชำนาญแบบผู้ใหญ่ในขณะเดียวกันก็ยังคงแสดงอารมณ์แบบวัยรุ่น ช่วงวัยรุ่นจะยาวหรือสั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสังคมและบุคคล และสิ่งสำคัญในการศึกษาเปรียบเทียบวัยรุ่นในแต่ละสังคมก็คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม (การเลี้ยงดู) กับชีววิทยา (ธรรมชาติ) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น
ในสังคมหลายแห่ง การทำงานภาคเกษตร คือการใช้ฝีมือและฝึกให้วัยรุ่นรู้จักการทำงาน วัยรุ่นจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิเศษบางอย่าง วัยรุ่นถูกคาดหมายว่าต้องเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใหญ่อยู่ แต่ถ้าวัยรุ่นดื้อหรือไม่ทำตามคำสั่งสอนก็อาจถูกลงโทษได้ การฝึกวัยรุ่นให้เชื่อฟังคำสั่งจะเป็นประโยชน์ต่อวัยรุ่นเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ที่จะทำงานให้กับคนอื่นๆ
การศึกษาของชเลเกล และบาร์รี พบว่าในหลายสังคม ช่วงของการเป็นวัยรุ่นของผู้หญิงจะสั้นกว่าผู้ชาย เพราะเด็กผู้หญิงจะแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย วัยรุ่นมักจะมีกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กหญิงจะเข้ากลุ่มแม่และสตรีคนอื่นๆ ส่วนเด็กชายจะเข้ากลุ่มพ่อและผู้ชายคนอื่นๆ ในหลายสังคม เด็กชายมักจะมีกลุ่มใหญ่และถาวร มีกิจกรรมของตัวเองต่างจากผู้ใหญ่ เด็กชายมักจะออกไปอยู่กับญาติพี่น้องคนอื่นๆ หรืออยู่ในที่พักเฉพาะ ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีกลุ่มขนาดเล็กและพึ่งพิงกับกลุ่มสตรีที่เป็นผู้ใหญ่ การแยกกลุ่มตามเพศนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และชัดเจนมากเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กชายมักจะเรียนรู้เรื่องการต่อสู้และงานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ เรียนรู้การเล่นกีฬาเป็นหมู่คณะ การทำงานเป็นทีม และงานที่ก่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ส่วนเด็กหญิงจะคลุกคลีกับผู้ใหญ่ที่เป็นสตรีเพื่อเรียนรู้หน้าที่ต่างๆสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต กลุ่มของเด็กหญิงมักจะรวมตัวกันเพื่อการละเล่นที่ผ่อนคลายหรือพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้การเข้าสังคมและการประพฤติปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ในสังคมที่มีการจัดอำนาจปกครองที่ซับซ้อน กลุ่มของเด็กผู้ชายมักจะมีขนาดใหญ่ ในสังคมเกษตรกรรมเด็กผู้ชายจะมีการแข่งขันกันน้อยกว่าสังคมเร่ร่อนล่าสัตว์ ในสังคมที่มีการให้สินสอดทองหมั้นในการแต่งงาน พ่อแม่มักจะควบคุมดูแลลูกๆอย่างเข้มงวด ในสังคมที่มีครอบครัวเดี่ยว เด็กวัยรุ่นมักจะถูกสอนให้ต่อสู้แข่งขัน ในขณะที่เด็กวัยรุ่นในครอบครัวขยายจะมีการต่อสู้แข่งขันน้อยกว่า เนื่องจากมีผู้ใหญ่คอยช่วยดูแลหลายคนทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย
ทัศนคติเกี่ยวกับทดลองให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม บางสังคมอาจห้ามและเคร่งครัด แต่บางสังคมก็ปล่อยให้มีอิสระ ในสังคมที่เจริญแล้วมักจะมีแนวโน้มที่จะห้ามการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน บาร์รีและชเลเกลศึกษาเรื่องอิสรภาพในการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น พบว่า ในสังคมที่มีการยกย่องฐานะของสตรีมักจะมีการให้อิสระทางเพศแก่วัยรุ่นสูง นอกจากนั้นอิสระทางเพศยังพบในสังคมที่มีการยังชีพแบบเกษตรกรรมและมีการนับญาติข้างแม่ ผู้หญิงมักจะมีบทบาทสำคัญในงานเกษตรกรรม และการสืบทายาทข้างแม่ยังทำให้กลุ่มญาติของผู้หญิงมีความเข้มแข็ง การมีอิสระทางเพศอาจพบได้ในสังคมเร่ร่อนซึ่งมีการสืบทายาทข้างผู้หญิง ในสังคมเกษตรกรรมที่มีการสืบทายาทของผู้ชาย หรือสืบทายาททั้งฝ่ายชายและหญิง หรือมีการสืบทายาทแบบอื่นๆ
