Cannibalism
การศึกษาทางมานุษยวิทยา Cannibalism หมายถึง พฤติกรรมการกินเนื้อหรืออวัยวะบางอย่างมนุษย์ของคนบางกลุ่ม ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมนี้พบได้ในสังคมของชนเผ่าในหมู่เกาะเลสเซอร์ แอททิลเลส ในเขตมหาสมุทรแอตแลนติก และเชื่อว่ายังพบได้ในชนเผ่าในหมู่เกาะแปซิฟิก ลุ่มน้ำอะเมซอน และในพื้นที่ป่าเขตร้อนของทวีปแอฟริกา นักมานุษยวิทยา ทิม ไวท์ เชื่อว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัลก็มีพฤติกรรมกินเนื้อมนุษย์เช่นกัน เห็นได้จากซากกระดูกที่ถูกตัด นักมานุษยวิทยามองว่าความหมายของการกินเนื้อมนุษย์จะแตกต่างกันในแต่ละสังคม บางสังคม พฤติกรรมนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่บางสังคมอาจมองเป็นเรื่องผิดแปลกพิศดาร นอกจากนั้น การกินเนื้อมนุษย์ยังสัมพันธ์กับความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม สงคราม เศรษฐกิจ และสภาพทางสังคม
การกินเนื้อมนุษย์อาจเกิดขึ้นภายในชุมชน (endocannibalism) หรืออาจเกิดขึ้นกับคนต่างชุมชน (exocannibalism) กรณีที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน อาจหมายถึงการแสดงพิธีกรรม เช่น การกินเนื้อของศพที่เป็นญาติพี่น้องเพื่อแสดงถึงความอาลัย ส่วนการกินเนื้อของคนนอกชุมชน อาจหมายถึงการแสดงชัยชนะ เช่น การฆ่าศัตรูและกินเนื้อ ในวัฒนธรรมของชาวแอซเต็กส์โบราณ ในทวีปอเมริกา มีพฤติกรรมการกินเนื้อเพราะเชื่อว่าเนื้อเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ แต่ในบางวัฒนธรรม เช่น ชาวพื้นเมืองในนิวกินี การกินเนื้อนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางสังคม ในชนเผ่าโฟเร่ในปาปัวนิวกินี พบว่าธรรมเนียมการกินเนื้อมนุษย์เกี่ยวข้องกับพิธีศพ แต่หลังจากที่เกิดโรคระบาด ธรรมเนียมดังกล่าวก็ยุติลง ชาวยุโรปรู้จักการนำอวัยวะของมนุษย์มาทำเป็นยารักษาโรค หรือการกินรกของเด็กเพื่อบำรุงสุขภาพตามความเชื่อของคนบางกลุ่ม พฤติกรรมเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน
ในวัฒนธรรมของชนเผ่าวารีในบราซิล เมื่อมีคนตาย จะมีธรรมเนียมการกินเนื้อของผู้ตาย เนื้อคนตายจะถูกนำมาย่างไฟ ญาติพี่น้องของผู้ตายจะต้องร่วมกินเนื้อพร้อมกัน หากใครไม่กินจะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ตาย ชาววารีเชื่อว่าการกินเนื้อญาติที่ตายไปแล้วจะเป็นการระลึกถึงผู้ตาย และช่วยบรรเทาความโศกเศร้า ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ช่วยทำให้เกิดความกลมเกลียวภายในสังคมของชาววารี โดยเฉพาะสร้างสัมพันธภาพกับเครือญาติของสามีและภรรยา ทำให้ญาตทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดและผูกพันกัน
นักมานุษยวิทยา มาร์วิน แฮร์ริส กล่าวว่าพฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์อาจเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมเกิดความอดอยากขาดแคลนอาหาร จิม คอร์เบ็ตต์สันนิษฐานว่า การกินเนื้อศพเป็นวิธีการป้องกันมนุษย์จากสัตว์ที่ดุร้าย คนที่เสียชีวิตแล้วจะถูกชำแหละเอาเนื้อมากิน เพราะถ้าปล่อยศพทิ้งไว้ สัตว์ล่าเนื้อเช่น เสือ อาจบุกเข้ามาในชุมชนและทำร้ายคนที่ยังมีชีวิต
อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์พบได้หลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนผิวขาว หรือคนพื้นเมืองก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญของการศึกษาพฤติกรรมเหล่านี้ก็คือ การตีความบริบทต่างๆที่แวดล้อมอยู่ในพฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์ ความหมายของการกินเนื้อมนุษย์อาจมิใช่ความโหดร้ายป่าเถื่อน แต่อาจเป็นการสื่อถึงการมีชีวิต หรือสภาพทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การปรักปรำว่าคนป่าเป็นมนุษย์กินคนที่โหดเหี้ยมจึงเป็นการกล่าวหาจากชาวตะวันตก ซึ่งมองดูวัฒนธรรมอื่นต่ำต้อยหรือล้าหลังกว่าตนเอง ความคิดเกี่ยวกับมนุษย์กินคน จึงเป็นความคิดที่แฝงเร้นด้วยอคติ และการดูหมิ่นเหยียดหยามที่ชาวตะวันตกมีต่อชาวพื้นเมือง
สังคมตะวันตก เชื่อว่าการกินมนุษย์เป็นสิ่งผิด เป็นความชั่วร้าย ความรุนแรง เป็นพฤติกรรมที่ป่าเถื่อน และเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจ ซึ่งความเชื่อนี้ถูกถ่ายทอดในวรรณกรรมและนิยายของตะวันตก จนกลายเป็นเรื่องที่สยดสยอง ในวัฒนธรรมตะวันตกพยายามสร้างภาพที่น่ากลัวให้กับพฤติกรรมดังกล่าว และมองข้ามแบบแผนวัฒนธรรมภายในกลุ่มชนเผ่า ซึ่งมิได้ฆ่าศัตรูเพื่อกินเนื้อ หากแต่ทำพิธีกรรมอาลัยและเคารพศพของญาติที่ตายไปโดยการกินเนื้อของคนที่เขารัก
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Alan Barnard and Jonathan Spencer (ed.) 1997. Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. London: Routledge.
Arens, William 1981. The Man-Eating Myth: Anthropology and Anthropophagy. Oxford University Press
Barker, Francis; Hulme, Peter; Iverson, Margaret (ed.) 1998. Cannibalism and the Colonial World. Cambridge: Cambridge University Press.
Conklin, B.A. 2001. Consuming Grief: Compassionate Cannibalism in an Amazonian Society. Austin: University of Texas Press.
Dow, James W. "Cannibalism". In Tenenbaum, Barbara A. Encyclopedia of Latin American History and Culture – Volume 1. New York: Charles Scribner's Sons. pp. 535–537.
Goldman, Laurence, ed. 1999. The Anthropology of Cannibalism. Greenwood Publishing Group.
Kolata, G. 1986. Anthropologists suggest cannibalism is a myth. Science 232(4757):1497-1500.
Woznicki, Andrew N. 1998. "Endocannibalism of the Yanomami". The Summit Times 6 (18–19).
หัวเรื่องอิสระ: การกินเนื้อมนุษย์