ช่วงวัยรุ่นคือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอาจก่อให้เกิดสภาวะบีบคั้น ในหลายสังคม วัยรุ่นมักจะรวมตัวกันเพื่อแสดงออก จากการศึกษาในหลายสังคมพบว่า วัยรุ่นมักจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือมีปัญหา เนื่องจากสังคมคาดหวังว่าวัยรุ่นต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พฤติกรรมต่อต้านสังคมของวัยรุ่นพบไม่มากนักในสังคมชนเผ่า และกลุ่มที่มักจะมีปัญหาคือกลุ่มเด็กชาย พฤติกรรมที่วัยรุ่นมักจะแสดงออก เช่นการต่อยตีหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน หรือตั้งแก๊ง แต่ในบางสังคมเชื่อว่าความก้าวร้าวของวัยรุ่นชายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคมของวัยรุ่นชายมักพบในสังคมที่เด็กชายมักจะมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และมีการแข่งขันระหว่างกลุ่มสูง ส่วนในสังคมที่เด็กชายทำงานร่วมกับผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมเบี่ยงเบน
ในสังคมอุตสาหกรรมและเมืองขนาดใหญ่ เด็กวัยรุ่นจะใช้เวลาส่วนมากอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต่างไปจากวัยรุ่นในสังคมชนเผ่าและสังคมประเพณี วัยรุ่นในเมืองจึงมีเวลาติดต่อสัมพันธ์และใช้ชีวิตกับเพื่อนวัยเดียวกันมากกว่า ในสังคมสมัยใหม่ ชุมชนมักจะถูกปกครองด้วยอำนาจรัฐขนาดใหญ่ ทำให้ชุมชนไม่มีอำนาจในการควบคุมวัยรุ่น ดังนั้น วัยรุ่นจึงออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และทำให้ห่างเหินจากผู้ใหญ่และสถาบันทางสังคม ปัจจุบันนี้ การศึกษาวัยรุ่น มุ่งไปที่เรื่อง Youth Culture เพื่อทำความเข้าใจวัยรุ่นในฐานะบุคคลที่มีส่วนสร้างวัฒนธรรม วัยรุ่นมิใช่เป็นเพียงผู้ที่ก๔กกระทำหรือถูกจัดระเบียบโดยผู้ใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังสามารถสร้างสรรค์และแสดงออกเชิงวัฒนธรรมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมทางสังคมด้วย
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Levinson, David and Ember, Melvin (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.5-6.
Mead, Margaret. Coming of Age in Samoa: A Psychological Study of Primitive Youth for Western Civilization. Foreword by Franz Boas. Reprint. Morrow, 1961. Originally published in 1928.
Schlegel, Alice, and Herbert Barry III. 1991. Adolescence: An Anthropological Inquiry. New York: Free Press.
Read more: Life Cycle - Adolescence - Contemporary Perspectives - Culture, Youth, York, and Cultural - JRank Articles http://science.jrank.org/pages/9980/Life-Cycle-Adolescence-Contemporary-Perspectives.html#ixzz3YqnYRZtJ
Schlegel, Alice and Hewlett, Bonnie L. 2011. Contributions of Anthropology to the Study of Adolescence. In Journal of Research on Adolescence, Vol.21, Issue 1. Pp-281-289.
หัวเรื่องอิสระ: วัยรุ่น